Skip to main content
sharethis

ประชุมวุฒิฯ เดือด ซัดนัวปมเก้าอี้ "จารุวรรณ"/ “กสม." จี้ตั้งกรรมการอิสระสู้ปมพระวิหาร/ทนาย นปช.ร้องอัยการสูงสุด สอบพยานเพิ่ม 250 ปากก่อน สั่งคดี 25 แกนนำก่อการร้าย/ศาลนัดฟังคำสั่ง “มาร์ค” ฟ้อง “แม้ว” 9ส.ค.นี้ รวบเสื้อแดงฝืน พ.ร.ก.พกเสื้อเกราะ ซุกประทัด-ลูกเหล็กเหตุการณ์ปะทะวิภาวดี

 
 
ประชุมวุฒิฯ เดือด ซัดนัวปมเก้าอี้ "จารุวรรณ"
 
เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญนิติบัญญัตินัดแรก มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถิ์ ได้สอบถามประธานวุฒิสภา กรณีมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ได้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาว่า ควรให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพราะมีอายุครบ 65 ปี กลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง.ต่อ เพื่อประโยชน์ในด้านการตรวจสอบ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ และที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภาสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ด้วยหรือ โดยนายประสพสุขชี้แจงว่า สตง.ได้ส่งเรื่องมาถึงตนเพื่อให้พิจารณา จึงได้ให้คณะที่ปรึกษากฎหมายฯ พิจารณาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของประธานฯ เมื่อได้เสนอความเห็นมาแล้ว ตนก็ได้รับทราบเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการอย่างไร ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายไม่มีส่วนผูกพันทางกฎหมาย หากมีคนมาสอบถามตน ก็จะชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ลุกขึ้นสอบถามว่า เมื่อวัน 30 ก.ค. มีข่าวปรากฏโดยอ้างบันทึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ระบุถึงความเห็นคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาในเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกแปลกใจว่า คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งทำงานเพื่อวุฒิสภา แต่เหตุใดจึงมีบันทึกออกไปเปิดเผยอยู่ภายนอกได้ ทำให้สื่อมวลชนนำไปอ้าง ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อไปตรวจสอบกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่ามีบันทึกออกไปจริงหรือไม่ กลับดูไม่ได้ นายประสพสุขชี้แจง ว่า เรื่องนี้คณะที่ปรึกษากฎหมายฯให้ความเห็นมา แต่ตนรับทราบเฉยๆ ไม่ได้ดำเนินการใดต่อ
 
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากคณะที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาเรื่องนี้ทำความเห็นเสนอประธานวุฒิสภาแล้ว คุณหญิงจารุวรรณ ได้ทำหนังสือเสนอมายังคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ ในช่วงที่ประธานวุฒิสภาไปราชการในต่างประเทศ โดยหนังสือระบุว่า มีความต้องการที่จะได้บันทึกความเห็นดังกล่าวเพื่อนำไปประกอบดุลยพินิจของคุณหญิงจารุวรรณเอง ในฐานะประธานที่ปรึกษากฎหมายฯเห็นว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้เป็นความลับอะไร จึงนำส่งไปให้อย่างถูกต้องตามระบบสารบรรณ ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษากฎหมายฯถูกต้องทุกประการ รองรับด้วยข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา อำนาจของประธานวุฒิสภา การพิจารณาได้ทำอย่างถูกต้องทุกประการ
 
“ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากผู้ว่า สตง. แต่อาจเกิดจากผู้ผิดหวังบางคน ที่ผิดหวังหรือเสียประโยชน์ไม่ได้ตำแหน่ง หรือบางคนที่ชักใยอยู่ข้างหลังที่ต้องการสิ่งที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการที่ ไม่ถูกต้อง หนังสือของคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ เป็นแค่ความเห็นทางกฎหมาย ผลจะมีหรือไม่อยู่ที่ผู้อ่านว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทั้งหมดไม่ใช่ความเห็นชี้ขาด ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เคยวินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นแต่เพียงความสงสัยของคุณหญิงจารุวรรณเองเท่านั้น การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยโปร่งใส แต่ถ้าเพื่อนสมาชิกเห็นว่าพวกผมทำหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ก็ขอให้ไปฟ้องให้ตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”นายไพบูลย์กล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ยังขอสำเนาหนังสือความเห็นเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งบันทึกการปะชุม หนังสือที่ออก และหนังสือความเห็นที่ส่งไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยอยากทราบว่าผู้ที่ส่งหนังสือคือใคร ใครเป็นผู้ลงนาม ลงนามในสถานะใด โดยกำหนดภายในวันนี้ ทำให้นายไพบูลย์ กล่าวตอบโต้ว่า เรื่องการขอเอกสารขอให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุรายละเอียดว่าต้องการหนังสืออะไร หากไม่มีลายลักษณ์อักษรจะไม่สามารถส่งเอกสารให้ได้
 
 
 
 
"กสม." จี้ตั้งกรรมการอิสระสู้ปมพระวิหาร
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงาน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้พิจารณากรณีคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนรับรองแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ไปปีหน้า
 
นายปริญญา กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลื่อนครั้งนี้มีประเด็นลึกๆ อย่างไรหรือไม่ เพราะนายสก อาน รองนายกฯ ของกัมพูชา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้รับชัยชนะ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการพูดเพราะมีข้อมูลอะไร หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ นอกจากนี้การเลือนพิจารณาก็เป็นเพราะปัญหาเรื่องเทคนิคไม่ได้มาจากข้อมูลที่นำไปสู้
 
"รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำงาน เพราะหากในอนาคตรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ก็จะมีผู้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาทางฝ่ายกัมพูชามีคนที่ต่อสู้เรื่องนี้ต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงต้องการทีมงานเฉพาะกิจที่มีความมั่นคง" 
 
ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังกลับถึงประเทศไทยว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมาเราไม่ได้รับความร่วมมือเรื่องเอกสาร ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือ 1.ต้องเร่งขอเอกสารจากคณะกรรมการมรดกโลก 2.การนำเอกสารต้องรีบนำเอกสารมาพิจารณาข้อถูกต้องหรือเงื่อนไขของกฎหมาย 3.ต้องทำความเข้าใจกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ 4.เปิดการเจรจาพูดคุยกับทางกัมพูชา หาข้อยุติเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย
 
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีเขาพระวิหาร เตรียมเคลื่อนไหวและกดดันกรณีปราสาทพระวิหาร โดยจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า เคยพูดหลายครั้งแล้วว่าถ้ามีความคิดเห็นที่แตกต่างก็มาพูดคุยกันได้ แต่อย่าไปทำให้เกิดลักษณะที่เหมือนกับว่าในบ้านเมืองของเรามีความขัดแย้งกันเองในเรื่องนี้
 
 
 
 
ทนาย นปช.ร้องอัยการสูงสุด สอบพยานเพิ่ม 250 ปากก่อน สั่งคดี 25 แกนนำก่อการร้าย 
 
มติชนออนไลน์รายงาน เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายสมหมาย กู้ทรัพย์ นายองอาจ คำทอง นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และทีมทนายความแนวร่วม นปช. เดินทางเข้าพบนายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด ในการสั่งคดีที่ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช. รวมทั้งแนวร่วม นปช. รวม 25 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-3 โดยผู้ต้องหา ขอให้อัยการ สอบสวนพยานเพิ่มเติมรวม 250 ปาก ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
 
โดยนายรุจ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า จะรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไว้พิจารณา ซึ่งนอกจากหนังสือแล้ว ทีมทนายความยังยื่นหนังสือที่นักวิชาการเขียนเกี่ยวกับการชุมนุม ชื่อ “ ความจริงวันนั้น” และ “ไขปริศนาใครฆ่าประชาชน” ประกอบการพิจารณาของอัยการด้วย ส่วนอัยการจะสั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติม หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งขณะนี้สำนวนที่ดีเอสไอ ส่งมอบให้นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด คณะทำงานอัยการคดีพิเศษ ได้พิจารณาไปบ้างแล้ว ส่วนจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด หรือไม่ในความผิดฐานก่อการร้าย ก็ต้องพิจารณาพฤติการณ์ผู้ต้องหาแต่ละราย ไม่ได้หมายความถ้าสั่งฟ้องจะฟ้องทุกคนในความผิดดังกล่าว ซึ่งสำนวนที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปส่งให้อัยการ มีการกล่าวหาข้อหาอื่นด้วย ส่วนการพิจารณาจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อัยการจะดำเนินการให้เร็วที่สุดและพยายามให้ทันระยะเวลาฝากขังที่เหลืออยู่ โดยส่วนตัวคาดว่าจะพิจารณาสำนวนเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
 
ขณะที่นายสมหมาย หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า หนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่ยื่นต่ออัยการ ขอให้สอบพยานซึ่งเป็นนักวิชาการ ผู้ชุมนุมที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งญาติผู้ที่เสียชีวิต รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายที่สู้ว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากอัยการจะสอบสวนเพิ่มเติม ทีมทนายความก็พร้อมที่จะติดตามพยานมาให้เนื่องจากแต่ละคนมีถิ่นที่อยู่ในต่างจังหวัดด้วย ส่วนจะสั่งสอบพยานทั้งหมดหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของอัยการ แต่หากอัยการจะไม่สั่งสอบสวนเพิ่มเติม แล้วถ้ามีการยื่นฟ้องต่อศาล ทีมทนายความ ก็จะนำพยานกลุ่มดังกล่าวเบิกความต่อศาลต่อไป เพราะพยานกลุ่มนี้จะเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งหมด  อย่างไรก็ดียืนยันการร้องขอความเป็นธรรม ให้สอบพยานถึง 250 ปาก ไม่ได้มีเจตนา เพื่อประวิงเวลาสั่งคดีแต่อย่างใด
 
ด้านนายวิญญัติ ทนายความ ยังกล่าวถึงการยื่นประกันตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง และ น.พ.เหวง โตจิราการ เพิ่มเติมหลังจากศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.ว่า เตรียมจะยื่นภายในสัปดาห์นี้ โดยจะยกเหตุผลเดียวกับของนายวีระ ส่วนแกนนำ นปช.คนอื่นๆ จะรอจังหวะยื่นตามลำดับต่อไป
 
 
 
 
ศาลนัดฟังคำสั่ง “มาร์ค” ฟ้อง “แม้ว” 9ส.ค.นี้
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงาน (2ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ครั้งแรกคดี อ .1074/ 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 , 326 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 14 - 17 มี.ค.53 เวลา 20.00 - 22.000 น. จำเลยวีดีโอลิงค์ ผ่านเวทีการปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่มีการถ่ายทอดทางช่องพีเพิ่ล แชนแนล และวิทยุ ไปทั่วประเทศ ทำเข้าใจว่าโจทก์ มีอาการป่วยทางจิต เป็นคนใจอำมหิต โหดเหี้ยม ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน ที่ใช้กำลังปราบปรามเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.52
 
โดยนายอภิสิทธิ์ เข้าเบิกความเป็นพยานด้วยตัวเองเพียงปากเดียว สรุปว่า ที่จำเลยอ้างถึงคลิปเสียงของโจทก์สั่งการให้ทหารใช้ความรุนแรงนั้น ได้มีการตรวจสอบด้วย คุณหญิง พ.ญ.พรทิพย์ โรจน์สุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แล้วว่าเป็นการตัดต่อคลิปเสียง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังหาต้นตอของผู้ทำการตัดต่อไม่ได้ แต่ก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุชุมนุม เมื่อปี 2552 โจทก์ยืนยันว่าได้สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม และจากการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมเมื่อปี 2552 ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวถึงปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาลโจทก์ เมื่อมีการกล่าวหา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทันที และมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ ขณะที่การบริหารราชการการเมืองของโจทก์ที่ผ่านมา ไม่เคยถูกตัดสินคดีว่าทุจริตคอรัปชั่น หรืแอถูกยึดทรัพย์แต่อย่างใด
 
สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นเพราะระบบอำมาตย์ถึงได้มาเป็นรัฐบาลนั้น โจทก์ยืนยันว่าโจทก์ได้รับเลือกจากระบบลงคะแนนเสียงในสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้ลงแข่งขันด้วย และในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้จะได้รับคะแนนเสียงน้อย แต่ ส.ส.ในสภาก็ใช้ดุลพินิจสนับสนุนให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
 
นายอภิสิทธิ์ ยังเบิกความถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พาดพิงถึงการใช้ความรุนแรงว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่าตนมีสุขจิตไม่ปกติ ถือเป็นการพูดที่ยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เองที่เคยเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนเหตุการณ์บานปลาย และเหตุการณ์มิสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ที่ อำเภอตากใบ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่กักขาอยู่ รวมทั้งนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000 คน
 
ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
 
ที่มา: คมชัดลึก 
 
 
 
รวบเสื้อแดงฝืน พ.ร.ก.พกเสื้อเกราะ ซุกประทัด-ลูกเหล็กในเหตุการณ์ปะทะวิภาวดี
 
เนชั่นทันข่าวรายงานว่ากองกำกับการอำนวยการ 2 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รายงานผลการสืบสวนติดตามคดีค้างเก่าที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.มายัง พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาว่า วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ดอนเมือง จับกุมตัว นายชัยพร คำทองทิพย์ อายุ 38 ปีตามหมายจับ ข้อหามีเครื่องยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ซึ่งใช้ในราชการไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศหรือคำสั่งที่ออกความในมาตรา 9, 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายจับศาลอาญาที่ 1632/2553 ลงวันที่ 28 ก.ค.
 
รายงานระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 28 เม.ย.กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นปช.ได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกมุ่งหน้าตลาดไท และได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน ซึ่งนายชัยพรได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น เสื้อเกราะจำนวน 1 ตัว ประทัดลูกกลมพลาสติกจำนวน 4 ลูก ลูกเหล็กกลมจำนวน 58 ลูก ได้ที่ตู้เก็บของนายชัยพรในห้องพักรักษาตัว โดยนายชัยพรให้การว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นของตนจริง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถติดตามตัวมาเพื่อทำการแจ้งข้อหาได้ จึงได้ขออนุญาตศาลออกหมายจับ และติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ในที่สุด
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net