Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบของการใช้กฎหมายพิเศษในการจัดการความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นข้อควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการความรุนแรงต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วมซึ่งเคลื่อนไหวในจังหวัดที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ

หลังจากเหตุการณ์ที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบันทำให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงโดยใช้กฎหมายพิเศษที่ใช้สารพัดวาทกรรมของรัฐและหน่วยความมั่นคงซึ่งต้องการแสดงให้คนทั้งประเทศเห็นด้วยถึงความจำเป็นของการใช้กฎหมายและแนวทางการจัดการกับปัญหาดังกล่าวนั้นทำให้คนกรุงเทพมหานครและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือซึ่งเป็น คนเสื้อแดงและแนวร่วมได้รู้รสชาติของการต้องทนอยู่กับปัญหาของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น (หรือแม้กระทั่งนักวิชาการ)

การปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัวหรือที่อื่นๆในกรุงเทพมหานครจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมากมายนั้น ทำให้วาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” ได้เริ่มปรากฏสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ ในขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาคือผู้ก่อความไม่สงบ หรือกบฏ หรือใช้คำว่าแนวร่วม เพียงแต่การชุมนุมที่ภาคใต้หลายต่อหลายครั้งไม่ว่าที่ตากใบ ตันหยงลิมอ กูจิงลือปะ และที่อื่นๆประชาชนชุมนุมอย่างสงบ สันติอหิงสาจริงๆและใช้เวลาไม่ถึง หนึ่งวันขณะเดียวกันไม่มีกลุ่มไอ้โม่ง ถืออาวุธชุดดำเหมือนที่กรุงเทพมหานคร

ดร.ชาญชัย จิตรเหล่าอาพรให้ทัศนะว่า ความเป็นจริงการนิยามคำว่า “การก่อการร้าย (terrorism)” นับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เนื่องจากนัยความหมายนั้นมีความเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นทั้งพฤติกรรมที่ซ่อนเร้นของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มุ่งหมายเป็นปรปักษ์กับรัฐ และรวมไปถึงแนวทางการแสดงออกของรัฐต่อกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับรัฐเองด้วย ดังที่พบว่ารูปแบบการก่อการร้ายมีหลายลักษณะที่เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมดังกล่าวของทั้ง ๒ ฝ่าย อาทิ ระเบิดพลีชีพ การอุ้มฆ่า/ลักพาตัว และการลอบสังหารเป้าหมาย [1] เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การสร้างคำนิยามจึงย่อมสัมพันธ์กับฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำจากการก่อการร้าย ดังเช่น กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน โดย Central Intelligence Agency (CIA) ได้ให้คำจำกัดความการก่อการร้ายไว้ว่า การก่อการร้าย หมายถึง "ปฏิบัติการรุนแรงที่มีการคิดและเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า โดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง กระทำต่อเป้าหมายซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสงคราม และไม่มีศักยภาพในการทำการรบโดยกลุ่มขบวนการที่มิได้เป็นตัวแทนของรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือโดยกลุ่มสายลับของรัฐที่กระทำการในทางลับ" [2]

แม้คำว่า “กลุ่ม” จากนิยามข้างต้น จะสะท้อนให้เห็นถึงตัวแสดงทางการเมือง (actor) ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายจากทั้ง (๑) ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐ กับ (๒) สายลับของรัฐ แต่นิยามนี้ก็ชี้ให้เห็นอย่างมีนัยว่า สายลับของรัฐนี้ย่อมมิใช่ตัวแทนของรัฐตน ดังหมายถึงสายลับของรัฐอื่นมากกว่า การนิยามข้างต้นจึงพยายามสร้างสังกัปให้การก่อการร้ายเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและท้าทายอำนาจของกลุ่มต่างๆ ต่อสหรัฐอเมริกา

ในการประชุมคณะกรรมการกฎหมายของสมาคมสหประชาชาติแห่งมิชิแกนครั้งที่ ๒๔ หลายประเทศต่างพยายามเรียกร้องการนิยามคำว่าการก่อการร้ายให้มีความชัดเจนมากขึ้น [3] ดังเช่น อิหร่านชี้ว่าผู้ก่อการร้ายบางรายทำงานภายใต้ชื่อปลอมรวมทั้งชื่อขององค์การเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อหาแหล่งหลบภัยในประเทศอื่น อีกทั้งยังชี้ด้วยว่าเทคโนโลยีทั้งหลายแหล่กำลังสร้างกลวิธีโจมตีใหม่ๆ ที่น่าตื่นตระหนกต่อบรรดารัฐ ซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ ท้ายที่สุดอิหร่านยอมรับว่าตนคัดค้านข้อเสนอให้กองกำลังปลอดพ้นความรับผิดชอบในยามสันติเพราะกองกำลังเหล่านี้มักเป็นผู้ก่อการร้ายเอง ส่วนกรณีอิสราเอลกลับห่วงใยในประเด็นที่บางรัฐเชื่อว่า การวางระเบิดไม่ใช่การก่อการร้าย หากทำไปเพื่อปลดปล่อยประชาชาติ ซึ่งย่อมทำให้การก่อการร้ายแผ่ขยายออกไปได้ เพราะการต่อสู้กับการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีการกระทำที่สอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ที่กว้างขวางครอบคลุม และไม่ลดละเลิกลา โดยกลุ่มกวมซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาอดีตสาธารณรัฐสังกัดสหภาพโซเวียตเตือนว่า ประเด็นการก่อการร้ายนั้นเชื่อมโยงกับลัทธิแยกดินแดนแบบก้าวร้าวรุกราน กลุ่มกวนนี้จึงมีแนวคิดที่สอดคล้องไปกับอิสราเอล พร้อมกับเสนอเพิ่มเติมไว้อีกว่า การนิยามไม่ควรเอาวัตถุประสงค์ของการก่อการร้ายไปเชื่อมโยงกับการกระทำซึ่งไม่อาจอ้างความชอบธรรมใดๆ ได้เลย นอกจากนี้ในกรณีของคองโก พยายามชี้ให้เห็นว่า การก่อการร้ายโดยรัฐได้เปิดช่องให้ประเทศข้างเคียงปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนประเทศตน โดยเยเมนยังชี้ให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่าทุกวันนี้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายมุ่งก่อความบาดหมางระหว่างประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกากับเยเมนภายหลังการระเบิดเรือรบยูเอสเอสโคล) ซึ่งซีเรียได้ร่วมเรียกร้องเรื่องนี้ด้วย โดยตั้งข้อสังเกตว่า การก่อการร้ายโดยรัฐของอิสราเอลส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กเล็กๆ ชาวปาเลสไตน์ล้มตาย อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายที่อิสราเอลเลือกโจมตีโดยเนื้อแท้แล้ว มักมีลักษณะเชิงสัญลักษณ์มากกว่าทางการทหาร จึงทำให้การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการก่อการร้ายตามการนิยามบางแบบ

 จากข้างต้นย่อมพบว่า การสรุปนิยามของคำว่า “การก่อการร้าย” จึงไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เพราะรัฐต่างๆ ล้วนที่จะปฏิเสธว่าพฤติกรรมของตนนั้นเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย อีกทั้งยังยัดเยียดให้กับกลุ่มที่มีแนวคิดติ่ต้านอำนาจรัฐ

 ดังนั้นอาจสรุปความหมายอย่างกว้างๆ ของการก่อการร้ายได้ว่า “เป็นกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ทั้งที่อาจเป็นตัวแทนของรัฐเอง หรือกลุ่มต่างๆ ที่มุ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐ ด้วยการใช้ยุทธวิธีการต่อสู้ต่างๆ ทั้งในแบบที่สามารถเล็งเห็นได้จากรูปแบบสงครามปกติและไม่อาจพบเห็นได้จากวิธีการต่อสู้แบบทางทหารโดยทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วไม่อาจอ้างความชอบธรรมได้ด้วยเหตุผลใดๆ”

ภายใต้วาทกรรม "ก่อการร้าย" ของรัฐไทยต่อกลุ่มเสื้อแดงและแนวร่วม ยิ่งหนุนเสริมให้สถานการณ์ตึงเครียด บทเรียนของการที่รัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆโดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพื่อ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วเกือบ 6 ปีเต็ม คือตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 19 ครั้ง ออกหมายเชิญตัวบุคคลไปแล้ว 3,935 หมาย (ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2552) แต่สถานการณ์ในภาคใต้ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับความสงบ เพราะยิ่งปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ดูจะยิ่งสร้างปัญหาตามมาไม่รู้จบ

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) [4] ระบุว่า ช่วง 73 เดือน นับตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงมกราคม 2553 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 9,446 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,100 คน บาดเจ็บ 6,509 คน รวมทั้งสิ้น 10,609 คน มีผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียประมาณ 53,045 คน ในกลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นคนมุสลิมมากกว่าพุทธ ส่วนในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธมากกว่ามุสลิม แยกเป็น กลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นมุสลิม ร้อยละ 58.95 (2,417 คน) คนพุทธร้อยละ 38.02 (1.559 คน) ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นคนพุทธร้อยละ 59.82 (3,894 คน) คนมุสลิมร้อยละ 32.17 (2,094 คน)

การกระทำเพียงแต่ก่อกวนและสร้างความวุ่นวายหลายต่อหลายครั้งแน่นอนเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจรัฐ แต่รัฐบาลออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนและมีท่ามีแข็งกร้าวต่อกลุ่มที่ปฏิบัติการที่เรียกว่าการก่อการร้าย อาจทำให้ “ผู้ก่อการร้ายในคำนิยามของรัฐ” มีความฮึกเหิมและท้าทายมากขึ้น ปัญหาก็คือต้องยอมรับว่าการจะเดินหน้าหาตัว “ผู้ก่อการร้าย” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการกระทำของคนกลุ่มนี้มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เข้าข่ายเป็นองค์กรอาชญากรรม และมีการ “ตัดตอน” 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครดังกล่าวพอจะเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีปฏิบัติการในลักษณะใกล้เคียงกันนานว่า 6 ปีแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ แม้จะประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากมายหลายฉบับ และแม้จะมีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอ้างว่าเป็นพรรคของคนใต้ รู้และเข้าใจปัญหาภาคใต้มากที่สุดมาเป็นแกนนำรัฐบาลก็ตาม

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงต้องเตรียมตัวรับมือกับวาทกรรม “การก่อการร้าย” ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการวางระเบิดสถานที่สำคัญ กราดยิงบุคคลตามสถานที่ต่างๆ หรือการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ

สภาพการณ์ของกรุงเทพฯหรือตามหัวเมืองใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็อาจจะเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางด้านภาวะวิสัยคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีระเบิด กรุงเทพฯก็มีระเบิด จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรั้วลวดหนามล้อมรอบสถานที่ราชการ ที่กรุงเทพฯก็อาจมีรั้วลวดหนามที่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล หน่วยทหาร หรือแม้แต่สถานที่ราชการสำคัญๆ เช่นเดียวกัน และล่าสุดมีคนพยายามวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงหวังให้ไฟดับทั่วทั้งกรุงเทพฯ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เคยมีเหตุการณ์ระเบิดเสาไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

สถาบันข่าวอิศราได้สรุปว่า สังคมไทยไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องเผชิญสภาพที่เรียกว่า “การก่อการร้าย” ไปอีกเนิ่นนาน

ประเด็นปัญหาร่วมสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับในกรุงเทพมหานคร นั้นเป็นเรื่องของความชอบธรรมของรัฐและประชาธิปไตย

ในขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความพิเศษแตกต่างจากกรุงเทพมหานครในประเด็นความเป็นสองมาตรฐานของรัฐในการจัดการประเด็นทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็น ศาสนา ภาษาและเชื้อชาติอันเป็นอัตลักษณ์ร่วมกล่าวคืออิสลาม มลายู และผูกโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นปาตานี

เมื่อเป็นสองมาตรฐาน ใน การจัดการของรัฐที่ยังไม่สอดคล้องกับความชอบธรรมดังกล่าวทำให้คนในพื้นที่ ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐในเรื่องการจัดการปัญหา(โดยเฉพาะการใช้กฎหมายพิเศษภายใต้รัฐทหาร) อันส่งผลสู่การต่อสู้ทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วม

กฎหมายพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้น ทำให้ คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และกลุ่มคนเสื้อมีอารมณ์ร่วมกัน ว่า ประชาธิปไตยนั้นยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

ระบบของรัฐบาลในแง่ของการจัดการในขณะนี้มีการท้าทายว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม บวกกับปัญหาที่สะสมมาอีกมากมายของปัญหาสังคม หรือปัญหาความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้รู้สึกต่างๆมันหลอมรวมกันเข้าไป 

การใช้กฎหมายพิเศษตลอดหกปีกว่าทำให้คนทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนภาคใต้รู้สึกว่าผู้ต้องหาหลายคนถูกละเมิดสิทธิหลายต่อหลายครั้ง [5]

เมื่อสำรวจข้อมูลในช่วงเหตุการณ์ที่กรุงเทพมหานครที่คนเสื้อแดงและแนวร่วมกำลังถูกละเมิดก็พบว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 นั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) อย่างน้อย 6 ราย ถูกจำกัดในการเยี่ยมจากญาติอย่างผิดปกติ

บางคนได้รับอนุญาตให้ญาติพบหน้าในระยะห่าง ๆ เพียงหนึ่งถึงสองนาทีเท่านั้น บางรายไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับญาติอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาตามปกติ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ญาติร้องเรียนขอให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวสองราย โดยสงสัยว่าอาจถูกซ้อมทรมานเนื่องจากพบเห็นผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีรายงานว่านายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในห้องขังระหว่างการควบคุมตัวในศูนย์ ด้วยสาเหตุที่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นการผูกคอตายเอง หรือถูกผู้อื่นทำให้เสียชีวิต
 
ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกเชิญตัว ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว มีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเท่านั้น ไม่มีการตั้งข้อหาว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำความผิดทางอาญา แต่กลับมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านั้น(บางคน)โดยมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่ำกว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหา ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน ณ ศูนย์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับทนายความเพื่อปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของตน แม้ญาติจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมได้แต่ในเวลาที่จำกัด การพูดคุยอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และในบางกรณีการเยี่ยมญาติหมายถึงเพียงการพาตัวมาให้ญาติได้เห็นหน้าเท่านั้น มีการร้องเรียนว่าผู้ถูกควบคุมตัวบางรายถูกขังเดี่ยวในห้องขังที่ล๊อคกุญแจจากภายนอก ส่งอาหารให้ทางช่องรับอาหาร และไม่อนุญาตติดต่อกับบุคคลภายนอก โดยอาจอนุญาตให้เดินออกมาพบญาติได้เพียงวันละหนึ่งหรือสองนาที ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์ซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งวิธีการหรือกระบวนการในการสอบปากคำหลายกรณีอาจถือได้ว่าเป็นการทรมานหรือการการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552- ปัจจุบัน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อย 30 กรณี ที่หลังจากมีการสอบข้อเท็จจริงแล้วน่าเชื่อได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วยวิธีการต่างๆ บางรายถูกทำร้ายร่างกายโดยการทุบตีด้วยของแข็ง ถูกผู้สอบปากคำใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจ บางรายถูกบังคับให้ยืน และถูกบังคับไม่ให้นอนโดยใช้ผู้สอบปากคำหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาสอบ รวมทั้งการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นระยะเวลานานๆ ในห้องเล็กๆที่เปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่ต่ำ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) โดยย่อ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน” ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีพ.ศ. 2550 และเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างชัดแจ้ง

การซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางคนหรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่กระทำต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความมาสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในสถานที่และเงื่อนไขต่างๆ เช่น ในระหว่างการจับกุม ระหว่างการควบคุมตัวมายังสถานีตำรวจหรือสถานที่ควบุคมตัวเพื่อซักถาม หรือการสอบสวน รวมทั้งที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวในฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจ (ฉก.) อย่างน้อยสองแห่งในจังหวัดนราธิวาส และหนึ่งกรณีมีการร้องเรียนว่าการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์ปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดน และล่าสุดมีการร้องเรียนว่าในเรือนจำแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงรายหนึ่งถูกทำร้ายร่างกายจนสลบโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งกรณีนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งให้ไต่สวนในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ที่กรุงเทพมหานครนั้น ก่อน ๑ วันที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติให้ต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือนใน 19 จังหวัดจาก 24 จังหวัดที่ประกาศไว้เดิม โดยหนึ่งใน 19 จังหวัดมีกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมอยู่ด้วยนั้นได้มี รายงานของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ก่อนหน้านี้บังคับใช้อยู่ใน 24 จังหวัด หรือหนึ่งในสามของประเทศ เจ้าหน้าที่ได้ห้ามการชุมนุมทางการเมือง ปิดสื่อ คุมขังแกนนำคนเสื้อแดงและระงับการทำธุรกรรมการเงินของคนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการช่วยกันคิด ทิศทางข่าว สถานี เอฟเอ็ม 100.5 อสมท. เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม ที่ผ่านมาในประเด็นพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน )ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎหมายพิเศษใด ๆก็ตาม ที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในทางระหว่างประเทศเขายอมให้เกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขแคบๆ ว่า การลิดรอนสิทธิเสรีภาพเบื้องต้น เช่น เสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในการรวมตัวไปไหนมาไหน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคามต่อสาธารณะอย่างชัดแจ้ง แล้วในการที่รัฐจะตอบโต้ต่อภัยคุกคามร้ายแรงนั้น ก็ต้องมีจำกัดใน 2 ส่วนก็คือ 1. การจำกัดเวลา และ 2. จำกัดพื้นที่ คือ ต้องบอกว่าบังคับใช้ในเวลาเท่าไหร่ และในพื้นที่ไหนบ้าง แต่ตอนนี้ เมื่อตั้งตามเกณฑ์แบบนี้ ก็ต้องมาตามดูว่าปัจจุบัน เงื่อนไขที่บอกว่าเป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้าต่อสาธารณะมันหมดไปแล้วหรือยัง แล้วก็ดูว่าพื้นที่ไหนหมดไปแล้วบ้าง ขณะนี้ ข้อเรียกร้องต่อนานาชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ก็บอกว่ารัฐบาลไทยต้องตอบแล้วว่า ภัยคุกคามที่เคยมีก่อนหน้านี้ แล้วอาจจะรองรับได้ว่าทำไมต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปัจจุบันพื้นที่ไหนหมดไปแล้วบ้าง หรือพื้นที่ไหนยังมีอยู่ และมีอยู่ในระดับใด มีอยู่ในระดับที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ หรือมีอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายธรรมดา ก็จัดการได้ 

ผู้ต้องหาหลายคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเหมารวมและท้ายสุดถูกยกฟ้องหรือปล่อยแต่เขาต้องถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือกบฏ 

จากรายงานศูนย์ทนายความมุสลิมได้รายงานว่า คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคดีที่มีความสำคัญดังนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นที่แน่ชัด การที่รวบรวมพยานหลักฐานได้เฉพาะพยานบอกเล่าแล้วออกหมายจับจับกุมดำเนินคดีกับจำเลย นั้นจะต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและท้ายที่สุดกระทบต่อความมั่นคง

มีคดีหนึ่งคือ การร่วมใช้อาวุธปืนยิงดาบตำรวจบุญธรรม ถาวรศิลป์ จนถึงแก่ชีวิต ต่อมา มีการนำสืบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชื่อมโยงไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายขบวนการก่อการร้าย จนมีการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายมากถึง 20 คน แต่ถึงที่สุดแล้ว ศาลกลับมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมด การยกฟ้องของศาลจึงมีนัยยะสำคัญที่ย้อนกลับไปเป็นบทเรียนแก่เจ้าหน้าที่ ที่ต้องความละเอียดอ่อนมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ [6]
 
แม้วันนี้หลายคนจะพ้นผิดทางกฎหมาย แต่การเป็นผู้อยู่ใน ‘Black List’ หมายถึง การจะถูกจับจ้องจากทุกฝ่ายนับจากนี้ วันดีคืนดีอาจมีเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องใส่ชื่อพวกเขาไปในคดีใดคดีหนึ่งอีกครั้ง หรือถ้าร้ายกว่า พวกเขาอาจเสียชีวิตโดยไม่รู้ผู้กระทำ...ความตายที่นี่ไม่เหมือนที่กรุงเทพมหานคร เกือบ 4,000 ชีวิตที่สูญเสียไปยังไม่มีรัฐบาลใดแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ..และยังไม่มี ‘ฝ่ายค้าน’ ในรัฐสภาชุดใดเรียกร้องให้มีการอภิปรายเพื่อตามหาความจริง 

ความห่วงใยจากคำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นแนวทางสำคัญก่อนการตั้งข้อหาฉกรรจ์ของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะใน ‘จังหวัดชายแดนใต้’ หรือที่ ‘กรุงเทพมหานคร’ ก็ตาม.

สำหรับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน แม้แต่ ฮิวแมนไรท์ วอซท์ ได้ออกมายอมรับว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดง มีกองกำลังติดอาวุธ สวนหนึ่งมาปะปนอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงคนเสื้อแดงทั้งหมด และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19-20 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการสลายการชุมนุม มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ฮิวแมนไรท์ วอซท์ ยังไม่เห็นรูปแบบการแยกแยะที่ชัดเจนระหว่างคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมปกติ กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยรัฐบาลไม่ได้ทำข้อมูลส่วนนี้ให้ชัดเจนว่า กองกำลังติดอาวุธที่ปะปนอยู่ในการชุมนุมเป็นใคร มีจำนวนเท่าไหร่ ใครบังคับสั่งการ

ซึ่งส่งผลให้ บรรยากาศที่ไม่มีการแยกแยะ ทำให้คนเสื้อแดงโดนเหมารวม และคนเสื้อแดงถูกตราหน้า ท้ายสุดบางส่วนต้องลงใต้ดินหรือหนีไปต่างประเทศซึ่งไม่ต่างจากภาคใต้ที่หนี้ไปมาเลเซียหรือที่อื่นๆ

อย่างกรณีอาจารย์วรพล พรหมิกบุตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดนเรียกไปรายงานตัว และโดนควบคุม ไปที่ค่ายทหารที่สระบุรี หรือกรณีบก.ลายจุด คุณสมบัติ (บุญงามอนงค์) ก็อาจจะบอกว่าทำผิดกฎหมาย พรก.ฉุกเฉิน เรื่องการชุมนุม ในเวลาที่เขาไม่ให้ชุมนุม แต่ก็คงต้องทบทวนว่าคนอย่างบก.ลายจุด เป็นคนที่เป็นภัยคุกคามถึงขั้นที่ ให้ประกันตัวไม่ได้เลยหรือไม่
 ดังนั้นการให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มคนทีถูกกล่าวหา ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีไม่ว่าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกรุงเทพมหานครเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่สำคัญซึ่งเป็นข้อควรระมัดระวังยิ่งคือ อย่าพยายามใช้ช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งเพื่อผลทางการเมือง ในทางกลับกันกระบวนการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรัฐพร้อมให้พวกเขาได้มีโอกาสพิสูจน์หลักฐาน พยานพร้อมทนาย ในการต่อสู้ในชั้นศาลด้วยเพราะมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องรีบทบทวนการนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐและค้นหาแนวทางและนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากการพิจารณาถึงปมปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของการแก้ปัญหา สร้างกระบวนการเจรจา เพื่อนำความขัดแย้งที่ใช้อาวุธและการเข่นฆ่า ไปสู่ความขัดแย้งที่แก้ไขโดยสันติวิธี โดยอาจนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาศึกษาและถอดบทเรียนอย่างจริงจัง เช่น แนวทางของการสร้างกระบวนการยุติความขัดแย้งโดยมีคนกลาง การสานเสวนากับทุกภาคส่วนด้วยกลไกใหม่ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการเจรจาทุกระดับ เพื่อหาทางออกทางการเมืองด้วยหนทางประชาธิปไตย พร้อม ๆ กับการใช้มาตรการทางกฎหมายปกติ(ไม่ใช่กฎหมายพิเศษ)ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งการปราบปรามและการนำคนผิดมาลงโทษที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ พิจารณาสอบสวนกรณีมีข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังเปิดเผยและลงโทษกรณีพบว่ามีการกระทำตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องปรามการก่อเหตุร้ายอันเป็นภัยต่อชีวิตทุกชีวิตและต่อทรัพย์สินสาธารณะของทุกภาคส่วนซึ่งเป็นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม 
 
รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการปรองดองแห่งชาติสำหรับกรณีความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่น้อยไปกว่าการสร้างการปรองดองแห่งชาติในระดับประเทศ รวมทั้งการพิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วยมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน

อย่าให้ การตั้งกรรมการพิเศษหลายต่อหลายชุดไม่ว่าของอาจารย์คณิต ณ นคร นายแพทย์ประเวศ วะสี และนายอนันต์ ปัญญารชุณ นั้นเหมือนชะตากรรมเดียวกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชิณวัตร ที่ตั้งไว้เพื่อการเมืองและถ่วงเวลา กล่าวคือหมดทั้งเงินและเสียเวลาบุคลากรเพราะได้รายงานรวบเล่มสวยหรูแต่เก็บไว้บนหิ้ง 

ที่สำคัญ “มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การปรองดองอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นข้อเสนอจากรัฐบาลที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งทำให้ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงยังคงมีการปรามปรามอยู่ในขณะนี้” ซึ่งเป็นคำกล่าวของนายจิม เดลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป และท่านยังกล่าวอีกว่า “สัญญาณแรกที่จะบ่งบอกถึงความพยายามที่จะเชื่อมสะพานอีกครั้งหนึ่งก็คือการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข” [7]

 

เชิงอรรถ

[1] พิจารณาตัวอย่างเพิ่มเติมได้จาก สุรสีห์. 2544. Top Secret ลับสุดยอดของตำรวจโลก. กรุงเทพฯ: บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด.
[2] โปรดดู ธันยวัต ชูส่งแสง. 2548.การก่อการร้าย.[Online] Available URL ; http://www.wing2.rtaf.mi.th/w2data/kkr00.html
[3] โจนาธาน บาร์เกอร์ (เขียน). เกษียร เตชะพีระ (แปล). ๒๕๕๐. คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ. น.๒๒ – ๒๓
[4] โปรดดู เพาซีย์ จูเกงลูแล, โยฮาลือมี เปาะจิ. เปิดตัวเลขมาตรการเยียวยา ชุมนุมกรุงเทพฯ-ชายแดนใต้ [Online] Available URL ; http://macmuslim.com/index.php?option=com_content&view=article&id=208%3A2010-06-08-04-03-49&lang=th
[5] โปรดดู แถลงการณ์ วันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2553 โดย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธผสานวัฒนธรรม. [Online] Available URL ; http://macmuslim.com/index.php?option=com_content&view=article&id=211%3A-26-2553&lang=th)
[6] โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ผ่าคดีความมั่นคงในปัตตานี ย้อนรอยคดี แห่ง กอลำ – เขาตูม ทำไมศาลจึง ‘ยกฟ้อง’ [Online] Available URL ; http://macmuslim.com/index.php?option=com_content&view=article&id=206%3A2010-06-02-08-10-38&lang=th
[7] โปรดดู ไครซิสกรุ๊ป ชี้ ความหวังปรองดองในไทยแค่ริบหรี่ แนะเลือกตั้งเร็วให้รัฐบาลใหม่"ประสานรอยแยก" สถาบันข่าวอิศรา. [Online] Available URL ; http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=423:-qq&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=3
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net