Skip to main content
sharethis

ช่วงสายๆ วันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเวลาที่รัฐบาลและกองทัพเดินหน้าปฏิบัติการ "รุกกระชับพื้นที่" (ซึ่งใช้คำว่า "ล้อมปราบ" อาจเหมาะสมกว่า) เพื่อขอคืน "ราชประสงค์" หลังจากทหารเปิดฉากระดมยิงในหลาย พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ มาแล้ว 5 วัน จนทำให้มี “ประชาชน” เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก...มัน ยังเป็นเวลาเดียวกันกับที่ ครอบครัว "ศรีเทพ" จัดพิธีส่ง "น้องเฌอ" หรือ "สมาพันธุ์ ศรีเทพ" ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ "กระหน่ำยิง" ที่ซอยรางน้ำเมื่อวันที่ 15 พ.ค.กลับสู่ดาวดวงอื่น...

เราไม่ได้รู้จักน้องเฌอเป็นการส่วนตัว แต่พี่ๆ น้องๆ ในแวดวงที่เราทำงานด้วยหลายคนรู้จัก-เคยสนทนาและยิ้มทักทายน้องเฌอมาก่อนในกิจกรรมทางสังคมหลายๆ งาน และคนใกล้ตัวของเราก็รู้จัก "พี่เหน่ง" คุณพ่อของน้องเฌอ ผ่านทาง "เฟซบุ๊ค" ในเวลาเพียงไม่นานก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น

คนสองคนที่ไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับน้องเฌอ...ตัดสินใจเข้าไปคุยกับ "พี่เหน่ง" เพราะหวังว่าข้อความบางประการของ "ผู้สูญเสีย" อาจช่วยเตือนสติให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งและปลุกระดมให้เกิดการใช้กำลัง หรือความรุนแรง ทั้งโดยถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย จะยุติการกระทำใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสูญเสียที่หนักข้อขึ้น...

น่าเสียดายที่ข้อความของพี่เหน่งไม่อาจส่งผ่านสื่อของรัฐในคืนวันนั้นได้ ด้วยคำประกาศเคอร์ฟิวของ ศอฉ. และการเข้าควบคุมการนำเสนอของสื่อโทรทัศน์ (ซึ่งแม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อเป็น "สื่อสาธารณะ" ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงคำสั่งที่ "ถูกต้องตามกฎหมาย" ของ ศอฉ.ได้) ทำให้บทสัมภาษณ์ของพี่เหน่งไม่ อาจส่งไปถึงผู้คนในวงกว้างได้

เราจึงถอดเทปและเรียบเรียงบทสัมภาษณ์พี่เหน่งมา "เล่าสู่กันฟัง" ผ่านเครือข่ายทางสังคมออนไลน์นี้... เผื่อว่ามันจะถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ที่พอจะมีหัวจิตหัวใจรับฟังและตั้งสติพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น

เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เรื่องเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น (โดยเฉพาะคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ทั้งหมด) และหวังว่าเราจะได้เรียนรู้จาก "บทเรียนอันแสนแพง" บทนี้ว่า...ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาใดๆ และเรายังต้องอยู่ร่วมกันต่อไปในโลกใบนี้ เราควรจะมีวุฒิภาวะพอที่จะแสวงหาและเรียนรู้ว่าต้นตอความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันมาจากไหนกันแน่….

 

บทสัมภาษณ์ "พี่เหน่ง" พันธุ์ศักดิ์ ศรีเทพ

:::::ถ้าอยากรู้ก็ต้องมาดู:::::
“คือเฌอเขา...เนื่องจากพ่อแม่เขา ทำงานพัฒนามา เขาก็จะถูกสอนให้พึ่งพาตัวเองตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ ป.4 เขาต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนเอง หลังจากนั้นเวลามีกิจกรรมทางการเมือง หรือกิจกรรมที่ทำงานของพ่อหรือ แม่มีงานก็ให้เขาได้ไปเรียนรู้ประเด็น แล้วก็ทำให้ได้ไปรู้จักเพื่อนพ่อ ป้าๆ และได้รู้จักประเด็นปัญหาต่างๆ จนกระทั่งมีช่วงหนึ่งก็คือตอนนั้น ม.2 มีกรณีที่จะขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งตอนนั้นมีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ตอนนั้นประเด็นที่เล่นกันคือ การลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีโดยไม่ผ่านสภา เฌอเขาก็ไปเป็นอาสาสมัคร ถ่ายวิดีโอ บางทีมีกิจกรรมเพอร์ฟอร์แมนซ์ ก็จะไปช่วยพี่ๆ และก็ด้วยความที่เป็นเด็กอยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัย ก็ไปช่วย และเขาก็จะมีคำถามมีอะไรตลอดเวลา”

“ตอนช่วงหนึ่ง ช่วง ม.4 เขาก็หนีออกจากบ้านไปเป็นการ์ดพันธมิตรฯ อยู่ 3-4 เดือน ไปเป็นการ์ดกองทัพธรรมที่ชมัยมรุเชฐ เขาก็ได้ไปเรียนรู้ตรงนั้น ตอนเขากลับบ้านก็ได้คุยกันอยู่ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง เขาก็บอกว่าตอนนี้อยู่ตรงนั้นอาจจะไม่ได้รู้อะไรเลย เพราะมันไม่ค่อยได้มีเรื่องประเด็นทางความคิดอะไรกัน แต่มันจะเป็นประเด็นเรื่องอื่นไป แต่ว่าจากประสบการณ์ของเขาที่เคยไปร่วมกิจกรรมหลายๆ อย่าง เขาก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วพอช่วง นปช.เริ่มชุมนุม ตอนแรกเฌอก็ไม่กล้าออกไป เพราะเขากลัวว่าคนจะจำได้ว่าเป็นการ์ดพันธมิตรฯ ผมก็บอกว่าไม่ต้องกลัวหรอก ถ้าอยากไปฟังก็แวะไปได้ แต่ว่าเขาก็ยังไม่ได้เข้าไป”

“จนกระทั่งเราพาเขาไปงานกิจกรรมรำลึกที่จัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากเหตุการณ์ 10 เมษา ก็คือเพื่อนๆ ก็ชวนกันไปจัดกิจกรรมในวันที่ 11 (พ.ค.) เขาก็ไปช่วย ไปเป่าถุงมือยาง ไปถ่ายรูป ไปอะไร แล้วเขาก็ไปเห็นพี่น้องประชาชนอยู่ตรงนั้น เขาก็ได้ดูคลิปวิดีโอ หรือไปฟังจากเหตุการณ์ที่เล่า หรือดูภาพรถถัง ภาพอะไรพวกนี้ เขาก็ยังคุยกับพ่อว่ามันไม่เห็นเหมือนที่ในทีวีบอกเขาเลย มันคนละอย่างกัน ผมก็บอกเขาสั้นๆ ว่าถ้าไม่มาก็ไม่รู้หรอก ถ้าอยากรู้ก็ต้องมาดูว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร”

“เขาก็ถามเรื่องแกนนำ ผมก็บอกว่าเราก็ต้องแยกแกนนำกับประชาชนมือเปล่าออกจากกัน คือแกนนำเขาจะพาไปไหนก็อีกเรื่อง แต่ประชาชนมือเปล่าเขาถูกกระทำความรุนแรง มันไม่สมเหตุสมผล และมันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด หลังจากนั้น-เนื่องจากว่าเขาก็มีมอเตอร์ไซค์-เขาจะแวบไปบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก อาจจะแวะไปแค่ 2-3 ชั่วโมง แล้วก็ออกมา”

“ในช่วงสุดท้ายของเขา ตอนนั้นผมอยู่ที่คลองสาน สวนเงินมีมา สำนักงานของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำกิจกรรมอยู่ทุกวันศุกร์ เฌอเขาก็ออกจากบ้านตอนสามทุ่ม บอกกับแม่ว่าจะไปหาพ่อที่สวนเงินฯ เสร็จแล้วก็คงตามสไตล์ คือแวะเข้าไปดูเหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ชัย ผมมาทราบข่าวอีกทีก็สายๆ วันเสาร์ที่ 15 ว่าเขาถูกยิงเสียชีวิตตอนสายๆ แล้ว มีพี่น้องที่เป็นชาวชุมชนแถวนั้น ที่เอาโทรศัพท์จากตัวเขามากด หาเบอร์จนเจอเรา ก็โทร.ให้เราไปดูตัว ก็ไปรับศพเขากลับบ้าน”

“มีเพื่อนผมหลายๆ คนที่โทรมาแสดงความเสียใจ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะเขาไม่ชอบแกนนำ ไม่ชอบทักษิณหรืออะไร ผมก็เลยบอกว่า แล้วคุณไม่ลองเอามือปิดแกนนำ ปิดทักษิณ แล้วที่เหลือที่คุณเห็นน่ะคือใคร คนมือเปล่าน่ะ ถ้าเราแยกแยะได้ เราก็จะทราบว่าเหตุการณ์ทั้งหมด สุดท้ายไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหน คุณจะเป็นประชาชนที่มีความคิดเห็น ทางการเมืองอย่างไร สุดท้ายทุกคนก็เป็นเหยื่อทั้งหมด รวมถึงทหารที่ต้องออกมายิงประชาชนด้วย เขาก็เป็นแค่เหยื่อคนหนึ่ง เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งเท่านั้น คือมันก็เป็นแค่เกมชิงอำนาจเรื่อง เดิม แต่ว่าเปลี่ยนตัวเล่นใหม่ แต่คนที่ถูกกินหมดกระดานก็คือประชาชนเหมือนเดิม ไม่ต่างกัน ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์กี่ครั้ง-กี่ครั้ง”

“แต่ถ้าเรามองในเชิงภาพรวม ไม่มองรายละเอียดของเหตุการณ์ ตัวผมเองตอนแรกไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง แต่ว่าเราชื่นชมมากที่คนตัวเล็กตัวน้อยกล้าใส่เสื้อแดงเดินอย่างเปิดเผย กล้าติดสติ๊กเกอร์ กล้าอะไร คือเหมือนกับว่าประชาชนเขาเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะคล้ายเดิม แต่ประชาชนเรียนรู้มากขึ้นทุกวัน เรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ”

:::::เราต้องอยู่ต่อไป-ต้องอยู่ ให้ได้:::::
“มีคนมาถามผมว่าแล้วคิดยังไงกับ เรื่องทหารที่กระทำความรุนแรง คือถ้าทหารโดยรายตัวแต่ละราย คือเขาก็ต้องทำตามหน้าที่ เขาก็ถูกฝึกมาให้ทำตามหน้าที่ เพียงแต่ว่าคนที่สั่งให้เขาไปทำหน้าที่นี่...ก็ไม่รู้ว่าหัวจิตหัวใจเขาเป็นยังไง เขาเห็นประชาชนเป็นศัตรูเขาหรือ เขาถึงต้องเอากระสุนที่มาจากภาษี ของประชาชนกลับไปคืนกับประชาชน อย่างนี้หรือ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น”

“มีคนพยายามยกเหตุการณ์ในไทยไป เทียบกับรวันดา ไปเทียบกับอะไร ซึ่งมันคนละเรื่องกัน นั่นมันเป็นความขัดแย้งของชนเผ่า ไม่ใช่คนที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในมือมากระทำกับประชาชน คือเราก็มองเห็นว่ามันก็ควรต้องยุติกันได้แล้ว สำหรับรัฐบาลก็เข้าใจว่ายาก แต่ว่าเห็นเพื่อนๆ สันติวิธีบอกว่าแนวทางสันติมันต้องอดทน รัฐบาลก็ควรจะต้องออกมาขอโทษมาอะไร เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงคุณจะอ้างเรื่องผู้ก่อการร้าย แต่ผมว่าสัดส่วนมันมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย เพราะคนที่เขาก่อการได้จริงๆ แล้วก็คงจะเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ ไม่ใช่ใครที่จะอยู่ๆ มาจับปืนยิงสู้กับทหารได้”

“ถ้าเราตัดเรื่องความสูญเสียของผู้เสียชีวิตไป ผมมองว่ามันเป็นพัฒนาการที่ดีของภาคประชาชนเราที่จะได้เรียนรู้ เมื่อคืนผมนั่งคุยกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง แกก็เห็นด้วยว่าพัฒนาการของภาคประชาชนดีขึ้น แต่แกก็บอกว่า “ค่าใช้จ่ายมันเยอะเกินไป” ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกไปในการเรียนรู้มันสูงมาก แต่ก็มองว่าเหตุการณ์ต่อๆ ไปมันก็จะดีขึ้น แต่กับผู้มีอำนาจก็ไม่หวังอะไรหรอกนะครับ เพราะคนมีอำนาจหรือคนไม่เคยมีอำนาจ ก็ต้องไขว่คว้าอยากจะมีอำนาจ แต่ว่าประชาชนธรรมดาก็เรียนรู้กันขึ้นมาเรื่อยๆ แล้ว ต่อไปจะไม่มีทางปิดกั้น จะไม่มีทางจะมาครอบงำการเรียนรู้ของประชาชน”

“ผมก็หวังแต่ว่าภาคประชาชนของเราจะเข้มแข็งต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าใจว่าทุกคนสามารถมีความคิดเห็นทางการเมืองได้ คุณไม่จำเป็นต้องบอกว่าคุณเป็นกลางแล้วอยู่เฉยๆ มาแสดงความคิดเห็นกัน แต่ไม่ใช่ว่าคุณเจอคนเห็นต่างจากคุณแล้วทนไม่ได้ คุณลุกขึ้นเอาปืนยิงกบาลเขา คือเราสามารถโกรธกันได้ แต่ก็สามารถคุยกันได้ อดทนอีกสักนิดและเข้าใจกันว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงออกมา ทำไมคุณถึงเป็นพันธมิตรฯ สีเหลือง ทำไมคุณถึงสีชมพู ทำไมคุณถึงสีเขียว นี่คือความสวยงามของมนุษย์ เพราะมนุษย์มันคือความหลากหลาย มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ถ้าเราเหมือนกันก็คงไม่เรียกพวกเราว่าเป็นมนุษย์ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันบนความเห็นที่แตกต่างได้อย่างไรนั่นสำคัญกับประชาชนทุกคนมากกว่า รัฐบาลมาเดี๋ยวก็ไป แต่เราต้องอยู่ต่อไป ต้องอยู่ให้ได้”


:::::คำตอบของเด็กชายจากดาวดวงอื่น:::::
“มีหลายคนถามว่า “ทำไมคุณอนุญาตให้ลูกไป” คือจริงๆ ถ้าดูเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต คือเขาจะไปหาผม เราไม่ได้อนุญาตให้เขาไป แต่การที่เราสอนให้เขารู้จักเรียนรู้ พาเขาไปร่วมกิจกรรม พาไปทุกอย่าง คือนั่นเราอนุญาต ก็เท่ากับเราอนุญาตให้เขาไป เพราะเราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ แต่นึกไม่ถึงว่าความรุนแรงมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก”

“ช่วงแรกๆ ถ้าใครใช้เฟซบุ๊คก็จะทราบว่าเฟซบุ๊คก็กลายเป็นสนามรบเหมือนกัน แล้วการที่เราพยายามเอาข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่ง ศอฉ.ไม่เคยประกาศ หรือไม่เคยบอก สิ่งที่พยายามปกปิด เราเอามาเปิดเผย ก็มีเพื่อนๆ หลายๆ คนเข้าใจผิดนึกว่าเราเป็น นปช. แต่เราก็ยืนยันว่าเราต้องการ balance information ตรงนี้ อย่างน้อยคุณก็ต้องได้รับข้อมูลที่รอบด้านพอจะตัดสินใจว่าคุณจะทำอะไรและทำยังไง”

“ตอนที่ผมโดนตัดหัวเสียบประจานในเฟซบุ๊คเราก็ยังรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่คุยกันได้ พอความรุนแรงมาถึงกับชีวิตลูกเรา เราก็ยังยืนยันว่ามันยังคุยกันได้อยู่ดีกับประชาชนที่เห็นต่าง แต่ในส่วนคนมีอำนาจที่สั่งการ มันก็ทำใจลำบากที่จะคุยกับเขา เพราะจริงๆ เขารู้ดีอยู่แล้ว รู้อยู่แก่ใจเขาอยู่แล้ว ถ้าคุณมองเห็นประชาชนเป็นศัตรู แล้วคุณจะดูแลประชาชนได้ยังไง”

“เวลาใครเขามาถามผมว่าเฌอถูกใครยิง? ถ้าถามผม ผมก็บอกว่า “ทหารนั่นแหละ ยิงเฌอ” แต่ผมไม่รู้ว่าทหารฝ่ายไหน และก็มาในนามทหารหรือไม่ แต่สุดท้ายก็คืออย่างที่ผมบอกไว้ก็คือ ถ้าเฌอพูดประโยคสุดท้ายได้ และมีใครได้ยิน เขาคงอยากจะพูดว่า “อโหสิ”

“ความอยากรู้อยากเห็นของเขา ด้วยสิ่งที่เขาทำ เทียบกับเด็กรุ่นเดียวกัน มันเหมือนกับว่าเขาเป็นมนุษย์ประหลาด และเพื่อนๆ พี่ๆ ที่พยายามลดทอนความเศร้าโศกเสียใจ ก็มองว่าเฌอน่าจะเป็นเด็ก ชายจากดาวอื่น เขาอาจจะมาจากดาว B612 ก็เป็นได้ กรณีที่เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลรามาฯ ก็เหมือนเขาจะหาทางกลับบ้าน เพราะเขามาจากโรงพยาบาลราชวิถีฯ ใกล้ๆ กัน”

“ถ้าเราดูหนัง มนุษย์ต่างดาวลงจากยานที่ไหนก็ต้องกลับไปขึ้นยานที่นั่น หลายคนเชื่อว่าเขามาจากดาว B612 และก็กำลังจะหาทางเดินทางกลับไปยังดาวของเขา เชื่อว่าเขาก็คงจะเรียนรู้จากมนุษย์ดาวโลกเยอะว่า...บางอย่างมันก็ใช้เหตุผลคุยกันไม่ได้ แต่ถ้าเขาจะส่งคำตอบมาให้อีกที ผมก็เชื่อว่าเขาคงอยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ...”

 

-----
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ค ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตเจ้าของงานนำมาเผยแพร่ต่อ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net