เสียงจากเวียนนา: สีสันงานเอดส์โลก - 2 องค์กรไทยคว้ารางวัล Red Ribbon

 

 

 

 

“หมู่บ้านโลก” หรือ global village ถือเป็นสีสันที่สำคัญยิ่งของการประชุมเอดส์โลกทุกๆ ครั้ง มันเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงบูธของภาคประชาสังคมของประเทศต่างๆ ที่ทำเรื่องเอชไอวี/เอดส์ พวกเขาจะตกแต่งคูหาของตนตามแต่ไอเดียอันเก๋ไก๋เพื่อดึงดูดผู้พบผ่าน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และให้การศึกษาในเรื่องต่างๆ ไปด้วยในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังสรรหากิจกรรมทำในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะร้อง เล่น เต้นระบำ ฉายวิดีทัศน์ ฯลฯ

เช่นเดียวกับปีนี้ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หมู่บ้านโลกยังคงคึกคัก มีสีสันสะดุดตา บริเวณโถงใหญ่มีเวทีกลาง สำหรับการจัดเสวนาหลากหลายหัวข้อ รวมไปถึง “พื้นที่สนทนา” (dialogue space) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบูธองค์กรต่างๆ ที่ได้รับรางวัล Red Ribbon ในปีนี้

“ริบบิ้นสีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ติดเชื้อ และยังหมายถึงการตระหนัก ห่วงใย และพยายามหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเอดส์ของสังคมโดยรวมด้วย รางวัลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 โดย UNDP

ปีนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลจำนวน 25 องค์กร จาก 5 สาขา ได้แก่ สาขาการให้การรักษากับผู้ติดเชื้อ,การสนับสนุนการป้องกันการติดเชื้อในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติด, การรณรงค์ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ทัศนคติของสังคม การเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ, การรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพและหยุดความรุนแรง, การสนับสนุนด้านการปรับปรุงมิติทางสังคมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี โดยในการประชุมเอดส์นานาชาติซึ่งจัดทุก 2 ปีจะมีการประกาศผลรางวัลที่ 1 ในแต่ละสาขาด้วย ปีนี้มีผู้เข้าประกวดโครงการทั้งหมด 720 องค์กร จาก 102 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 25 ถึง 2 กลุ่ม/องค์กรด้วยกัน

สำหรับ 2 องค์กรของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล คือ กลุ่มเยาวชนอาสา (The Youth Volunteer Group) และเครือข่ายสามเณรต้านภัยเอดส์และยาเสพติด (Novices Aids Intervention and Rehabilitation Network) หรือเรียนสั้นว่า NAIRN (เณร) ซึ่งกลุ่มเณรนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษ MDGs  (Millennium Development Goals) เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของยูเอ็น

 

 

เมื่อวัดยังเป็นศูนย์กลางเยียวยาชีวิตคนตะเข็บชายแดน color:blue">

สำหรับ “เครือข่ายสามเณรต้านภัยเอดส์และยาเสพติด” อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้ริเริ่มคือ พระอาจารย์ ดร.ฐาณี ฐิตวิริโย ผอ.โรงเรียนเวียงแหงปริยัติศึกษา สถานปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก และ Lawrence Maund ผู้ทำงานรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเอดส์โดยอาศัยแนวทางของพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย

หลวงพี่ฐาณี เล่าว่า เครือข่ายนี้ก่อตั้งมาได้ 7-8  ปีแล้ว ท่ามกลางปัญญาสารพัดในอำเภอเวียงแหง ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนระหว่างไทย-พม่า ที่นั่นมีผู้ลี้ภัยและเด็กกำพร้าชาวไทใหญ่ซึ่งหนีการสู้รบมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่รวมกัน

“คนเขาเรียกโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนนาชาติ..พันธุ์ มีทั้งไทยใหญ่ ชนพื้นเมืองล้านนา ปกาญาญอ จีนฮ่อ ลีซอ มูเซอ” หลวงพี่เล่า

ผู้คนจำนวนมากที่นั่นยังไร้สัญชาติ และไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ก่อนหน้านี้เด็กๆ ไม่สามารถเรียนต่อในชั้นที่สูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่ได้ เด็กผู้หญิงมักถูกหลอกให้ไปขายบริการในเมือง ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดหนัก ปัญหาความยากจนขยายตัวเพราะผลิตผลการเกษตรลดลงอย่างมากเนื่องจากการใช้สารเคมีหนักหน่วงทำให้ดินเสีย ฯลฯ แน่นอน หนึ่งในปัญหาทั้งหมด มีเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน

หลวงพี่ฐาณี ในฐานะเป็นคนเวียงแหงโดยกำเนิด บวชเรียนตั้งแต่อายุ 12 และออกไปเรียนต่อจนจบด็อกเตอร์ กลับมาจำวัดที่บ้านเกิด พร้อมก่อตั้งโรงเรียนเวียงปริยัติศึกษา มองเห็นปัญหารอบด้านดังกล่าว จึงเริ่มต้นด้วยการรับเด็กกำพร้าทั้งหญิงและชายมาอุปการะที่วัด โดยเด็กชายให้บวชเป็นสามเณร จากนั้นอบรมสามเณรให้มีความรู้เกี่ยวกับเอดส์ เป็นความรู้ที่อยู่อยู่บนพื้นฐานของการนำพระรุทธศาสนามาปรับประยุกต์ พัฒนาจนสามเณรน้อยมีศักยภาพในการวิทยกร แล้วไปเป็นพี่เลี้ยงของเยาวชนในชุมชน ซึ่งได้ผลดีในการสื่อสารเพราะสามเณรก็อยู่ในวัยเดียวกับเยาวชน

เพราะทุกปัญหาล้วนมีเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงกัน ปัญหาเรื่องเอดส์ไม่อาจแก้ไขเฉพาะตัวมันเองเพียงลำพัง โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นยิ่งกว่าการศึกษาในระบบ หรือศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากแต่เป็นการศึกษาถึงทักษะการใช้ชีวิตอย่างครบวงจร ทั้งนี้ นักเรียนทั่วไปก็เข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ในนามของ “ค่ายคุณธรรม”

“ทางโลกไม่ให้ช้ำ ทางธรรมไม่ให้เสีย” หลงพี่ฐาณีพูดถึงคอบเซ็ปท์ของหลักสูตรการอบรม พร้อมขยายความว่า จะต้องให้พวกเขามีความรู้ในทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการปฏิเสธยาเสพติด การคิด การฟัง การตัดสินใจ การประเมินสถานการณ์ การรู้จักตนเอง รวมไปถึงความรู้เอชไอวี การเกษตรอินทรีย์ การสร้างบ้านดิน ขณะเดียวกันยังมีการทำวัตร สวดมนต์ ทำสามธิ เจริญภาวนา  ทั้งหมดนี้เป็นการสอน “การใช้ชีวิต” เพื่อให้เขาอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่ปฏิบัติธรรม โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติ ที่เรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวทย์ ทั้งเรื่องเศรฐษกิจ การเกษตร การสร้างบ้านดิน ซึ่งตอนนี้มี 8-9 หลังแล้ว สามเณรยังต้องปลูกผักปลอดสาร ทำปุ๋ยหมัก ตามคอนเซ็ปท์ “ปลูกทุกอย่างที่ฉัน ฉันทุกอย่างที่ปลูก” เน้นการพึ่งตนเอง โดยพระ เณร ที่นี่จะไม่ออกบิณฑบาตเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ก็มีฐานะยากจน อีกทั้งเณรก็มีกว่า 200 รูป ไม่นับรวมเด็กกำพร้าที่รับอุปการะไว้อีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ ทางโรงเรียนก็จัดอบรมสมาธิ ให้คำปรึกษา ตลอดจนลงไปทำงานในชุมชน เปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีเพื่อให้ยอมรับผู้ติดเชื้อ จนกระทั่งผู้ติดเชื้อยอมเปิดเผยตัว ซึ่งก็จะทำให้สามารถพาไปโรงพยาบาลรับยาได้ และยังช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วย ทุกวันนี้คนในชุมชนยอมรับผู้ติดเชื้อมากขึ้นจากเดิมที่พยายามกั้นรั้วบ้านไม่ให้แม้แต่ไก่ข้ามไปยังบ้านของผู้ที่ติดเชื้อ ตอนนี้รั้วทั้งหลายก็ดูจะหายไปหมดแล้ว ผู้ติดเชื้อกลายเป็นนักจัดการวิทยุชุมชนประจำหมู่บ้านร่วมกับพระและเณร ซึ่งทำให้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้นำไปสู่การอัตราการติดเชื้อที่ลดน้อยลงอย่างมากในพื้นที่นี้

ปัจจุบัน โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ต้นแบบที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาดูงาน รวมถึงพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ด้วยเพื่อหาแนวทางปรับประยุกต์ศาสนาในการแก้ปัญหาทางโลก

 

 

เยาวชนอาสากับศิลปะสร้างชีวิต สร้างโลก

ชุติมา สายแสงจันทร์ หรือ “ป้าอุ้ย” ของน้องๆ ที่ติดเชื้อเดินทางมาร่วมงานที่เวียนนา พร้อมด้วยเยาวชนที่ติดเชื้อ 2 คนซึ่งอยู่ในกลุ่มเยาวชนอาสา

 

ป้าอุ้ย หนึ่งในผู้ที่ริเริ่มงานนี้ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเยาวชนอาสา หรือ เพื่อนอาสา เป็นกลุ่มเยาวชนที่ติดเชื้อเอชไอวีและเข้ามาร่วมกิจกรรมศิลปะเยียวยาจิตใจตั้งแต่ปี 2004 จนกระทั่งเติบโตขึ้นและทำหน้าที่สานต่อภารกิจนี้กับน้องๆ ตลอดจนพัฒนาไปจนเป็นผู้รณรงค์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอดส์ให้กับผู้คนทั่วไปแล้วในทุกวันนี้

 





“มันเหมือนจากที่เขาเคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบแล้วลุกขึ้นมาทำงานเพื่อช่วยคนอื่นต่อไปได้อีก” ชุติมากล่าว

เธอกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า ช่วงปี 2004 เอ็นจีโอด้านเอดส์ที่ลงไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ขอนแก่น เชียงราย เริ่มรณรงค์เรื่องการใช้ยาต้านไวรัสในเด็ก โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ  เนื่องจากขณะนั้นเริ่มมียาสูตรของเด็กออกมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ยาส่วนมากมักทำสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่าเป็นหลัก

“เป้าหมายตอนนั้นคือให้เด็กได้รับการรักษาเร็วที่สุด เจ็บป่วยน้อยที่สุด ทำไปซักระยะ เด็กในพื้นที่ก็แข็งแรงขึ้น จากที่โฟกัสเรื่องร่างกาย ก็เริ่มไปโฟกัสที่จิตใจ เพราะเด็กดูไม่ความสุข บางคนซึมเศร้า บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว บางคนไปโรงเรียนถูกล้อ ไม่มีเพื่อน เหมือนกับว่าเขาแข็งแรงแต่ใจยังป่วยอยู่”

“เราเห็นเด็กเศร้า เราเข้าไปถามว่า หนูมีปัญหาอะไรไหม ไม่สบายใจเรื่องอะไร เด็กไม่ตอบ แต่ตอนนั้นสังเกตเห็นว่าเด็กสนใจเรื่องศิลปะได้ง่ายกันแทบทุกคน” ชุติมากล่าวถึงไอเดียเริ่มต้นที่ใช้ศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเยาวชนผู้ติดเชื้อ และเป็นช่องทางในการสื่อสารถึงกัน

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนศิลปะแหลมคม ซึ่งช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องศิลปะ โดยเน้นเรื่องการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรือผลลัพธ์ของงาน การอบรมครั้งแรกพบว่า การวาดภาพทำให้เข้าถึงสิ่งที่เด็กๆ คิดได้มาก

“อะไรที่มันรบกวนเขาอยู่มันมักจะออกมากับภาพวาด เหมือนกับเขาก็ไม่อยากจะแบกมันไว้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไง พอใช้ศิลปะก็ออกมาง่ายขึ้น และทำให้เรารู้ปัญหาและช่วยกันกับส่วนอื่นๆ หาทางแก้ไขให้มันคลี่คลายได้ ชุติมากล่าว และว่ามันยังช่วยเรื่องสมาธิ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ  

ผลงานของเด็กๆ ถูกนำไปจัดนิทรรศกาล “วาดชีวิต” และ “ฉันคือใครใยฉันจึงมี” ทำให้เด็กได้รับความภาคภูมิใจ จนทุกวันนี้ รวมถึงสามารถขายภาพหารายได้ได้ด้วย โครงการขยายไปสู่ศิลปะอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละคร หนังสั้น ถ่ายภาพ

ทุกวันนี้เด็กรุ่นแรกๆ กลายเป็นรุ่นพี่อาสาสมัคร ขยายตัวกว่า 200 คน คอยดูแล เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องรุ่นต่อๆ มา

ไอรีน เป็นนามแฝงของสาวน้อยวัย 21 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนอาสาจากจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมงานนี้ เธอกล่าวถึงความรู้สึกในการทำกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2004 ว่า รู้สึกดีที่ได้ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งกิจกรรมศิลปะยังสอนให้เธอซึ่งปกติเป็นคนชอบเก็บตัวได้เรียนรู้ว่าเธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และโลกไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

“แม้เราไม่ได้รางวัลก็ทำงานเหมือนเดิม แต่ดีใจที่เขาเห็นคุณค่าของเรา เพื่อนๆ ก็รู้สึกว่าอยากทำงานมากขึ้น อยากทำอะให้มันดีกว่านี้ เพราะเรามีศักยภาพจะทำได้” ไอรีนกล่าว

ปัจจุบันไอรีนเป็นประธานกลุ่มเยาวชนอาสาจ.เชียงรายซึ่งมักนัดประชุมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นระยะ เครือข่ายเยาวชนอาสานี้มียังมีในภาคกลาง อีสาน และภาคใต้ด้วย กลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ระดมความคิด เตรียมความพร้อมกิจกรรม ทำบัญชี เขียนโครงการขอทุน โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์เป็นพี่เลี้ยงห่างๆ  นอกจากนี้เธอยังเรียนคณะสังคมศาสตร์ สาขาการปกครอง ปี 2 ที่สถาบันแห่งหนึ่ง โดยมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากสมัครเข้ารับราชการ โดยที่ยังไม่รู้ว่าถึงวันนั้นจะมีอุปสรรคขัดขวางหรือไม่ เพียงไร

พีระ (อันที่จริงแล้ว เขาชื่อ “เล่าปี่” ต่างหาก) เป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้มีบุคลิกร่าเริงและคล่องแคล่วเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนอาสาจากสมุทรปราการ เขาชอบเข้าสังคมและมีความสุขกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการวาดรูป เข้าค่าย การแสดงละครเวที รวมไปถึงการทำงานรณรงค์ให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการป้องกันเอดส์

“เราเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เราตั้งใจ มั่นใจในตนเอง เชื่อมั่นกับสิ่งที่เราทำได้และกำลังที่เรามีอยู่  แล้วเราก็จะทำทุกอย่างเพื่อกลุ่มเราต่อไป ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้” พีระกล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท