จับตาภาคประชาชน: “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน?”

ความเห็นจาก 2 ชาวบ้านนักเคลื่อนไหว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ต่อ “ขบวนการภาคประชาชน” และ “NGO” ใน ซีรี่ส์สั้นๆ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” กิจกรรมตีปี๊บ “เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย 

 
ตอนที่ 3: เรวัติ อินช่วย ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
 
 
"ภาคประชาชนของเราเพื่อรวมกระบวนการการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน"
 
"NGO ต้องปรับตัวแบบให้มันชัดเจน อย่าทำให้เห็นแบบลูกครึ่ง แบบครึ่งราชการ-ชาวบ้าน เพราะบางคนมันออกมาไม่ชัดเจน เราก็เชื่อไม่ได้ว่ามันอยู่ฝ่ายไหน ...ชาวบ้านเองเดือดร้อนมาจาก NGO เหมือนกัน เพราะมันเป็นตัวสืบนำทางเรา ถ้าเขาไม่ชัดเจน เราก็เชื่อไม่ได้..." ความเห็นจาก เรวัติ อินช่วย ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 
 
 
00000
 
 
 
ตอนที่ 4: เฉลิมชัย คงเหมือน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
 
 
"ปัจจุบันประชาชนถ้าไม่รู้จักปัญหาของตัวเอง และคิดจะแก้ปัญหาของตัวเอง ผมคิดว่าคงจะหาคน... จะพึงคนอื่นไม่ได้แล้วแหละ"
 
"NGO ถ้าจะปรับตัว... ส่วนหนึ่งต้องเอาปัญหาชาวบ้านเป็นที่ตั้ง อย่าคิดถึงเรื่องอื่นเกินไป ผมคิดว่ายังมีช่องทางอีกเยอะที่จะทำงานร่วมกับชาวบ้าน สำหรับ NGO นะ..." ความเห็นจาก เฉลิมชัย คงเหมือน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง 
 
 
00000
 
 
 "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" กับการต่อสู้ของ "ภาคประชาชน"
 
แนวความคิดจากอดีต "ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ" คือเจตนารมย์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2517 และถือเป็นขบวนการชาวนากลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินของตนเอง อันสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่ว่า 
 
"ที่ดินคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เกษตรกรหรือผู้ทำการผลิตอาหารต้องมีอยู่ในมือของตนเอง เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของครอบครัวและชุมชนชาวนาชาวไร่ และเชื่อมโยงถึงความมั่นคงทางอาหารของสังคมโดยรวม"
 
สิ่งที่พวกเขาตระหนัก คือ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินของผู้ทำการผลิต ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรรายย่อย และคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ดำเนินมายาวนานและคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการที่มีที่ดินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ หากแต่เป็นเพราะนโยบายและกฎหมายที่มีปัญหา ทำให้ที่ดินกระจุกตัวอยู่กับคนรวยเพียงไม่กี่คน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดิน 
 
การถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม และวิกฤตินโยบายที่ดินในประเทศไทย ได้ทำให้เกิดพัฒนาการต่อสู้และผลสืบเนื่องทางอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อที่ดิน ของคนจนมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ส่งผลสืบเนื่องสู่การต่อสู้เพื่อที่ดิน การพัฒนากลุ่มคนไร้ที่ดิน และองค์กรชาวนาไร้ที่ดินขยายออกไปมากมายในหลายจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศ เป็นขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ที่มีการปฏิบัติการจริง 
 
ต่อมาในปี 2544 กลุ่มคนไร้ที่ดินรายย่อยจากภูมิภาคต่างๆ พยายามที่จะเรียนรู้ระหว่างกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของ "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" ด้วยการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ของคนไร้ที่ดิน โดยมีข้อตกลงร่วมในการบริหารจัดการองค์กรคนไร้ที่ดินในภูมิภาคต่างๆ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย และปฏิรูปกฎหมายที่ดินเพื่อกระจายที่ดินสู่คนจนอย่างเป็นธรรม
 
ถึงวันนี้ พวกเขาได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จากการผลักดันแนวทางโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นแนวนโยบายของภาคการเมืองในการจัดการเรื่องที่ดิน เพื่อเกษตรกรจะสามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงสังคมได้ต่อไป
 
 
..............................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท