Skip to main content
sharethis

 

(13 ก.ค.53) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะคณะทำงานของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่รับผิดชอบในสำนวนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในข้อกล่าวหา ปชป.รับเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิสิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยทำสัญญาสื่อว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 และมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ได้เข้ายื่นคำร้องยุบ ปชป.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 13 กรกฎาคม โดยคำร้องมีทั้งหมด 62 หน้า เอกสารประกอบอีก 27 หน้า และสำนวนคดี 9,678 แผ่นบรรจุอยู่กล่อง 54 ลัง

นายวินัยกล่าวว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส. ได้มีคำสั่งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้มีอำนาจดำเนินคดีในศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบ ปชป. โดยอีก 4 คน คือ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย นายภาณุพงษ์ โชติสิน รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 และนายสุกิจ นาพุก อัยการจังหวัดประจำกรมคดีพิเศษ 5

นายวินัยกล่าวว่า คำร้องที่ยื่นนั้น ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ ปชป. ห้ามกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้โดยมีกำหนด 5 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคขณะเกิดเหตุ ที่มีส่วนร่วม รู้เห็น ปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำแล้วไม่ได้ยับยั้ง เป็นเวลา 5 ปี

"ในสำนวนที่ อสส.เสนอให้ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี มีประมาณ 40-50 คน โดยจะตัดสิทธิในส่วนของกรรมการบริหารพรรคที่ทำหน้าที่ในช่วงปลายปี 2547 ถึงช่วงต้นปี 2548 ซึ่งในขณะนั้นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค" นายวินัยกล่าว และว่า อสส.ไม่รู้สึกหนักใจที่ต้องทำคดีนี้ เพราะทำตามหน้าที่อย่างเป็นกลางโดยยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม และระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่าย

ทางด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหนึ่งในทีมกฎหมายสู้คดียุบ ปชป. กล่าวว่า หลังจาก อสส.ยื่นสำนวนคดี 258 ล้านบาท ให้กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมเรื่องและตรวจสอบเอกสารประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจึงจะส่งคำร้องทั้งหมดมาให้ ปชป.แก้คดี และยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 15 วันต่อไป ซึ่งปกติก็จะมีการยื่นขอขยายเวลาในการร้องคัดค้านอีก 15 วันอยู่แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องทีมกฎหมายนั้น ขณะนี้ได้มีนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 10 คน เข้ามาช่วยกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการเพิ่มทีม

ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า ปชป. กล่าวถึงคดียุบ ปชป.ที่มีความพยายามที่จะโยงคดีไปเกี่ยวกับคดียุบพรรคเพื่อไทยว่า คงไม่เกี่ยวกัน ยืนยันมาตลอดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือคดีของพรรคอื่นๆ ว่าพรรคไหนจะถูกยุบอยู่ที่พฤติกรรมของพรรคในเรื่องนั้นๆ มันไม่มีเหตุผลจะมาเอาสองสามคดีมาเชื่อมโยงกันว่า เมื่อยุบพรรคนั้นต้องยุบพรรคนี้ หรือจะยุบพรรคนี้ไม่ยุบพรรคนั้น มันไม่ได้ ศาลต้องตัดสินตามข้อเท็จจริงของคดี เมื่อถามว่า หากมีมวลชนกดดันจะมีผลต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "เราหวังว่าศาลจะตัดสินไปตามข้อเท็จจริง"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net