Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เขียนบทความเรื่อง"ผมเห็นเด็กกำลังจะตายเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เชียงราย"ผมก็คิดไปเองว่าคงจะไม่มีใครไปหาเรื่องหรือเอาเรื่องเอาราวกับเด็กนักเรียนอีก เพราะบทความชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "การดำเนินคดีกับเด็กนักเรียนและนักศึกษากลุ่มนี้ เป็นการบ้าจี้หรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่พยายามที่จะยัดเยียดความผิดให้ กับเด็ก เพื่อที่จะสร้างผลงาน โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม" และบทความนี้ ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ และทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผมมองโลกอย่างคนธรรมดาว่าคงจะมีผู้มีอำนาจที่ตระหนักถึงความไม่ถูกต้องนี้ และสั่งลงมาว่าอย่าไปทำอะไรเด็กอีก

แต่ที่ไหนได้ ไม่กี่วันต่อมา ก็มีข่าวว่าเด็กนักเรียนถูกสั่งจากนักจิตวิทยาประจำสถานพินิจคุ้ม ครองเด็กและเยาวชน เชียงรายให้เข้ารับ "การบำบัด" ซึ่งตามข่าว "การบำบัด" ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่ซักถามตามธรรมเนียม (แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ เจ้าหน้าที่ได้ "แนะนำให้รับสารภาพเพื่อให้ศาลเมตตา") อะไรเกิดขึ้นที่เชียงราย

ผมคิดว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองก็ไม่ค่อยอยากจะทำอะไร เพราะรู้ดีอยู่ว่าเรื่องนี้เกินการควบคุมของตนเอง แต่เมื่อปรึกษา (อย่างไม่เป็นทางการ) กับเจ้านายเหนือขึ้นไป ก็น่าได้รับคำตอบทำนองว่าทำ อะไรก็ได้ที่เบาหน่อย แต่จะไม่ทำอะไรเลยนั้นคงไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเกิดการ "เหิมเกริม" และจะคุมไม่อยู่ ดังนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็พยายามคิดหาทางออก โดยเฉพาะทางออกก็เน้นให้พ้นมือ และความรับผิดชอบของตน การจัดการทั้งหมดจึงไปลงที่การส่งเด็กไปให้สถานพินิจฯ แต่จะส่งเด็กไปเข้าสถานพินิจฯ ก็ไม่ได้ เพราะความผิดไม่ชัดเจน จึงเลี่ยงด้วยการสั่งให้ไปหานักจิตวิทยาเพื่อรับการบำบัด ซึ่งพวกเขาคิดว่าน่าจะเบาที่สุด และปัดพ้นความรับผิดชอบไปได้

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วยคงไม่เคยรู้ว่าวิธีการที่บรรดาเผด็จการในทุกสังคมชอบใช้ในการจัดการคนที่คิดต่างออกไป ได้แก่ การผลักดันให้กลายเป็น "คนบ้า" เพื่อจะสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนปกติว่าจะถูกหาว่าเป็น "คนบ้า" แต่วิธีการเช่นนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จึงทำให้การใช้วิธีการเก่าแบบนี้ ยิ่งดูเป็นเรื่องสกปรกมากขึ้นในสายตาของสังคม

เหตุเกิดที่เชียงรายได้ ก็เพราะการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ต้องทำอะไรสักอย่างแม้ว่า จะไม่เห็นด้วยก็ตาม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ไม่มี "ความกล้าหาญ" เพียงพอที่จะแย้งหรือไม่ทำตาม เพราะ "ความกล้าหาญ" ย่อมต้องการพลังทางสังคมสนับสนุน ตราบใดที่พลังทางสังคมยังไม่เป็นกระแสแรงพอ เจ้าหน้าที่ย่อมรู้สึกทันทีว่าหากขัดคำสั่งเจ้านายแล้ว ตนเองตายแต่ผู้เดียว

ในวันเดียวกัน ที่เด็กนักเรียนถูกจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหก คนได้ประชุมมั่วสุมและฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาตรา 9 (1) และ (2) ที่สำคัญ ฝ่าฝืนหนักขนาดออกแถลงการณ์ให้ "ยกเลิก" (เลิกไปเลย) ไม่ให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐอย่างบ้าบอคอแตกเช่นนี้ นักข่าวสายสันติบาลก็เยอะแยะ แต่คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่โดนข้อหาแบบเดียวกับเด็กที่เชียงราย เหตุผลก็คงมีหลายอย่างให้อ้าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดทางวิชาการ หรือพูดในมหาวิทยาลัย (พวกคุณไม่กล้าออกนอกมหาวิทยาลัยนี่หว่า ฮา) อะไรทำนองนี้ แต่ความเป็นจริง ก็คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบว่ามันน่าจะแตกต่างไปจากการ "ตบเด็ก" บรรดาผู้เฒ่าของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงไม่โดนข้อหาอะไร (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เตรียมหลักทรัพย์พร้อมหนังสือรับรองเงินเดือนไว้ประกันตัวเองแล้ว ขอบอก)

ผมอยากจะเตือนต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ ว่า ผมเชื่อมั่นมากว่าหลังจากการ "ตบเด็ก" นี้ การท้าทาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะเกิดขึ้นอีก และจะทวีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ คำถามที่ตามมา ก็คือ จะจับกันอย่างไรหวาดไหว และจะเอาจริงแค่ไหน หากรอจนวันที่พวกคุณไม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ได้แล้วค่อยเลิก พ.รก.ฉุกเฉิน คุณก็จะเป็นไอ้คนแหย ไม่มีน้ำยา มากกว่าเดิมเสียอีก

ที่ผมเชื่อว่าการท้าทายจะมีมากขึ้น ก็เพราะในสังคมวัฒนธรรมไทยไม่อนุญาตให้ผู้มีอำนาจ "ตบเด็ก" โดยเฉพาะเมื่อ "เด็ก" นั้นไม่ได้ละเมิดขนบของสังคมอย่างรุนแรง หากใครรังแกหรือทำร้ายเด็กก็จะถูกตัดสินทันทีว่าคุณเป็นคนเลว เด็กและคนชราเป็นข้อยกเว้นในสังคมวัฒนธรรมไทย แม้ในกฎหมายตราสามดวงก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเด็กและคนชรานั้นอยู่ในข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎหมาย

มิพักต้องพูดถึงกฎหมายเก่า หากมองถึงระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดแล้ว สังคมไทยให้อภัยต่อเด็กเสมอมา ลองคิดดูถึงการทำงานของมูลนิธิต่างๆ จะพบว่ามูลนิธิที่ทำงานกับเด็ก จะได้รับการดูแลจากสังคมมากว่าทำงานกับคนช่วงอายุอื่นๆ

นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกำลังตั้งใจการละเมิดระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคมโดยเพียงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของตน นับว่าเป็นการกระทำที่มืดบอดในความเข้าใจสังคมไทยโดยแท้ การค้ำยันรัฐ-ฆาตกรรมเก้าสิบกว่าศพ โดยคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงในเขตเมืองอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีหลงคิดไปว่าคนกลุ่มนี้จะค้ำยันในทุกเรื่อง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะการค้ำยันรัฐ-ฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะถูกปลุกเร้าให้เห็นผู้ใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูกับสถาบันหลักของสังคม แต่สำหรับกรณีที่รัฐกระทำเด็กกลุ่มนี้กลับจะแตกต่างออกไป ผมเชื่อว่าในกลุ่มคนที่ค้ำยันรัฐ-ฆาตกรรมนั้นจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกอยู่ว่ารัฐกระทำเกินไป และการเริ่มต้นคิดตรงจุดนี้ของคนชั้นกลางจะนำไปสู่การถอยการค้ำยันไปทีละน้อยๆ

ความไม่เข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทย ความต้องการรักษาอำนาจไว้โดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ ที่ปรากฏอย่างชัดเจนในกรณีการ "ตบเด็ก" ที่เชียงราย ทำให้ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างหากที่ควรจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมในวิชาประวัติศาสตร์ระบบอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทย (เบื้องต้น) และที่สำคัญ ควรที่จะหาโอกาสไปปรึกษาแพทย์ทางด้านจิตวิทยาและ "บำบัด" พร้อมๆ กันไปด้วยครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net