Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.53 เวลาประมาณ 11.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่บ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสำรวจพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้านไปจนถึงเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

ชาวบ้านเล่าว่า หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาทำการปักหลักเขตชั่วคราว เพื่อเป็นการบอกให้ชาวบ้านทราบว่าบริเวณนี้ได้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อจะทำอ่างเก็บน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นได้รุกเข้ามาในที่ทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน่วยงานของรัฐเองได้ให้เหตุผลว่าโครงการนี้เป็นโครงการในพระราชดำริ และบริเวณที่จะสร้างนั้นก็เป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการก่อสร้างต่อไปเพื่อให้โครงการนั้นแล้วเสร็จ 

นางจารี แก้วย้อย ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 1 บ้านนาปรังกล่าวว่า ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงตามที่หน่วยงานของรัฐได้กล่าวมานั้น จะมีผลกระทบต่อที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านคือการทำสวนยาง และพื้นที่ของชาวบ้านร้อยละ 80 ที่ได้รับผลกระทบเป็นสวนยางทั้งสิ้น ที่สำคัญยังกินบริเวณไปถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างซึ่งยังเป็นป่าที่สมบูรณ์และเป็นป่าที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำลำธารอีกด้วย ถ้าวันใดที่ป่าหมดน้ำก็หมดเช่นเดียวกัน และการสร้างอ่างเก็บน้ำก็คงไม่ประโยชน์อะไรถ้าไม่มีน้ำจะให้เก็บ 

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้แจงผลจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรังเป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานสำรวจและออกแบบในปีงบประมาณ 2552-2554 โดยที่มีสำนักงานออกแบบและว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ปรึกษา ทำการศึกษาตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2552 ครบกำหนด 18 พฤศจิกายน 2553 มีการประชาสัมพันธ์ ปฐมนิเทศโครงการ ประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้ว การสำรวจและการออกแบบเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องของการออกแบบ เพื่อการก่อสร้าง ส่วนขั้นตอนของการก่อสร้างขึ้นอยู่กับความต้องการของราษฎรในพื้นที่ของโครงการ

และยังกล่าวอีกว่าในกรณีโครงการพัฒนาของรัฐบาลสิ่งที่กรรมการสิทธิในอนุชุมชนจะต้องดูว่าโครงการเหล่านั้นต้องไม่ทำให้เกิดผล 2 อย่างต่อพี่น้องและชุมชน 1.ต้องไม่ทำลายสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในการทำมาหากินในพื้นที่เข้าถึงในการจัดการที่ดินนี่คือกฎหมายที่จะรักษาและปกป้องสิทธิ 2.จะต้องรับฟังความคิดเห็นมิใช่การรับฟังครั้งเดียว ต้องมีกระบวนการการให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการทั้งข้อดีและข้อเสียต้องให้เวลาประชาชนในการแลกเปลี่ยนซักถาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐคือการทำประชาคมเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างเดียว เหมือนอย่างที่ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่าตอนที่มีเจ้าหน้าที่มาบรรยายเรื่องการสร้างเขื่อน มีชาวบ้านไปเข้าร่วมประมาณ 20 กว่าคน มีการบรรยายและสรุปชาวบ้านไม่ได้พูดแสดงความคิดเห็นอะไรเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net