Skip to main content
sharethis

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) ทำข้อมูลเปรียบเทียบการใช้อำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตาม “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” และ “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) จัดทำข้อมูลเพื่อให้ความรู้สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ในเรื่องเงื่อนไขของการใช้อำนาจ และสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งในแง่ของการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว และสิทธิในการคัดค้านการควบคุมตัว

ตารางเปรียบเทียบการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามประมวลกฎหายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กรณีตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

๑. การจับกุมและคุมขัง

กรณีทั่วไป การจับต้องมีหมายจับ เว้นแต่

- บุคคลนั้นกระทำผิดซึ่งหน้าที่เจ้าพนักงานผู้จับเป็นผู้เห็นเอง หรือ

- บุคคลนั้นมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่น หรือเป็นการจับเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดขึ้นและไม่อาจขอหมายได้ทัน

- มีเหตุด่วนจำเป็นที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้

- การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว

 

ข้อจำกัด 

-  การจับกุมบุคคลไม่ว่าจะมีหมายหรือไม่นั้น ห้ามจับในที่รโหฐานเว้นแต่มีหมายค้นและต้องค้นในเวลากลางวัน ยกเว้นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่สามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลหรือข้อยกเว้นที่อาจค้นในเวลากลางคืน 

 

๑. การจับกุมและควบคุมตัว

การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัย จะต้องขออนุญาตศาลให้ออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เว้นแต่

- บุคคลนั้นกระทำผิดซึ่งหน้าที่เจ้าพนักงานผู้จับเป็นผู้เห็นเอง หรือ

- บุคคลนั้นมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่น หรือเป็นการจับเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดขึ้นและไม่อาจขอหมายได้ทัน

- มีเหตุด่วนจำเป็นที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้

การจับกุมในที่รโหฐานนั้น สามารถเข้าไปจับกุมได้โดยอาศัยอำนาจค้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถค้นได้ทั้งในเวลากลางวันและในเวลากลางคืน แต่การจับกุมจะต้องมีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเป็นกรณีที่สามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

หลายกรณีเป็นการจับกุมโดยอาศัยอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาหากมีการแจ้งข้อกล่าวหา เช่น ข้อหาฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือ ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เป็นต้น ผู้ต้องสงสัยก็จะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา และต้องนำตัวเข้าสู่กระบวนการฝากขังต่อ ป.วิ.อาญา หรือกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป ทั้งนี้ การฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (แผนผังลำดับที่ 1)

 ๒. สิทธิของผู้ถูกจับกุมและถูกคุมขัง

-สิทธิได้รับการแจ้งข้อหาและรายละเอียดแห่งการจับ รวมถึงผู้จับต้องแสดงหมายต่อผู้ถูกจับ (หากมี)

-สิทธิแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้ใจทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรก

-เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับถึงสิทธิที่จะไม่ให้การและถ้อยคำที่พูดอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในชั้นพิจารณา

-สิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ

-สิทธิได้รับการรักษาพยาบาล ในกรณีจำเป็น

-สิทธิในการให้ทนายความและผู้ที่ไว้ใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ

-สิทธิที่จะมีล่าม หากไม่เข้าใจภาษาไทย

-สิทธิขอสำเนาคำให้การ

-สิทธิในการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน

-สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวหากมีการคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๒. สิทธิของผู้ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัว

- สิทธิได้รับแจ้งข้อเท็จจริงและเหตุแห่งความสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

- การจับกุมตัว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแก่บุคคลผู้ต้องสงสัยก่อนเข้าจับกุม

-เมื่อมีการจับกุม พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการจับกุมเสนอต่อศาลที่ออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้ญาติของผู้ถูกจับสามารถตรวจสอบได้

-สิทธิในการพบญาติหรือบุคคลที่ผู้ต้องสงสัยไว้ใจ

-สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว

-สิทธิได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วย

-สิทธิในการให้ทนายความและผู้ที่ไว้ใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ

-สิทธิที่จะมีล่าม หากไม่เข้าใจภาษาไทย

-สิทธิขอสำเนาบันทึกการซักถาม

-สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวหากมีการคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๓. ระยะเวลาในการควบคุมตัว

การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง หากจะทำการควบคุมตัวต่อ จะต้องนำผู้ถูกจับกุมไปยังศาลเพื่อขออนุญาตควบคุมตัวต่อโดยออกหมายขัง ณ เรือนจำหรือสถานที่อื่นที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ศาลอาจออกหมายขังได้ไม่เกินครั้งละ ๑๒ วัน  และศาลจะต้องไต่สวนทุก ๑๒ วันเพื่อพิจารณาว่ายังมีเหตุอันควรควบคุมตัวอยู่หรือไม่

 

-สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน๖เดือน ศาลจะออกหมายขังรวมกันได้ไม่เกิน๗วัน

-สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน๑๐ปี ศาลจะออกหมายขังรวมกันได้ไม่เกิน๔๘วัน

-สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูง๑๐ปีขึ้นไป ศาลจะออกหมายขังรวมกันได้ไม่เกิน๘๔วัน

๓. ระยะเวลาในการควบคุมตัว

บุคคลผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะถูกควบคุมตัวไว้ ณ สถานที่ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่เกินคราวละ ๗ วัน แต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ายังมีเหตุในการควบคุมตัวต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยนั้นไปยังศาลเพื่อให้อนุญาตให้ควบคุมตัวต่อ ทั้งนี้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นต้องไม่เกิน ๓๐ วัน เมื่อพ้นระยะเวลา ๓๐ วันแล้วจะต้องได้รับการปล่อยตัว แต่หากมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็อาจถูกจับกุมตามกระบวนการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป

๔. สถานที่ควบคุมตัว

๑) สถานีตำรวจ (กรณีควบคุมก่อนฝากขัง)

๒) เรือนจำ (กรณีขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาต หรือขังระหว่างพิจารณาคดี)

กรณีขอฝากขังต่อศาลอาญาหรือศาลแขวงในกรุงเทพฯ แม้เป็นกรณีการจับกุมโดยอาศัยอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน หากต่อมาถูกแจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลตามข้อ ๓ ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกนำไปควบคุมตัวที่

๑) เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

๒) ทัณฑสถานหญิงกลาง

๔. สถานที่ควบคุมตัว

ตามประกาศ ศอฉ.

 ๑) บก.ตชด.ภ.1 จ.ปทุมธานี

 ๒) บก.ตชด.13 จ.กาญจนบุรี

 ๓) บก.สนับสนุนทางอากาศ

 ๔) บก.ตชด.จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ทหารม้า จ.สระบุรี

 ๕) กรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี และ

 ๖) กองบัญชาการช่วยรบที่1 จ.ชลบุรี

หากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวฝากขังต่อศาลตามกระบวนการตาม ป.วิ.อาญา ก็จะต้องปล่อยตัว เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อได้ ตามข้อ ๓

 

๕. การค้น

ห้ามทำการค้นตัวบุคคลในที่สาธารณสถาน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

ห้ามทำการค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นซึ่งออกโดยศาล เว้นแต่

- มีพฤติการณ์ที่แสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดในที่รโหฐาน

- ปรากฏความผิดซึ่งหน้าในที่รโหฐาน

- เมื่อบุคคลที่ทำความผิดซึ่งหน้า ขณะถูกไล่จับหนีเข้าไปซ่อน

- เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนอยู่ในนั้น โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากรอไปดำเนินการขอหมายค้น สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลาย

- กรณีผู้จะถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับมีหมายจับหรือเป็นกรณีที่จับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

การค้นในที่รโหฐานจะต้องทำเฉพาะในเวลากลางวัน เว้นแต่เป็นกรณีการค้นต่อเนื่อง หรือ กรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง

การค้นในที่รโหฐาน จะต้องกระทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น ถ้าหาไม่ได้ให้ทำการค้นต่อหน้าพยานอย่างน้อย๒คน

เจ้าพนักงานผู้ค้นจะต้องทำการบันทึกรายละเอียดแห่งการค้น และสิ่งของที่ค้นได้นั้นต้องมีบัญชีรายละเอียดไว้ แล้วอ่านให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทน หรือพยานแล้วแต่กรณี แล้วให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้

๕. การค้น

การค้นตัวบุคคลเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้นอาคาร ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจำทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

๖. การคัดค้านการควบคุมตัว

ผู้ถูกคุมขัง สามี ภริยา ญาติ หรือบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลทำการไต่สวนความชอบด้วยกฎหมายของการคุมขัง หากศาลเห็นว่าการคุมขังเป็นไปโดยไม่ชอบให้สั่งปล่อยตัวทันที

๖. การคัดค้านการควบคุมตัว

ผู้ถูกควบคุม สามี ภริยา ญาติ หรือบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุม มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลทำการไต่สวนความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุม หากศาลเห็นว่าการควบคุมเป็นไปโดยไม่ชอบให้สั่งปล่อยตัวทันที

๗. การคัดค้านการขอฝากขัง

ผู้ต้องหามีสิทธิแถลงคัดค้านการขอฝากขังได้  หากปรากฏว่าไม่มีเหตุจำเป็นต้องฝากขังเพื่อการสอบสวนหรือการฟ้องคดี  โดยทุกครั้งที่มีการขอฝากขัง ศาลจะถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการขอฝากขังหรือไม่  หากคัดค้าน  ศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเหตุจำเป็นหรือเรียกพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาก็ได้  ทั้งนี้  ผู้ต้องหามีสิทธิตั้งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานได้  ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความ และผู้ต้องหาร้องขอ  ให้ศาลตั้งทนายความให้ 

๗. การคัดค้านการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อ

ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิแถลงคัดค้านการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้  หากปรากฏว่าไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยทุกครั้งที่มีการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว  ศาลจะถามผู้ถูกควบคุมตัวว่าจะคัดค้านการขอขยายฯหรือไม่ หากคัดค้าน  ศาลอาจเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจงเหตุจำเป็นหรือเรียกพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาก็ได้  ทั้งนี้  ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิตั้งทนายความเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านการขอขยายระยะเวลาควบคุมตัวและซักถามพยานได้  ถ้าผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีทนายความ และผู้ถูกควบคุมตัวร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้

๘. การขอปล่อยตัวชั่วคราว(ประกันตัว)

ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง  มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว(ประกันตัว) ต่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี โดยพิจารณา1)ความหนักเบาของข้อหา 

2)พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด 

3)พฤติการณ์ต่างๆแห่งคดี 

4)เชื่อถือผู้ร้องขอประกันและหลักประกันได้เพียงใด 

5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่ 

6)ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยตัว 

7)มีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน อัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย

 

 

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) HR and Legal Assistance Center for those affected from Political Turmoil (HLAC), Thailand อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทร.  086-0808-767 และ 086-0808-477 โทรสาร 026221014 อีเมล์ hlachumanrights@gmail.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net