Skip to main content
sharethis

 
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยดูเหมือนจะบรรเทาเบาบางลงไปบ้างแล้วในขณะนี้ ประเทศไทยยังคงไปไม่ถึงปลายทางของปัญหาการเมืองที่ถูกทำให้ยืดเยื้อออกไปอีก สมาชิกของกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนหวนคืนกลับบ้านทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ, บางคนยังหายตัวไปไม่ทราบชะตากรรม 

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ รู้ดีว่าพวกหัวรุนแรงที่ปะปนอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงยังคงเป็นอิสระ และพวกเขาจะลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง แต่ขณะนี้เป็นเวลาที่รัฐบาลควรหันไปสนใจเรื่องอื่นซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้กัน: ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับคนไทยเพียงอย่างเดียว หรือเฉพาะผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในการปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลและผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง แต่ยังรวมไปถึง ‘สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ หรือ ‘อาเซียน’ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มปรับตัว – อย่างล่าช้า - ให้กลายเป็นองค์กรที่มีความจริงจังและยึดหลักกฎหมายมากขึ้น ประเด็นที่ว่ามาจึงเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของ ‘คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน’ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์และปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านการกระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะและการศึกษา

เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนถือกำเนิดขึ้นในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ผู้ติดตามการทำงานของอาเซียนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีตั้งแต่ต้นว่าคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบรัฐบาลหรือกำหนดมาตรการคว่ำบาตรใดๆ 

แต่นายกฯ อภิสิทธิ์  ผู้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนั้น ตอบโต้นักวิจารณ์อย่างอาจหาญว่า “สิ่งที่ดำรงอยู่จะเป็นภาระของอาเซียนในการพิสูจน์ให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ สิทธิมนุษยชน สามารถบรรลุในสิ่งที่สมาชิกได้ร่วมตกลง, ร่วมประกาศเจตนารมย์ หรือเล็งเห็นประโยชน์ร่วมกันได้”

เวลานี้จึงเป็นห้วงยามที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าประเด็นสำคัญสำหรับอาเซียนเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทยเช่นกัน ยอดรวมผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงอยู่ที่ 85 ราย ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 1,400 ราย 

ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน และส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอาเซียน จึงจำเป็นต้องรับผิดชอบและปกป้องชื่อเสียง รวมถึงความน่าเชื่อถือของอาเซียนให้เท่ากับที่ต้องรับผิดชอบและปกป้องชื่อเสียงของตน อีกทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ยังเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ด้วยว่าจะสอบสวนข้อเท็จจริงการสังหารประชาชนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เขาอาจต้องการให้อาเซียน “ดำรงอยู่ในกระบวนการสอบสวน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น 

หากถามว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า “อยู่ในกระบวนการสอบสวน” แทนการใช้คำว่า “มีส่วนร่วม” เป็นผลจากการที่อาเซียนยึดหลักว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ซึ่งอันที่จริงก็คลายความเข้มงวดลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ถึงกับล้มเลิกไปเสียทีเดียว สิทธิมนุษยชนจึงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และไม่ใช่ว่าสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะมีความกระตือรือร้นที่จะถกเถียงในประเด็นนี้ โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียนที่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษนชนภายในประเทศยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย

ทว่าการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งเรียกร้องให้อาเซียนจัดการประชุมวาระพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติในเมืองไทย เป็นเรื่องที่สมควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าการประชุมจะมิได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสมาชิกอาเซียนบางประเทศพร้อมก้าวข้ามไปสู่จุดหมายใหม่ ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถถกเถียงประเด็นอ่อนไหวบางประการได้อย่างเปิดเผย แม้ว่าการถกเถียงนั้นอาจมิได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงใดๆ เลยก็ตาม

พรรคประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์มักแสดงตนเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ดังนั้นประชาธิปัตย์จึงเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าอย่างรุนแรง 

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ  อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน เรียกร้องให้มีการกำหนดนโยบายยืดหยุ่นด้านการมีส่วนร่วมในปี 2542 ซึ่งนโยบายดังกล่าวเปิดไฟเขียวอนุญาติให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถหยิบยกประเด็นที่วิตกกังวัลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านมาเจรจาถกเถียงกันได้ และคาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวอาจข้ามพรมแดนไปได้จนทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ บังเกิดผลสำเร็จ แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่เคยเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังเสียที

เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์จะอนุญาติให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกอาเซียนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องยุติธรรมดี ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงขึ้นในภูมิภาคได้อีกด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลควรทำอะไรให้ได้มากกว่านี้ เหมือนที่ ‘กวี จงกิจถาวร’ ผู้สื่อข่าวชาวไทยซึ่งมีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับอาเซียน เคยเสนอให้รัฐบาลไทยเชื้อเชิญคณะกรรมมาธิการฯ สิทธิมนุษยชน มาเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ในคณะทำงานเพื่อการสอบสวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

การตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าขอบเขตของสมาชิกอาเซียนที่จะ ‘ดำรงอยู่’ ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนควรเป็นเช่นไร ไม่เพียงแต่จะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย แต่ถึงขั้นไม่เคยเกิดขึ้นที่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศสมาชิกใดๆ ในภูมิภาคนี้เลย และบางประเทศแสดงอย่างออกชัดแจ้งว่าไม่คิดยอมรับบทบาทใหม่ของอาเซียนในการเข้าร่วมแก้ปัญหาหลังจากเกิดความขัดแย้งขึ้น ขณะเดียวกัน หลักการปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกมองว่าเป็นมาตรฐานใหม่ที่อาจทำให้การจัดการกิจการภายในของสมาชิกอาเซียนยากลำบากขึ้นกว่าเดิม

แต่หากมองในหลายๆ แง่ วิกฤติประเทศไทยเป็นบททดสอบที่สมบูรณ์แบบของอาเซียนที่จะปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็นที่ต้องจัดการแก้ไข ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทย จะต้องถามตัวเองว่าต้องการให้ข้อด้อยเพียงประการเดียวกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดของการสร้างประชาคมขึ้นในภูมิภาคจริงหรือไม่ เพราะอาเซียนได้มาไกลจากจุดเริ่มต้นในปี 2510 มากแล้ว ขณะนี้อาเซียนมีกฎบัตรเป็นของตัวเองและได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ภารกิจในการสร้างประชาคมระดับภูมิภาคจะไม่มีวันสำเร็จลุล่วงได้ หากประเทศสมาชิกบางส่วนยังเลือกที่จะรับรู้การดำรงอยู่ของอาเซียนผ่านทัศนคติที่คับแคบของตนเพียงฝ่ายเดียว

อภิสิทธิ์ยังมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่คำนึงว่าผลการสอบสวนจะออกมาเป็นเช่นไร รัฐบาลของเขาแปดเปื้อนและจะถูกบันทึกลงในแบบเรียนประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้สั่งให้ทหารปฏิบัติการล้อมปราบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของพลเรือน 

การทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนดำเนินไปอย่างโปร่งใส โดยเปิดให้ภาคประชาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและสากลเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการตั้งคณะกรรมการสังเกตุการณ์ จะช่วยให้รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถกอบกู้ความชอบธรรมกลับคืนมาได้บางส่วน และในขณะเดียวกันก็ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามลงได้บ้าง ที่สำคัญกว่านั้นคือมันอาจช่วยประกอบสร้างประชาคมอาเซียนให้กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอันดับหนึ่ง ทั้งยังจะช่วยให้กระบวนการก่อตั้งประชาคมในภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

[บทความนี้เป็นทัศนะส่วนบุคคลของ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์’ นักวิชาการประจำศูนย์อาเซียนศึกษา, สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งประเทศสิงคโปร์ - ASEAN Studies Centre, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net