Skip to main content
sharethis

...ผมคิดว่าการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศได้แสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าเพียง กล่าวคำว่า “เสียใจ” ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปนั้น คงมิได้เป็นสิ่งที่เกินเลยไปนัก และหวังอย่างยิ่งว่าผู้คนในสังคมไทยจะได้กันร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบดัง กล่าวด้วย เพราะผมเชื่อว่าผู้คนในสังคมของเรานั้นคงมีความตระหนักและมีสำนึกในคุณค่า ของชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ในฐานะเพื่อนร่วมแผ่นดินบ้าง.. 

ผมได้อ่านข่าวใหญ่สองข่าวในห้วงเวลาเดียวกัน ข่าวแรก เรื่องนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว ในระหว่างการประชุมสมาชิกพรรคเดโมเครติค พาร์ตี ออฟ เจแปน (DPJ) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 หลังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการย้ายฐานทัพของสหรัฐออกไปจากเกาะโอกินาวาตามที่เขาสัญญาไว้ได้โดยการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของนายฮาโตยามะมีขึ้นในช่วงระหว่างที่เขากำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาท่ามกลางคะแนนนิยมในคณะรัฐมนตรีที่ลดน้อยลง และการตัดสินใจดังกล่าวยังมีขึ้นหลังจากที่พรรคสังคมประชาธิปไตยถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเรื่องการคงฐานทัพสหรัฐไว้บนเกาะโอกินาวา

อีกข่าวหนึ่ง ได้แก่ ข่าวการประชุมเพื่อการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 ของประเทศไทยเรานี่เอง โดยประเด็นสำคัญของการอภิปราย ได้แก่ การตัดสินใจใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชน ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวน 87 ราย  และบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1,406 ราย (สรุปจำนวนจากศูนย์เอราวัณ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553  http://www.ems.bangkok.go.th/report/final-1-6-53.pdf ) ตลอดจนการเผาทำลายสถานที่ต่าง ๆในเขตกรุงเทพมหานครและศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง โดยผลการลงมติ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี , นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รวมทั้งรัฐมนตรีอีกสามราย ทั้งหมดได้รับเสียงโหวตไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันที่จะอยู่เป็นรัฐบาลและเดินหน้าแผนปรองดองแห่งชาติต่อไป ซึ่งหลาย ๆ คนคงได้รับทราบข่าวนี้แล้ว

หลังจากอ่านสองข่าวนี้จบ ผมรู้สึกสะทกสะท้อนใจอย่างยิ่งกับภาวะและสำนึกของผู้นำทางการเมืองไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีของสังคมการเมืองไทยขณะนี้

ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า การเป็นผู้นำที่ดีนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการนั่นคือ “ความรับผิดชอบ” ในฐานะที่เป็นผู้นำต่อประชาชนด้วย

 

...

รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจใช้กำลังทางการทหาร ในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือที่เรียกด้วยภาษาใหม่ที่สละสลวยกว่าเดิมว่าเป็นการ  “ขอคืนฟื้นที่” หรือ “กระชับวงล้อม” ทั้งที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเหตุผลมากมายในการชี้แจงต่อสาธารณชนถึงการตัดสินใจดังกล่าว ไม่ว่าจะเพื่อคืนความสงบสุขให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพ เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” หรือ ”กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” ที่แฝงตัวอยู่ตามยุทธวิธีแยกปลาออกจากน้ำ เพื่อการปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการ หรือเหตุผลอะไรร้อยแปดพันประการก็ตาม เหตุผลความจำเป็นต่างๆ ที่รัฐบาลยกอ้างขึ้นนั้นไม่อาจปิดบังหรือลบเลือน “ความจริง” ที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มี “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ต้องสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไปได้

และถึงแม้ว่าการชุมนุมของ นปช. ที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่การชุมนุมที่สามารถพูดได้อย่าง เต็มปากว่าเป็นไปอย่างสงบ สันติ และอหิงสา อย่างที่แกนนำ นปช. ได้เอ่ยอ้างมาตลอดก็ตาม

แต่อย่าลืม....ว่าก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจใช้กำลังทหารในการขอคืนพื้นที่หรือกระชับวงล้อมนั้น ไม่ได้มีการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ด้วยอาวุธสงครามในพื้นที่ของการชุมนุม และไม่ได้มีการเผาทำลายอาคารบ้านเรือนแต่อย่างใด

รัฐบาลไม่สามารถเอ่ยอ้างได้ว่า ความรุนแรงและการลอบยิงระเบิดตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาในช่วงก่อนที่จะมีการตัดสินใจสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นที่กองบัญชาการทหารบก พล ร. 11 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ แม้กระทั่งในเหตุประทะบริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน และเหตุปะทะบริเวณแยกศาลาแดงระหว่างกลุ่มผู้อ้างว่าเป็นผู้อยู่อาศัยในถนนสีลมกับกลุ่ม นปช.  นั้น เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เพราะแม้ในขณะนี้เองรัฐบาลก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าวและนำเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนได้เสร็จสิ้นตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดถึงขนาดที่จะบ่งชี้และเชื่อมโยงได้ว่านั่นเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช.

“ความจริง” ต่างๆ เกี่ยวกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นตามข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏในสื่อมวลชนและคลิปวิดีโอจำนวนมากที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ต ยังคงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป โดยฝ่าย นปช. อ้างว่า ความสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์เกิดจากการที่ฝ่ายทหารได้ใช้กระสุนจริงยิงทำร้ายประชาชน แต่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า เป็นการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหรือผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมที่ฉกฉวยสถานการณ์ดังกล่าวในการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น  ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลเพื่อยืนยันและปกป้อง “ความจริง” ของตนเอง ซึ่งผมเคยได้กล่าวไว้แล้วว่า นั่นเป็นเพียงการ “เลือก” หยิบข้อมูลในส่วนที่เป็นประโยชน์และสร้างความชอบธรรมต่อฝ่ายของตนเอง อันเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของ “ความจริง”ทั้งหมด เท่านั้น

หรือแม้กระทั่ง การถูกลอบสังหารของ เสธ. แดง ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด เพื่อหวังผลในสิ่งใดอย่างแน่ชัด และยังจับมือใครดมไม่ได้..

สุดท้าย ”ทฤษฎีมือที่สาม” ก็ยังคงถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการอธิบายสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่อยากจะรับผิดชอบได้อย่างทรงพลังเสมอ

จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่จะกล่าวอ้างและสรุปว่าเหตุความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. และเพื่อลดการสูญเสียของทุกฝ่ายและปกป้องผู้บริสุทธิ์ จึงต้องนำกำลังทางการทหารและอาวุธจริงมาใช้ในปฏิบัติการดังกล่าว ดังที่นายกรัฐมนตรีและ ศอฉ. ได้แสดงออกผ่านแถลงการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่าทราบดีว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นั้นเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยตลอด?    

และเหตุการณ์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ได้มีความพยายามจากหลายกลุ่มที่จะสร้างเจรจารอบใหม่ โดยเฉพาะการเจรจาซึ่งนำโดยกลุ่ม สว. กลุ่มหนึ่ง เมื่อคืนวันที่ 18 พฤษภาคม และฝ่ายแกนนำ นปช. ได้ประกาศว่าพร้อมที่ยุติการใช้กำลังและเข้าสู่การเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไข  แต่ฝ่ายรัฐบาลและ ศอฉ. กลับเลือกตัดสินใจใช้มาตรการทางการทหารเข้าสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งนำมาสู่ความแปลกประหลาดใจของทุกฝ่าย

ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงเป็นการตัดสินใจที่มิได้คำนึงถึงความสูญเสียของชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างเพียงพอ..ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลได้ประเมินหรือไม่ว่าหากดำเนินตามมาตรการดังกล่าวแล้ว อาจนำไปสู่การจลาจลและเผาทำลายบ้านเมืองดังที่ได้เกิดขึ้นซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกและเศร้าสลดใจให้แก่ผู้คนทั้งประเทศ รวมทั้งยังสร้างความโกรธแค้นและย้ำรอยแตกร้าวลึกของสังคมไทยอย่างยากยิ่งที่จะปรองดองได้ตามที่รัฐบาลคาดหวัง..

...

จากที่ได้กล่าวมา จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะต้องแสดงความรับผิดชอบจากการตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าว ด้วยการประกาศ “ยุบสภา” หรืออย่างน้อยที่สุด คือการ “ลาออก” จากการเป็นนายกรัฐมนตรี

ในแง่นี้ การลาออก อาจไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้หรือยอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปนั้นเป็นความผิดพลาดเสียทั้งหมด แต่นี่คือการแสดงสปิริตของผู้นำประเทศและแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้มีกระบวนการสอบสวนและตรวจสอบสามารถดำเนินไปได้อย่างปราศจากข้อสงสัยและเคลือบแคลงใจในความเป็นกลาง เพื่อให้ “ความจริง” ต่าง ๆ ได้ปรากฏและเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย พร้อมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศลาออกแล้ว ต่อไปจึงเป็นกระบวนการของรัฐสภาในการสรรหาและเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเปิดโอกาสให้พรรคต่างๆ ได้ตัดสินใจที่จะเลือกข้างจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งโดยปราศจากแรงกดดันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังคงผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ (ซึ่งผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ใดๆ ที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลของไทยในขณะนี้มีสปิริตทางการเมืองจนถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนพรรคสังคมประชาธิปไตยของญี่ปุ่นหรอกนะครับ)

พรรคการเมืองต่างๆ อาจเลือกที่จะจับขั้วกันเช่นเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐสภาอาจเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายใดๆ สำหรับระบบรัฐสภาไทยที่ยังคงยึดติดกับตัวบุคคลและเสียงตอบรับจากประชาชนมากกว่าจริยธรรมทางการเมือง และสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ ที่ดำรงอยู่ได้

แต่อย่างน้อย การแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้นำต่อสาธารณชนในสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง ย่อมดีกว่าการยึดถือว่าตนเองนั้นเป็นฝ่ายที่ถูกต้องเป็นฝ่ายธรรมะและป้ายสีให้อีกฝ่ายเป็นอธรรม แล้วพยายามดำเนินแผนการปรองดองที่ไม่ทางที่จะเป็นจริงได้เลย พร้อมกับลากลู่ถูกังประเทศไปแบบไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้

......

ในวันนี้ ผมคงไม่ถกเถียงถึงความชอบธรรมและความสง่างามของการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์อีก ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร หรือเป็นผลมาจาก” อำนาจพิเศษ” ใดๆ หรือไม่ก็ตาม เพราะผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย ซึ่งผมเคารพในความคิดของทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดที่อาจคิดต่างจากผมไปบ้างก็ตาม

แต่โดยส่วนตัว ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ได้หมดความชอบธรรมไปแล้วตั้งแต่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา

และผมคิดว่าการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศได้แสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าเพียงกล่าวคำว่า “เสียใจ” ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปนั้น คงมิได้เป็นสิ่งที่เกินเลยไปนัก และหวังอย่างยิ่งว่าผู้คนในสังคมไทยจะได้กันร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบดังกล่าวด้วย เพราะผมเชื่อว่าผู้คนในสังคมของเรานั้นคงมีความตระหนักและมีสำนึกในคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ในฐานะเพื่อนร่วมแผ่นดินบ้าง..  

แต่เมื่อมาถึงวันนี้...ผมคิดว่าบางทีสิ่งที่ผมหวังนั้นอาจสูงเกินไป..
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net