นักปรัชญาชายขอบ : เมื่อเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ถูกฆ่าหน้าต่อตา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ว่าจะมองจากภูมิปัญญาใดในโลก เราย่อมเห็นความจริงว่า เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ และความเป็นสังคมอารยะ คือสิ่งดีงามที่สนับสนุนส่งเสริมกันและกัน

คานท์ (Immanuel Kant) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สองโลก” โลกหนึ่งคือโลกของสัญชาตญาณ และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อมนุษย์ถูกกำกับชี้นำด้วยสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึก โลกของเขาก็ไม่ต่างจากโลกของสัตว์โดยทั่วไป อีกโลกหนึ่งคือโลกของเหตุผล เมื่อมนุษย์ถูกกำกับชี้นำโดยเหตุผล เขาจะมีเสรีภาพจากสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึก และด้วยการมีเสรีภาพดังกล่าวจึงทำให้เขาตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆอย่างมีศีลธรรม

ในทัศนะของรุสโซ (Jean-Jaques Rousseau) มนุษย์เกิดมามีเสรี หากเอาเสรีภาพของไปจากมนุษย์ เขาก็จะไม่สามารถที่จะมีการกระทำที่มีศีลธรรม และไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่เลย   นิทเช (Friedrich Wilhelm Nietzsche) เห็นว่า เสรีภาพหมายถึงการมีอำนาจในการกำหนดตัวเอง วาทะที่ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” หมายความว่า ไม่มีอำนาจอื่นใดที่จะมากำหนดชะตากรรมของมนุษย์ได้นอกเหนือจากอำนาจของมนุษย์เอง ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็เห็นว่า เสรีภาพคือ “แก่นสาร” (essence) ของความเป็นมนุษย์ ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่มีความกล้าหาญในการใช้เสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกต้องและพึงพอใจ

ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) อธิบายว่า เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น คือพื้นฐานในการแสวงหาความจริง เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพดังกล่าวสังคมจะได้รับฟังแต่ “เสียงข้างเดียว” เมื่อมีแต่เสียงข้างเดียวก็ตัดสินถูก-ผิด จริง-เท็จ ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริง เหตุผล ฯลฯ จาก “เสียงที่แตกต่าง” ได้

ส่วนมาร์กซ์ (Karl Marx) เห็นว่า เสรีภาพหมายถึงเสรีภาพของสังคมที่สามารถปลดแอกตัวเองจากระบบกดขี่ต่างๆ เช่น ระบบชนชั้น ระบบการผลิตแบบนายทุน ทำให้สังคมมีอำนาจในการกำหนดตนเองให้เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ

พุทธศาสนาเองก็มองว่า เสรีภาพมีสองด้านคือ ด้านหนึ่งคือความเป็นอิสระจากพันธนาการภายใน หรือเป็นอิสระจากความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเกลียดชัง และความโง่เขลา อีกด้านหนึ่งคือความเป็นอิสระจากพันธนาการภายนอก เช่น ความยากจน ความเจ็บป่วย การถูกกดขี่เอาเปรียบในด้านต่างๆ

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากภูมิปัญญาใดๆก็ตาม เสรีภาพคือแก่นสารสำคัญสูงสุดที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่แท้ ทำให้สังคมเป็นสังคมอารยะ เป็นสังคมที่อยู่กันด้วยสัจจะ ศีลธรรม ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และอื่นๆ

แต่ถึงแม้มนุษย์จะประกาศ “คุณค่า” ของเสรีภาพดังกล่าวนั้นมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว สังคมไทยในยุคต้นศตวรรษที่ 21 ปี 2010 ยังอยู่ใน “ยุคโศกนาฏกรรมการเข่นฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์”

สังคมนี้ทนอยู่ได้อย่างไร กับการอยู่ในอำนาจต่อไปของ “รัฐบาล 86 ศพ” (ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ) เชื่อถือได้อย่างไรว่ารัฐบาลเช่นนี้จะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่ว่าประเทศนี้ไม่ต้องการความปรองดอง แต่เราจะเชื่อถือ “รัฐบาล 86 ศพ” ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำมันตรงกันข้ามกันตลอดมา

เขาปรองดองด้วยการ “ฆ่าเสรีภาพ” ใช้ พรก.ฉุกเฉินปิดสื่อที่เสนอความเห็นต่าง โดยอ้างว่าสื่อเหล่านั้นบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกเร้าความรุนแรง แต่ไม่ปิดสื่อฝ่ายที่สนับสนุนตนเองที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกเร้าความรุนแรงมานานยิ่งกว่า แถมยังยึด “สื่อของรัฐ” (ไม่ใช่ของรัฐบาล) เป็น “กระบอกเสียง” บิดเบือนข้อเท็จจริงและใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา

ฟรีทีวีหรือสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ก็กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล (หลังคนเสื้อแดงกลับบ้าน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นแต่ข่าวการพื้นฟูเยียวยาชาวกรุงเทพฯ และการจะเดินหน้าแผนปรองดอง แต่ไม่มีข่าวการเยียวยา การให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิต ญาติมิตร และชะตากรรมของคนเสื้อแดง เสมือนว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนใน “รัฐเดียวกัน”)

นี่คือปรากฏการณ์ของการฆ่าเสรีภาพทางการพูดและการแสดงความคิดเห็น และมันทำให้ “ความจริงตายแล้ว” ตั้งนานก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองi

ไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพที่จะมีอำนาจกำหนดชะตากรรมตัวเองของประชาชนที่ถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เมื่อคนเสื้อแดงกลับมาทวงคืน ผลก็คือความตายของ 86 ชีวิต และบาดเจ็บอีกเกือบสองพันคน การเผาเมือง และความแตกแยกร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม!

คนกรุงเทพฯ ประทับใจกับ “ภาษา/วัฒนธรรมซาบซึ้ง” แบบดัดจริต เช่น “บ้านของพ่อ” (ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา แผ่นดินนี้เป็นของเราทุกคน) “ไล่พ่อออกจากบ้าน” “โจรเผาบ้าน” “ขบวนการก่อการร้าย” “ขบวนการล้มเจ้า” แต่ “เอ๋อเหรอ” กับภาษา/วัฒนธรรมซาบซึ้งที่สะท้อนข้อเท็จจริง เช่น “สู้เพื่อเสรีภาพ” “สู้เพื่อประชาธิปไตย” “สู้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ” “ไพร่ล้มอำมาตย์”

ไม่อนาทรร้อนใจกับการปิดสื่อ (ที่ไม่ใช่สื่อตัวแทนความเห็นของฝ่ายตน) กับการจับนักวิชาการที่สู้เพื่อเสรีภาพไปคุมขังในค่ายทหารโดยไม่ตั้งข้อหา ไม่ให้รับรู้ข่าวสาร ไม่ให้อ่านหนังสือ ฯลฯ

ตอนนี้ “วีรบุรุษประชาธิปไตยขวัญใจคนชั้นกลางในเมืองฯ” (สนธิ ลิ้มทองกุล) กำลังเรียกร้องให้ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และขอใช้เวลาอีก 3 ปี ในการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปตำรวจ นี่คือข้อเสนอเพื่อ “ฆ่าซ้ำ” เสรีภาพหรืออำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน!

คนต่างจังหวัด คนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาพบว่าเขามีเสรีภาพและอำนาจกำหนดชะตากรรมของตนเองเมื่อเขาลงคะแนนเลือกรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีนโยบายทำประโยชน์ให้พวกเขา

ก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยมีอำนาจในการกำหนดตัวเองที่ชัดเจน (แม้แต่อำนาจกำหนดตัวเองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการแจก สปก.4-01) แต่คนชั้นกลางในเมืองก็เรียกร้องรัฐประหารล้มรัฐบาลของพวกเขาด้วยข้ออ้างเรื่องคอร์รัปชัน ไม่จงรักภักดี เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการรัฐประหาร เขาจึงมาทวงอำนาจของเขาคืน แต่เขาต้องตาย ต้องบาดเจ็บ นี่คือความจริง เป็นความจริงของ “การฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของคนต่างจังหวัดและคนชนบท”

แต่ยิ่งฆ่า! เสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะยิ่งงอกงามและแข็งแกร่ง ขณะที่เสรีภาพ (จากสัญชาตญาณอย่างสัตว์) และความเป็นมนุษย์ของ “ผู้ฆ่า” และ “กองเชียร์ให้ฆ่า” นับวันจะเสื่อมทรุดและสูญสลาย!

 

ปล. สื่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ “ผู้มีอำนาจตัดสิน” ทั้งหลายครับ! ทำไมพวกท่านเฉยเมยต่อ “การฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์” หน้าที่ของพวกท่านคือการปกป้อง “อะไร...” กันครับ?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท