เสียงจากเวียนนา: เมื่อประเทศร่ำรวยเชือดนิ่มๆ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านข้อตกลงการค้า

ว่าด้วยปัญหาของทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด กีดกันการเข้าถึงยา ซึ่งปรากฏในเอฟทีเอของ อียู สหรัฐ ญี่ปุ่น ฯและกำลังเจรจากับประเทศยากจนหลายประเทศ มันจะให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาอย่างดีมากถึงมากที่สุด และส่งผลให้ยาราคาแพงมากถึงมากที่สุดเช่นกัน

 
มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 33.4 ล้านคน
ผู้ใหญ่ 31.3 ล้าน
ผู้หญิง 15.7 ล้าน
เด็ก 2.1 ล้าน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.7 ล้าน
97% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง
70% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในทวีปแอฟริกา
มีอัตราการตายเนื่องจากเอดส์ 2 ล้านรายต่อปี
เฉลี่ยแล้วในแต่ละวัน มีคนตายจากโรคเอดส์มากกว่า 5,000 ราย
(รายงานตัวเลขประมาณการณ์ของ UNAIDS เมื่อสิ้นปี 2008)
 
ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ต้องการยาต้านไวรัสประมาณ 10 ล้านคน
ขณะที่ผู้ที่ได้รับยามีประมาณ 5 ล้านคน
 
 
นับตั้งแต่ประเทศอย่างอินเดีย บราซิล สามารถผลิตยาชื่อสามัญ หรือ generic drug สำหรับผู้ติดเชื้อได้ และเริ่มมีการแข่งขันในตลาดยาชื่อสามัญมากขึ้น ก็ทำให้ราคายาลดลงมากกว่า 90% ยาเหล่านี้มีคุณสมบัติไม่ต่างจากยาติดสิทธิบัตรของบรรษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เพียงแต่ผลิตขึ้นในอีกแบบหนึ่งในประเทศอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถ อย่าง อินเดีย บราซิล ฯ ด้วยราคาที่ต่างกันมหาศาลทำให้ผู้คนเข้าถึงยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมากผ่านกองทุนใหญ่ๆ ระดับโลกหลายแห่งที่สนับสนุนงบประมาณ ส่งผลให้อัตราการตายทั่วโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่ความหวังที่จะเห็นคนมีชีวิตยืนยาวขึ้นก็มีอันสั่นคลอน เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศร่ำรวยต่างๆ ปรับลดการบริจาคเข้ากองทุน กระทั่งตัดลดการช่วยเหลือโดยตรงในโครงการเกี่ยวกับเอดส์ มันทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ไม่สามารถได้รับยาและการรักษาและทำให้ต้องพบจุดจบอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ป่วยรายเก่าหากไม่ได้รับยาต่อเนื่องก็ต้องพบจุดจบไม่ต่างกัน
จึงไม่แปลกที่ภายในงานประชุมเอดส์โลกปี 2010 ที่เวียนนา การเรียกร้องให้ทำตามสัญญาที่เคยตั้งเป้าจะให้คนเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน แม้กระทั่งประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐอเมริกาเองก็เคยประกาศเมื่อกลางปี 2009 ว่าจะสนับสนุนเงินให้กับโปรแกรมการดำเนินการด้านสุขภาพซึ่งมีเรื่องเอดส์เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด 63,000 ล้านเหรียญ แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็ยังคงดำเนินไปตามเดิม และทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้
ขณะที่เงินทุนสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะG8 ลดน้อยถอยลง ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องราคายาแพงยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งกลับมีความพยายามโดยประเทศร่ำรวยเอง ไม่ว่า สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่พยามสร้างกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงยาให้ทั้งสูงทั้งหนามากขึ้นผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ที่ทำกับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย
การมีสิทธิบัตรเป็นการคุ้มครองผลการค้นคว้าวิจัย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้บริษัทยาผูกขาดตลาดเพียงผู้เดียวอย่างยาวนานและกำหนดราคาได้ตามใจชอบโดยอ้างว่าต้องใช้งบในการวิจัยมากมาย แต่ขณะเดียวกันมีการศึกษายืนยันแล้วว่างบประมาณมากที่สุดที่บริษัทยาใช้ทุ่มไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ยกตัวอย่าง ยาต้านไวรัสที่มีสิทธิบัตร ทำให้ราคายาในการรักษาผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาเอง อยู่ที่ 15,000 เหรียญ/คน/ปี ขณะที่ยาแบบเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญ อยู่ที่ 80 เหรียญ/คน/ปี
ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องเอดส์ในปีนี้ มีธีมหลักของงานว่า Right here! Right now! อันหมายถึงการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อให้เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ดังนั้นจึงมีการประชุมย่อยหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงยา โดยเฉพาะกรณีการทำเอฟทีเอของสหภาพยุโรป (เจ้าภาพจัดงานเอง)
Sanya Reid Smithจากเครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network) ระบุว่า ในข้อตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาจรวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ทำกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนากว่า 90 ประเทศ ได้กำหนดให้ประเทศคู่สัญญาเคร่งครัดกับระบบทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น มากกว่าที่องค์การการค้าโลกกำหนดไว้ตามข้อตกลงทริปส์(TRIPS) หรือที่เราเรียกกันว่าทริปส์พลัส ( TRIPS+)
ขณะที่ทริปส์ธรรมดายังพอมีข้อยืดหยุ่นให้ประเทศเล็กๆ ได้หายใจ แต่ทริปส์พลัสกลับบังคับให้ประเทศยากจนบีบคอตนเองในหลายกรณี เช่น การบังคับให้ต้องยอมรับการเชื่อมโยงสิทธิบัตรแบบ one stop service เจ้าของสิทธิบัตรจดที่เดียวใช้ได้เกือบทั่วโลก, การอนุญาตให้จดสิทธิบัตรได้ง่ายขึ้น แม้เพียงปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ , การขยายเวลาของสิทธิบัตรจากเดิม 20 ปี เป็น 25-30 ปี, ห้ามคัดค้านก่อนจดสิทธิบัตรสำเร็จ , การคุ้มครองข้อมูลการค้า , ห้ามใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอล เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญ อย่างกรณีที่ไทยเพิ่งใช้กับยาต้านไวรัส และยารักษาโรคมะเร็ง เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
การบังคับให้ประเทศต่างๆ เข้มงวดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี้ เป็นความร่วมมือกันอย่างสำคัญระหว่างรัฐบาลประเทศมหาอำนาจและบรรษัทยายักษ์ใหญ่ หลังจากที่แนวทางดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จในเวทีพหุภาคีระดับโลก พวกเขาก็เดินสายทำข้อตกลงกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายทีละประเทศ โดยใช้พิมพ์เขียวเดียวกันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
เราลองมาดูตัวอย่างผลกระทบด้านราคายาจากเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งในข้อตกลงนั้นเรียกร้องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแบบทริปส์พลัสด้วย
กรณีโคลัมเบีย ต้องจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้น 15,000 ล้านเหรียญภายในปี 2030 หรือไม่ก็ต้องลดการใช้ยาลง 44%
กรณีเกาหลีใต้ สำหนักงานประกันสังคมแห่งชาติประมาณการว่าการขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรไปอีก 4 ปี จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องยาพิ่มขึ้นอีก 757 ล้านเหรียญ
ส่วนการคุ้มครองข้อมูลการค้า (data exclusivity) จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการสั่งยาของประเทศแคนาดาเพิ่มขึ้น 600 ล้านเหรียญ ในอีก 5 ปีข้างหน้า
กรณีจอร์แดนที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา ก็พบว่า ราคายาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20% โรงพยาบาล 1 แห่งต้องจ่ายค่ายาจากเดิมเพิ่มขึ้น 6 เท่า กระทรวงสาธารณสุขต้องกันงบ 1 ใน 4 ไปกับค่าใช้จ่ายด้านยาและยังกระทบกับโครงการด้านสาธารณสุขของรัฐจนคลอนแคลนหนัก
ส่วนการคุ้มครองข้อมูลทางการค้าที่มาพร้อมเอฟทีเอสหรัฐก็ทำให้ราคายาแพงในกัวเตมาลาแพงขึ้น 845600% !!
นอกจากนี้ในกรณีของสหรัฐอเมริกายังมีกลไกพิเศษเรียกว่า รายงานพิเศษ 301 ใช้มาตั้งแต่ปี 1988 โดยให้ผู้แทนการค้าสหรัฐคอยจัดอันดับประเทศที่มักมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สหรัฐอเมริกาประเมินการสิทธิคว่ำบาตรทางการค้า
ศ.ฌอน ฟลินน์ นักกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตันดีซี บอกว่า มาตรการนี้มีขึ้นก่อนจะมีมาตรฐานเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก แต่แม้มีมาตรฐานนั้นแล้วทุกคนก็คิดว่าอเมริกาคงใช้มาตรฐานสากลและหยุดกลไกนี้ แต่อเมริกาก็ยังใช้เครื่องมือนี้มาจนถึงปัจจุบัน ในรายงานดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศไหนที่พยายามจะใช้มาตรการยืนหยุ่นขององค์การการค้าโลกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ก็จะถูก “ใบเหลือง” จัดอันดับในประเทศต้องจับตา และจะค่อยๆ โดนตัดสิทธิทางการค้า รวมถึงประเทศไทยด้วย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาสังคมจากหลายประเทศที่มาร่วมประชุมเอดส์โลก จึงร่วมกันยื่นจดหมายร้องเรียนถึงนายอนัน โกรเวอร์ ผู้แทนพิเศษยูเอ็นในสิทธิด้านสุขภาพที่ได้มาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยเพื่อให้ตรวจสอบรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่า Special 301 Report (รายงาน 301 พิเศษ) และสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา
เหล่านี้คือกลไกหลักอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายตัวไปในหมู่ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง นอกจากพวกเขาจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคร้าย การรักษาผู้เจ็บป่วยแล้ว เขายังจะได้รับราคายาที่แพงขึ้นหลายเทาจากข้อกำหนดในเอฟทีเอที่สร้างการผูกขาดการค้าให้บรรษัทยักษ์ใหญ่
“บริษัทยาแสนตะกละกำลังฆ่าพวกเรา” เสียงแอคติวิสต์และผู้ติดเชื้อตะโกนซ้ำๆ และถือป้ายประท้วงไปทั่วที่ประชุม พวกเขาแวะไปเยี่ยมเยียนบูธของบริษัทยายักษ์ใหญ์หลายแห่ง ตะโกนสุดเสียง “จงละอายๆๆๆๆ” เป็นสีสันสำหรับผู้พบเห็น แต่เป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนที่ต้องกินยา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท