Skip to main content
sharethis
14 ก.ค. 53 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง เรื่อง “ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า
 
ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 53) อยู่ที่ 72.19 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (กรกฎาคม 53) ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน(กรกฎาคม 53) ว่ายังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเห็นได้จากค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 42.16 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 (ตารางในข้อ 1)
 
เมื่อพิจารณาในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่านักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองเชิงบวก เห็นได้จากค่าดัชนีคาดการณ์ฯ ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50 ในทุกปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากว่าจะปรับตัวดีขึ้น (ค่าดัชนีเท่ากับ 81.88) รองลงมาเป็นปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยด้านการส่งออกแม้ว่าค่าดัชนีคาดการณ์ฯ จะอยู่ในระดับ 63.57 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แต่ค่าดัชนีก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยขับเคลื่อนอื่นจึงอาจสื่อให้เห็นว่าบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้าอาจปรับตัวลดลง
 
ด้านสถานะในปัจจุบันของแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าภาคการส่งออกในปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง และมีมุมมองต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนว่าอยู่ในสถานะปกติ ส่วนมุมมองต่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ
 
สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบที่สำคัญคือ วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป (ร้อยละ 61.4) รองลงมาเป็นปัญหาด้านการเมือง (ร้อยละ 42.9) ตามด้วยเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม (ร้อยละ 38.6) ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวกที่สำคัญคือความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ร้อยละ 61.4) รองลงมาเป็นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ร้อยละ 58.6) ตามด้วยการปรับค่าเงินหยวนของจีน (ร้อยละ 50.0)
 
สำหรับความเห็นเกี่ยวกับ แนวคิดของรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนมาเป็นการให้บริการสังคมฟรีระยะยาวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 51.4 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในจำนวนนี้ เห็นด้วยกับมาตรการรถเมล์ฟรีมากที่สุด (ร้อยละ 21.7) รองลงมาเป็นมาตรการรถไฟฟรี(ร้อยละ 20.3) และค่าไฟฟ้าฟรี (ร้อยละ 9.4) ตามลำดับ ขณะที่ร้อยละ 40.0 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
 
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) เสนอให้ รัฐบาลรักษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน และทำการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนนโยบายการเงินนั้นเสนอให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้อีกสักระยะก่อน นอกจากนี้ เสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อประชาชนที่เดือดร้อนจริงแต่ควรให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตมากกว่า ส่วนระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) เสนอให้ ดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ การส่งเสริมภาคการเกษตร การสร้างงานในท้องถิ่นเพื่อลดการเคลื่อนย้ายคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามมานอกจากความเหลื่อมล้ำที่ลดลงแล้วยังจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของคนในประเทศ อันจะช่วยลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
 
 (โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)
 
1 ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า
 

ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า
อ่อนแอ
(%)
ปกติ
(%)
แข็งแกร่ง
(%)
ค่าดัชนี
 1) การบริโภคภาคเอกชน
30.4
60.9
8.7
39.13
79.29
 2) การลงทุนภาคเอกชน
57.4
36.8
5.9
24.26
71.01
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
7.4
69.1
23.5
58.09
65.22
 4) การส่งออกสินค้า
8.7
30.4
60.9
76.09
63.57
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
77.9
17.6
4.4
13.24
81.88
ดัชนีรวม
42.16
72.19
 
ค่าดัชนีเท่ากับ 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะปกติ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ เดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
ค่าดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะแข็งแกร่ง (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ดีขึ้น (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแอ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ แย่ลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
2. สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละส่วนต่อไปนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า
 
ส่งผลด้านลบ
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 61.4       วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 42.9       ปัญหาด้านการเมือง
 อันดับ 3 :         ร้อยละ 38.6       เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม
 
ไม่ส่งผลกระทบ(ทั้งด้านลบและด้านบวก)
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 60.0       อัตราเงินเฟ้อทั่วไป
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 58.6       อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
อันดับ 3 :       ร้อยละ 52.9       อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
อันดับ 4 :       ร้อยละ 51.4       ราคาน้ำมันโดยภาพรวม
 
ส่งผลด้านบวก
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 61.4       ความเชื่อมั่นผู้บริโภค
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 58.6       ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ
 อันดับ 3 :         ร้อยละ 50.0       การปรับค่าเงินหยวนของจีน
 
 3. ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปรับเปลี่ยนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน(ซึ่งเพิ่งมีการต่ออายุถึงสิ้นปี 53) มาเป็นการให้บริการสังคมฟรีระยะยาว
                           ร้อยละ   40.0                  ไม่เห็นด้วยในทุกโครงการ
ร้อยละ   51.4                 เห็นด้วย โดย
ร้อยละ 21.7        เห็นด้วยกับมาตรการรถเมล์ฟรี        
ร้อยละ 20.3        เห็นด้วยกับมาตรการรถไฟชั้น 3 ฟรี 
ร้อยละ 9.4          เห็นด้วยกับมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี
ร้อยละ   8.6                    ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
 
 
4 ข้อเสนอแนะประเด็นเศรษฐกิจต่อรัฐบาล
ข้อเสนอระยะสั้น(ภายใน 1 ปี)
อันดับ 1 รักษามาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน และทำการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ในส่วนนโยบายการเงินนั้นเสนอให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้อีกสักระยะก่อน นอกจากนี้ เสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อประชาชนที่เดือดร้อนจริงแต่ควรให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตมากกว่า
อันดับ 2 เร่งสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางด้านการเมือง จัดทำและดำเนินแผนปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง
อันดับ 3 กระตุ้นการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงการสร้างอาชีพสร้างงานในท้องถิ่น
 
ข้อเสนอระยะยาว(มากกว่า 1 ปี)
อันดับ 1 ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ การส่งเสริมภาคการเกษตร การสร้างงานในท้องถิ่นลดการเคลื่อนย้ายคนเข้าเมือง เป็นต้น ผลที่ตามมานอกจากความเหลื่อมล้ำที่ลดลงแล้วอำนาจซื้อของคนในประเทศจะเพิ่มขึ้น อันจะช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
อันดับ 2 พัฒนาศักยภาพของประเทศ ด้วยการพัฒนาการศึกษา พัฒนาคน ลดการคอร์รัปชันและพัฒนาปัจจัยด้านการเมืองไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดการแรงงานภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานต่างด้าว รวมถึงฐานข้อมูลแรงงาน
อันดับ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร เครือข่ายคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ พลังงานทดแทนรวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net