Skip to main content
sharethis

คปส.เผยนักจัดรายการถูกดำเนินคดีถึง 35 ราย วิทยุชุมชนเจอส่งทหารหลายร้อยเข้ายึดสถานีเหตุวิจารณ์การเมือง ด้านวิทยุชุมชนยังย้ำ “การชุมนุมทางการเมือง” เป็น “สิทธิ” ของประชาชน “หมอนิรันดร์” ชี้ธุรกิจการเมือง-เกมส์ชิงอำนาจ-เผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบาย อุปสรรค์ของวิทยุชุมชน

 
 
วันนี้ (14 ก.ค.53) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดสัมมนา “การปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ณ ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
คปส.เปิดข้อมูลรัฐใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไล่บี้ปิด-ขึ้นบัญชีดำ “วิทยุชุมชน” กว่าร้อยสถานี
 
นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แถลงผลการศึกษา กรณีการจับกุมดำเนินคดีและสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดทำโดยโครงการเฝ้าระวังการแทรกแซงวิทยุชุมชน (Community Radio Watch) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฮริค เบิร์ล ซึ่งทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน - 7 กรกฎาคม 2553 ว่า จากจำนวนวิทยุชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และได้รับสิทธิทดลองออกอากาศกว่า 6,625 แห่งทั่วประเทศ และอีกกว่า 1,000 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการออกใบอนุญาต ในช่วงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามีสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิด ภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จำนวน 26 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ยุติการออกอากาศ 6 แห่ง
 
นอกจากนั้น ยังปรากฏรายชื่อในข่ายว่ากระทำความผิด (ขึ้นบัญชีดำ) 84 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด และมีหัวหน้าสถานี กรรมการ และผู้จัดรายการถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีทั้งหมด 35 ราย โดยรูปแบบการเข้าไปปิดสถานีวิทยุในส่วนกลางจะเริ่มจากการออกหนังสือเตือนจากอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยแนบคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) 3 ครั้ง ขณะเดียวกัน รัฐบาล และ ศอฉ.จะเรียกแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชนและสถานีวิทยุชุมชนเข้าฟังสถานการณ์ โดยย้ำว่าการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่อต้านรัฐบาลจะมีผลกับการออกใบอนุญาต ทั้งยังให้เผยแพร่เนื้อหาของรัฐบาล 3 ครั้ง 
 
ส่วนวิธีการเข้าไปควบคุมแทรกแซงสถานีวิทยุชุมชนในระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเรียกผู้จัดการรายการสถานีวิทยุไปเซ็นสัญญาที่ทางจังหวัดจัดร่างขึ้นฝ่ายเดียวว่าจะไม่มีการเชื่อมสัญญาณใดๆ เข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เพียงเรื่องของการเมืองเท่านั้น หากรวมไปถึงข่าวด้านอื่นๆ ด้วย และให้ถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อีกทั้งให้เข้าร่วมเวทีชี้แจงการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
นายสุเทพกล่าวว่า การเก็บข้อมูลครั้งนี้มุ่งไปที่มิติทางการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งในสถานการณ์ความขัดแย่งที่ผ่านมาวิทยุชุมชนตกอยู่ในฐานช่องทางโฆษณาชวนเชื่อเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองของทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะสีใดสีหนึ่ง และบรรยากาศดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารที่อาจถูกจัดวางในฝั่งใดฝั่งหนึ่งของคู่ความขัดแย้ง เพราะตอนนี้วิทยุชุมชนยังไม่มีใบอนุญาตแม้แต่สถานีเดียว ทั้งนี้ ต้องตั้งคำถามว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าประชาชนปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้
 
“จากการเข้าไปแทรกแซงสถานีวิทยุและคำสั่งห้ามวิจารณ์การเมือง ทำให้สถานีวิทยุหลายแห่งต้องยุติการออกอากาศ รวมไปถึงการแขวนป้ายหน้าสถานีไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา” นายสุเทพกล่าว
 
นายสุเทพระบุด้วยว่า การเข้าปิดสถานีมีการนำกำลังทหารจำนวนตั้งแต่ 50-500 นาย เข้าดำเนินการเข้าไปยึดเครื่องส่งสัญญาณ สายส่ง อุปกรณ์การจัดรายการ ไมโครโฟน เทป รื้อถอนเสาอากาศ บางรายมีการยึดเครื่องปรับอากาศ และมอเตอร์ไซค์ด้วย หลายสถานีมีการใช้กำลังเข้าไปข่มขู่ อีกทั้งพบว่ามีวิทยุชุมชนประมาณ 5-7 ที่สถานีมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ โดยอาวุธที่ใช้มีทั้งปืนเอ็มสิบหก ปืนกล กระบอง โล่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นละเมิดสิทธิเสรีภาพ
 
“สิ่งที่พบจากการสั่งปิดสถานีตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ขาดหลักเกณฑ์การพิจารณาความผิดด้านเนื้อหาที่ชัดเจน มีเพียงกรอบกว้างๆ ที่กำหนดว่าเกินขีดความมั่นคง การเข้าปิดสถานีไม่มีขั้นตอน ไม่คำนึงถึงสิทธิการสื่อสารของประชาชน ปฏิบัติการรุนแรงต่อทรัพย์สินของวิทยุชุมชน และละเมิดสิทธิด้านอื่น ทั้งๆ ที่เนื้อหาที่ออกอากาศไม่พบความผิดชัดเจน” นายสุเทพกล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเอกสารที่เผยแพร่ประกอบการประชุม ในส่วนความคิดเห็นของผู้ฟังและผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชนมีการตั้งคำถามถึงการปิดทั้งสถานี ทำไมไม่ปิดเป็นรายการหากมีความผิดจริง เพราะยังมีรายการอื่นๆ ในแต่ละสถานีไม่ได้พูดแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว และแต่ละครั้งที่เข้าปิดสถานนีวิทยุไม่มีขั้นตอนที่เปิดเผยสู่สาธารณะ อีกทั้งระบุว่าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน และอาคารสถานที่ด้วย
 
 
วิทยุชุมชนยังย้ำ “การชุมนุมทางการเมือง” เป็น “สิทธิ” ของประชาชน
 
ด้านวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ แสดงความเห็นในการสัมมนาโต๊ะกลม “ชะตากรรมวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับกระแสการปฏิรูปสื่อ” ว่า การที่ในปัจจุบันวิทยุชุมชนมีจำนวนมากถึงกว่า กว่า 7,000 แห่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการเข้าถึงประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดกั้นการสื่อสารมายาวนาน เมื่อลุกขึ้นมาทำสื่อชุมชนจึงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ด้วยถ่อยคำภาษาในแบบชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง แต่คนส่วนหนึ่งยังติดเรื่องท่าทีและตัดสินวิทยุชุมชนเร็วเกินไปว่าไม่ควรทำสื่อ อีกทั้งในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาพบว่าสถานีวิทยุชุมชนหลายสถานีโดนปิด ขณะที่อีกหลายแห่งเซ็นเซอร์ตัวเองเรื่องการเมือง 
 
วิชาญ ยกตัวอย่างกรณีวิทยุชุมชนแปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาออกอากาศข้อมูลไม่เหมาะสม แต่เมื่อนำกำลังกว่า 200 นายไปลงพื้นที่ พบว่าไม่มีสิ่งที่ระบุถึงความผิด จึงเข้าจับกุมโดยยัดข้อหาครอบครองเครื่องส่งฯ ผิดกฎหมาย ให้ปิดสถานีและยึดเครื่องส่งฯ ซึ่งความจริงข้อหาดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับวิทยุชุมชนทั่วไปที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะต่างก็ยังไม่มีการรับรองตามกฎหมาย  
 
ในกรณีวิทยุชุมชนกับการเมือง วิชาญแสดงความเห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชน แต่ปัจจุบันหากใช้วิทยุชุมชนเป็นเรื่องเชิญชวนให้คนไปชุมนุมก็ถูกบอกว่าวิทยุชุมชนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เมื่อไปวิจารณ์ทางการเมืองก็ถูกชะลอสิทธิ์ ทั้งนี้ จะทำอย่างไรให้สื่อชุมุชนสามารถพูดและวิจารณ์ทางการเมืองได้ โดยไม่ถูกจับ จนทำให้สื่อชุมชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้นสื่อชุมชนกว่า 7,000 แห่งจะมีไว้เพื่ออะไร 
 
ส่วนเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย ออกตัวว่าเป็นนักจัดรายการท้องถิ่น ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่ซื้อเวลาจากวิทยุคลื่นหลักซึ่งได้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ จนเมื่อราวปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์เปิดให้วิทยุชุมชนมีการโฆษณาได้ ทั้งที่วิทยุท้องถิ่นที่ทำอยู่ซื้อเวลาด้วยเงินหลักแสน อีกทั้งยอมรับว่ามีการเสนอขายเครื่องส่งฯ จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเอง จึงได้เข้ามาทำวิทยุชุมชน จนทำให้เกิดความสับสนระหว่างทางกลุ่มกับวิทยุชุมชนตามหลักการเดิม อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายของการปฏิรูปคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดสรรใหม่ ทางกลุ่มซึ่งอยู่ในส่วนวิทยุธุรกิจขนาดเล็กก็เฝ้ารอพื้นที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน โดยพยายามเข้ามาเกาะเกี่ยวในขบวนของการปฏิรูปสื่อ เพื่อขอที่ยืนให้กับวิทยุท้องถิ่นด้วย 
 
ต่อกรณี ศอฉ.ขึ้นบัญชีดำวิทยุชุมชน ในข้อหาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เจริญยกตัวอย่างกรณีที่มีประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากหน่วยงานรัฐ แต่หากประกาศผ่านวิทยุกลับถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งในเรื่องนี้ควรประกาศแยกให้ชัดไม่เช่นนั้นจะทำให้วิทยุโดยทั่วไปถูกขึ้นบัญชีทั้งที่ไม่ได้มีการแสดงออกทางการเมืองในฝักฝ่ายใด
 
“อยากให้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และแบ่งเครื่องมือทางการเมืองกับการเรียกร้องจากผลกระทบทางนโยบายให้ชัดเจน” เจริญกล่าวถึงข้อเสนอ
 
 
ชี้ธุรกิจการเมือง-เกมส์ชิงอำนาจ-เผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบาย อุปสรรค์ของวิทยุชุมชน
 
นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าจากประสบการณ์ของวิทยุชุมชนที่ผ่านการทุบและทำลายโดยระบบทุนและการเมือง ทำให้มองเห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเสรีที่ไร้ขอบเขตที่ทำให้เกิดการยึดและผูกขาดสื่อ ถึงวันนี้ที่เผชิญการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อโดยอำนาจเผด็จการที่แฝงมากับกฎหมายและนโยบาย ถือเป็นช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสที่จะสังคายนาปัญหาจากทุน ธุรกิจการเมืองและอำนาจเผด็จการที่มาทำร้ายเรา
 
นพ.นิรันดร์ แสดงความเห็นต่อมาว่า วิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปิดให้รัฐบาลใช้อำนาจแบบเหมาโหล ครอบจักรวาล แต่ระบุไว้ว่าต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คับขันที่บ่งชี้ถึงภาวการณ์สงคราม โดยชี้จำกัดพื้นที่ เวลา และการกระทำด้วย เหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องความชอบธรรมของการที่จะอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการที่จะมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยเฉพาะของวิทยุชุมชน ที่ตามมาตรา 45-46 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุรับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ ต้องยืนหลักให้ชัดเจน และเมื่อสถานการเข้าสภาวะสู่ปกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรยกเลิก
 
“เราต้องออกมาส่งเสียงและแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ากฎหมายใดก็ตามไม่ควรอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่ารัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว ก็จะสามารถยึดอำนาจในการที่จะใช้กฎหมายของอำนาจในการปฏิวัติรัฐประหารได้ แม้จะเป็นรัฐประหารเงียบก็ตาม” นพ.นิรันดร์กล่าว
 
ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแบบครอบจักรวาล นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงการเดินทางไปลงพื้นที่คุมขังผู้ต้องหาในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน พบการใช้กฎหมายไปละเมิดและทำร้ายคนโดยไม่สมควร ยกตัวอย่างกรณีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดโดยไม่มีข้อหา ซึ่งหากมองเรื่องเนื้อหา ควรระบุว่าเป็นรายการอะไร ใครเป็นคนทำ และมีข้อความอะไรที่ผ่าฝืนเรื่องการกระจายเสียง ไม่ควรเหมารวมแล้วปิดทั้งสถานีซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้กฎหมายในการปราบปรามและทำลายสิทธิของสื่อสารมวลชน ทั้งนี้ ในส่วนพฤติกรรมที่ส่อความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิ เป็นอนาธิปไตย หรือกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล สามารถใช้กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ไปดำเนินการได้ 
 
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะง่ายในการจัดการซึ่งส่งผลให้รัฐเสพติดในการใช้อำนาจ และรัฐเองมีแนวโน้มการใช้อำนาจที่เกินเลยอยู่แล้ว จึงต้องมีคนตรวจสอบ และสังคมไม่ควรนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมถึงคนที่ทำงานในส่วนภาคประชาชนเองควรลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการปิดสถานีวิทยุชุมชนเป็นการทำลายนโยบายในการปรองดอง และกระแสในเรื่องการปฏิรูป รวมทั้งการปฏิรูปสื่อด้วย เพราะการปฏิรูปสื่อต้องเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่พิเศษ ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้ง แตกต่าง และมีความแตกแยกในความคิดทางการเมือง เพราะฉะนั้นการปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้สิ่งที่ครอบจักรวาล และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนี้มันทำลายจิตสำนึกร่วมในการมาปฏิรูปประเทศไทย เพราะทำให้เห็นลักษณะของความเป็นฝักฝ่ายและการแบ่งแยกมากขึ้น คนที่มีความคิดต่างทางการเมือง และพยายามแสดงออกทางความคิดแต่กลับถูกข้อหาและถูกปิดสถานี จุดนี้จะทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับที่ทำให้คนต่อต้านรัฐมากขึ้น
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อมาถึงอุปสรรค์ 3 ด้านของวิทยุชุมชน ที่ต้องทำให้เกิดรูปธรรมในการจัดการ คือ 1.ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากกรอบและอำนาจที่เข้ามาผูกขาดของระบบธุรกิจการเมือง 2.ทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อวิทยุชุมชนหลุดพ้นเกมส์แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ของกลุ่มการเมือง และ 3.เรากำลังเผชิญกับอำนาจเผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สร้างความชอบธรรมว่าเป็นกฎหมายที่จะต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนตัวยืนยันว่าไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะละเมิดสื่อของภาคประชาชน
 
 
แนะ “ปฏิรูปสื่อ” ต้องแก้ 4 ฝ่าย ทั้งกฎหมาย รัฐ สื่อ และผู้รับสื่อ
 
สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า มี 2 มิติ คือในมิติโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อที่จะกระจายสู่ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของรัฐได้ออกกฎหมายจำนวนมากเพื่อมารองรับในส่วนนี้ แต่อีกด้านที่ถูกละเลย คือมิติการประกันสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งในส่วนวิทยุชุมชน แม้เป็นสื่อที่มีมานานแต่ถือเป็นสื่อใหม่ในแง่การเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของ 
 
ต่อปัญหาการปิดกันสื่อ สาวตรี กล่าวถึงปัจจัยแรกในเรื่องกฎหมาย โดยกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงซึ่งควบคุมสื่อมีมากทั้งในสภาวะสังคมปกติและไม่ปกติ กฎหมายสื่อของไทยเกือบทุกฉบับมีบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหาสื่อทั้งสิ้น แต่ตัวอย่างในเยอรมัน มีกฎหมายควบคุมสื่อแต่คุมในเรื่องแหล่งทุน การนำเสนอที่หลากหลาย และจริยธรรมสื่อ แต่ไม่คุมเรื่องเนื้อหา การควบคุมเนื้อหาจะระบุอยู่ในกฎหมายอาญาอื่นๆ อย่างชัดเจน ส่วนเนื้อหาที่ห้ามเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น การอนาจารเด็ก การหมิ่นประมาทตามที่ข้อกฎหมายบัญญัติ และการพนันที่ผิดกฎหมาย ไม่มีกฎหมายประเทศไหนที่ระบุถึงเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งความมั่นคงเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามถึงความไม่มั่นคนในหมู่ประชาชน เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้
 
สาวตรี กล่าวด้วยว่ากฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ ควรคงให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิงเมื่อมีปัญหา สังคม การเมือง ทั้งนี้ ในมาตรา 9 (3) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเงื่อนไขในการปิดกั้นสื่ออยู่ โดยระบุว่า “ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร” ซึ่งหากใครก็ตามที่จะปิดกันสื่อต้องอธิบายได้ว่าเนื้อหาตรงไหนผิดตามเงื่อนไขข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันสื่อถูกปิดทั้งหมด จึงถือเป็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย 
 
สาวตรี กล่าวต่อมาว่า ปัญหาผู้บังคับใช้กฎหมายคือฝ่ายรัฐ “ไม่ชัดเจน อธิบายไม่ได้” และ “ใช้อำนาจแล้วไม่มีใครตรวจสอบการใช้อำนาจของเขา” ทั้งนี้ที่ผ่านมามีตัวอย่างของสื่อเว็บไซต์ที่ฟ้อง ศอฉ.ใช้อำนาจปิดเว็บไซต์โดยขัดต่อกฎหมาย ซึ่งศาลตัดสินโดยระบุว่าไม่มีอำนาจเพราะกฎหมายได้ให้อำนาจรัฐในการใช้อำนาจตรงนี้แล้ว ทั้งนี้ แม้มีการให้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กฎหมายมีการให้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจเสมอไม่ว่าสถานการณ์ปกติหรือผิดปกติ นอกจากนี้ สาวตรี ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งเป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งของการใช้อำนาจของรัฐ
 
อย่างไรก็ตามสื่อเองก็มีปัญหา เช่น สื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางแต่แอบเลือกข้าง ในส่วนสื่อที่เลือกข้าง คนสามารถเลือกบริโภคได้ ปัญหาสื่อบิดเบือน และปัญหาการแทรกแซงสื่อ ซึ่งสื่อที่ถูกแทรกแซงไม่มีความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อต่อสู่กับอำนาจที่แทรกแซงเพราะการสงวนท่าที ทำให้สื่อที่โดนเล่นงานต้องสู้เพียงลำพัง ทั้งนี้ในการรวมตัวหรือร่วมผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่กำลังจะมีขึ้นต่อไป สาวตรี แนะว่าอย่าแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง และอย่าใช้ระบบต่างตอบแทน เพราะผลคือจะทำให้เกิดการสอดไส้ข้อกฎหมายบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ 
 
สาวตรี กล่าวด้วยว่าคนรับสื่อก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการปิดกันสื่อ ทั้งนี้ คนรับสื่อเองควรรับสื่อทุกด้านเพื่อชั่งน้ำหนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคนรับสื่อทนทานต่อการรับฟังความเห็นต่างน้อยมาก ไม่พร้อมเปิดรับ เนื่องจากเติบโตมาในสังคมที่มีการปิดกันและการเซ็นต์เซอร์ของรัฐ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อจำเป็นที่จะต้องแก้ทั้ง 4 ฝ่าย คือ กฎหมาย รัฐ สื่อ และผู้รับสื่อ การปฏิรูปจึงจะมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลจริง
 
 
“ความมั่นคง” อยู่เหนือ “สิทธิเสรีภาพ” ปัญหาทางวัฒนธรรมคู่สังคมไทย แม้ไม่มีกฎหมายความมั่นคง
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล แสดงความเห็นต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะยังคงอยู่กับสังคมไทยอีกนาน เนื่องจากเป็นการให้อำนาจคนหนุนรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ตรวจสอบไม่ได้ และไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ซึ่งการมีอำนาจเช่นนี้ในมือทำให้การยกเลิกเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่าสังคมจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ไปอีกนาน จากตัวอย่างเช่นในฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มากอส ปกครองประเทศภายใต้กฎหมายความมั่นคง ทำให้เขาสามารถมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งยาวนานหลายสิบปี 
 
ศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดวิทยุชุมชน ถือเป็นการการละเมิดและจำกัดสิทธิ โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้จากการใช้อำนาจตามหน้าที่โดยไม่มีความผิด เปิดให้วินิจฉัยอย่างกว้างขวาง และไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือให้ตรวจสอบโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันเอง อีกทั้งไม่มีมาตรการลงโทษย้อนหลัง สุดท้ายกฎหมายจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ชอบธรรมในตัวมันเอง เพราะถูกจัดทำขึ้นโดยบุคคลเพียงบางกลุ่ม และเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิได้มาก 
 
ศิโรตม์ กล่าวต่อมาถึงมุมมองของรัฐต่อประชาชนที่สะท้อนผ่านการดำเนินการของรัฐต่อวิทยุชุมชนว่า รัฐมีแนวโน้มมองชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง คือต้องอยูภายใต้การจำกัดของรัฐ ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยรัฐมองชุมชนว่าควรพัฒนาโดยเอารายได้เข้าสู่ส่วนกลาง ดังนั้นวิทยุชุมชนก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด โดยที่รัฐไม่ได้มองว่าสิทธิเสรีภาพเป็นพื้นที่ที่รัฐจะมาจัดการไม่ได้ หากเกิดความขัดแย้ง ความมั่นคงของรัฐจึงสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพเสมอ และรัฐจะหาวิธีให้คนอยู่ในอำนาจการควบคุมตลอดเวลา แต่คนมักไม่รู้สึก เพราะอยู่ในสังคมที่เชื่อว่าส่วนกลางต้องควบคุมชุมชนเสมอมา โดยไม่ได้คิดว่าชุมชนต้องอิสระจากรัฐส่วนกลาง และสิทธิเสรีภาพต้องอยู่เหนือความมั่นคง ตรงนี้ถือเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ว่ากฎหมายความมั่นคงอยู่หรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงมีอยู่
 
ส่วนการพูดว่าวิทยุชุมชนไม่ควรแสดงฝักฝ่ายทางการเมืองนั้น สื่อความหมายถึงการห้ามแสดงฝักใฝ่ในฝั่งที่รัฐไม่ต้องการ โดยจะถูกรัฐมองเป็นปัญหา แต่หากแสดงฝักฝ่ายทางการเมืองในฝั่งที่รัฐต้องการสามารถทำได้ นั่นคือฝักฝ่ายทางการเมืองมีได้แต่ต้องมีในกรอบที่รัฐต้องการ คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือรัฐ และส่งผลให้ข้อจำกัดนี้กลายเป็นเครื่องมือที่รัฐจะใช้ปิดวิทยุชุมชนได้ 
 
“ถึงจุดหนึ่งคงต้องคิดแล้วว่าการที่วิทยุชุมชนจะมีฝักฝ่ายทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ต้องเชื่อว่าคนในชุมชนหรือคนในสังคมมีเสรีภาพ มีความสามารถที่จะเลือกเองได้ว่าจะมีความฝักใฝ่ทางการเมืองแบบไหน เพราะถ้าเริ่มต้นพูดเมื่อไหร่ว่าวิทยุชุมชนควรปราศจากฝักฝ่ายทางการเมือง ในที่สุดคนที่จะมาใช้อำนาจนี้แทนพวกเราก็คือรัฐ ซึ่งรัฐก็จะบอกว่าคนนั้นคนนี้มีฝักฝ่าย และคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐก็จะถูกละเมิดตลอดเวลา” ศิโรตม์ กล่าว
 
ศิโรตม์ บอกต่อมาว่า คนในสังคมควรต้องมองวิทยุชุมชนในฐานะที่เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นอิสระจากรัฐ เป็นอิสระจากส่วนกลางให้มากขึ้น ดังเช่นการกำเนิดของวิทยุชุมชนในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีหลักการที่ว่าชุมชนเป็นพื้นที่ของประชาสังคม เป็นพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพ การจำกัดสิทธิควรมีให้น้อยที่สุด และหากจะมีการจำกัดควรมีในเงื่อนไขน้อยที่สุด และต้องชัดเจน
 
“ปัญหาใหญ่นั่นก็คือ เราไม่ได้อยู่ในสังคมซึ่งรัฐพร้อมจะให้วิทยุชุมชน หรือสิทธิเสรีภาพ เป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ ได้จริงๆ เราอยู่ในสังคมซึ่งรัฐพร้อมจะแทรกแซงได้ตลอดเวลา และคนในสังคมโดยส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าการแทรกแซงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติด้วย” ศิโรตม์กล่าวในตอนท้าย   
 
ขณะที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน และประธาน คปส.กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไปและรัฐไม่มีแนวทางในการจัดการ ซึ่งในส่วนนี้เป็นภาระกิจของทุกคนในการจัดการภูมิทัศน์ใหม่นี้ร่วมกัน โดยการจับมือไปด้วยกันว่าจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร หากไม่ทำ ศอฉ.อาจเข้ามาเป็นคนจัดการแทน ซึ่งการจัดการในแบบ ศอฉ.โดยการปิดแบบเหวี่ยงแหไม่ใช่ทางออกของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อเลย 
 
“ในสังคมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ทางออกทางอื่น เพื่อไปสู่การจัดการสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน”  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net