Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำขอคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราว คดีชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ฟ้องเร่งการพิจารณาประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี ตัวแทนบริษัทฯ ชี้หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญา

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 เวลา 11.00 น.ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ โดยการคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราว ก่อนมีการพิพากษาคดี กรณีชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง ฟ้องให้เร่งการพิจารณาประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี ณ ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลปกครองกลาง

 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 มี.ค.53 เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นคดีปกครองฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี และไม่ประกาศกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จ.สระบุรีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
จากรณี การอาศัยช่องว่างของกฎหมายในขณะที่ผังเมืองยังไม่ประกาศใช้บังคับ อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ คือกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าหนองแซง) ขนาด 1,650 เมกะวัตต์ ของบริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด ในพื้นที่ ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งตามร่างผังเมืองรวมจะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ที่มีข้อห้ามไม่ให้มีการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การดำเนินการจัดทำผังเมืองรวม จ.สระบุรีเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ
 
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ และเจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่าขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ส่วนการนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้นั้นเป็นผลเนื่องมาจากทาง บริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด ได้ร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ดังนั้นจึงต้องมีการไต่สวนเพิ่มเติมถึงความเสียหายที่ทางบริษัทอาจได้รับหากมีการคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่
 
สงกรานต์ให้ข้อมูลด้วยว่า ศาลได้ตั้งคำถามต่อตัวแทนบริษัทเอกชนถึงความรับรู้เรื่องการประกาศผังเมือง ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ตอบว่ารู้ว่าจะมีการประกาศฝังเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 และได้ขออนุญาตจัดทำโครงการในพื้นที่เนื่องจากคิดว่าจะสามารถทำได้ทันก่อนที่ฝังเมืองจะประกาศใช้
 
ทั้งนี้ ระหว่างการใช้สิทธิทางศาลของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.53 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ (กกพ.) ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่ ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ให้กับ บริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด แต่ท้ายใบอนุญาตดังกล่าวระบุไว้ว่า หากมีมติ ครม.ยกเลิก 67 โครงการ (จาก 76 โครงการที่ถูกระงับคราวแรก)
 
สงกรานต์ เผยว่าต่อประเด็นดังกล่าวศาลได้ตั้งคำถามกับตัวแทนบริษัทเอกชนว่า ไม่ว่าศาลจะสั่งคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราวหรือไม่คุ้มครอง เอกชนก็มีความเสียงที่จะไม่สามารถดำเนินกิจการในพื้นที่ได้ ใช่หรือไม่ ตัวแทนบริษัทฯ ตอบว่า มีความแตกต่างกัน โดยหากต้องยุติโครงการอันเนื่องมาจาก มติ ครม.ถือว่าเป็นความเสียงทางธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ รับได้ แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ทางบริษัทยอมรับไม่ได้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับ กฟผ. ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ทราบว่าสัญญาดังที่กล่าวอ้างถึงได้ระบุข้อความไว้ว่าอย่างไร
 
สงกรานต์ กล่าวด้วยว่า ในการไต่สวนครั้งนี้ทำให้ทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวว่า มีแผนจะเข้าปรับปรุงพื้นที่ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยตามแผนจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ 1 ปี และมีกำหนดในการก่อสร้างเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2014 (พ.ศ.2557) นอกจากนั้น ทางตัวแทนบริษัทฯ ยังระบุด้วยว่าหากโครงการดังกล่าวไม่สามารถก่อสร้างได้จะส่งผลกระทบถึงขั้นเป็นวิกฤติพลังงานของประเทศ
 
ส่วนชาวบ้านได้เบิกความให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายและการถูกละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งการละเมิดสิทธิชุมชนอันเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งชาวบ้านหวั่นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในพื้นที่
 
สำหรับผลการพิจารณา สงกรานต์กล่าวว่าหากข้อมูลไม่เพียงพอ ศาลสามารถนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีกได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าศาลเข้าใจในประเด็น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ หากจะมีการคุ้มครองครองชั่วคราว คงต้องมีการทำข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เพราะเรื่องนี้อาถูกหยิบยกไปเป็นฐานให้พื้นที่อื่นๆ นำมาเป็นตัวอย่างในการฟ้องร้องอีกมาก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาความล้าช้าในการประกาศผังเมืองรวม
 
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 นับจากที่ศาลได้ไต่สวนคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 เม.ย.53 และรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.53 จากนั้นได้มีการนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 17 มิ.ย.53 และลงเดินเผชิญสืบในพื้นที่วันที่ 9 ก.ค. 53 ซึ่งหากนับรวมการลงเดินเผชิญสืบก็ถือว่า กรณีดังกล่าวมีการไต่สวนแล้วรวม 4 ครั้ง
 
 
 
 
 
คดีผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
(คดีหมายเลขดำที่ 495/2553 ศาลปกครองกลาง)
 
ระหว่าง นายบุญชู วงษ์อนุ และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีชีวิตเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรีรวม จำนวน 56 คน ผู้ฟ้องคดี
(ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โดย นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นายสุรชัย ตรงงาม และ นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ดำเนินการฟ้องคดี)
 
กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1, กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ 2, เจ้าพนักงานการผัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ที่ 3, คณะกรรมการผังเมือง ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี
 
ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี และไม่ประกาศกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม
 
สรุปคำฟ้อง
 
ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดสระบุรีอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด โดยกระบวนการจัดทำได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 มีการดำเนินการผ่านขั้นตอนที่สำคัญจนได้ร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองแล้วตั้งแต่ปี 2549 และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณารับหลักการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เหลือเพียงขั้นตอนภายในหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองมาแล้วได้ รวมเวลาตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว แต่การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมและระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ระบุว่าระยะเวลาการจัดทำผังเมืองรวมตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น จนสิ้นสุดกระบวนการจะใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้นเพียง 24 เดือน หรือประมาณ 2 ปีเท่านั้น
 
ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมโยธาธิการและผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ไม่ดำเนินการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ทั้งที่ใช้เวลาจัดทำมานานกว่า 7 ปี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
 
การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ดังกล่าว เป็นเหตุให้ยังคงมีการใช้ประโยชน์ที่ดินขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯ เรื่อยมา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งตามร่างกฎกระทรวงฯ ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ที่ขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯ เรื่อยมา และกำลังมีการขออนุมัติอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ อำเภอหนองแซงด้วย ซึ่งหากปล่อยให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯได้ต่อไป ย่อมทำให้ผังเมืองรวมที่จัดทำขึ้นมาโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วเป็นอันไร้ผล ไร้ความหมาย อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการผังเมือง ที่มุ่งคุ้มครองป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ตาม“หลักการระวังไว้ก่อน” (Precautionary Principle) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพกว่าการแก้ไขเยียวยาภายหลัง ทั้งยังเป็นการขัดต่อความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีและชุมชนที่ตั้งอยู่ในอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่ต้องการอนุรักษ์จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา อันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ด้วย
 
ทั้งนี้ นอกจากจะไม่ดำเนินการประกาศผังเมืองรวมแล้ว การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ), ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่3) และคณะกรรมการผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ก็ไม่ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินในระหว่างที่กระบวนการจัดทำผังเมืองรวมยังไม่แล้วเสร็จ โดยโดยเฉพาะการห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวขัดกับร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศใช้บังคับ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน
 
คำขอของผู้ฟ้องคดี
1.ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีภายใน 30 วันนับแต่ศาลพิพากษาหรือตามที่ศาลเห็นสมควร
 
2. ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี โดยกำหนดห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการประเภทโรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กตามบัญชี แนบท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ในพื้นที่ถูกกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในพื้นที่ จังหวัดสระบุรี ตามร่างกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net