ลูกเหยื่อสลายชุมนุมที่ราชปรารภพบ "นิค นอสติทซ์" ฟังนาทีพ่อถูกยิง

ลูกสาวเหยื่อ "ในเขตสังหาร" พบนิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ผู้เห็นเหตุการณ์ยิงสลายการชุมนุมที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. จนเป็นเหตุให้พ่อของเธอเสียชีวิต


มนชยา พลศรีลา ลูกของชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากการเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53

  


นิค นอสติทซ์ เล่าเหตุการณ์วันสลายการชุมนุม ให้มนชยา พลศรีลา ลูกสาวของชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากการเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ฟัง

 

(18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ยังคงตามหาผู้ชายที่เขาช่วยขึ้นมาจากสระในวันนั้นอยู่ตลอด เพราะอยากทราบว่าเขาเป็นอย่างไร ล่าสุด เมื่อนิคเข้าให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค. และได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวไทยจึงได้ทราบว่า ชายในภาพคือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี ซึ่งเสียชีวิตแล้ว โดยผู้สื่อข่าวไทยจึงได้ช่วยติดต่อไปที่นางสาวมนชยา พลศรีลา ลูกสาวของนายชาญณรงค์ เพื่อติดต่อให้ทั้งสองได้พบกัน

โดยเมื่อพบกัน นิคได้เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นก่อนจะมีการยิงว่า พ่อของเธอซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมยังพูดเล่นกับผู้สื่อข่าว-ช่างภาพบริเวณนั้นว่า พวกเขามีมือเปล่า มีแค่หนังสติ๊ก สู้กับปืนและอาวุธ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่กี่นาที ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะขยับยางรถยนต์ออกไปอีก 20-50 เมตร พ่อของเธอก็ถูกยิงเป็นคนแรกที่บริเวณท้อง จากนั้น มีผู้ตะโกนขอให้หยุดยิงก่อน เพราะมีคนบาดเจ็บ แต่ทหารอาจไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจ ก็มีการยิงตลอด โดยพ่อของเธอโดนยิงที่แขนด้วย จากนั้น เขาและผู้ชุมนุมได้วิ่งหนีไปที่ห้องน้ำหลังปั๊มน้ำมัน และข้ามกำแพงไปที่บ้านอีกหลัง เพราะทหารได้ประชิดเข้ามา โดยที่เขาเห็นผู้ชุมนุมสองคนช่วยพาพ่อของเธอออกมา และพยายามนำร่างของนายชาญณรงค์ข้ามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สักพักก็ได้ยินเสียงตกน้ำ เมื่อหันไปดูจึงพบว่าเป็นพ่อของเธอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตั้งใจลงไปเองหรือไหลลงมา จากนั้น ทหารที่ตามมาทันได้บอกให้เขานำคนเจ็บขึ้นจากน้ำ แต่เขาดึงคนเดียวไม่ไหวจึงขอให้ทหารช่วย โดยที่มีทหารที่ปีนข้ามกำแพงมาได้ด่าทอนายชาญณรงค์ว่าน่าจะตายไปเสีย จากนั้น ทหารได้วิทยุเรียกแพทย์ เมื่อเปลมาแล้ว ทหารได้ใช้ปืนจี้ให้พวกเขาออกมาจากจุดนั้น นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เห็นนายชาญณรงค์

นิคเล่าต่อว่า จากนั้นยังเป็นห่วงตลอดเวลา ไม่รู้ว่าตายหรือเป็นอย่างไร จนวานนี้ (17 มิ.ย.) จึงได้ทราบว่านายชาญณรงค์เสียชีวิตแล้ว เมื่อทราบข่าวก็บอกได้เลยว่า ไม่มีอะไรที่สบายใจ แต่เหตุการณ์นี้จะติดตาตลอดชีวิต เพราะชีวิตเอาคืนไม่ได้ ลืมไม่ได้

 

ภาพนายชาญณรงค์ ที่นิคถ่ายไว้

 

ด้านนางสาวมนชยา พลศรีลา พนักงานราชการ กองทัพอากาศ อายุ 25 ปี ลูกสาวของนายชาญณรงค์ พลศรีลา เล่าว่า ที่บ้านพยายามติดต่อพ่อตั้งแต่วันที่ 15 โดยตั้งแต่บ่ายสามโมงก็ติดต่อไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ จนเช้าวันที่ 16 พ.ค. แม่ถือหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 กลับมาบ้าน โดยมีภาพข่าวมีผู้ชายสองคนหิ้วปีกพ่อ ในข่าวบอกว่าพ่อถูกยิงที่ปั๊มเชลล์ถนนราชปรารภ มีเพื่อนนำส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นก็ยังคิดว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่

เธอเล่าต่อว่า จากนั้น ได้ติดต่อไปที่ศูนย์นเรนทร ศูนย์เอราวัณ ซึ่งเขาบอกว่า ถ้ารับผู้บาดเจ็บมา จะส่งโรงพยาบาลเลย แต่ไม่มีข้อมูลว่ามีใครบ้าง จึงโทรเช็คโรงพยาบาลใกล้เคียง ก็ไม่เจอ ต่อมาโพสต์ในเฟซบุ๊ค รวมถึงประกาศผ่านทางโทรทัศน์และ สวพ.91 แต่ก็ไม่มีใครติดต่อมา ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. จึงได้เปลี่ยนวิธีค้นหาเป็น "ชายไม่ทราบชื่อ" เพราะคิดว่าเอกสารของพ่ออาจจะหาย หรืออาจจะทิ้งของไว้ที่รถ โดยเมื่อไปที่โรงพยาบาลพญาไท1 เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีศพชายไม่ทราบชื่อ เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล เป็นผู้ชายลักษณะท้วม แต่ตำรวจมารับศพไปแล้วไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนนั้นก็ยังไม่ฟันธงว่าพ่อตายแล้ว จึงตามหาตามแผนกฉุกเฉิน ก็ยังไม่เจอ

จนวันที่ 18 พ.ค. ไปที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีศพชายไม่ทราบชื่อ 2 ราย รายแรกผอม รายที่สอง ลักษณะศพอืด แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพราะไม่ได้ฉีดฟอร์เมอลีน แต่จำแผลเป็นที่อกของพ่อได้ ดูโครงหน้าและหนวดแล้ว คิดว่าน่าจะใช่พ่อ เมื่อขอดูศพจริงก็จำเสื้อพ่อได้ทันที โดยที่ศพมีแต่เสื้อกับกางเกงใน ซึ่งตรงกับภาพในคลิปยูทูปที่เธอได้ดูเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่ามีการถอดกางเกงนายชาญณรงค์ออก ทั้งนี้ หลังพบศพนายชาญณรงค์ ครอบครัวจึงจึงได้ทำเรื่องรับศพ นำมาสวดพระอภิธรรมหนึ่งคืน ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจในวันที่ 20 พ.ค.


http://www.youtube.com/watch?v=vi6-OP0fxPo

มนชยาให้ข้อมูลว่า ผลชันสูตรศพระบุว่า มีกระสุนฝังในที่หน้าท้องด้านขวา ทำให้อวัยวะด้านในฉีกขาด เป็นแผลหลายตำแหน่ง และแขนหัก แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกระสุนชนิดใด ในส่วนของคดี เธอบอกว่า สน. พญาไท เรียกไปสอบแล้วครั้งหนึ่ง แต่เธอยังตั้งคำถามว่าจะเอาความผิดกับใครได้ ในเมื่อข้อความบอกว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา ได้พบภาพและคลิปในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับพ่อจึงอยากรู้มากว่าใครเป็นคนถ่ายพ่อ อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอเองรู้จากแค่คลิป รู้ถึงแค่ว่า พ่อไปนอนอยู่ตรงนั้น ถูกถอดกางเกงออก แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้เลย อยากรู้จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ว่ามันเป็นยังไง แต่ไม่รู้จักใคร จนเมื่อวานได้รับการติดต่อมา

เธอเล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดสกลนคร โดยพ่อเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อน พอเธอขึ้นชั้นประถม พ่อกับแม่ก็พามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ย่านสายไหม โดยมีพี่สาวอีกหนึ่งคน เธอบอกว่าพ่อเป็นคนขับรถแท็กซี่ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน ตอนเย็นพ่อจะขับรถไปส่งแม่ที่เวทีชุมนุม เพราะแม่มองว่า ตอนกลางคืนคนน้อยจึงไปอยู่ที่นั่น ส่วนพ่อก็ไปทำงานตามปกติ พอเช้าก็ไปรับแม่กลับบ้าน เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน โดยเริ่มออกไปบ่อยๆ ช่วงเดือนเมษายน (ก่อนเหตุการณ์ 10 เมษายน)

"ทุกคนมองแค่ว่าคนเสื้อแดงออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย แต่คิดว่ายังไงมันต้องมีมากกว่านั้น สังคมไทยความแตกต่างทางชนชั้นมันเยอะ รวยก็รวย จนก็จน คนจนก็ยังจนอยู่ทุกวัน เขามองว่าคนจนออกมาเรียกร้องบ้างไม่ได้เหรอ" มนชยากล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่เคยเห็นด้วยที่พ่อกับแม่ออกไปแบบนี้ เพราะเป็นห่วง

"เราอ่านข่าว เขาบอกว่ามีการใช้ความรุนแรง กระสุนจริง 'เขายิงปืนกันทุกวันนะแม่' ไม่อยากให้ออก แต่แม่ก็บอกว่าถ้าไม่ออกไปเรียกร้อง ใครจะมาเรียกร้องให้เรา ถ้าเราไม่สู้เอง ใครจะสู้ให้เรา" เธอเล่าและว่า หลังจากนั้น เธอเองก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะมองว่าเป็นสิทธิของพ่อและแม่ อย่างไรก็ตามยังห่วงว่า ถ้าวันหนึ่งไม่ใช่แค่นี้จะเป็นอย่างไร

"เราก็ไม่คิดหรอกว่ามันจะไม่ใช่แค่นี้จริงๆ เราไม่ได้คิดหรอกว่า จะใช้กระสุนปืนจริง" เธอบอกและว่า "พ่อมีหนังสติ๊กอันเดียว ติดหลังรถแท็กซี่แกไว้"

"คำพูดที่เจ็บปวดที่สุด 'ผู้ก่อการร้าย' คือเราไม่เข้าใจว่าประชาชนที่เขาออกมาเรียกร้องสิทธิ อาวุธคือหนังสติ๊กอันนึง โอเค คนอาจจะบอกว่า หนังสติ๊กมันฆ่าคนได้นะ ถ้าใช้ลูกแก้ว หรือหัวน็อต แต่ถามจริงเหอะ มันสู้ปืนได้ไหม"

"...ยิงเหมือนชีวิตไม่มีค่า... มันเกินไปไหม เรารับไม่ได้ แต่ถามว่าเราทำอะไรได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ในเมื่อเขาบอกว่าพ่อเราคือผู้ก่อการร้าย เราจะไปเรียกร้องจากใครได้ ในเมื่อคนที่ตั้งข้อหาให้พ่อของเราเป็นคนที่เราสู้อะไรไม่ได้อยู่แล้ว"

"ขนาดคนที่ก่อคดีรุนแรง ฆ่าข่มขืน ฆ่าคนตาย ยังเข้าสู่ชั้นศาล มีการพิพากษา มีศาลมาตัดสิน แต่พ่อเราไม่มีใครมาตัดสินเลย ยิงเลย
พ่อไปฆ่าใคร ข่มขืนใคร ทำอะไรผิดกฎหมายหรือ แค่ออกไปชุมนุม ... จับไปสิ จับไปก็ได้ แล้วก็ไปสู้กันในชั้นศาลก็ได้ ไม่ใช่เจอใครก็ยิงอย่างนี้"

"บางทีเราใส่เครื่องแบบ บางคนแอนตี้เรา คนขับแท็กซี่บางคนไม่ยอมให้เราขึ้นรถแท็กซี่ บางคนมองเราแปลกๆ คนทั่วไปมองภาพรวมว่าทหารใช้ความรุนแรง แต่ตัวหนูมองว่า มันไม่เกี่ยวกันนะ ทหารอากาศก็คือทหารอากาศ ทหารบกก็คือทหารบก ... ถามว่าเรารู้สึกยังไงกับเครื่องแบบที่เราสวมใส่ เราก็ยังภูมิใจในเครื่องแบบที่เราสวมใส่ มันจะเป็นแค่คนในเครื่องแบบคนนั้นมากกว่าที่เขามองคนไม่ใช่คน"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท