แอฟริกาใต้ 2010 : ลาก่อนฝรั่งเศสที่หลากหลาย แต่พวกเขาจะกลับมาอีก

“ฝรั่งเศส” ทีมฟุตบอลที่มีความหลากหลายดั่งสายรุ้งกำลังโดนหมอกฝนบดบัง ตามวัฎจักรของเกมกีฬาที่มีครบทุกรสชาติอย่าง “ฟุตบอล” แต่รับรองได้ว่า พวกเขาจะกลับมาอีก

   

ภาพทหารผิวดำกำลังแสดงความเคารพต่อธงชาติฝรั่งเศสจากนิตยสาร “Paris-Match” ในหนังสือ "Mythologies" อันลือของ Roland Barthes ตีความไว้น่าสนใจ ถึงความพยายามสร้างมายาคติที่ว่า “จักรวรรดิฝรั่งเศสได้ปฏิบัติกับประชากรของตนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน” (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

ความล้มเหลว

เป็นเรื่องที่แสนธรรมดาของฟุตบอลที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ฝรั่งเศสเป็นทีมที่อื้อฉาวอีกทีมหนึ่ง เพราะทั้งที่มีดารานักเตะระดับโลกค่อนทีม แต่กลับมีผลการแข่งขันที่ย่ำแย่ถึงขั้นตกรอบแรก

เมื่อมาดูปัญหาเฉพาะส่วนของทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้ก็พบว่ามีมากมาย เริ่มที่แนวทางการทำทีมของ Raymond Domenech หัวหน้าโค้ชที่ถูกสับเละว่าเหมือนเขาไม่มีใจและขาดความมุ่งมั่นไปแล้ว (เพราะสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสดันไปแต่งตั้ง Laurent Blanc เป็นหัวหน้าโค้ชทีมชาติไว้ล่วงหน้าหลังจบทัวร์เมนท์แอฟริกาใต้ 2010) การจัดวางตัวผู้เล่นแต่ละนัดที่ไม่ถูกใจสื่อ หรือการที่ไม่ส่ง Thierry Henry กัปตันทีมตัวจริงผู้ใช้มือของเขานำฝรั่งเศสเขี่ยไอร์แลนด์แพ้เพลย์ออฟลงเป็นผู้เล่นตัวจริง

ส่วน Nicolas Anelka จอมแสบถูกส่งกลับบ้านเพราะออกมาวิจารณ์ Domenech ตามมาด้วย Patrice Evra นำนักเตะประท้วงสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFA) ที่ไม่เคยออกมาปกป้องทีมนักเตะ ด้วยการไม่ลงซ้อม หลังจากนั้นผู้อำนวยการทีมก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แล้วแบบนี้มันจะไปรอดได้ยังไงส่งผลให้ทีมสีน้ำเงินแพ้เจ้าภาพนัดสุดท้าย และได้เก็บข้าวของกลับบ้านอย่างสมใจ?

เงินๆ ทองๆ

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อผู้สนับสนุนทีมต่างพากันถอนตัวออกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Crédit Agricole ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส รวมถึงการถูกถอดออกจากแคมเปญทางโทรทัศน์เกี่ยวกับทีม และ Anelka ก็ยังโดนถอดจากการเป็นโฆษกของบริษัทอาหารฟาสต์ฟูด Quick อีก

ทั้งนี้ในฟุตบอลโลกหนนี้ทีมชาติฝรั่งเศสได้รับการอุดหนุนจากสปอนเซอร์และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวีประมาณ 86.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สปอนเซอร์รายใหญ่ก็ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า Carrefour, บริษัทด้านพลังงาน GDF Suez, ธนาคาร Crédit Agricole, บริษัทด้านคมนาคม SFR และบริษัทอุปกรณ์กีฬา Adidas

แต่ฝรั่งเศสกับสัญลักษณ์สามแถบของ Adidas ที่มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 1972 กำลังจะสิ้นสุดลงในทัวร์นาเมนท์นี้ เพราะ Nike ได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไว้กับทีมชาติฝรั่งเศส ให้สวมใส่ชุดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกันนี้แทน โดยมูลค่าของสัญญา 7 ปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกรคม 2011 - 2018) สูงถึง 320 ล้านยูโร!!!

ช่วงทศวรรษ 2000’s ถือเป็นยุคทองของทีมชาติฝรั่งเศสโดยแท้ ภายใต้การนำของนักเตะที่เป็นแกนหลักอย่าง Zinedine Zidane, Marcel Desailly, Patrick Vieira, Youri Djorkaeff, Bixente Lizarazu, Lilian Thuram, Patrick Vieira, Thierry Henry และนักเตะผิวสีคนอื่นๆ ช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ในปี 1998 ต่อด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปในอีก 2 ปีถัดมา ถึงจะล้มเหลวในการแข่งขันที่เอเชีย แต่ฟุตบอลโลกหนที่แล้วพวกเขาก็สามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ – โดยนักเตะแกนหลักที่กล่าวไปนั้น ต่างเป็นฝรั่งเศส “เลือดผสม-สายเลือดผู้อพยพ” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนอดีตอันยิ่งใหญ่ของเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส

ทีมชุดแชมป์โลก 1998 จนถึงแชมป์ยุโรปปี 2000 และรองแชมป์โลกปี 2006 ถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศสยุคใหม่ ความสำเร็จในครั้งนั้นถูกชูขึ้นมาเป็นภาพวาดสวยงามโอ้อวดถึงแม่แบบของชาติสีรุ้งที่มีความหลากหลาย

แต่มาวันนี้ทีมชาติที่มีหลากหลายกำลังโดนหมอกฝนเบียดบัง ตามวัฎจักรของเกมกีฬาที่มีครบทุกรสชาติอย่าง “ฟุตบอล”

 

ความสำเร็จจากความหลากหลาย

ประวัติศาสตร์ลูกหนังที่บันทึกไว้เป็นเครื่องการันตีว่าถ้าหากทีมชาติฝรั่งเศสมีแต่คนขาวที่เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ โดนไม่มีชนชาติสีอื่นเจือปน ก็ไม่มีใครรับรองว่าเราจะรู้จักทีมชาติชุดน้ำเงินนี้ในแบบที่เป็นอย่างปัจจุบันหรือไม่?

ในปี 1931 Raoul Diagne นักฟุตบอลตำแหน่งกองหลัง ลูกชายของ Blaise Diagne ซึ่งเป็นนักการเมืองผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาของฝรั่งเศส ได้ดำเนินรอยเท้าตามพ่อของเขา เขาได้รับการจดจารึกไว้ว่าเป็นนักเตะผิวสีคนแรกที่ติดทีมชาติฝรั่งเศส Diagne เกิดในเฟรนซ์กียานา แต่มีเชื้อชาติเซเนกัล เขาเล่นให้กับทีม RC Paris, Toulouse FC และ FC Annecy โดยประสบความสำเร็จกับ RC Paris ด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 1 ครั้ง และแชมป์ฟุตบอลถ้วยอีก 3 หน ติดทีมชาติทั้งหมด 18 นัด หลังจากเลิกเล่นเขาผันตัวเองไปเป็นโค้ชฟุตบอลและได้ไปรับใช้แผ่นดินแม่จริงๆ ด้วยการคุมทีมชาติเซเนกัล ในปี 1960 - 1961

ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ทีมชาติฝรั่งเศสเริ่มเจิดจรัสในวงการลูกหนังโลกด้วยการเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1958 ด้วยนักเตะลูกหลานผู้อพยพอย่าง Raymond Kopa, Roger Piantoni, Maryan Wisnieski และ Bernard Chiarelli ต่อเนื่องมาถึงทศวรรษที่ 1980s ที่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นหนแรกในปี 1984 ภายใต้การนำของนโปเลียนลูกหนัง Michel Platini และพลพรรคอย่าง Jean Tigana, Luis Fernández หรือแม้แต่นักเตะฝรั่งเศสที่ชาวผีแดงรักที่สุดอย่าง Eric Cantona ก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานผู้อพยพทั้งสิ้น

ดาราลูกหนังฝรั่งเศสแท้ๆ มีบ้างไหม?

Raymond Kopa ดาราลูกหนังของโคตรทีมอย่าง Real Madrid ติดทีมชาติฝรั่งเศส 45 นัด ยิง 18 ประตู เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวโปแลนด์

Michel Platini นโปเลียนลูกหนังผู้นี้เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลี ติดทีมชาติ 72 นัด ยิงได้ 41 ประตู พาทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์ยุโรปปี 1984 เป็นเจ้าของรางวัล Ballon d'Or 3 สมัยในปี 1983, 1984 และ 1985

Jean Tigan กองกลางระดับตำนานอีกคนหนึ่ง พาทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์ยุโรปปี 1984 ร่วมกับ Platini ติดทีมชาติ 52 นัด ยิงได้ 1 ประตู

Eric Cantona แม้จะเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศสในยุคตกต่ำ แต่ขบถลูกหนังขวัญใจแฟนผีแดงผู้นี้ก้ถือว่าเป็นนักเตะที่มีสีสันอันดับต้นๆ ของโลก ปู่ของเขาเป็นผู้อพยพจากเกาะซาร์ดิเนีย ส่วนครอบครัวสายแม่ก็เป็นผู้อพยพจากแคว้นคาตาลันในสเปน

Zinédine Zidane นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งยุโรป (Ballon D'or) หนึ่งสมัย (ปี 1998) นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก 3 สมัย (ปี 1998, 2000, 2003) นักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลก 2006 เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวแอลจีเรียน ติดทีมชาติ 108 นัด ยิงได้ 31 ประตู

Marcel Desailly เกิดที่เมืองอัคคราในประเทศกานา อพยพตามครอบครัวสู่ฝรั่งเศสเมื่อมีอายุ 4 ขวบ ติดทีมชาติ 116 ยิงได้ 3 ประตู

Lilian Thuram เกิดที่เกาะกัวเดอลูป ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากแอฟริกัน เขาเป็นผู้เล่นที่ติดทีมชาติมากที่สุดถึง 142 นัด ยิงไปได้ 2 ประตู นอกจากนี้เขายังเป็นนักเตะที่ต่อสู้กับเรื่องการเหยียดผิวที่เอาจริงเอาจังคนหนึ่ง ด้วยการตั้ง มูลนิธิ Lilian Thuram เพื่อการศึกษาในการต่อต้านการเหยียดผิว นอกจากนี้เขายังเป้นกระบอกเสียงที่สำคัญในประเด็นเรื่องการเหยียดผิวในสนามฟุตบอลอย่างสม่ำเสมอ

Thierry Henry เกิดในครอบครัวผู้อพยพจากกัวเดอลูป ติดทีมชาติ 126 นัด ยิงได้ 3 ประตู และเช่นเดียวกับ Thuram เขาเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงในการต่อต้านการเหยียดผิว โดยเป็นโฆษกให้กับการณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิวในสนามฟุตบอล

นอกจากนี้ยังมีนักเตะดังๆ อาทิเช่น Patrick Vieira เป็นผู้อพยพจากเซเนกัล, Claude Makélélé เป็นผู้อพยพมาจากสาธารณะรัฐคองโก, Vikash Dhorasoo เป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสคนแรกที่เกิดในอินโด-เมาริเทียน, Bafétimbi Gomis และ Bacary Sagna เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-เซเนกัล, Louis Saha, Sylvain Wiltord, และ Pascal Chimbonda เกิดในครอบครัวผู้อพยพที่กัวเดอลูป, Florent Malouda เกิดที่เฟรนซ์กีอานา, Karim Benzema, Samir Nasri, และ Hatem Ben Arfa เกิดในครอบครัวผู้อพยพจากแอลจีเรียและตูนีเซีย เป็นต้น

ความหลากหลาย การเมือง ฟุตบอล

ในปี 2001 ทีมชาติฝรั่งเศสได้เชิญทีชาติแอลจีเรีย อดีตประเทศอาณานิคมของตนเองมาแข่งกระชับมิตร ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่เจอกันหลังความขัดแย้งถึงขั้นมีสงครามในช่วงปี 1954–1962 แต่ผลลัพท์ของเกมส์นี้อาจจะไม่ได้กระชับมิตรเท่าใดนัก เมื่อสงครามย่อยๆ เกิดขึ้นอีก ก่อนเริ่มเกมส์ขณะที่มีการขับร้องเพลงชาติ La Marseillaise ของฝรั่งเศส แฟนบอลแอลจีเรียก็ได้ส่งเสียงโห่ฮา รวมถึงในช่วงครึ่งหลังของการแข่งขันมีแฟนฟุตบอลแอลจีเรียและแฟนบอลผิวดำได้บุกลงไปถึงกลางสนาม เกมส์ต้องยุติลงและหลังจากนั้น FIFA ก็ปรับเงินสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสถึง 76,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2006 นักการเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศสก็ได้เคยออกมาทำลายบรรยากาศแห่งความหลากหลายบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่ง Jean-Marie Le Pen ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวา French National Front วิจารณ์ว่าทีมชาติฝรั่งเศสมีคนขาวน้อยเกินไป

ส่วน Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ไม่น้อยหน้า ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเรียกวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในการจลาจล ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากผู้อพยพว่า ‘ไอ้เศษสวะ’ (scum) ทั้งนี้กำพืดของซาร์โกซีเองก็ถือว่าเป็นผู้อพยพ แต่เป็นผู้อพยพชั้นสูง เพราะพ่อของเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ของฮังการี ที่อพยพมาอยู่ในฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนตาของเขาก็เป็นหมอชาวกรีกที่อพยพมาจากประเทศกรีซ

ทัศนคติ : การเงียบเฉยเป็นบาปยิ่งกว่า
โดย Lilian Thuram (ที่มา: วารสาร ยูเนสโก คุริเย กันยายน 2544)

ครั้งแรกที่ผมพบเจอการเหยียดผิวที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นผมอายุ 9 ขวบ เด็กผิวดำในโรงเรียนของผมล้วนโดนตั้งฉายา อย่างนี้เรียกว่าการเหยียดผิวรึเปล่า? สิ่งที่เด็กทำอาจดูเหมือนแค่ความเขลาแต่มันก็ยังส่งผลต่อผมอยู่ดี ผมมาจากกัวเดอลูปซึ่งหลากหลายชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยผมไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยกกีดกันใดๆ เลย

การเหยียดผิวไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดและสร้างขึ้นโดยกำหนดความเหนือกว่าและด้อยกว่าบนพื้นฐานของสีผิวและวัฒนธรรม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการลบล้างสิ่งนี้ เด็กๆยังถูกสอน เรื่องความหลากหลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ขณะที่ความจริงมนุษย์เรามีเพียงเผ่าพันธุ์เดียว การพูดถึงชุมชนที่แตกต่างกันน่าจะถูกต้องกว่า

การสอนประวัติศาสตร์ของผู้คนก็เลวร้ายเต็มที แต่ละประเทศยึดถือสิ่งที่สอนต่อๆกันมาเพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับพฤติกรรมในอดีตของตน ในทำนองเดียวกัน ผมก็ตกตะลึงสิ่งที่เรื่องราวของคนผิวดำที่ปรากฎในตำราประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคที่ตกเป็นทาสเท่านั้น ชีวิตความเป็นอยู่ก่อนหน้าช่วงประวัติศาสตร์อันน่าตื่นใจนี้ไม่เคยเป็นที่รับรู้ ราวกับคนดำเกิดมาก็เป็นทาสอย่างนั้นแหละ! วัฒนธรรมความเป็นมาที่แท้จริงของคนดำก็ล้วนถูกดูหมิ่นเสมอ อันทำให้เกิดความว่างเปล่าทางประวัติศาสตร์และคลี่ม่านคลุมความทรงจำของผู้คนเหล่านี้

ถ้าเราหวังสักนิดที่จะขจัดการเหยียดผิวให้สิ้นไป เราก็มีหน้าที่ต้องจดจำ แต่ละชาติต้องยอมรับสิ่งที่ตนทำผิดพลาดไป โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทาสซึ่งผมเชื่อว่าเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการเหยียดผิว ความจริงต้องถูกจารึกไว้ ไม่ใช่เพื่อมุ่งแก้แค้น แต่เพื่อเป็นวิถีทางที่จะนำพาเราไปสู่การปรองดองกันอย่างแท้จริง

สมรภูมินี้ยังห่างไกลจากชัยชนะ ตอนที่ผมไปอิตาลีในปี 1996 ผมไม่ได้สังเกตเห็นท่าทีใดๆ ของการเหยียดผิวหรือการรังเกียจคนต่างเชื้อชาติเลย อยู่ๆสถานการณ์ก็พลิกผันไปในทางเลวร้าย ทำไมกีดกันคนอื่นอย่างนี้? ทำไมก้าวร้าวอย่างนี้? คำถามพวกนี้ยังคงไร้คำตอบ

ผมเคยผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดระหว่างการแข่งขันนัดหนึ่งเมื่อครั้งที่ยังสังกัดสโมสร Parma แฟนบอลบางคนพากันตะเบ็งเสียงร้องเพลงล้อผู้เล่น 2 คนของทีม A.C. Milan ว่า “บากินกล้วยอยู่ในกระท่อมของเวอาห์’ เมื่อแข่งเสร็จ ผมก็หยิบเรื่องนี้มาคุยกับเพื่อนร่วมสโมสรคนอื่นๆ ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่ใส่ใจ และผมก็ไม่อาจรับได้ การเงียบเฉยถือเป็นเจตคติที่เลวร้ายที่สุด การต่อสู้กับการเหยียดผิวก็คือการต่อสู้กับการเงียบเฉยด้วยเช่นกัน

ผมได้พบปะกับเด็กนักเรียนอิตาลีเป็นประจำ และพยายามปลูกฝังให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสังคมแบบผสมผสาน อันเป็นบ่อเกิดสำคัญของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ผมมั่นใจว่าเยาวชนเหล่านี้จะไม่มีใจนิยมชมชอบพฤติกรรมล้อเลียนในเชิงเหยียดผิวที่ทำกันอย่างไร้ขอบเขตในสนามฟุตบอลแน่

แค่พูดถึงสิ่งดีๆที่ทำกันอยู่นั้นไม่พอ คุณต้องเผชิญกับสิ่งเลวร้ายด้วย และใช้มันเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรผิด ต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายตรงจุดนั้นเพื่อไม่ให้มันนำไปสู่ปัญหาที่สุดจะทนได้ อย่างเรื่องฟุตบอล ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังมาก เราต้องลงมือกำจัดการเหยียดผิวในทุกรูปแบบในสนามแข่ง และหยุดยั้งไม่ให้ใครใช้สนามฟุตบอลเป็นเวทีแสดงทัศนะอันไม่พึงประสงค์ออกมา

ผมผิดหวังที่ลัทธิเหยียดชนชาติยังคงแสดงอิทธิฤทธิ์อยู่ เป็นอย่างนี้มาหลายศตวรรษแล้ว เรายังได้รับการบอกกล่าวเสมอว่า เราอยู่ในโลกมหัศจรรย์ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกัน แต่ความเป็นจริงกลับโหดร้าย เพราะในแง่จิตวิญญาณแล้วเรายังไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นสักกี่มากน้อย แม้แต่สิทธิที่จะแตกต่างกับเพื่อนบ้านยังไม่มี ผมเชื่อว่าโลกาภิวัฒน์หมายถึงการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพความแตกต่างของบุคคล เพราะในตัวเราแต่ละคนและทุกคนต่างก็มีที่มาที่แตกต่างกัน

อัดอั้นตันใจ

Zinédine Zidane เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งยุโรป (Ballon D'or) หนึ่งสมัย (ปี 1998) นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก 3 สมัย (ปี 1998, 2000, 2003) นักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลก 2006 Zidane ลูกชายของผู้อพยพจากแอลจีเรีย ผู้ซึ่งเป็นเป็นวีระบุรุษของชาติ และคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่มีสายเลือดจากผู้อพยพพยายามตามรอยเท้า … แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ความอึดอัดของบรรดาคนรุ่นใหม่เชื้อสายมุสลิมและแอฟริกัน ที่มีความรู้สึกว่าสีผิวและชื่อแซ่ที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสของพวกเขาถูกรังเกียจกีดกันในด้านต่างๆ แม้ว่าคนหนุ่มสาวต่างผิวสีที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนายแบบนางแบบหรือเป็นนักฟุตบอล แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อาชีพที่ใช้แรงอย่างเดียวที่จะทำให้พวกเขาไต่เต้าไปเป็นคนมั่งมีได้นั้นก็คงจะมีแค่นักฟุตบอลนี่แหละ

แม้ฝรั่งเศสจะมีระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุข การศึกษา และที่อยู่อาศัยให้กับผู้อพยพและคนยากจน แต่ในทางเศรษฐกิจ-การเมืองพวกเขากลับถูกปฏิบัติเยี่ยงประชาชนชั้นสอง ชุมชนแออัดตามชานเมืองที่เป็นย่านที่อยู่ของคนจนเชื้อสายผู้อพยพเหล่านี้นั้นมีอัตราการว่างงาน 40 % ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 เท่า

ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปี 2005 เกิดการจลาจลใหญ่จากลูกหลานผู้อพยพในประเทศที่ถูกเลือกปฏิบัติมาอย่างซ้ำซาก ความอัดอั้นนี้ได้ทำให้เกิดการระเบิดออกมา หลังจากที่วัยรุ่นที่มีเชื้อสายผู้อพยพ 2 คน Bouna Traore และ Zyed Benna ถูกไฟช็อตจนเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์นั้นได้ปะทุลามเป็นการจลาจลในหลายเมืองทั่วประเทศ

จากนั้นในเดือนพฤษภาคมปี 2007 คนหนุ่มสาวฝรั่งเศสได้ออกมาประท้วงคัดค้านชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy จากพรรคการเมืองฝ่ายขวา Union for a Popular Movement Party (UMP) ซึ่งเคยนโยบายว่าจะไม่ให้ฝรั่งเศสเป็นสวรรค์สำหรับผู้อพยพเข้าเมืองอีกนั้น เขาไม่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นในย่านที่อยู่อาศัยของผู้อพยพ และ Sarkozy ถูกกล่าวหาว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ก่อให้เกิดชนวนความรุนแรงในปี 2005 ด้วยคำว่า ‘ไอ้เศษสวะ’ นั่นเอง

 

แหล่งข้อมูล: 

จลาจลหลังเลือกตั้งฝรั่งเศส ล่าสุดถูกจับ 600 เผารถวอด 700 คัน! (ประชาไท, 7-5-2007)
Crédit Agricole pulls French World Cup ads (Roger Blitz and Richard Lapper, ft.com, 21-6-2010)
Racial politics and France’s mutinous football team (Gideon Rachman, blogs.ft.com/rachmanblog, 22-06-2010)
Roland Barthes กับวัฒนธรรมมวลชน มายาคติ และ วัฒนธรรมสังคมร่วมสมัย (สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง, midnightuniv.org, เข้าดูเมื่อ 22-6-2010)
บทวิเคราะห์เรื่องประโยชน์ของความรุนแรง อ่านให้ทะลุเหตุการณ์จลาจลวัยรุ่นในฝรั่งเศส (ณรุจน์ วศินปิยมงคล,midnightuniv.org, เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/2005_civil_unrest_in_France (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/France_national_football_team (เข้าดุเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Raoul_Diagne (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Raymond_Kopa (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Michel_Platini (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Jean_Tigana (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Eric_Cantona (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Zin%C3%A9dine_Zidane (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Marcel_Desailly (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Lilian_Thuram (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://www.footballteamplayers.com/michel-platini.html (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท