รายงาน: “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” แห่งวัดพระบาทน้ำพุ: พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา?

ถ้าพูดถึงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ คน (ส่วนใหญ่) ในสังคมคงหนีไม่พ้นที่จะคิดถึง “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์มายาวนานหลายสิบปี ซึ่งนอกจากจะดูแลผู้ป่วยฯ แล้ว วัดพระบาทน้ำพุยังเป็นแหล่งที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้เรื่องเอดส์อีกด้วย

“พิพิธภัณฑ์ชีวิต” สถานที่จัดแสดงศพถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้ “ ความรู้” ของวัดแห่งนี้

“พิพิธภัณฑ์ชีวิต” คือส่วนแสดงศพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยนำร่างของผู้ตายมาแสดง พร้อมบอกประวัติและรูปถ่ายว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำอาชีพอะไร และติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้อย่างไร ทั้งนี้ศพที่นำมาแสดงจะได้รับการเซ็นยินยอมจากเจ้าของร่างเพื่อมอบให้โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ มูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุก่อนหน้านี้แล้ว


บริเวณด้านหน้าของ “พิพิธภัณฑ์ชีวิต”

การนำเสนอของ “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” ( Life museum ) นี่เอง ที่ทำให้คนที่ทำงานเรื่องเอดส์จำนวนหนึ่งรวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา ว่าการกระทำดังกล่าวของวัดพระบาทน้ำพุขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่แม้ผู้ป่วยจะได้ทำหนังสือยินยอมอุทิศร่างกายเพื่อใช้ในการศึกษา แต่ผู้รับบริจาคจะต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตายและครอบครัว ซึ่งการนำร่างกายที่ไม่มีชีวิต โดยไม่มีอาภรณ์ปกปิดมาแสดง พร้อมเปิดเผยประวัติส่วนตัวเช่นนี้เป็น “การประจาน” ผู้ตายมากกว่าที่จะให้ความรู้ เป็นการตอกย้ำความคิด ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าการติดเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม “ไม่ดี” บางกลุ่มเท่านั้น เช่น พนักงานบริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด รวมถึงการเผยแพร่ดังกล่าวยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เกิดการรังเกียจ ไม่ยอมรับ ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบากมากขึ้น


มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์และเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน
ภาพจาก 
www.nhrc.or.th

จากกรณีข้างต้น ทำให้คณะกรรมการสิทธิฯ จัดเสวนาเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีพิพิธภัณฑ์ชีวิตของวัดพระบาทน้ำพุขึ้น โดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


การเสวนาเพื่อหาทางออก กรณีวัดพระบาทน้ำพุ

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ให้ความเห็นว่า การจัดแสดงศพนั้นต้องดูว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ และควรอยู่ภายใต้เงื่อนไข หรือสถานที่ใด อย่างกรณีของต่างประเทศที่มีการนำเสนอนิทรรศการ “ Body Worlds ” (การจัดแสดงศพต่อสาธารณชน) จะมีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลของศพ และมุ่งนำเสนอด้านกายวิภาคเป็นหลัก

“หากผมต้องการนำเสนอคนเป็นโรคจิต ซึ่งไม่แสดงออกทางกายก็ทำไม่ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการบริจาคศพต้องชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร หรือการบอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น อาชีพขายบริการทางเพศ หรือสถานะการเจ็บป่วยที่ไม่เห็นจากศพ แทนที่คนมาชมจะได้รับความรู้ แต่เขาจะถูกเบี่ยงเบนประเด็นเหล่านั้นว่าคนนี้ป่วยด้วยโรคอะไร คนนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร ตัวความรู้ที่อยากเผยแพร่อาจไม่ถึงเป้าหมาย”

ขณะที่ แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในมุมของกฎหมายนั้น การล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลต้องบอกได้ว่าทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อะไร ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ โดยหลักใหญ่ๆ คือการจะทำอะไรกับมนุษย์ต้องทำด้วยความยินยอม ซึ่งต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยในต่างประเทศจะหลีกเลี่ยงการให้แพทย์เจ้าของไข้ไปขอความยินยอมจากคนไข้ เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ผู้อำนวยการ สบท. ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าบอกว่าเรื่องการแสดงศพทำเพื่อการศึกษาก็ต้องดูว่าใครบ้างที่จะสามารถรับศพได้ แล้วให้การศึกษาแก่ใคร ควรจะมีขอบเขตหรือไม่ เพราะศพเป็นสิ่งที่มีความแปลก หรือมีความพิเศษ ไม่ใช่สิ่งของธรรมดา อาจต้องมาพูดคุยกันว่าใครบ้างที่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับบริจาค ไม่ใช่นิติบุคคลธรรมดาก็บริจาคกันไปมาได้

“ประเทศเราจะมีระบบกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจในการบอกว่าควรหรือไม่ควร สมมติเราจะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งแสดงศพได้ เกิดองค์กรอื่นๆ เห็นว่าแสดงได้ เลยแสดงด้วย อย่างนี้มันสมควรหรือไม่ อย่างไร ต้องดูว่ามันมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ใช่เรื่องเสรีภาพแน่นอน แต่ต้องมีคนมาดูแล และต้องใช้เกณฑ์มาตัดสิน เพื่อคนจะได้เข้าใจตรงกัน”

กรณีปัญหาของ “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” ไม่ได้มีเพียงแค่มุมของกฎหมาย หรือทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในด้านของการเป็น “พิพิธภัณฑ์” ก็ต้องมีการกำกับดูแลด้วยธรรมนูญพิพิธภัณฑ์ อย่างที่ สมลักษณ์ เจริญพจน์ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ว่า สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติมีธรรมนูญพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องคำนึงถึง Collection โดยพิพิธภัณฑ์ควรมีการทำวิจัยว่า Collection ที่ได้มา สร้างความรู้อะไรให้กับคนชม

“ในอดีตการตั้งพิพิธภัณฑ์ต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร แต่เนื่องจากตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ เลยเปลี่ยนให้เป็นการแจ้งแทนการขออนุญาต”

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของคนที่ทำงานด้านเอดส์อย่าง อนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตรองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สะท้อนว่า เขาไม่ต้องการให้เห็นภาพว่านี่คือผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นผู้หญิงขายบริการ และเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ เพราะการทำเช่นนั้นไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่ทำให้คนกลัว เกลียด และทำให้สังคมแบ่งแยก

“การรณรงค์แบบนี้ไม่ได้สร้างความตระหนักในการป้องกันการติดเอชไอวีของคนที่เข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ทั้งที่นวัตกรรมการรักษาในวันนี้ แพทย์มีการรักษาภาวะโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือภาวะเอดส์ มียาต้านไวรัสที่กดเชื้อไวรัสให้คนกลับมามีสุขภาพแข็งแรง ผมอยากให้เห็นศักยภาพของคน เพราะทุกคนมีคุณค่าศักดิ์ศรีของตัวเอง

“การที่จะเดินดูผู้ป่วยเอดส์ที่เสียชีวิต แล้วทำให้ผู้ชมรู้จักตัวเอง มีความตระหนักในการป้องกันตัวเอง ขอตั้งคำถามว่าใช้อะไรไปเป็นการตัดสินว่าเขาเรียนรู้แล้วทำให้ตัวเองปลอดภัยจากเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ถ้าในเมื่อวันนี้การแพร่ระบาดของเอชไอวีคือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งกระบวนการของสังคมไทย ไม่เรียนรู้และไม่รู้ว่าปัจจัยเสี่ยงของตัวเองอยู่ตรงไหน มันถึงเกิดการระบาด ตรงนี้จะแก้ไขจัดการอย่างไร”

อดีตรองประธานเครือข่ายฯ ยังให้ความเห็นต่อการขอความยินยอมเพื่อบริจาคร่างกายว่า แม้จะมีการเซ็นชื่อเพื่อขอความยินยอม แต่คนที่ไปอยู่ที่วัดเหมือนกับไปพึ่งพิง การเซ็นยินยอมอาจไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ

“ถ้าหมอไปขอการยินยอมจากคนไข้ มันมีบางอย่าง มีความเหนือบางอย่างที่ทำให้คนไข้ต้องยอม ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่มีที่ไป จำเป็นต้องพึ่งพิงวัด ทางเลือกเขาก็ไม่มีเช่นกัน ซึ่งมันไม่ใช่กระบวนการที่เรายอมรับได้” อนันต์กล่าว

ด้าน พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญฺ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ที่ปรึกษามูลนิธิธรรมรักษ์ อธิบายว่า วัดพระบาทน้ำพุมีการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ วัด และมูลนิธิธรรมรักษ์ มีคณะกรรมการบริหาร โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นประธานบริหารโครงการ และพระอลงกตเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน มูลนิธิฯ มีหน้าที่ดูแลโครงการต่างๆ ที่ทางวัดคิดทำขึ้นมา และหนึ่งในโครงการนั้นก็มีโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ ซึ่งเป็นส่วนที่ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ เด็กที่ติดเชื้อฯ เด็กกำพร้า คนชรา รวมถึงผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ

“เรื่องพิพิธภัณฑ์ อาตมภาพไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา เดิมทีมันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ เขาใช้ชื่อเป็นศาลามรณานุสติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยผู้จัดการของโครงการฯ ที่อยู่ภายใต้มูลนิธิฯ อาตมภาพไม่เคยบอกให้ตั้งพิพิธภัณฑ์ แต่เห็นด้วยกับการที่มีศาลามรณานุสติ เพราะผู้ป่วยในสมัยนั้นที่นอกจากสวดมนต์ทำวัตรแล้ว ก็ยังได้ทำมรณานุสติกรรมฐาน ทำให้คนเกิดความรู้ และความรู้สึก รู้ถึงสัจธรรมความเป็นจริงในชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทำให้เราเห็นสัจธรรมความจริง ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดที่มีอยู่ในโลกนี้ อาตมภาพเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนมีสติ มีปัญญา นำไปสู่การปล่อยปละละวางร่างกายสังขาร”


พระอุดมประชาทร

พระอลงกต เล่าต่อไปว่า ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดการของโครงการฯ ได้ทำป้ายพิพิธภัณฑ์ชีวิตไปติด แล้วเชิญท่านไปเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ ท่านก็ยินดี โดยที่ไม่รู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ว่าจะต้องเป็นอย่างไร รู้แต่ว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณชน เพราะพ่อแม่พาลูกชายอายุ 13 – 16 ปี เข้ามาดูพิพิธภัณฑ์ก็อยากให้ลูกเกิดสติ เกิดปัญญา ตระหนักรู้ในการป้องกันตัวเองถึงเหตุต่างๆ และก็รู้สึกดีใจว่าท่านช่วยให้คนเกิดความตระหนักจากองค์ความรู้ที่เขาไปที่พิพิธภัณฑ์ฯ


ลูกโลกคนโอบเอชไอวี

“อาตมภาพว่าเจตนารมณ์ดีและเห็นด้วยกับการแสดงศพ จะว่าเราว่าศพคนที่มาแสดงเป็นเฉพาะผู้หญิงบริการหรือโสเภณี อาตมภาพอยากจะเจริญพรให้ทราบว่าไปเดินดูสักรอบ และดูให้หมดว่าใครเป็นใคร เด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ 2 ขวบ 3 ขวบ 7 ขวบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เราที่ตกต้นไม้ตายก็ได้ศพเขามาแสดงด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนเป็นเอดส์ ก็ยอมรับว่าสิ่งที่เราทำไปไม่ได้ดีที่สุด ไม่ได้ถูกที่สุด แต่ก็ขอให้ดูด้วยเจตนารมณ์ว่าที่เราทำขึ้นมาเราทำขึ้นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ที่จะระมัดระวังป้องกันตัวเองให้มากขึ้น และนำไปสู่การเกิดสติปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา” พระอลงกตกล่าว

เจ้าอาวาสฯ ยืนยันว่า วัดพระบาทน้ำพุไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชีวิตขึ้นมา และจะไม่ดึงดันให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไป ถ้าหากว่าคณะกรรมการสิทธิฯ มีข้อสรุปอย่างไรเมื่อถึงที่สุดแล้ว โดยตอนนี้ท่านก็ให้ปลดชื่อ ปลดป้ายพิพิธภัณฑ์ออกไปหมดแล้ว และให้ใช้ชื่อว่าศาลาธรรมสังเวชแทน ซึ่งก็น่าจะเป็นสิทธิของวัดที่จะทำได้

พระอลงกต เล่าต่อไปว่า ทุกวันนี้มีคนเข้าไปศึกษาดูงาน ไปทำบุญที่วัดตกปีละ 200,000 – 300,000 คน ในมุมที่บอกว่าวัดไปตอกย้ำภาพให้คนรังเกียจผู้ป่วยฯ ให้กลัว ในขณะที่มีคนไปเยี่ยมผู้ป่วย นำนม นำผลไม้ไปให้ถึงเตียง พูดคุย จนผู้ป่วยดีใจน้ำตาไหล เพราะญาติพี่น้องของตัวเองทิ้งหมด แต่ท่านก็ยังไม่ค่อยเห็นมูลนิธิที่ทำงานเรื่องสิทธิไปเยี่ยมผู้ป่วยเท่าไหร่ มีแต่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธิ เข้าไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ

“อาตมภาพต้องเข้าเยี่ยมผู้ป่วยทุกอาทิตย์ ทุกคน จับมือ ลูบหัว ลูบหลังให้กำลังใจทุกคน ถ้าเกิดว่าเราอยู่ในฐานะที่ไปดูถูกเหยียดหยามซ้ำเติม ให้เขามีความรู้สึกด้อยในศักดิ์ศรี หรือเกียรติ ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นความรู้สึกที่ผู้ป่วยเขารู้สึกอะไรอย่างนั้น อีกทางหนึ่งกลับเป็นวัดที่เป็นผู้สอนให้คนเข้าใจ และยอมรับในสิ่งเหล่านี้ว่าเราควรให้กำลังใจ ให้โอกาส และความช่วยเหลือ อย่างมีเมตตา มีมนุษยธรรม และก็เชื่อได้ว่าวัดพระบาทน้ำพุก็มีบริบทที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องเอดส์ได้มากทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้นคนคงไม่ไปสนับสนุนที่วัดอยู่ทุกวันนี้

 


ป้ายแนะนำระบบการศึกษาภายในวัด

“ท่านทั้งหลายที่ไม่ได้เป็นเอดส์ที่นั่งอยู่ที่นี่นึกเอาเอง ถ้าท่านดูศพแล้วนึกสงสารแล้วอยากบริจาค ว่ามันใช่เหตุผลไหม ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้มีการแสดงศพ ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ คนก็มาทำบุญที่วัด”

ที่ปรึกษามูลนิธิฯ เล่าว่า ทุกวันนี้มีคนที่ต้องการบริจาคร่างกายให้จำนวนมาก ด้วยความที่เขาอยากให้ร่างกายเป็นประโยชน์กับคนที่เข้ามาศึกษาในวัด จนทางวัดไม่รับแล้ว อย่างไรก็ตาม ท่านมองว่าเรื่องนี้จะต้องแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ถ้าจะมีพิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีอย่างถูกต้อง เพราะต่อไปก็จะใช้ชื่อว่าศาลาธรรมสังเวช

“ถ้าอยากดูศพคนที่เป็นเอดส์ตายที่เขาอุทิศไว้ให้ ก็เชิญเข้าไปดู” พระอลงกตบอกและว่า กระบวนการเรียนรู้ของวัดมีมาก มีการบรรยาย มีการแสดง มีการนำเอาผู้ติดเชื้อมาเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งไปวัดพระบาทน้ำพุไม่ใช่แค่ไปเดินดูศพแล้วจบไป แต่มีเรื่องราวมากมาย เพราะฉะนั้นโรงเรียนต่างๆ จะเข้าไปเป็นประจำทุกปี


ป้ายขอบคุณผู้ที่มาศึกษาดูงานภายในวัด

ตัวแทนผู้ติดเชื้อฯ จากวัดพระบาทน้ำพุ เล่าในที่ประชุมว่า ผู้ป่วยแต่ละคนที่ไปอยู่วัดเป็นคนที่ค่อนข้างยากจน เพราะเขาไม่มีที่ไป และที่วัดก็ให้อาหารทุกวัน มีผู้ดูแลเวลาที่เจ็บป่วย

“สำหรับคนจนอย่างพวกเราแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่น วัดพระบาทน้ำพุไม่จำกัดเวลาว่าเราจะอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน ทุกคนอยู่ที่นั่นจนตาย คนที่เขาไม่มีจะกินไปอยู่วัด โดยไม่มีอะไรจะตอบแทนวัดเลย สิ่งสุดท้ายที่จะให้ได้ ถ้าร่างกายเรามีประโยชน์ เราก็จะให้ เพราะสิ่งที่ทำได้คือให้คนเขาเห็นว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งที่เกิดมาแล้วผิดพลาด สามารถที่จะทำให้คนอีกหลายคนเขามีชีวิตใหม่กลับมา”

ในขณะที่ เสียงสะท้อนจากมุมมองของ เฉลิมชัย ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า กรณีพิพิธภัณฑ์ชีวิต เขาไม่ได้มองแค่การเอาคนมาแสดง แต่มองถึงคนป่วยที่นอนอยู่บนเตียงในวัด หลายสิ่งหลายอย่างที่วัดพระบาทน้ำพุทำ ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เช่น สิทธิผู้ป่วย สิทธิเรื่องเด็ก สิทธิของการเสียชีวิต หรือการนำกระดูกมาทำเรซิ่น (ศิลปะเรซิ่นกระดูก – กระดูกของผู้ติดเชื้อฯ นำมาผสมกับเรซิ่นเพื่อทำประติมากรรมเป็นรูปร่างของคนในอิริยาบถต่างๆ เช่น รูปปั้นคู่ชายหญิง เพื่อสื่อความหมายของการรักเดียวใจเดียว ซื่อสัตย์ต่อกัน เป็นหนทางป้องกันเอดส์ได้) ทั้งนี้ก็อาจต้องนำมาพิจารณาว่าแต่ละเรื่องมีปัญหาอะไรบ้าง
“ผมคิดว่าถ้าจะพูดเรื่องวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์แล้วอ้างถึงหลักศาสนา ผมก็ไม่มีข้อขัดแย้งว่าอยากให้คนเจริญมรณานุสติ แต่ในความเป็นจริง มันต้องมองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องเอดส์ด้วย เพราะถ้ามองถึงเรื่องเอดส์ มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ในมุมผม ข้อดียังนึกไม่ออก แต่ผมเห็นข้อเสียหลายข้อ เช่น การเสนอภาพพจน์อย่างนี้ทำให้คนรังเกียจผู้ป่วย และทำให้คนป้องกันเอชไอวีได้จริงหรือไม่”

เฉลิมชัย ทิ้งท้ายว่า ขอฝากไปดูวัตถุประสงค์จริงๆ ของพิพิธภัณฑ์ชีวิตว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ โดยวัตถุประสงค์นั้นต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ด้วย


ศิลปะเรซิ่นกระดูกเอดส์

แม้ว่าผลจากการพูดคุยในเวทีเสวนานี้ ยังคงเป็นโจทย์ให้ทั้งคณะกรรมการสิทธิฯ คนทำงานเอดส์ วัดพระบาทน้ำพุ และภาคส่วนต่างๆ ในสังคม กลับไปช่วยกันแก้ปัญหากรณีของพิพิธภัณฑ์ชีวิต วัดพระบาทน้ำพุนี้ต่อไป แต่ข้อสรุปของกรณีนี้จะเป็นอย่างไร ยังคงต้องติดตาม...

00000

จากการลงเก็บข้อมูลที่วัดพระบาทน้ำพุ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า ในส่วนที่แสดงศพ ซึ่งเดิมเคยเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ชีวิตนั้น อยู่โซนด้านหน้าของวัด หากประชาชนที่ไปศึกษาดูงาน เมื่อพบกับเจ้าหน้าที่แล้ว จะถูกพามา “ดูงาน” ที่พิพิธภัณฑ์ชีวิตเป็นแห่งแรก โดยป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์ได้ถูกนำออกไปแล้ว เหลือเพียงป้าย “ยินดีต้อนรับ” และเมื่อเดินเข้าไปในบริเวณส่วนแสดง จะมีร่างที่บริจาคไว้ทั้งสิ้น 20 ร่าง ในอิริยาบถทั้งยืน และนอน โดยในร่างที่ยืนนั้นจะบรรจุในกล่องกระจกใส ขณะที่ร่างนอนจะมีผ้าลูกไม้สีขาวขึงเอาไว้แทนกล่อง ซึ่งป้ายที่บอกข้อมูล หรือสถานภาพส่วนบุคคลประจำร่างผู้บริจาคนั้นๆ ได้ถูกปลดออกไปแล้ว

ร่างทั้ง 20 ร่างมีทั้งที่เป็นร่างของเด็กและผู้ใหญ่ โดยเป็นร่างของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด และมีเพียงร่างเดียวที่มีเสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย นอกจากนี้ จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่วัด บอกว่า ศพที่เพิ่งนำมาแสดงล่าสุดคือ นำมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกันนี้ยังมีอัฐิของผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งแสดงอยู่ด้วย

ที่เจ้าอาวาสฯ ชี้แจงว่าไม่ได้มีเพียงแค่ศพของผู้ติดเชื้อฯ เท่านั้น ยังมีศพของเจ้าหน้าที่ที่ตกต้นไม้ตายด้วย จากการลงพื้นที่ก็จะเห็นเพียงโกศที่บรรจุอัฐิ ไม่มีร่างศพของเจ้าหน้าที่อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าวัตถุประสงค์ของการนำร่างผู้ตายมาแสดง เพื่อเป็นวิทยาทาน และเป็นอุทาหรณ์ ขณะที่ป้ายที่บอกถึงกิจกรรมที่วัดทำนำเสนอว่าเป็น “ห้องศึกษาอาจารย์ใหญ่ที่จัดแสดงเพื่อให้เกิดข้อคิดในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีความรอบคอบในการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงของชีวิตก็จะตามมา จงใช้ชีวิตด้วยการมีสติ ด้วยความไม่ประมาท”

ส่วนระบบงานการศึกษาของวัดแห่งนี้มีทั้งหมด 10 ส่วนคือ 1.ต้อนรับและส่งกลับ 2.พิพิธภัณฑ์ชีวิต 3.เตาเผาศพ 4.ลูกโลกคนโอบเอชไอวี 5.ศิลปะเรซิ่นกระดูกเอดส์ 6.บ้านพักผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย 6.อาคารเมตตาธรรม 8.ห้องนิทรรศการเอดส์ 9.ศาลากระดูก และ 10.พิพิธภัณฑ์อวัยวะเอดส์

 

หมายเหตุ รายงานนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.teenpath.net/content.asp?ID=12344 ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท