Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับปฏิกิริยาในทางต่อต้านของบุคลากรด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับ “ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ......” (ต่อไปจะเรียกว่า ร่างพ.ร.บ.ฯ) ซึ่งเป็นร่างที่เสนอโดย ผู้เสียหายและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงมีประเด็นที่น่าพิจารณาในทางกฎหมายว่าร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวนี้จะส่งผลเสียต่อบุคลากรทางการแพทย์และการบริการสาธารณะสุขจริงหรือไม่ อย่างไร? เนื่องจากหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเท่าที่ปรากฏก็คือ “คุณหมอ” ทั้งหลายออกมาตีโพยตีพายไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าว จึงเห็นควรว่าน่าจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวที่คุณหมอทั้งหลายหวาดกลัวและเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ควรผ่านออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ หาไม่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้จะต้องเลวร้ายลงอย่างยิ่ง ในบทความนี้จึงขอนำเสนอออกเป็น 4  ส่วน คือส่วนที่หนึ่งโครงสร้างของร่างพ.ร.บ.ฯ ส่วนที่สองเนื้อหาสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฯ ส่วนที่สามข้ออ้าง/ความกังวลของคุณหมอทั้งหลายเป็นเรื่องที่รับฟังได้หรือไม่ ส่วนที่สี่บทสรุป
 

1. โครงสร้างของร่างพ.ร.บ.ฯ

ร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 50 มาตรา ประกอบไปด้วย

1.1 ส่วนทั่วไปประกอบด้วยชื่อพ.ร.บ.ฯ(มาตรา 1) วันที่พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ(มาตรา 2) บทนิยาม(มาตรา 3) และบทกำหนดรัฐมนตรีรักษาการ(มาตรา 4)

1.2 การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (หมวด 1 มาตรา 5-6)

1.3 คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข (หมวด 2 มาตรา 7-19)

1.4 กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข (หมวด 3 มาตรา 20-24)

1.5 การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย (หมวด 4 มาตรา 25-37)

1.6 การไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข (หมวด 5 มาตรา 38-41)

1.7 การพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย (หมวด 6 มาตรา 42-44)

1.8 การฟ้องคดีอาญาและบทกำหนดโทษ (หมวด 7 มาตรา 45-46)

1.9 บทเฉพาะกาล (มาตรา 47-50)
 

2. เนื้อหาสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฯ

2.1 บทนิยาม ในร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวได้กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 3 โดยนิยามที่สำคัญได้แก่นิยามของ คำว่า “ผู้เสียหาย”, “สถานพยาบาล” และ “บริการสาธารณสุข” ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ 

“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจากสถานพยาบาล

“สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล สถานพยาบาลของรัฐ และของสภากาชาดไทย ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขประกาศกำหนด

“บริการสาธารณสุข” หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งได้แก่ การประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ การประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพกายภาพบำบัด การประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเทคนิคการแพทย์การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม หรือการปะรกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้รวมถึงการให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.2 คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามร่างพ.ร.บ.ฯ ร่างพ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามลำดับดังนี้

2.2.1 คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข(ต่อไปจะเรียกว่า คณะกรรมการ)ตามมาตรา 7 ประกอบไปด้วย (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ (2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (3) ผู้แทนสถานพยาบาล จำนวนสามคน (4) ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ จำนวนสามคน (5) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน สิทธิมนุษยชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุข ด้านละหนึ่งคน รวมจำนวนคณะกรรมการทั้งสิ้น 18 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีกำหนดไว้ในมาตรา 10 ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฯ กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่หลายประการ แต่ทั้งนี้คณะกรรมการดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยแต่ประการใด 

2.2.2 คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น(ต่อไปจะเรียกว่า คณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือ)ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละหนึ่งคน และผู้แทนสถานพยาบาลและผู้แทนผู้รับบริการสาธารณสุข ฝ่ายละหนึ่งคน รวมทั้งสิ้น 5 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือมีการกำหนดไว้ในมาตรา 27 คือมีหน้าที่พิจารณาคำร้องขอรับเงินค่าเสียหาย(ในที่นี้คือเงินช่วยเหลือเบื้องต้น)

2.2.3 คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชย(ต่อไปจะเรียกว่า คณะอนุกรรมการเงินชดเชย)ตามมาตรา12 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละหนึ่งคน รวมทั้งสิ้น 5 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเงินชดเชยมีการกำหนดไว้ในมาตรา 30 คือมีหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับเงินชดเชย

2.2.4 คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์(ต่อไปจะเรียกว่า คณะกรรมการอุทธรณ์)ตามมาตรา 13 ประกอบไปด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ด้านละหนึ่งคน และผู้แทนสถานพยาบาลและผู้แทนผู้รับบริการสาธารณสุข ฝ่ายละหนึ่งคน รวมทั้งสิ้น 8 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทธรณ์มีการกำหนดไว้ในมาตรา 28(การวินิจฉัยเกี่ยวกับคำขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้น), มาตรา 31(การวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนเงินชดเชย)

2.2.5 คณะอนุกรรมการอื่นๆ ที่อาจถูกตั้งขึ้นได้ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง (3)

2.3 การใช้สิทธิขอรับค่าเสียหาย

2.3.1 สิทธิของผู้เสียหายและเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามร่างพ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุนตามร่างพ.ร.บ. นี้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ในมาตรา 6 ผู้เสียหายไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 5 ได้หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้  (1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตราฐานวิชาชีพ (2) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (3) ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

2.3.2 กระบวนการใช้สิทธิของผู้เสียหายในการขอรับเงินค่าเสียหาย ตามร่างพ.ร.บ.ฯ ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 5 ตามลำดับดังนี้

2.3.2.1 ผู้มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหาย ได้แก่ผู้เสียหายเอง(มาตรา 25 วรรคหนึ่ง) หรือ บุคคลอื่นอันได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส ทายาท หรือผู้อนุบาล หรือบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ชีวิต เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้แล้วแต่กรณี(มาตรา 25 วรรคสอง)

2.3.2.2 แบบของคำขอ การยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายสามารถกระทำได้ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้(มาตรา 25 วรรคสาม) คำขอดังกล่าวต้องยื่นต่อสำนักงาน(กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) หรือยื่นต่อองค์กรที่สำนักงานกำหนด

2.3.2.3 ระยะเวลาในการยื่นคำขอ ผู้เสียหายต้องยื่นคำขอภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย

2.3.2.4 ผลของการยื่นคำขอต่ออายุความละเมิด เมื่อมีการยื่นคำขอให้อายุความทางแพ่งในมูลละเมิดนั้นสะดุดหยุดอยู่จนกว่าการพิจารณาคำขอเงินชดเชยนั้นจะถึงที่สุดหรือมีการยุติการพิจารณาคำขอมาตรา 34 วรรคหนึ่ง(มาตรา 26)

2.3.2.5 การพิจารณาคำขอรับเงินค่าเสียหาย 

- เมื่อได้รับคำขอให้หน่วยงานที่รับคำขอไว้ส่งคำขอดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ คณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือต้องพิจารณาคำขอดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ(ระยะเวลาในการพิจารณาดังกล่าวในกรณีที่มีเหตุจำเป็นสามารถขยายได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นในการขยายเวลาทุกครั้งไว้ หากคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาระยะเวลาที่ขยายดังกล่าวให้ถือว่าคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือวินิจฉัยจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและให้จ่ายเงินดังกล่าว) หากคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือเห็นว่าผู้ยื่นคำขอเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 5 และไม่ใช่กรณีตามมาตรา 6 ให้วินิจฉัยจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือที่วินิจฉัยให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นที่สุด(มาตรา 27)

- หากคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือมีคำวินิจฉัยไม่รับคำขอ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิที่จะเสนอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องอุทธรณ์ ระยะเวลาดังกล่าวสามารถขยายออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน ถ้าคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยรับคำขอ ให้คณะอนุกรรมการ กำหนดจำนวนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นด้วย คำวินิจฉัยจองคณะกรรมการอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด(มาตรา 28) 

- กรณีที่คณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือตามมาตรา 27 หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ตามมาตรา 28 ส่งคำขอให้คณะอนุกรรมการเงินชดเชยภายใน 7 วันนับแต่วันที่คณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือมีคำวินิจฉัยหรือถือว่ามีคำวินิจฉัยให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้รับคำขอ(มาตรา 30 วรรคหนึ่ง)

- คณะอนุกรรมการเงินชดเชยมีหน้าที่พิจารณาจ่ายเงินชดเชยโดยอาศัยหลักการเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยต้องวินิจฉัยคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือ หรือคณะกรรมการอุทธรณ์แล้วแต่กรณี กรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน โดยต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ด้วย(มาตรา 30 วรรคสอง และวรรคสาม)

- กรณีที่ผู้ขอไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินชดเชยที่คณะอนุกรรมการเงินชดเชยได้วินิจฉัยกำหนด ผู้ขอสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการเงินชดเชย โดยยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงาน และให้สำนักงานส่งคำอุทธรณ์ให้คณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ถ้ายังไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด(มาตรา 31)

 - เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินชดเชย ให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อกับความเสียหายและผู้เสียหายจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ(มาตรา 33)

 - หากคณะอนุกรรมการเงินชดเชยหรือคณะกรรมการอุทธรณ์ ได้กำหนดจำนวนเงินชดเชยแล้ว หากผู้เสียหายหรือทายาทไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชยและได้ฟ้องให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเป็นคดีต่อศาล ให้ยุติการดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้ และผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอได้อีก(มาตรา 34 วรรคหนึ่ง)

หากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวจ้องกับความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ให้คณะอนุกรรมการเงินชดเชยพิจารณาว่าจะจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาหรือไม่เพียงใด(มาตรา 34 วรรคสอง)

หากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดยกฟ้องโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายไม่ต้องรับผิด คณะกรรมการอาจพิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่ก็ได้(มาตรา 34 วรรคสาม)

 - กรณีที่ผู้เสียหายหรือทายาทได้นำเหตุแห่งความเสียหายฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย โดยขอรับเงินค่าเสียหายตามพ.ร.บ.นี้ด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะขอรับเงินค่าเสียหายก่อนหรือหลังฟ้องคดี ให้ดำเนินการให้มีการพิจารณาเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากาษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วให้นำความในมาตรา 34 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม(มาตรา 35)

 - กรณีที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายแล้วหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ให้หักเงินช่วยเหลือเบื้องต้นออกจากค่าสินไหมทดแทนด้วย(มาตรา 36)

 - กรณีที่มีความเสียหายปรากฏขึ้นภายหลังจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้เสียหายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นขอรับเงินชดเชยตามพ.ร.บ.นี้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายที่ปรากฏขึ้นภายหลัง คำขอดังกล่าวให้สำนักงานส่งให้คณะอนุกรรมการเงินชดเชยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอโดยให้นำมาตรา 30, 31, 32 และ 33 มาใช้โดยอนุโลม

2.4 การไกล่เกลี่ย

ตามร่างพ.ร.บ.ฯ ได้ระบุถึงการไกล่เกลี่ยที่ผู้เสียหายและผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการไกล่เกลี่ยกันได้ โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
- เรื่องที่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่าต้องเป็นเรื่องอื่นนอกจากเงินค่าเสียหายตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
- การไกล่เกลี่ยจะดำเนินการก่อนหรือภายหลังผู้เสียหายได้ยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหาย หรือหลังจากากรพิจารณาคำขอรับเงินค่าเสียหายเสร็จแล้วก็ได้
- หากมีการไกล่เกลี่ยกันสำเร็จให้มีการจัดทำสัญญาประนีประนอมในเรื่องที่ไกล่เกลี่ยกันดังกล่าว(มาตรา 39 วรรคสาม)
- เมื่อมีการไกล่เกลี่ยให้อายุความฟ้องร้องคดีแพ่งสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะมีการยุติการไกล่เกลี่ย(มาตรา 40)
- การกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยใช้ข้อมูลที่กำหนดในการดำเนินคดีในศาล(มาตรา 41)

2.5 การฟ้องคดีอาญาและบทกำหนดโทษ

ร่างพ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดระบุถึงการพิจารณาการกำหนดโทษโดยศาล โดยในมาตรา 45 กำหนดให้ศาลในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้ รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณา ประกอบด้วยในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

นอกจากนั้นในมาตรา 46 ได้กำหนดโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 18 ซึ่งการฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

3. ข้ออ้าง/ความกังวลของคุณหมอทั้งหลายเป็นเรื่องที่รับฟังได้หรือไม่

เมื่อได้พิจารณาถึงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวนี้แล้ว กรณีจึงเป็นที่น่าพิจารณาว่าข้ออ้าง/ความกังวลของคุณหมอที่ปรากฏในทางสื่อสารมวลชนนั้นรับฟังได้หรือไม่เพียงใดโดยในที่นี้ได้หยิบยกข้อสังเกต, ความเห็น และทัศนคติของ “คุณหมอ” (ที่ต้องเน้นตัวหนาก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเจ้าของความเห็นดังกล่าวว่าเป็น “คุณหมอ” ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดาหรือเด็กอนุบาลที่ไหนแต่อย่างใด) ที่ปรากฏในเนื้อหาข่าวในช่วงระยะเวลา 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมาในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชนอันได้แก่ ข่าว 1) พ.ร.บ.เยียวยาผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 14:30:03 น.  มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1277192915&catid=02 2) นายแพทย์-โรงพยาบาล ช็อก ! พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ลากหมอติดคุก-จ่ายสินไหม เลิกปรองดอง โทษแรงกว่าในสหรัฐ วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 17:08:19 น.  มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278238349&grpid=00&catid=
3) แพทย์ขู่!ประท้วงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหาย จากบริการสาธารณสุข ชี้ข้อเสียเพียบ ประชาชนรับกรรม วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11:24:39 น.  มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278563507&grpid=00&catid=

ในที่นี้ผู้เขียนจะได้พยายามรวมรวมประเด็นปัญหาที่เป็น “สาระสำคัญ” ที่ “คุณหมอ” ได้แสดงความเห็นไว้ในข่าว โดยผู้เขียนจะแสดงความเห็นต่อความเห็นของ “คุณหมอ” ในเรื่องต่างๆ ตามลำดับดังนี้

3.1 ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯ

มีการกล่าวว่า “จากหลัก การและเหตุผลจะพบว่า บุคลากรสาธารณสุข นอกจากต้องทำงานหนักทั้งกลางวันกางคืน ไม่ว่าวันราชการหรือวันหยุด เพื่อรับผิดชอบดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน /ฟ้องร้อง/ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ/ชดเชยและถูกไล่เบี้ย/หรือถูกตัดสินจำคุกใน คดีอาญาเหมือนเป็นฆาตกร และยังต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อเตรียมไว้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้อง ต้นทุกราย และยังต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหาย และยังต้องถูกฟ้องร้องต่อศาลได้อีก”

เมื่อผู้เขียนอ่านความเห็นดังกล่าวแล้วเห็นว่ากรณีไม่ใช่เรื่องปกติหรอกหรือที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำการโดยประมาทหรือจงใจแล้วก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลอื่นขึ้น แล้วบุคคลที่เสียหายนั้นใช้สิทธิทางศาลไม่ว่าจะเป็นทางคดีแพ่งละคดีอาญา 

นอกจากนั้นในบางข่าวยังมีการกล่าวอ้างถึงตัวอย่างที่ว่า “มีบริการสาธารณะใดบ้างที่ต้องมีเงินประกันความเสียหาย โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก/ผิด ทั้งนี้การบริการสาธารณะที่จัดขึ้นโดยรัฐบาล เช่นการศึกษานั้น ถ้านักเรียนสอบตก ไม่เห็นมีการฟ้องร้องครู ว่าทำให้นักเรียน “เสียหาย” มีแต่จะลงโทษเด็กนักเรียน ให้เรียนซ้ำชั้น/ไล่ออก และไม่เห็นมีการออกกฎหมายมาคุ้มครองเด็กนักเรียนที่เสียหายจากการรับบริการ การศึกษาแต่อย่างใด หรือในระบบราชการตำรวจ ไม่เห็นมีการออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการที่ถูกตำรวจยิงตาย โดยที่ประชาชนคนนั้นไม่ได้เป็นผู้ร้าย  (หรือถ้ามีพ.ร.บ.เช่นว่านี้ ก็โปรดบอกข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ด้วย)”

กรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หากถามว่าหากนักเรียนที่สอบตกคนนั้นไปใช้สิทธิทางศาลสามารถทำได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีต่างๆ นั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะมาคุ้มครองในทุกกรณีแต่ประการใด เพราะผู้เสียหายก็ไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนได้อยู่แล้ว ส่วนการสอบถามหากฎหมายที่คุ้มครองผู้เสียหายจากการที่ถูกตำรวจยิงตายโดยที่ประชาชนคนนั้นไม่ได้เป็นผู้ร้ายนั้น กฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการออกมาใช้บังคับตั้งแต่ปี 2544 อันได้แก่ พระราชบัญญัติค่าตอบแทน ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  พ.ศ.2544

นอกจากนั้นก็มีการกล่าวว่า “นอกจากจะต้องทำงานบริการประชาชนแล้ว ยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดความเสียหายอีก ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ก็คงไม่มีปัญหาอะไร โรงพยาบาลก็ต้องขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะต้องเอาเงินภาษีจากหยาด เหงื่อแรงงานของประชาชนมาเพิ่มงบประมาณให้โรงพยาบาลเพื่อส่งเข้ากองทุน  คุ้มครองผู้เสียหายนี้  ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็คงต้องผลักภาระนี้ให้แก่ประชาชนที่ต้องจ่ายเงินเอง อย่างแน่นอน เพราะเป็นต้นทุนที่ถูกบังคับ (โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า)”

ก็เป็นความเห็นที่น่ารับฟังประการหนึ่ง แต่หากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บเงินกองทุน(เป็นการแชร์ความเสี่ยงในการรับผิดของบุคลากรทางการแพทย์) ท่านก็ต้องรับผิดชอบทั้งในทางแพ่ง ทางอาญาตามกฎหมายทั่วไปที่ใช้บังคับตามปกติไป อีกทั้งกรณีก็ไม่ผิดปกติประการใดที่จะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน

3.2 ประเด็นเรื่องของสิทธิของผู้เสียหาย

มีความเห็นว่าเมื่อผู้เสียหาย ““เชื่อ” ว่าตัวเองได้รับความเสียหายก็สามารถยื่นคำขอเงินค่าเสียหายได้นั้น” ต้องไม่ลืมว่าตามร่างพ.ร.บ.ฯ แล้วจะเห็นว่าเพียงแค่ความเชื่อว่าตนเองเป็นผู้เสียหายนั้นไม่สามารถทำให้ได้รับเงินค่าเสียหายโดยอัตโนมัติแต่ประการใดไม่ ยิ่งไปกว่านั้นการมีสิทธิยื่นหรือไม่มีสิทธิยื่นคำขอนั้นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจก็ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่ร่างพ.ร.บฯ กำหนดเอาไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 5 และมาตรา 6  

3.3 ประเด็นเรื่องของคณะกรรมการ

มีการกล่าวถึงคำว่า “คณะกรรมการ” ในเนื้อข่าวหลายจุดด้วยกัน แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าหมายถึง “คณะกรรมการ” ใดกันแน่ เพราะในร่างพ.ร.บ.ฯ มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้ในการกล่าวถึงคณะกรรมการในร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าว นั้นหากไม่ระ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net