Skip to main content
sharethis

นายกฯ แนะสภาพัฒนฯ บรรจุแผนจัดระบบ "รัฐสวัสดิการ" ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชน พร้อมบรรจุโครงการเมกะโปรเจกท์ ทั้งรถไฟฟ้า-ไอที ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการเปิดประชุม และแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2553 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องทิศทางแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ว่า สศช.ควรมีการตั้งเป้าหมายเรื่องการจัดระบบรัฐสวัสดิการภาย ใน 5 ปี เพื่อดูแลเรื่องหลักประกันให้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนตายอย่างเป็นระบบ โดยไม่กระทบต่อฐานะการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการเรียนฟรี , เบี้ยคนชรา โดยเฉพาะกองทุนเงินออมในยามชราถือว่ารองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรผู้สูงอายุ หรือเพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุมีเงินไว้ใช้ในยามชรา
อย่างไรก็ดีในการพัฒนาประเทศใน 5 ปีข้างหน้านั้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่แผนการปรองดอง และการปฏิรูปประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งเรื่องการพัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะมีการประกาศในเดือนตุลาคม 2554 และ ในแผนพัฒนาฯฉบับนี้ สิ่งที่เน้นเป็นสิ่งสำคัญคือการพัฒนามนุษย์ นอกจากนั้น การพัฒนาระบบน้ำ ก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ รวมถึงระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจากนี้ไป จะต้องเร่งในเรื่องการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกท์)เช่นการขนส่งระบบรางทั่วประเทศให้มีการใช้งานระบบรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการสร้างถนนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค อีกทั้งเน้นในเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ในตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา
"และขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนาระบบรถไฟในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ในการทำรถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟรางมาตรฐานจากหนองคายถึงภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ให้แข่งขันกับต่างชาติได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารระบบ 3.9จี ให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)นำไปสู่ การลดช่องว่างของคนในเมืองกับคนชนบท ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการใช้ระบบโทรคมนาคม อีกทั้งปรับปรุงกฎระเบียบกติกาที่เป็นอุปสรรคกับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจำนวนมาก แต่การยกเลิกต้องใช้เวลานาน จุดนี้จึงจะต้องมีการรวบรวมกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อหาแนวทางลดขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา
ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.กล่าว ทิศทางของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้คือยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเป็นธรรมในสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความสมดุล และมั่นคงของอาหารและพลังงาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และสร้างปัจจัยแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องคำนึงในอนาคตที่อาจจะกระทบแผนพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1. การบริหารของรัฐบาลเริ่มมีความอ่อนแอ ซึ่งปัญหาเกิดจากการความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา 2. ประเทศไทยอาศัยปัจจัยการส่งออกมากเกินไป 3. โครงสร้างประชากรไม่สมดุล 4. วัฒนธรรมถูกละเลย 5. ฐานทรัพยากรธรรมชาติถดถอย โดยจุดเสี่ยงเหล่านี้ล้วนจะต้องศึกษาและหาทางแก้ไข
"แนวทางที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปได้ คือ ต้องเน้นภาคการเกษตรเป็นโครงสร้างหลัก สร้างฐานความรู้ทางเทคโนโลยีให้กับประชาชน สร้างวัฒนธรรมให้เป็นที่นิยม เพื่อคาดหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนและสามารถเชื่อมโยงกับประเทศทั่ว โลกได้"นายอำพน กล่าว
 
 
        
ที่มา: http://www.naewna.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net