เครือข่ายลุ่มน้ำ ยื่น 16 ข้อ ให้ รบ. ต้านการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากร

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแนะ รัฐบาลต้องฟังเสียงชาวบ้านเพื่อการพัฒนาที่ไม่กระทบวิถีชีวิตดั่งเดิม ชี้งานวิจัยไทบ้านช่วยให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของชุมชน ขณะที่เครือข่ายลุ่มน้ำ พร้อมยื่นข้อเสนอ 16 ข้อให้รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา
 

 

เมื่อวันที่ 6 – 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีงานเสวนาเรื่อง ถอดบทเรียนงานวิจัยไทบ้าน สิทธิชุมชนในการจัดงานลุ่มน้ำ สู่ข้อเสนอจากภาคประชาชน ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจัดโดยเครือข่ายลุ่มน้ำที่ทำวิจัยไทบ้าน 6 พื้นที่ ได้แก่ ปากมูน ราศีไศล แก่เสือเต้น สาละวิน เชียงของ แม่น้ำสงคราม เข้าร่วมอภิปรายและร่วมกันหาแนวทางในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวหลายร้อยคน
 
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ  กล่าวว่า งานวิจัยไทบ้านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2544 จากกรณี จากปัญหาการสร้างเขื่อนปากมูลที่ชาวบ้านได้รับปัญหาความเดือดร้อน และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังถึงแม้จะมีการทำการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนก็ตาม แต่ผลการศึกษาที่ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน จึงทำให้เกิดการทำวิจัยคู่ขนานขึ้นมา โดยมีชาวบ้านเป็นนักวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความจริง แล้วออกตีแผ่ต่อสาธารณชนให้รับรู้ถึงความทุกข์ที่ชาวบ้านได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างแท้จริง
 
รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่าผลดีของการทำวิจัยไทบ้านว่า จะช่วยให้ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยที่เราเป็นเสมือนพี่เลี้ยง ให้ชาวบ้านค่อยๆเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่ง ๙ ปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยไทบ้าน อาจยังไม่สมบูรณ์แน่ เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่มีใครสอนและไม่มีตำรา และการวิจัยนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นให้มีความรู้ในการโต้ตอบ และเป็นการนำเข้าไปสู่ระบบประชาธิปไตย เพื่อป้องกันสิทธิประโยชน์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับ คนภายนอกจะมาละเมิดสิทธิของชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนไม่ได้
 
รศ.ศรีศักร กล่าวอีกว่า หัวใจของการวิจัยไทบ้านคือการที่ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรธรรมชาติเอง ภายใต้ระบบนิเวศวัฒนธรรม เพราะการจัดการที่เกิดจากคนที่มองแผนที่ลงมา ไม่รู้อย่างถ่องแท้ว่าพื้นที่นั้นมีอะไรอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านที่ได้สำรวจพื้นที่ จะเห็นถึงความเป็นไปของบริเวณที่ตนอาศัยหรือใช้ประโยชน์อย่างรู้แจ้ง
 
“การพัฒนาพื้นชุมชนโดยดูจากแผนที่ก็ไม่ต่างจาก ฝูงแล้งที่มองเหยื่อ หรือที่เรียกว่า การมองแบบท็อปดาวน์ เช่น วิศวกรเห็นว่าตรงนี้เหมาะทำเขื่อนก็ทำเลย อย่างงี้ก็เกิดความฉิบหายของชุมชนนั้น เพราะไปทำลายวิถีชีวิตเค้า”
 
อย่างไรก็ดี จากการเสวนา เครือข่ายลุ่มน้ำมีการเสนอข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาล 16 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาจากภาครัฐ ซึ่งทำลายฐานทรัพยากร และนิเวศวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชน ดังนี้

1.ยกเลิกโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำสายหลัก และสาขา ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทำลายฐานทรัพยากรของชุมชน และส่งเสริมพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง

2.ทบทวนและจัดทำแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำขึ้นใหม่ โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เช่น ปรับปรุงโครงสร้างกรรมการลุ่มน้ำ และรับแผนพัฒนาจากภาคประชาชนเข้าไปบรรจุ


3.ผลักดันให้เกิดการเจรจากับจีน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบท้ายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนอย่างเป็นรูปธรรม และยกเลิกโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนที่เหลือทั้งหมด
 
4.ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของบริษัท ช.การช่าง และยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะบนแม่น้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนสู่ประชาชนไทย

5.เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามข้อตกลง และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน

6.เปิดเผยข้อมูลโครงการผันน้ำทั้งในภาคเหนือและอีสานแก่สาธารณะ รวมทั้งชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ

7.สนับสนุนการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ  

8.ส่งเสริมการจัดการน้ำตามภูมินิเวศของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

9.กรณีปัญหาที่ทำกิน รัฐควรแก้ปัญหาที่ทำกินของชุมชนจากแผนพัฒนาของรัฐ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ

10.รัฐควรรับรองสถานะของชนเผ่า และแก้ไขปัญหาสัญชาติอย่างเป็นระบบ

 
11.แก้ไขประวัติศาสตร์ และหลักสูตรการศึกษา ให้ชุมชนรู้จักและภูมิใจในนิเวศวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตนเอง

12.ผลักดันการก่อตั้งสำนักวัฒนธรรมท้องถิ่น

13.พัฒนาประเทศโดยใช้ประวัติศาสตร์ นิเวศวัฒนธรรมเป็นตัวนำ และทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

14.ส่งเสริมการใช้ความรู้ท้องถิ่น งานวิจัยไทบ้าน เพื่อเป็นฐานประกอบการตัดสินใจในโครงการพัฒนา

15.ทบทวนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดขึ้นจริง และควรรับฟังเสียงของประชาชน

16.จัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 
ทั้งนี้ เครือข่ายลุ่มน้ำที่ทำวิจัยไทบ้าน 6 พื้นที่ ยังร่วมกันวางแผนงานในการดูแลพื้นที่แต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งมีแผนทั้งหมด 8 แผน ประกอบด้วย 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลและหนุนช่วยในกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่าย 2.ร่วมกันผลักดันสภาประชาชนลุ่มน้ำ จากเครือข่ายลุ่มน้ำ 3.ร่วมลงชื่อจดหมายคัดค้านโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง 4.ติดตามการแก้ไขปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขงในจีน 5.เตรียมการเพื่อเปิดเวทีเจรจากับรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูป และเครือข่ายลุ่มน้ำ 6.จัดประชุมเครือข่ายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย 7.พัฒนาเครือข่ายไปยังภาคประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง 8.พัฒนาแผนการอบรมวิจัยไทบ้าน และสร้างคู่มือการทำวิจัยไทบ้าน และสนับสนุนการทำวิจัยไทบ้านในลุ่มน้ำต่างๆ ในเครือข่าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท