Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน ต.สะเอียบ กว่า 1,000 คน เดินขบวนไปยังศาลากลาง จ.แพร่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงกับชาวบ้าน กรณีออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานสนับสนุนโครงการเขื่อนฯ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.53 ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 1,000 คน เดินขบวนไปยังศาลากลาง จ.แพร่ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ คัดค้านการผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมเรียกร้องให้นายสมชัยชี้แจงกับชาวบ้าน กรณีการออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยรวบรวมรายชื่อ อีกทั้งยังมีการระดมคนให้ออกมาเรียกร้องการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วย

สืบเนื่องจาก วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เรียกประชุมด่วนฝ่ายการศึกษาจังหวัดแพร่ เพื่อขอให้มีการล่ารายชื่อนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาทั่วทั้งจังหวัดเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมมีหนังสือเอกสารด่วนที่สุดไปยังโรงเรียนทั้งหมด โดยระบุให้สถานศึกษาต่างๆ ให้ความร่วมมือกับทางจังหวัด 4 ข้อ คือ 1.ให้รณรงค์ให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก่ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษา 2.ให้ครู นักเรียน และบุคลากรดังกล่าว ร่วมมือกันลงชื่อสนับการสร้างเขื่อน 3.นำรายชื่อทั้งหมดส่งผู้ว่าราชการในเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม 4.นำครู นักเรียน และบุคลากร มาร่วมชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนในวันที่ 16 ก.ค.ที่หน้าศาลากลาง 
 
หลังจากนั้นพบว่าได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 15 ก.ค.53 เรื่องสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของจังหวัดแพร่ ถึงหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยให้หน่วยงานรวบรวมรายชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เลขประจำตัวประชาชน ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ทุกคนเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางเพื่อเรียกร้องแก่งเสือเต้นในวันที่ 16 ก.ค.ด้วย 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินขบวนของชาวบ้านเริ่มต้นจากตลาดในหมู่บ้านตั่งแต่ช่วงเช้าและมีการไปจัดขบวนกันอีกครั้งที่สนามกีฬา อ.เมือง จ.แพร่ ออกก่อนเดินทางไปยังศาลากลาง ในเวลา 8.00 น. โดยตลอดการเดินทางได้มีการปราศรัยคัดค้านการก่อสร้างโครงการและโจมตีการกระทำของผู้ว่าฯ กระทั่งไปถึงจุดหมายชาวบ้านสะเอียบ ถูกกันจากตำรวจห้ามเข้าบริเวณศาลากลางและห้ามตั้งเวทีหน้าศาลา แต่มีการหลังเจรจาชาวบ้านยังมีการชุมนุมและปราศรัยกันอยู่บริเวณหน้าศาลากลาง กดดันให้ผู้ว่าออกมาชี้แจงพร้อมรับหนังสือการคัดค้านโครงการดังกล่าว
 
จนกระทั่งเวลาประมาณบ่ายสามโมง ทางจังหวัดอนุญาตให้ตัวแทนชาวบ้านบางส่วนขึ้นไปพูดคุยและยื่นข้อเสนอต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น นายสมชัยได้ลงมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านสะเอียบด้วยตนเองแต่ไม่ได้กล่าวชี้แจงหรือให้ข้อมูลใดๆ แก่ชาวบ้านที่มารวมตัวกัน
 
ทั้งนี้ นอกจากหนังสือที่มอบต่อนายสมชัยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และหนังสื่อต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยังได้ออกแถลงการณ์แฉผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เกณฑ์ราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา ชุมนุมหน้าศาลากลางนับหมื่น ลงชื่อหนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น มีรายละเอียดดังนี้
 

แถลงการณ์คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
แฉผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เกณฑ์ราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา
ชุมนุมหน้าศาลากลางนับหมื่น ลงชื่อหนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
ตามที่หนังสือด่วนที่สุด ที่ พร 0017.1 / ว 2558 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เรื่อง สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ของจังหวัดแพร่ ถึงหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ให้หน่วยงานรวบรวมรายชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เลขประจำตัวประชาชน ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว และให้ทุกคนเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 อีกทั้งยังมีหนังสือด่วนที่สุด ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ ที่ ศธ 04109 / ว 4057 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน โดยเนื้อหากล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มีบัญชาให้ส่วนราชการ หน่วยงาน สถานศึกษา รวบรวมรายชื่อครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรในสถานการศึกษา ส่งมอบรายชื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในวันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด
 
คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เป็นการสนองตอบต่อความต้องการของนักการเมืองบางคนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเกณฑ์คนมาชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในครั้งนี้ เป็นความอัปยศ สร้างความด่างพร้อยให้กับคนเมืองแพร่โดยรวม
 
คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอประณามความอัปยศที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของผู้ว่าฯ  color:black;">เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของนักการเมืองบางคนในครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับตัวกลับใจ ยุติการดำเนินการดังกล่าว หันมาร่วมมือกับประชาชนในการอนุรักษ์ปกป้องรักษาป่าสักทอง รวมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
15 กรกฎาคม 2553 หน้าศาลากลาง จังหวัดแพร่

..................................................................................................

 
วันที่ 15 กรกฎาคม 2553
 
เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ได้มีแนวคิดในการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ขณะที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนทุกเขื่อนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งนโยบายของจังหวัดแพร่กำลังเร่งสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทดแทนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ที่ได้ประโยชน์จริงในพื้นที่ อีกทั้งไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการใช้สถานการณ์น้ำแล้งมาเป็นข้ออ้างและเร่งผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวความคิดที่ผิดพลาดและควรจะสรุปบทเรียนจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้

1.การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ
2.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
3.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ การทำแก้มลิง
4.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
5.การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพตามที่โครงการกล่าวอ้างไว้
6.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
7.การพัฒนาระบบประปา ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
8.ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมามีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ

1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง
2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ดังนั้นคณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของชุมชนและคนทั้งชาติ
2.การดำเนินการ โครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
3.ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า
เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ เราขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด

ขอแสดงความนับถือ

(นายอุดม ศรีคำภา)
ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

(นายชุม สะเอียบคง) 
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ

(นายเส็ง ขวัญยืน)
กำนันตำบลสะเอียบ

(นายอำนวย สะเอียบคง) 
ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนแก้ว

(นายอ้วน ขันทะบุตร)
ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เต้น

(นางสุดารัตน์ ไชยมงคล)
ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย

(น.ส.พจนีย์ ขวัญยืน)
ประธานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม 

........................................................................................................................................

 
วันที่ 15 กรกฎาคม 2553
 
เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ยุติการล่ารายชื่อและยุติการเกณฑ์ประชาชนมาชุมนุมสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสมชัย หทยะตันติ

ตามที่ท่านได้มีบัญชาให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน พนักงาน ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ ได้เข้าร่วมชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และให้รวบรวมรายชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว ไปมอบให้ทางจังหวัด ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ อีกทั้งยังมีบัญชาไปยังสถานศึกษา และโรงเรียนทุกโรงเรียน ให้รวบรวมรายชื่อ ครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษาในการสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น

คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลสะเอียบ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งกลุ่มเยาวชนตะกอนยม เห็นว่า การกระทำของท่านเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเด็กทั้งเด็กจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และเด็กในสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ได้เคยเกิดขึ้นขึ้นมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในช่วงที่ปัญหาความขัดแย้งเนื่องจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ระหว่าง รัฐ นักการเมืองที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นั้นได้สร้างความกดดันให้กับเด็กเยาวชนลูกหลานชาวสะเอียบที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ในตัวอำเภอสองและเมืองแพร่ เนื่องจากปัญหาการเลือกปฏิบัติของครูอาจารย์ และการพูดจาเสียดสีล้อเลียนจากครูอาจารย์และเพื่อนนักเรียนในกรณีปัญหาดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังผลกระทบที่รุนแรงทางด้านจิตใจและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของลูกหลานชาวสะเอียบเป็นอย่างมากถึงเพียงนั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้นั้น เป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ และใช้อำนาจหน้าที่ของผู้เกี่ยวทั้งหมด สั่งการให้มีการลงรายมือชื่อสนับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น ยิ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อจิตใจของเด็กลูกหลานชาวสะเอียบ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดแพร่มากยิ่งกว่าในอดีต และการชี้นำหรือชักจูงสถานศึกษาให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวที่กำลังเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และภาครัฐนั้นก็นับว่าผิดต่อพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสถานศึกษาอย่างชัดเจนด้วย 

นอกจากนี้ยังได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชน ทั้งที่เป็นที่ประจักษ์ด้วยเหตุด้วยผลแล้วว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน รัฐไม่ควรให้การสนับสนุน เป็นโครงการที่ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นยังเป็นพื้นที่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นปัญหานานับประการจะตามมา

พวกเราจึงขอให้ท่านยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย และแสวงหาทางออกอื่นๆ ในการพัฒนาลุ่มน้ำยมแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองสืบต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(นายอุดม ศรีคำภา)
ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

(นายชุม สะเอียบคง) 
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ

(นายเส็ง ขวัญยืน)
กำนันตำบลสะเอียบ

(นายอำนวย สะเอียบคง) 
ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนแก้ว

(นายอ้วน ขันทะบุตร)
ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เต้น

(นางสุดารัตน์ ไชยมงคล)
ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย

(น.ส.พจนีย์ ขวัญยืน)
ประธานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม

...................................................................................

 
 
ทั้งนี้ แนวความคิดก่อสร้างโครงการ "เขื่อนแก่งเสือเต้น " ในพื้นที่ อ.สอง จ.แพร่ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 โดยกรมชลประทาน ด้วยเหตุผลเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝน โดยเบื้องต้น จะสร้างเป็นเขื่อนหินถมคอนกรีต ตั้งอยู่ในเขต อ.สอง เหนือจุดบรรจบแม่น้ำยมและแม่น้ำงาวขึ้นไปทางเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร หรือห่างจาก อ.เมืองแพร่ ไปทางเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร งบประมาณ ณ ปี 2541 คือ 8,280.82 ล้านบาท
 
หลังนำการเสนอโครงการฯ มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นความศูนย์เสียของระบบนิเวศวิทยา เนื่องจากพื้นที่ป่าสักทองผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศ และป่าไม้เบญจพรรณกว่า 30,000 ไร่ จะถูกน้ำท่วม รวมทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองก็จะได้รับผลกระทบ 
 
สำหรับชาวบ้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการที่หลายสถาบันได้เคยมีการศึกษาทั้งในและนอกประเทศมาแล้ว ซึ่งระบุถึงความไม่เหมาะสมของโครงการทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และนิเวศวิทยา นอกจากนี้ชาวบ้านสะเอียบ จ.แพร่ ได้ปกป้องผืนป่าสักทองมากว่า 20 ปี จนกระทั่งรัฐบาลสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติ ครม. 29 เม.ย.2540 ให้ชะลอโครงการฯ ไว้ จนล่าสุดรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้พยายามปลุกกระแสการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยอ้างสถานการณ์ความแห้งแล้งและน้ำท่วมในลุ่มน้ำยม และใช้วิธีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องการสร้างเขื่อน
 
 
เอกสารด่วนที่สุดที่ออกโดยจังหวัดแพร่
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net