ทางการพม่าจัดงานวันวีรชนปีที่ 63 อย่างเงียบๆ

สื่อรัฐบาลพม่าเลี่ยงกล่าวถึง "วันวีรชน" ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 63 การลอบสังหารนายพลออง ซาน และผู้นำคนอื่นๆ ขณะที่ “ออง ซาน ซูจี” บุตรสาวนายพลออง ซาน ไม่ได้เข้าร่วมพิธีเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันเนื่องจากถูกกักบริเวณ ด้านพรรคการเมืองจดทะเบียนใหม่สามารถเข้าร่วมภายหลังพิธีทางการเท่านั้น

ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 20 ก.ค. 53 หน้า 7 เป็นภาพของนายอ่องถั่นลิน นายกเทศมนตรีย่างกุ้งวางพวงมาลาที่สุสานนายพลออง ซาน ผู้นำที่ล่วงลับ เนื่องในวันวีรชนปีที่ 63 เมื่อ 19 ก.ค. ที่่ผ่านมา

พม่าจัดงานวันวีรชนปีที่ 63 อย่างเงียบๆ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการพม่าจัดงานรำลึกวันวีรชน หรือวันอาซานี เป็นปีที่ 63 โดยวันซึ่งถือเป็นวันหยุดของพม่านี้ เพื่อรำลึกถึงการนายพลออง ซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชของสหภาพพม่า สำหรับนายพลอองซานยังเป็นบิดาของนางออง ซาน ซูจีผู้นำฝ่ายค้านพม่าด้วย โดยในวันนี้เมื่อปี 2490 นายพลอองซาน และผู้นำการเรียกร้องเอกราชคนอื่นๆ ประกอบด้วยรัฐมนตรี 6 คน เจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ในจำนวนรัฐมนตรีนี้มีเจ้าจ่ามทุน เจ้าฟ้าเมืองป๋อน รัฐฉาน หนึ่งในผู้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงรวมอยู่ด้วย โดยทั้งหมดถูกฝ่ายนายพลอูซอ ซึ่งเป็นคู่อริลอบสังหารระหว่างประชุมสภา ก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน

โดยพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นทุกปีที่สุสานวีรชน ถนนอาซานี ใกล้ฐานทิศเหนือของเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารพม่าค่อยๆ ลดความสำคัญของพิธีนี้ นับตั้งแต่นางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของ นายพลออง ซาน เริ่มโดดเด่นทางการเมือง หลังการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531

โดยในปีนี้พิธีรำลึกวันวีรชนจัดขึ้นอย่างเงียบๆ ทางการพม่าได้ลดธงครึ่งเสาที่สุสาน มีเจ้าหน้าที่ บุคคลในครอบครัวและนักการทูตร่วมกันวางพวงหรีดหน้าหลุมศพ ทั้งนี้ในอดีตพิธีนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ต่อมาลดลงมาเหลือรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ส่วนในปัจจุบันมีเพียงนายอ่องถั่นลิน นายกเทศมนตรีนครย่างกุ้งเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดที่เข้าร่วมพิธี

ด้านนางออง ซาน ซู จี ไม่ได้เข้าร่วมพิธีมานาน 8 ปีแล้ว มีเพียงนายออง ซาน อู พี่ชายคนโตและภริยาร่วมพิธีวางพวงหรีดที่หลุมศพของบิดา นายออง ซาน อู มีอาชีพวิศวกรและไม่มีบทบาททางการเมืองเหมือนน้องสาว รัฐบาลทหารพม่ามักเชิญนางซู จี ให้เข้าร่วมพิธี แต่นางปฏิเสธเพราะถูกกักบริเวณในบ้านพัก

นอกจากนี้ยังมีผู้วางพวงหรีดรำลึกประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรทหารผ่านศึกพม่า กองพลน้อยดับเพลิงพม่า, สมาคมนักเขียนและผู้สื่อข่าวพม่า, สมาคมถ่ายภาพพม่า, สมาคมดนตรีพม่า, สมาคมหุ่นกระบอกพม่า และสมาคมศิลปินพม่า

ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่างดการตีพิมพ์อัตชีวประวัติของ นายพล ออง ซาน และรัฐมนตรีที่ถูกลอบสังหาร ยกเว้นข้อความที่คัดลอกมาจากสุนทรพจน์ และในปีนี้ ไม่มีแม้กระทั่งบทความหรือบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาลที่เขียนเกี่ยวกับนายพล ออง ซาน โดยในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลทหารพม่าฉบับวันที่ 20 ก.ค. มีเพียงการรายงานข่าวพิธีรำลึกวันวีรชนเป็นกรอบเล็กๆ ขณะที่หน้าแรกตีพิมพ์เรื่องการพัฒนาสะพานและถนนในพม่า

ขณะที่บรรณาธิการนิตยสารข่าวแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง กล่าวกับ “อิระวดี” นิตยสารข่าวพม่าที่อยู่นอกประเทศ ว่า “บทความเกี่ยวกับวันวีรชนถูกห้ามหมด เราตีพิมพ์ได้แต่ข้อมูลของวันวีรชน”

เดิมกองทัพพม่าใช้โอกาสวันวีรชนเพื่อย้ำเตือนประชาชนถึงบทบาทของ กองทัพในการรักษาความเป็นเอกราชของประเทศชาติ แต่ในช่วงที่นางออง ซาน ซู จี มีบทบาทโดดเด่นทางการเมือง เธอได้รับยกย่องจากสาธารณชนว่าเป็นผู้สืบทอดมรดกความรักในเสรีภาพต่อจากบิดา

 

พรรคการเมืองพม่าถูกสั่งให้เข้าร่วมหลังพิธีทางการ

ขณะเดียวกันเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าหรือดีวีบี รายงานด้วยว่า ทางการพม่าแบ่งพิธีรำลึกวันวีรชนเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นพิธีทางการตามที่รายงานข่าวไปแล้ว และส่วนที่สองสำหรับบรรดาพรรคการเมืองที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ โดยคำเชิญของรัฐบาลทหารถูกส่งไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เข้าร่วมพิธีการประจำปีดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลแจ้งให้ผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีวันดังกล่าว ส่งพวงหรีดเพื่อให้ตรวจสอบตั้งแต่ 16 ก.ค. พร้อมกับส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมพิธี โดยพวกเขาได้รับแจ้งว่าให้มาเตรียมพร้อมที่วัดใกล้กับสุสานวีรชน ในเวลา 8.30 น. เพื่อเริ่มพิธีการในวันที่ 19 ก.ค. ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ มาถึง พวกเขายังไม่สามารถเข้าในพิธีช่วงเช้าได้ นายพิวมินถั่น หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตย กล่าวว่า "เมื่อพวกเรามาถึงวัดใกล้กับสุสานในเวลา 8.30 น. ปรากฏว่าวัดปิด พวกเราเข้าไปคำนับวีรชนในเวลา 10.00 น." ซึ่งเป็นกำหนดการภายหลังพิธีของรัฐบาล

โดยสุดท้าย 16 พรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี โดยออง ซอ อู จากสหพันธ์การเมืองแห่งชาติสหภาพพม่า กล่าวว่าแต่ละพรรคได้รับอนุญาตให้ส่งคนเข้าร่วมพิธีได้พรรคละ 7 คนเท่านั้น ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ หล่า มิ้น แห่งพรรคสหภาพประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่สามารถนำธงของพรรคการเมืองเข้าร่วมพิธีได้ ขณะที่มีการริบกล้อง ปากกา และนาฬิกา "พิธีการไม่เป็นไปโดยเสรีเท่าไหร่"

ขณะที่มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ทั่วย่างกุ้ง และรอบๆ เนินอันเป็นที่ตั้งสุสานวีรชน และรอบๆ เจดีย์ชเวดากองซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามักเป็นจุดนัดชุมนุม

ชาวเมืองรายงานกับสถานีโทรทัศน์ดีวีบีว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธกลุ่มละ 2 ถึง 5 คนวางกำลังบนถนนที่มุ่งสู่สุสานวีรชนแทบจะทุกช่วงเสาไฟฟ้า โดยแหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศพม่าระบุว่ามีการเคลื่อนกำลังของตำรวจปราบจลาจลและทหารด้วย โดยประตูด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ชเวดากองมีการวางลวดหนาม ส่วนถนนเข้าสู่เจดีย์ฝั่งขวาถูกปิด แหล่งข่าวในย่างกุ้งยังระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ตัดตั้งจุดตรวจสกัดพาหนะที่ต้องสงสัย และมีการสุ่มตรวจแขกผู้ลงทะเบียนเข้าพักในเมือง

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

New parties get cold shoulder on Martyrs’ Day, AYE NAI, DVB, 19 July 2010 http://www.dvb.no/news/new-parties-get-cold-shoulder-on-martyrs%E2%80%99-day/10805

Martyrs' Day Tributes Censored, By KO HTWE, Irrawaddy, Monday, July 19, 2010 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=19002

63rd of Anniversary Arzani Day observed, THE NEW LIGHT OF MYANMAR, 20 July, 2010 P7.

Burmese Martyrs' Day, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Burmese_Martyrs%27_Day

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท