องค์กรนิรโทษกรรมสากลฯ : ช่องว่างความยุติธรรมระดับโลกทำให้คนหลายล้านต้องเผชิญการละเมิดสิทธิ

(ลอนดอน) ช่องว่างความยุติธรรมระดับโลกกำลังเลวร้ายลงเนื่องจากการเมืองของอำนาจ แม้ปีที่ผ่านมาจะเป็นปีแห่งความยุติธรรมสากลก็ตาม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวในวันนี้ ในรายงานประจำปีเพื่อประเมินการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระดับโลก

รายงานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลประจำปี 2553: สภาวะสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights) รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นใน 159 ประเทศ โดยทางองค์กรระบุว่า รัฐบาลที่ทรงอำนาจกำลังขัดขวางความก้าวหน้าของความยุติธรรมสากล โดยทำตัวมีอำนาจเหนือกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีการปกป้องพวกพ้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ และปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อสบประโยชน์ทางการเมืองของตนเท่านั้น

“การกดขี่และความอยุติธรรมแผ่ขยายตัวท่ามกลางช่องว่างความยุติธรรมระดับโลก เป็นเหตุให้คนหลายล้านคนต้องเผชิญการละเมิดสิทธิ การกดขี่และความยากจน” เคลาดิโอ คอร์ดอน (Claudio Cordone) เลขาธิการชั่วคราว แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว

“รัฐบาลต้องประกันว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิทุกประเภทได้  ตราบใดที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมเหนือผลประโยชน์ทางการเมืองของตน เสรีภาพจากความหวาดกลัว และเสรีภาพจากความต้องการก็จะยังไม่เกิดขึ้นสำหรับมนุษยชาติส่วนใหญ่ในโลก”

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องรัฐบาลให้ประกันว่าจะรับผิดต่อการกระทำของตนเอง ให้รัฐบาลทุกแห่งลงนามเพื่อรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) และประกันว่าอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะได้รับการฟ้องร้องคดีในทุกแห่งหนทั่วโลก รัฐต่าง ๆ ต้องแสดงความเป็นผู้นำระดับโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ (G20) ซึ่งมีภาระสำคัญที่จะทำให้เป็นแบบอย่าง

การออกหมายจับนายโอมาร์ ฮัสซัน อัล บาเชียร์ (Omar Hassan Al Bashir) ประธานาธิบดีซูดานในปี 2552 โดยศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ประมุขของประเทศก็ไม่อาจอยู่เหนือกฎหมายได้แม้ในยามที่ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่สหภาพแอฟริกา (African Union) ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายแสนคนในเขตดาร์ฟูร์ แสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมเหนือการเมือง

การไม่ดำเนินการใด ๆ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติต่อกรณีศรีลังกา แม้ว่าจะเกิดการละเมิดอย่างรุนแรง ทั้งในแง่การก่ออาชญากรรมสงคราม ทั้งจากฝ่ายกองกำลังรัฐบาลและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของประชาคมสากลที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอแนะในรายงานของนายโกลด์สโตน (Goldstone report) ที่จัดทำขึ้นตามมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีความรับผิดต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตกาซา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามัสยังไม่ได้ปฏิบัติตาม

ในระดับโลก ช่องว่างความยุติธรรมเป็นพื้นฐานให้เกิดโครงข่ายการกดขี่ที่ร้ายแรง งานวิจัยของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล สามารถรวบรวมกรณีการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในอย่างน้อย 111 ประเทศ การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรมในอย่างน้อย 55 ประเทศ การจำกัดเสรีภาพในการพูดในอย่างน้อย 96 ประเทศ และการคุมขังนักโทษมโนธรรมสำนึกในอย่างน้อย 48 ประเทศ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในหลายประเทศถูกโจมตีทำร้าย รัฐบาลขัดขวางการทำงานของพวกเขา หรือไม่ก็ไม่สามารถคุ้มครองพวกเขาได้

ในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ รัฐบาลแสดงความไม่อดทนอย่างเป็นระบบต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และตูนีเซีย และมีการกดขี่ปราบปรามมากขึ้นในอิหร่าน ในเอเชีย รัฐบาลจีนเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ท้าทายอำนาจรัฐ มีการควบคุมตัวและปฏิบัติการที่ดูหมิ่นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ส่วนในเกาหลีเหนือและพม่า ประชาชนหลายพันคนหลบหนีออกจากประเทศ เนื่องจากการกดขี่ปราบปรามที่รุนแรงและปัญหาด้านเศรษฐกิจ

พื้นที่ของการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระและพื้นที่ของภาคประชาสังคมได้หดตัวลงในบางส่วนของยุโรปและเอเชียกลาง มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างไม่เป็นธรรมในรัสเซีย ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจัน เบลารุส และอุเบกิสถาน ในทวีปอเมริกา มีเหตุการณ์สังหารนอกกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายร้อยครั้ง ทั้งที่เกิดขึ้นในบราซิล จาไมก้า โคลัมเบีย และเม็กซิโก ส่วนในสหรัฐอเมริกา ผู้ละเมิดสิทธิจากมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายยังลอยนวลพ้นผิด รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา อย่างเช่น กินีและมาดากัสการ์ ใช้กำลังที่รุนแรงและการสังหารนอกกฎหมายเพื่อปราบปรามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ส่วนในเอธิโอเปียและอูกันดาก็มีการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์

การไม่เคารพต่อสิทธิพลเรือนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความขัดแย้ง กลุ่มติดอาวุธและกองกำลังของรัฐละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ศรีลังกา และเยเมน ในระหว่างความขัดแย้งที่เขตกาซาและตอนใต้ของอิสราเอล กองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ต่างใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อสังหารและทำให้พลเรือนบาดเจ็บ พลเรือนหลายพันคนต้องเผชิญการละเมิดสิทธิในขณะที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั้งที่กระทำโดยกลุ่มฏอลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน หรือต้องได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอิรักและโซมาเลีย ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญการข่มขืนกระทำชำเราและความรุนแรงอย่างอื่นจากกองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธในช่วงที่เกิดสงครามเกือบทั้งหมด

แนวโน้มอื่น ๆ ได้แก่:

§        การบังคับให้ประชาชนโยกย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ในแอฟริกา อย่างเช่นใน อังโกลา กานา เคนยาและไนจีเรีย ทำให้คนยากจนยิ่งขึ้น

§        มีรายงานเพิ่มขึ้นถึงความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำต่อผู้หญิง การข่มขืนกระทำชำเรา การละเมิดทางเพศ การสังหารและการทำลายซากศพภายหลังการข่มขืน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในเม็กซิโก กัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และจาไมก้า

§        ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ต้องเผชิญการเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ

§        มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการเหยียดผิว การรังเกียจชาวต่างชาติ และการไม่อดทนอดออมต่อกันในยุโรปและเอเชียกลาง

§         ในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ มีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ ในรัฐต่าง ๆ อย่างเช่น อิรักและเยเมน ทำให้เกิดสภาพที่ไม่มั่นคงปลอดภัยยิ่งขึ้น และบางกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออีดะห์อย่างเห็นได้ชัด

 

ในระดับโลก ประชาชนหลายล้านคนต้องยากจนลงเนื่องจากภาวะวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน สภาพการณ์เหล่านี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิซึ่งส่งผลกระทบต่อความยากจน

“รัฐบาลควรจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เป็นสาเหตุของความยากจนและทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น การประชุมขององค์การสหประชาชาติเพื่อทบทวนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้ เป็นโอกาสที่ผู้นำโลกจะสามารถเปลี่ยนจากคำสัญญาเป็นการแสดงเจตจำนงที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

ผู้หญิง โดยเฉพาะคนยากจน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายเหล่านี้ อาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้ผู้หญิงประมาณ 350,000 คนเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ การละเมิดสิทธิทางเพศ และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และการปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพ

“รัฐบาลจะต้องส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้หญิง แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยังเรียกร้องกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ (G20) ซึ่งยังไม่ได้ลงนามสนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศให้ลงนามเสีย ประเทศเหล่านี้ได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซียและซาอุดิอาระเบีย การประชุมระหว่างประเทศเพื่อทบทวนระบบศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่กรุงคัมพาลา ประเทศอูกันดา เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะแสดงเจตจำนงที่มีต่อศาลแห่งนี้

แม้จะมีความล้มเหลวร้ายแรงในการประกันความยุติธรรมหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าอยู่บ้าง ในละตินอเมริกา มีรายงานการสอบสวนอาชญากรรมที่ผู้กระทำผิดได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมาย และศาลมีคำตัดสินครั้งสำคัญต่ออดีตผู้นำประเทศ อย่างเช่น การลงโทษนายอัลแบร์โต ฟูจิมูริ (Alberto Fujimori) อดีตประธานาธิบดีแห่งเปรูในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการลงโทษนายเรย์นัลโด บียอง (Reynaldo Bignone) อดีตผู้บัญชาการทหารแห่งอาร์เจนตินาในข้อหาลักพาตัวและทรมาน การไต่สวนคดีของศาลพิเศษเพื่อเซียราลีโอนก็ได้ข้อสรุปนอกเหนือไปจากการไต่สวนคดีนายชาลส์ เทเลอร์ (Charles Taylor) อดีตประธานาธิบดีประเทศไลบีเรียที่ยังดำเนินอยู่

“ความจำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมระดับโลกที่เป็นผล เป็นบทเรียนสำคัญของปีที่ผ่านมา ความยุติธรรมอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมและความจริงสำหรับผู้ที่ถูกละเมิด ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิขึ้นอีก และสุดท้ายยังทำให้เกิดโลกที่มีเสถียรภาพและมั่นคงยิ่งขึ้น” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

หมายเหตุ

1.       Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights ครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม 2552

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท