Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ผู้เขียนเรื่อง “บทบาทขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซีบกับการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต”

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “คนเสื้อแดง” จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เขียนคิดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 12 ปีมาแล้ว

วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นอย่างหนักหนาสาหัสกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ธนาคารต้องปิดตัวลงหลายแห่ง บริษัทหลายแห่งล้มละลาย คนงานจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งประเทศ และในปี 1997 มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งแม้ว่าพรรคกอลคาร์ของซูฮาร์โตจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากเช่นเคย แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนที่สั่งสมมานานประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีจนนำไปสู่เหตุจลาจลทั่วทั้งประเทศ และในที่สุดซูฮาร์โตต้องยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998

เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทางการเมืองในอินโดนีเซียที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ต้นปี 1998 คือเหตุการณ์วันที่ 12 พฤษภาคม 998 อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ทางกองทัพและหน่วยรักษาความปลอดภัย ได้ทำการควบคุมการชุมนุมดังกล่าวอย่างเข้มงวด ให้จำกัดอยู่เฉพาะภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยมีการวางกองกำลังควบคุมดูแลอยู่ที่ประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัย แต่บรรดานักศึกษามีความเห็นว่า หากการเคลื่อนไหวของพวกเขากระทำอยู่แต่เฉพาะภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น จะไม่สามารถดึงความสนใจไม่ว่าจะจากประชาชนหรือรัฐบาล ด้วยเหตุนี้จึงมีการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงอยู่เสมอ ๆ เมื่อนักศึกษาพยายามที่จะเดินขบวนออกนอกมหาวิทยาลัย 

ในวันที่ 12 พฤษภาคม นักศึกษาประมาณ 6,000 คน ทำการชุมนุมประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยตรีศักติ  [1] ที่ตั้งอยู่ในจาการ์ตาไม่ไกลจากรัฐสภามากนัก ขณะที่นักศึกษากำลังเคลื่อนย้ายออกจากมหาวิทยาลัย เมื่อเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา เพื่อเดินขบวนมุ่งหน้าสู่รัฐสภา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ยับยั้งขบวนของนักศึกษา และได้มีการเจรจาระหว่างผู้นำนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งปรากฏว่านักศึกษาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินขบวนต่อไปได้  [2] ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา นักศึกษาตัดสินใจที่จะถอยและยกเลิกการเดินขบวนดังกล่าว หลังจากเวลา 17.00 ในขณะที่นักศึกษาทำการเดินขบวนเพื่อที่จะกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้มีเสียงปืนดังขึ้น และมีการปาแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา โดยกลุ่มตำรวจหน่วยกองพันเคลื่อนที่ยิงกลุ่มนักศึกษาจากที่สูงกว่าลงมา นักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติเสียชีวิตทันที 4 คนและบาดเจ็บอีกนับสิบ  [3]

เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวไม่สามารถระบุคนยิงได้ ผู้บังคับการตำรวจยืนยันว่าตำรวจของเขามีแค่ลูกกระสุนยางเท่านั้น แต่จากการพิสูจน์ศพพบว่านักศึกษาถูกยิงด้วยปืนไรเฟิล และถูกยิงเข้าที่ศีรษะและหน้าอก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ยิงมีความชำนาญในการใช้ปืนเป็นอย่างดี มีการออกมาแถลงข่าวว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยตรีศักติว่า ชุดเครื่องแบบของหน่วยกองพันเคลื่อนที่ได้ถูกขโมยไป แต่คนอินโดนีเซียสงสัยว่าหน่วยพิเศษโปรบาโว (Probawo)  [4] จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้โดยที่ตำรวจเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น

นักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้แก่เฮอร์รี ฮาร์ทันโต (Heri Hartanto), เอลัง มูลยา (Elang Mulya), เฮนเดรียวัน เลสมานา (Hendriawan Lesmana) และฮาฟิดิน โรยัน (Hafidin Royan)  [5] และพวกเขาได้ถูกยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษของการปฏิรูป”  [6] ทันที และหลังจากเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยตรีศักตินี้ กระแสการต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โตและรัฐบาลเข้าสู่จุดสูงสุด และในที่สุดนำอินโดนีเซียเข้าสู่ภาวะแห่งความสับสนวุ่นวายเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถจะควบคุมได้อีกต่อไป

เหตุการณ์การจลาจลวันที่ 12-15 พฤษภาคม 1998

วันที่ 13 พฤษภาคม 1998 ที่มหาวิทยาลัยตรีศักติได้เป็นศูนย์กลางของการแสดงความไว้อาลัยแก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติที่ถูกยิงเสียชีวิต มีผู้นำทางการเมืองอย่างนางเมกาวตี และอามีน ราอีส, ผู้นำทหาร, กลุ่มปัญญาชน เข้าร่วมในการแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ก็มีการไว้อาลัยให้แก่นักศึกษาทั้งสี่ทั่วกรุงจาการ์ตา มีการอ่านแถลงการณ์สมานฉันท์, ลดธงลงครึ่งเสา, ในมหาวิทยาลัยบางแห่งอธิการบดีสั่งให้หยุดพักการเรียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่นักศึกษาที่เสียชีวิตทั้งสี่ด้วย ปฏิกิริยาตอบสนองจากนานาประเทศต่อเหตุการณ์ตรีศักติที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนเป็นไปในทางลบอย่างมาก รองนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Tim Fisher และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกานาง Madeline Albright ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในภาคธุรกิจทั้งตลาดหุ้นและตลาดเงินก็ทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหลังจากที่ตกต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีนักลงทุนถอนตัวจากการลงทุนในอินโดนีเซียหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ตรีศักติ  [7]

พวกชนชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากการที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงและถูกกักตุนโดยพ่อค้าแม่ค้านั้น ได้ก่อการจลาจลขึ้น ในวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 ที่ถนนใหญ่สายบันดุง-จิเรอบน เมืองจาติวังงี่ (Jatiwangi) ในขณะที่มวลชนทำการชุมนุมพวกเขาได้ตะโกนคำว่า “ลดราคา!” พร้อม ๆ กับทำลายร้านค้าตั้งแต่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนถึงร้านขายสมุนไพร และตามด้วยการเผาทำลาย และเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในที่อื่น ๆ ด้วยเช่นที่ชวาตะวันตกได้แก่ ปามานูกัน (Pamanukan), เจียเซิม (Ciasem), เลอมาห์ อาบัง (Lemah Abang), เปรียงงัน (Priangan), เปิงงาเลิงงัน (Pengalengan), จิจาเลิงกา (Cicalengka), จิมินดี (Cimindi), ที่ชวากลางได้แก่ โลซารี (Losari), โบโตตซารี บันยูมัส (Bototsari Banyumas), ที่นูซา เติงการา บารัต คือที่ Lombok Tengah, ที่สุลาเวสีใต้ได้แก่ที่อูจุงปันดัง  [8] ด้วยภาวะเช่นนี้แม้ไม่ต้องมีการชี้นำหรือรอให้กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนนำการเคลื่อนไหว กลุ่มชนชั้นล่างก็พร้อมที่จะทำการเคลื่อนไหวเพื่อปากท้องของตัวเอง แม้แต่ในหมู่ของนักศึกษาเองมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน ตั้งแต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ราคาอุปกรณ์การเรียนที่เพิ่มขึ้น, รวมถึงค่าเล่าเรียนก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สุราบายานักศึกษาจำนวน 500 คนจากทั้งหมด 1,100 คนขอผัดผ่อนการจ่ายค่าหน่วยกิต  [9] สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปแม้แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ก็ไม่เว้น 

สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินไปด้วยความตึงเครียดอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การสังหารนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติ 4 คน จึงเป็นเหมือนสลักระเบิดที่ถูกดึงออก กระแสความต้องการให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งรุนแรงมากขึ้น จนขยายไปทั่วประเทศ ระเบิดขึ้นเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีประชาชนเข้าร่วมมากมายไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น เกิดการจลาจล, ปล้นสดมภ์และเผาบ้านเรือน ห้างร้านต่างๆ ขึ้นทั่วจาการ์ตา ในย่านที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร้านค้าของที่เป็นของนักธุรกิจของชาวจีน มีผู้หญิงจีนเป็นจำนวนมากถูกกระทำทารุณกรรมและข่มขืนเกิดการปล้นฆ่านับร้อย คนจีนกลายเป็นเป้าของการฆ่า ปล้น และข่มขืน มีรายงานตัวเลขว่าผู้หญิงอย่างน้อย 50 กว่ารายถูกข่มขืนจากเหตุจลาจลดังกล่าว และที่ยังไม่กล้ามาแจ้งความอีกไม่ทราบจำนวน

ความโกรธแค้นที่มี่ต่อคนจีนในอินโดนีเซียนั้นมีรากเหง้ามายาวนาน เนื่องจากสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษ ทำให้คนจีนกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่อย่างอภิสิทธิ์ มีบ้านหลังใหญ่กลางใจเมือง จับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนจีนเพียงกลุ่มเดียวที่ร่ำรวยและมีชีวิตสะดวกสบาย หากแต่ว่ารูปลักษณ์กายภาพภายนอกของคนจีนนั้นบ่งบอกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนจากคนกลุ่มอื่นๆ จึงกลายเป็นเป้าของการก่อเหตุมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ 

คนในจาการ์ตาที่เป็นคนต่างชาติและคนจีนอพยพออกนอกจาการ์ตาประมาณ 150,000 คน ในจาการ์ตาพบศพ 250 ถูกเผา, ที่ตังเกอรัง (Tangerang) 119 ศพและที่เบอกาซี่ (Bekasi) 90 ศพ สิ่งก่อสร้างถูกเผาทำลายอย่างน้อยที่สุด 4,939 หลัง รถยนต์ถูกเผา 1,119 คัน, รถโดยสารให้บริการถูกเผา 66 คัน และรถจักรยานยนต์ถกถูกเผาและทำลาย 821 คัน  [10] ก่อนที่การจลาจลจะยุติลงคนอินโดนีเซียเสียชีวิตกว่า 1,000 คน บ้านและร้านค้าถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับการเกิดการจลาจลดังกล่าวความรู้สึกต่อต้านซูฮาร์โตและกองทัพถูกแสดงออกอย่างรุนแรงโดยหมู่ชนที่คลุ้มคลั่ง ประชาชนร้องตะโกน “ต่อต้านซูฮาร์โต, ต่อต้านกองทัพ”  [11]
 
 แม้ว่าจะเกิดการจลาจลจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ แต่ซูฮาร์โตยังพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเชิญนักการเมือง, ผู้นำศาสนา, ปัญญาชน และกองทัพเข้าหารือ และสัญญากับประชาชนว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีให้ปลอดจากการคอรัปชั่นและเป็นคนที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนเอง 

แต่อย่างไรก็ตามหลังจากพยายามยื้อเวลาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้ให้นานที่สุด ซูฮาร์โตก็ต้านแรงกดดันและเรียกร้องให้ลาออกจากกลุ่มนักศึกษาและฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองอย่างหนักหน่วงไม่ได้ ในที่สุดซูฮาร์โตได้กล่าวแถลงการณ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ปิดฉากยุคระเบียบใหม่ที่ดำเนินมา 32 ปี 

โศกนาฏกรรมในอินโดนีเซียครั้งนั้นทำลายภาพ “เอกภาพท่ามกลางความหลากลาย” ซึ่งเป็นคำขวัญของประเทศอินโดนีเซีย ชาวจีนในอินโดนีเซียต้องอยู่อย่างอกสั่นขวัญแขวน ต้องระมัดระวังตัวและระแวงระวังเนื่องจากภาพการเผาบ้านเรือนและปล้น ฆ่า ข่มขืนคนจีนเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งสำหรับพวกเขา แม้ว่าเหตุการณ์ฝันร้ายเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว อินโดนีเซียได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยจนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ลึกๆ ในใจของคนจีนจำนวนหนึ่งยังไม่ลืมภาพเหตุการณ์โศกนาฏกรรมปี 1998 ซึ่งสายลมแห่งประวัติศาสตร์อาจกลับหวนกลับมาอีกเมื่อใดไม่มีใครรู้ หากว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังดำรงอยู่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังไม่ถูกถมให้มันแคบลงดังเช่นทุกวันนี้ กองน้ำมันที่ราดรดอยู่ทั่วไป อาจรอคอยเพียงแค่ไม้ขีดก้านเล็กๆ มาจุดมัน

........................

[1] มหาวิทยาลัยตรีศักตินั้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งและค่าหน่วยกิตนั้นถือว่าแพงที่สุด ดังนั้นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นพวกลูกหลานของชนชั้นกลางถึงสูง
[2] Interview with Julianto Hendro Cahyono, Chairman of Student Senate Trisakti University 1997-1998, 28 October 2001 at Jakarta.
[3] Bangkok Post (13 May 1998).
[4] เป็นหน่วยทหารในการควบคุมของโปรบาโว ลูกเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในการลงชิงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมือปีที่แล้ว 2009 นางเมกาวตี ซูการ์โน บุตรี ได้เลือกให้โปรบาโว เป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งทำให้คนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยคลางแคลงใจทั้งต่อตัวนางเมกาวตีเอง และกังขาต่อบทบาทของโปรบาโวในการสังหารนักศึกษาตรีศักติในปี 1998
[5] Soekisno Hadikoemoro and Pers Mahasiswa Universitas Trisakti, Tragedi Trisakti 12 Mei 1998 (โศกนาฎกรรมตรีศักติ 12 พฤษภาคม 1998) (Jakarta: Penerbit Universitas Trisakti, 1999), p. 191-198.
[6] “Students Honor ‘Reform Heroes’,” The Jakarta Post (14 May 1998).
[7] “A Lamentable Tragedy,” The Jakarta Post (15 May 1998).
[8] “Wabah Amuk dari Berbagai Daerah (ความโกรธแค้นจากท้องถิ่นต่าง ๆ),” Forum Keadilan (9 March 1998): 27-28.
[9] “Agar tidak Putus Kuliah, Ditempuh segala cara (เพื่อที่จะไม่ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย, ต้องฝ่าฟันทุกวิถีทาง),” Kompas (2 May 1998).
[10] “Mereka Ingin Reformasi Tapi Jakarta Dijilat Api (พวกเขาต้องการการปฏิรูปแต่จาการ์ตาลุกเป็นไฟ),” Gatra (23 May 1998): 25.
[11]  Forum Keadilan No. 5 (15 June 1998).
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net