Skip to main content
sharethis

คทป.จัดสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน: นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” เผยผลวิจัยยัน วิถีการอยู่กับป่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทำโลกร้อน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จี้ยกเลิกสูตรคำนวณค่าเสียหาย

 
วานนี้ (29 ก.ค.35) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน: นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์ เพื่อระดมความเห็นต่อสถานการณ์การฟ้องคดีข้อหาทำให้โลกร้อน และทำความเข้าใจต่อสาธารณะถึงวิถีการผลิตและการใช้ทรัพยากรที่ยังยืนของชุมชน พร้อมนำเสนอแนวทางเพื่อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร อย่างยั่งยืน และบรรเทาภาวะโลกร้อน
 
 
“ธีรยุทธ” จวก “อุทยาน” คิดค่าเสียหายโลกร้อน “ตั้งใจโง่” รังแกชาวบ้าน
 
ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงวิธีคำนวณค่าเสียหาคดีความโลกร้อนว่า การคิดคำนวณไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหารากเง้าของสังคมไทย ที่มองปัญหาที่ปลายเหตุ แต่มองข้ามรากเง้าต้นตอของปัญหา ซึ่งโดยภาพรวมแล้วมองว่าชาวบ้านและคนจนได้เป็นเหยื่อความรู้ความคิดที่ไม่ถูกต้องแบบโมเดิร์นไนเซชั่น อันเป็นกระบวนการทำให้ทันสมัยโดยอำนาจทุนนิยมตะวันตกเอามาใช้เพื่อเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีดจากประเทศยากจน ในขณะที่รัฐเองก็ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาด้วยเช่นเดียวกัน 
 
กระบวนการคิดแบบโมเดิร์นไนเซชั่นนี้ เป็นรากเง้าที่สร้างปัญหาทำให้เกิดข้อถกเถียง ไม่เพียงแต่กรณีที่ดิน-ป่าไม้ ยังรวมถึง ปัญหาสลัม แรงงาน ผู้อพยพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อำนาจไม่ได้กระจายเต็มที่ ไม่ได้สมดุล หากการพัฒนาไม่อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องปัญหาก็จะสืบเนื่องต่อไป ตรงนี้นำมาสู่การปฏิรูปประเทศที่ต้องมองมาจากฐานความรู้ ฐานคิดที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม มีความเข้าใจปัญหาร่วมกัน ถัดไปเราต้องทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมด้วย
 
ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ กล่าวต่อมาถึงความยุติธรรมว่า พิจารณาได้หลายแง่มุม สำคัญคือต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่จริงเข้าด้วยกัน ในเชิงประวัติศาสตร์พิจารณาปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมาใครเป็นตัวการ จากการตามข่าว จีนมีวิธีคิดที่มองเชิงประวัติศาสตร์ว่า ปัญหาโลกร้อนนั้นเกิดจากการพัฒนาของประเทศตะวันตกที่มีมาหลายร้อยปี จีนจึงไม่ยอมรับกติกาสากลที่เสนอแนวทางต่อสภาวะปัจจุบัน เพราะยังต้องการพัฒนาประเทศ และคิดว่าประเทศพัฒนาแล้วควรเป็นผู้รับผิดชอบก่อน ในส่วนของประเทศไทยหากพิจารณาใครก่อให้เกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ ทั้งโรงงาน และคนเมืองต่างก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาโลกร้อน
 
ธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า กระบวนการคิดคำนวณความเสียหายของสภาพแวดล้อม ที่ครอบคลุมแค่เรื่องดิน น้ำ ต้นไม้ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนขึ้นนั้น มีความซับซ่อน จะมาใช้วิธีคิดคำนวณง่ายๆ อย่างที่ทำอยู่ในวันนี้ไม่ได้ ต้องทำงานการบ้านให้มากกว่านี้ ซึ่งมีกรอบวิธีคิดเยอะมากที่จะคิดค่าเสียหายในรูปแบบต่างๆ และทำได้ทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อต่อชาวบ้าน เอื้อและไม่เอื้อต่อความเข้าใจกัน ทั้งนี้ นักวิชาการในด้านนี้และชาวบ้านน่ามีการช่วยกันคิดเรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ และวิธีการแก้ปัญหาทำได้อย่างไร
 
“เป็นวิธีคิดแบบตั้งใจโง่ คนที่มีเหตุ มีผล มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะไม่กล้าคิด” ธีรยุทธแสดงความเห็นต่อการคิดค่าเสียหายกับชาวบ้าน
 
ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวตามจริงไม่สนับสนุนการรุกทำลายป่า แต่กระบวนการที่จะแก้ปัญหาควรดูวิธีการ อย่างไรก็ตามศาลน่าจะมีส่วนในการช่วยเหลือ ร่วมทั้งการปรับกระบวนการคิดใหม่ เพราะกระบวนการพัฒนาที่รัฐเป็นฝั่งผิดพลาดตั้งแต่ต้นและส่งผลกระทบให้เกิดกับชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นต้นตอของปัญหา หากมองเห็นก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อชาวบ้านได้
 
 
 
เกณฑ์คำนวณค่าเสียหายของป่าต้นน้ำตามหลักการแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกรมอุทยานฯ
 
1. การทำให้สูญหายของธาตุอาหาร คิดค่าเสียหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี
2. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี
3. ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี
4. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี
5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
6. ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี
7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ
7.1 การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท
7.2 การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท
7.3 การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหายจำนวน 18,634.19 บาท
    
เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด(ตามข้อ7.1-7.3)ซึ่งมีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม(ข้อ1-6) จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท แต่เพื่อความสะดวกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคิดค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี

 
 
เผยมีชาวบ้าน ถูกฟ้อง 131 คดี กว่า 500 ราย
 
อารีวรรณ คูสันเทียะ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลคดีความที่มีการรวบรวมล่าสุดในปี 2553 โดยทีมทนายความของเครือข่ายฯ พบว่ามีสมาชิกที่ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาข้อหาบุกรุก ทั้งหมด 131 คดี จำนวน 500 ราย จากทั่วประเทศ ดำเนินคดีความทางแพ่ง ข้อหาทำให้โลกร้อน จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย มูลค่าความเสียหายที่ทางกรมอุทยานเรียกเก็บจากชาวบ้านโดยรวมกว่า 17,559,434 บาท ทั้งนี้ ชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาแล้วทั้งสิ้น ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีความทางแพ่ง 
 
ส่วนรายละเอียด ขณะนี้มีเกษตรกรอยู่ระหว่างการบังคับคดี 1 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชำระค่าเสียหาย 1 ราย และวันที่ 3-6 สิงหาคมนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอีก 16 ราย
 
อารีวรรณ กล่าวต่อมาถึงงานวิจัยวิถีชุมชนทองถิ่น ผู้สร้างภาวะโลกเย็นว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลผลการศึกษาไปใช้อธิบาย ต่อสู้ทางคดีความในชั้นศาล และสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการผลิต และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชนที่สัมพันธ์กับเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางนิเวศ โดยได้ ลงสำรวจในภาคเหนือ ที่ชุมชนห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในภาคอีสาน ที่ชุมชนห้วยกลทา-ห้วยระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และภาคใต้ ที่ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง และชุมชนบ้านตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 
 
แสดงศักยภาพการกักเก็บคาร์บอน 
 
 
 
 
พบว่าวิถีการผลิตต่อการกับเก็บและปลดปล่อยคาร์บอน ที่ชุมชนห้วยหินลาด ป่าชุมชนมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีสูญเสียจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนและนาข้าว 548 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียคือร้อยละ 99.92:0.08 ในชุมชนห้วยกลทา ป่าชุมชน (ป่าเต็งรัง) และสวนมะขามมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์รวม 2,356 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียในไร่ข้าวโพด 3.69 ตันต่อไร่ต่อปี ชุมชนมีสัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียร้อยละ 99.43:0.57 ส่วนที่ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ป่าชุมชนมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11,373.89 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียจากยางพารา 1,201.76 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียคือร้อยละ 72:28 
 
ส่วนวิถีการผลิตที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมินั้น มีการศึกษาโดยวีการติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์ในระดับความสูงต่างๆ ตั้งแต่ผิวดิน ไปจนถังเหนือผิวดิน 1.5 เมตร ในพื้นที่เพาะปลูกรูปแบบต่างๆ เทียบกับพื้นที่ป่า พบว่าโดยสรุป อุณหภูมิในพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้สูงกว่าป่าธรรมชาติเสมอไป บางกรณีทำให้อากาศเย็นมากกว่า เช่น กรณีสวนมะขามเมื่อเทียบกับป่าเต็งรัง และแม้จะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงกว่า แต่ก็สั้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ 4-6 ชม.เท่านั้น ในขณะที่ช่วงกลางคืนอุณหภูมิกลับต่ำกว่า ทั้งนี้ เหนือผิวดิน 50 ซม.ขึ้นไปอุณหภูมิแทบไม่ต่างป่าธรรมชาติ
 
“วิถีการอยู่กับป่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ได้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” ผู้ทำการศึกษากล่าวถึงข้อสรุปที่ได้รับและเสริมว่า
 
“ชุมชนเกษตร ดำรงวิถีเพื่อความอยู่รอด ไม่ให้ทำเกษตร ไม่ให้ทำมาหากินกันป่าจะให้พวกเขาไปทำอะไร การศึกษานี้เพื่อตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างร่มเย็นและถาวร”
 
 
อัด "สูตรค่าเสียหายโลกร้อน" ใช้เศรษฐศาสตร์ที่ไร้เศรษฐธรรม เสนอกรมอุทยานฯ ยกเลิก
 
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการจัดทำแบบจำลองการคิดมูลค่าความเสียหายของกรมอุทยานฯ เป็นการใช้เศรษฐศาสตร์ที่ไร้เศรษฐธรรมคือ มีการคิดค่าเสียหายแบบเลือกปฏิบัติกับเกษตรกรรายย่อยไม่ได้คิดกับทุกคนในเขตเมือง หรืออุตสาหกรรมที่ก็มีส่วนในการก่อปัญหา และตามแบบจำลองเป็นการคิดค่าเสียหายแบบแยกส่วนไม่ดูวิถีชีวิต เช่น พื้นที่บ้านห้วยกลฑา ชาวบ้านดูแลป่ากว่า 1,500 ไร่ แต่ถูกจับเพราะปลูกข้าวโพด 9 ไร่ เป็นต้น อีกทั้งไม่ได้ตั้งอยู่บนการสำรวจในพื้นที่จริง จึงเสนอให้กรมอุทยานฯ ต้องยกเลิกแบบจำลองนี้
 
ด้าน ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเก็บข้อมูลกล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน พบว่าสิ่งที่ช่วยในการอนุรักษ์ คือการที่ชาวบ้านรักษาพื้นที่ป่าโดยมีการใช้ทั้งความเชื่อและองค์ความรู้ท้องถิ่น มีป่าริมน้ำเป็นทีเป็นเส้นทางเชื่อมของสัตว์ป่าเดินทางระหว่างอุทยานกับป่าชุมชน อีกทั้งช่วยป้องกันการชะล้างดินริมฝั่งและเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน มีวิถีการเกษตรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ เช่น ตัดพืชคลุมดินก่อนฤดูแล้ง ทำสวนยางพารา 4 ชั้นอายุ และการเปลี่ยนยางใหม่โดยขวางแนวลาดชันที่ป้องกันการชะล้างหน้าดิน รวมทั้งมีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชดั่งเดิม
 
ส่วน ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องสิทธิชุมชนซึ่งระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิโดยทั่วไปของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะเอาการพัฒนามากดทับสิทธิชุมชนไม่ได้ อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งสิทธิชุมชุน มีองค์ประกอบ 4 ข้อคือ 1.ชุมชนต้องพร้อมแสดงออกว่าเป็นผู้มีสิทธิชุมชน ให้ปรากฏ 2.แสดงตนว่ามีความสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพียงพอคือสูงกว่ากรมป่าไม้ สูงกว่าจึงควรเป็นผู้ดูแลยิ่งกว่า 3.สามารถระบุบ่งได้ว่าเกี่ยววิถีชีวิตและจัดการทรัพยากรอย่างไร 4.พร้อมทำข้อตกลงกับองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือรัฐ ในการจัดการพื้นที่ ด้วยการระบุวิธีและกระบวนการอันเป็นส่วนหนึ่งของจารีต ประเพณีวัฒนธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเพื่อการดำรงอยู่ด้วยความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
 
“สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิทำกิน ไม่ใช่สิทธิทำทุน” ดร.กิตติศักดิ์กล่าว
 
ขณะที่ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ กล่าวถึงเกณฑ์คำนวณค่าเสียหาย 7 ข้อว่า ไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงได้ เพียงแต่อ้างการเข้าไปทำกินในป่าสงวนว่า ย่อมมีการตัดต้นไม้ เมื่อมีการตัดต้นไม้ย่อมทำให้อากาศร้อนขึ้น แต่ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ มีแต่สูตรคำนวณทั่วๆ ไป อีกทั้งยังนำข้ออ้างใช่สิ่งที่ไม่เป็นทรัพย์ที่คำนวณได้มาตีขลุมเป็นทรัพย์สินของรัฐเพื่อมาใช้เรียกค่าเสียหาย เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น
 
นอกจากนั้น นายแสงชัย ยังกล่าวแสดงความห่วงใยถึงข้อตกลงระหว่างประเทศในการซึ้อขายคาร์บอน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเลี่ยงความรับผิดชอบจากอุตสาหกรรมโดยโยนความรับผิดชอบสู่ภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ หากการทำกินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนตัวคิดว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดี่ยวกัน อุตสาหกรรมกลับพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดและได้รับการสนับสนุนของรัฐ โดย คาร์บอนเครดิต และฉลากคาร์บอน ไม่อยากเห็นคดีเหล่านี้มาเป็นตัวผลักดันชาวบ้าน แต่ต้นตอที่แท้จริงกลับหาไม่เจอ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net