Skip to main content
sharethis

ทิโล ทิลเก้ ผู้สื่อข่าวของสปีเกล เล่าถึงประสบการณ์การสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค. ที่เป็นเหตุทำให้เพื่อนของเขาคือช่างภาพชาวอิตาลี ฟาบิโอ โปเลนกิ เสียชีวิต

*แปลจาก : "ดับชีวิตในกรุงเทพฯ : ในวันที่ทหารไทยเคลื่อนพลเข้ามา" (The Day the Thai Army Moved In) โดย ทิโล เทลเก้ Der Spiegel http://www.spiegel.de/international/world/0,1518,696422,00.html

ภาพถ่าย ฟาบิโอ โปเลนกิ (ที่มา: AFP)

"กำแพงไฟที่ก่อขึ้นจากการเผายางเป็นสิ่งที่กันผู้ชุมนุมออกจากทหาร กลุ่มควันหนาทึบลอยปกคลุมท้องถนนขณะที่ทหารค่อย ๆ เคลื่อนพลเข้ามาเรื่อย ๆ มีกระสุนพุ่งผ่านตามทาง เป็นสไนเปอร์ที่ยิงมาจากตึกสูงและจากทหารที่รุกคืบผ่านควันไฟ"

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวสปีเกล ทิโล เทลเก้ อยู่ในกรุงเทพฯ ในวันที่ทหารไทยเคลื่อนพลเข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มันเป็นวันสุดท้ายที่เขาได้ทำงานร่วมกับเพื่อนและผู้ร่วมงาน คือฟาบิโอ โปเลนกิ ผู้ที่เสียชีวิตจากแผลกระสุนปืน

เมื่อมีเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่เหนือใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อช่วงหกโมงเช้าของวันพุธที่แล้ว (19 พ.ค.) ผมรู้ว่าไม่นานหลังจากนั้นทหารจะต้องบุกเข้าโจมตีแน่ ๆ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัวว่าจะเกิดขึ้นมาหลายสัปดาห์แล้ว ผมสงสัยอยู่ว่ารัฐบาลจะยอมให้อะไร ๆ เลยเถิดมาขนาดนี้หรือไม่ มีผู้หญิงและเด็กมากมายในย่านของผู้ชุมนุมนี้ ทหารจะยอมเสี่ยงให้มีการนองเลือดจริงหรือ

การประกาศ พรก. ฉุกเฉินฯ ได้รับชัยชนะมาตลอด 6 สัปดาห์ในเมืองหลวงของไทย โดยมีรัฐบาลรอยัลลิสท์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทหารที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากจังหวัดที่ยากจนทางตอนเหนือของไทย มีผู้เสียชีวิตราว 70 รายจากการต่อสู้บนท้องถนนและมากกว่า 1,700 รายได้รับบาดเจ็บ สื่อที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอย่างบางกอกโพสท์เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น "อนาธิปไตย" ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามบอกว่านี่คือ "สงครามกลางเมือง"

พอถึงตอน 8 โมงเช้า ผมก็เข้ามาถึงในเขตสีแดง (Red Zone) ขนาดสามตารางกิโลเมตรรอบราชประสงค์ โดยมีทหารคอยล้อมอยู่ทุกทิศทาง ในวันนั้นก็เหมื่อนวันก่อนหน้านี้ที่สามารถเล็ดลอดเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมได้โดยง่าย ซึ่งผมเคยเข้าไปก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้งช่วงเดือนที่ผ่านมา เบื้องหลังแนวกั้นไม้ไผ่และล้อยางรถยนต์ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงก็ตั้งเต้นท์และตั้งเวที แต่ในเช้าวันนั้นบรรยากาศแบบงานเฉลิมฉลองประชาปฏิวัติก็สูญสลายไป

ผู้ชุมนุมยืนรอทหารอย่างสงบนิ่ง  พวกเขารู้ว่าทหารจะโจมตีเข้ามาจากทางทิศใต้ผ่านถนนสีลม  คนที่กล้าหาญหน่อยเดินออก ห่างจากแนวหน้าไปไกลถึงหนึ่งกิโลเมตร  พวกเขายืนอยู่ตรงนั้นแต่ไม่ได้ต่อสู้อะไร  บางคนมีหนังสติ๊ก แต่ไม่มีใครยิงออกไป

กำแพงไฟที่ก่อขึ้นจากการเผายางเป็นสิ่งที่กันผู้ชุมนุมออกจากทหาร กลุ่มควันหนาทึบลอยปกคลุมท้องถนนขณะที่ทหารค่อย ๆ เคลื่อนพลเข้ามาเรื่อย ๆ มีกระสุนพุ่งผ่านตามทาง เป็นสไนเปอร์ที่ยิงมาจากตึกสูงและจากทหารที่รุกคืบผ่านควันไฟ ส่วนพวกเราที่เป็นนักข่าวก็ต้องคอยหลบโดยกดตัวเองเข้ากับกำแพงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกยิง มีรถกระบะหน่วยพยาบาลแล่นอย่างรวดเร็วเพื่อพาตัวผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ไป

"กลุ่มควันดำลอยอยู่ในอากาศ เราเห็นเพียงภาพราง ๆ ของอนุสาวรีย์ ท้องถนนกลายเป็นสมรภูมิ ก่อนหน้านี้ผมเคยนั่งอยู่หลังกำแพงเล็ก ๆ เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง เพื่อหลบห่ากระสุนของทหาร พวกเขายิงทันทีที่เห็นคนมีหนังสติ๊ก"

"เขาบอกว่าต้องการให้ทักษิณกลับมา แต่มากกว่านั้นอดุลย์อยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่แต่ชนชั้นนำที่มีอำนาจอีกต่อไป แต่มีการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ส่วนอื่น"

เมืองใหญ่ที่พังพาบ
ช่างภาพอิตาลี ฟาบิโอ โปเลนกิ เข้าร่วมกับพวกเราในตอน 9 โมงครึ่ง ฟาบิโอใช้เวลาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มามากกว่า 2 ปีแล้ว เราเป็นเพื่อนกันในช่วงระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมา ฟาบิโอ เป็นนักฝันนิสัยดี เขาอายุ 48 มาจากเมืองมิลาน เคยเป็นช่างภาพแฟชั่นในลอนดอน ปารีส และ ริโอ เดอ จาเนโร ก่อนมาที่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นช่างภาพผู้สื่อข่าว พวกเราเดินทางไปด้วยกันเพื่อทำเรื่องพม่า และในเวลานั้นเองที่เราทำงานให้ สปีเกล บางโอกาส ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราสองคนอยู่ด้วยกันแทบตลอดเวลา

ในเย็นก่อนวันที่ 19 พวกเราเดินด้วยกันไปในเมืองจนกระทั่งฟ้าเริ่มมืด พวกเราเจอกันที่ถนนดินแดงใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจของไทยจากการขยายดินแดนเมื่อ 69 ปีที่แล้ว ในตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ในใจกลางเมืองใหญ่ที่พังพาบ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศกำลังอยู่ในความวุ่นวาย กลุ่มควันดำลอยอยู่ในอากาศ เราเห็นเพียงภาพราง ๆ ของอนุสาวรีย์ ท้องถนนกลายเป็นสมรภูมิ ก่อนหน้านี้ผมเคยนั่งอยู่หลังกำแพงเล็ก ๆ เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง เพื่อหลบห่ากระสุนของทหาร พวกเขายิงทันทีที่เห็นคนมีหนังสติ๊ก

ไม่ไกลจากที่ชุมนุมของเสื้อแดงมีวัดปทุมวนารามตั้งอยู่ ซึ่งได้จัดให้เป็นเขตปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้หญิงในช่วงที่ทหารโจมตี ในที่นั้นเราได้พบกับอดุลย์ ชานตะวัน ผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลอายุ 42 ปี จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอิสาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่เริ่มมีกลุ่มต้านรัฐบาลขึ้นที่นั่น

อดุลย์ บอกพวกเราว่าเขาทำงานเป็นแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย ซึ่งได้เงินราว 150-200 บาทต่อวัน เขามาที่กรุงเทพตั้งแต่เริ่มชุมนุมเมื่อ 2 เดือนก่อน เขาบอกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ควรลาออกเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นฮีโร่ของคนจน เขาบอกว่าต้องการให้ทักษิณกลับมา แต่มากกว่านั้นอดุลย์อยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่แต่ชนชั้นนำที่มีอำนาจอีกต่อไป แต่มีการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ส่วนอื่น อดุลย์บอกไม่เคยคิดมาก่อนว่ารัฐบาลจะทำการปราบปรามประชาชนของตนเองอย่างเหี้ยมโหดขนาดนี้ เขาบอกว่าเขาพร้อมยอมสู้ตายเพื่ออุดมการณ์ของเขา

"ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกเขาไม่ได้ยึดถือทักษิณเป็นหลัก แต่พวกเขาเป็นห่วงเรื่องความอยุติธรรมในประเทศ มีหลายคนมากที่ฝันถึงการมีชีวิตในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมรัฐบาลถึงบอกว่าเสื้อแดงถูกซื้อโดยทักษิณ ไม่มีใครยอมมาถูกยิงเพื่อเงินไม่กี่บาทหรอก"

"ผมมองการต่อสู้ที่กำลังต่างกันและดูไร้เหตุผลนี้มาตลอดหลายวัน คนที่เป็นวัยรุ่นนั่งหลบอยู่หลังกระสอบทรายและยิงทหารด้วยหนังสติ๊กกับบั้งไฟ ทหารยิงกลับด้วยปืนลูกซองแบบปั้ม ปืนสไนเปอร์และปืน M-16"

ฝันถึงการมีชีวิตในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้
อดุลย์ ชานตะวัน ก็เป็นเช่นผู้สนับสนุนเสื้อแดงทั่ว ๆ ไป แต่นอกจากจะมีคนที่มาจากพื้นที่ยากจนต่างจังหวัดแล้ว ยังมีบางคนที่เป็นพนักงานธนาคารในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมชุมนุมหลังเสร็จงานในตอนเย็น รวมถึงหนุ่มสาวท่าทางก๋ากั่นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกเขาไม่ได้ยึดถือทักษิณเป็นหลัก แต่พวกเขาเป็นห่วงเรื่องความอยุติธรรมในประเทศ มีหลายคนมากที่ฝันถึงการมีชีวิตในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมรัฐบาลถึงบอกว่าเสื้อแดงถูกซื้อโดยทักษิณ ไม่มีใครยอมมาถูกยิงเพื่อเงินไม่กี่บาทหรอก

พอวันต่อมาเราตามหาอดุลย์ ก็ไม่เจอเขาอีก เกิดความโกลาหลไปทั่วทุกที่ ฟาบิโอ กับผมเห็นทหารอยู่หลังม่านควันกำลังเคลื่อนเข้ามาหาเราเรื่อย ๆ แล้วพวกเราก็ได้ยินเสียงปืนหลายนัดขึ้นเรื่อย ๆ มีสไนเปอร์จากอีกฟากหนึ่งของถนนกำลังเล็งเป้าพวกเรา

การสังหารหมู่เริ่มขึ้นแล้ว ผมไม่กล้าออกไปไกลกว่านี้ แต่ฟาบิโอก็วิ่งออกไป ฝ่าข้ามถนนที่มีการยิงเป็นระยะทางราว 50 เมตร เพื่อหาที่หลบในเต็นท์กาชาดที่ถูกทิ้งร้าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่ปลอดคนที่ตั่งอยู่ระหว่างเรากับทหารที่รุกคืบเข้ามา ผมเห็นหมวกกันน็อคสีฟ้าของเขาที่เขียนว่า "สื่อ" (press) เขากำลังโบกมือบอกให้ผมไปหา แต่ที่นั่นดูอันตรายสำหรับผม

ตั้งแต่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ผมพบว่าทหารไทยนั้นดูเหมือนกองกำลังมือสมัครเล่น ถ้าพวกเขาสลายการชุมนุมบนท้องถนนแต่ช่วงต้น ๆ ความขัดแย้งก็คงไม่ขยายบานปลายขนาดนี้ พอทหารพยายามสลายการชุมนุม พวกเขาก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พวกเขาใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่แทบไม่มีอาวุธอะไรเลย

ผมมองการต่อสู้ที่กำลังต่างกันและดูไร้เหตุผลนี้มาตลอดหลายวัน คนที่เป็นวัยรุ่นนั่งหลบอยู่หลังกระสอบทรายและยิงทหารด้วยหนังสติ๊กกับบั้งไฟ ทหารยิงกลับด้วยปืนลูกซองแบบปั้ม ปืนสไนเปอร์และปืน M-16

ในที่ชุมนุมของพวกเขา เสื้อแดงจัดแสดงภาพของเหยื่อที่ถูกยิงที่หัว พวกเขาต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีสไนเปอร์จากที่สูงที่ยิงผู้ชุมนุม รวมถึงพล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ทหารขบถที่เป็นคนที่สุดโต่งในหมู่ผู้ชุมนุม เขาก็ถูกยิงที่หัวในวันที่ 18 พ.ค. และเสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น

รัฐบาลยังคงบอกว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนอะไรกับการ 'คิดบัญชี' และบอกว่าผู้ชุมนุมยิงกันเอง ซึ่งไม่จริงเลย มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่ผมรายงานเรื่องเสื้อแดง ผมแทบไม่เคยเห็นอาวุธปืนเลย ยกเว้นการ์ดบางคนเท่านั้นที่มีปืนลูกโม่

ในเช้านั้นมีทหารคนแรกฝ่าม่านควันมาได้ จากจุดที่ผมยืนอยู่มันยากจะเห็นอะไรได้ชัดเจน แต่คุณก็สามารถได้ยินเสียงปืนพุ่งผ่านอากาศได้ มันมาจากสไนเปอร์ที่เคลื่อนพลไปตามจุดต่าง ๆ จากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง มีบางคนที่ยืนอยู่เหนือหัวเราตรง ๆ ตอนนั้นผมไม่เห็นฟาบิโออีกแล้ว

"ในช่วงเย็นวันนั้นรัฐบาลก็ออกมาควบคุมสถานการณ์ กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโลกาวินาศ และเพื่อนผม ฟาบิโอ ก็เสียชีวิตลงแล้ว"

เมื่อพวกเขายิงช่างภาพอิตาลี
ผมตรงไปยังวัดปทุมฯ ทางตะวันตกไปไม่กี่ร้อยเมตรในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งผู้ชุมนุมที่เคยอยู่ในจุดนั้นหายไปแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้ตอบโต้อะไรกลับไปเลย ตอนนั้นเป็นเวลา 11.46 น. พวกเขาเปิดเพลงชาติ ผู้หญิงและเด็กกำลังหนีเข้าไปหลบในลานวัดเพื่อหนีทหารที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ หนึ่งในแกนนำคือฌอน บุญประคอง ยังคงนั่งอยู่ในเต็นท์หลักของเสื้อแดง เขาบอกว่าเขาต้องการปักหลักต่อสู้ต่อไป แม้จะมีการโจมตีจากทางทหาร แทนที่เขาจะยอมถูกจับ เขาวางแผนจะหลบหนี

ในช่วง 11.53 น. ผมพยายามโทรหาฟาบิโอ โทรศัพท์ของเขาเข้าสู่การตอบรับอันโนมัติซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสัญญาณที่นั่นติด ๆ ดับ ๆ ฝั่งตรงข้ามกับวัด หน้าโรงพยาบาลตำรวจ มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งกำลังรอรถพยาบาลที่มาพร้อมกับผู้บาดเจ็บ มีพยาบาลคอยรับลงทะเบียนผู้บาดเจ็บบนบอร์ด พอถึง 12.07 น. ก็มีชื่อผู้ลงทะเบียนรับการรักษา 14 รายแล้ว ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งยืนอยู่ข้างผม เขาบอกว่ามีชาวอิตาเลี่ยนถูกยิง เข้าตรงที่หัวใจ ตั้งแต่ชั่วโมงกว่าที่แล้ว เขาบอกว่าเขาถ่ายภาพไว้และทราบชื่อว่า ฟาบิโอ โปเลนกิ

ในช่วงบ่ายวันนั้นควันไฟพวยพุ่งอยู่เหนือเมือง เสื้อแดงที่กำลังหนีจุดไฟเผาทุกอย่าง ตั้งแต่ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิร์ล ตลาดหลักทรัพย์ และโรงภาพยนตร์ Imax มีคนขโมยของในซูเปอร์มาร์เก็ตและตู้เอทีเอ็ม พอผมกลับถึงบ้านก็มีการเผายางรถตามท้องถนน

ในช่วงเย็นวันนั้นรัฐบาลก็ออกมาควบคุมสถานการณ์ กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโลกาวินาศ และเพื่อนผม ฟาบิโอ ก็เสียชีวิตลงแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net