Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
จากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่กล่าวว่า "เราต้องการใช้การทูตผสมกับทางทหาร...การใช้กำลังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย" ที่สืบเนื่องการเรียกร้องให้ทวงคืนเขาพระวิหารได้ขยายไปสู่กระแสการใช้กำลังทหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรตระหนักยิ่ง จึงต้องทบทวนผ่านสงครามที่เกิดขึ้นจากการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน หนึ่งในนั้นคือ สงครามอิรัก-อิหร่าน
 
สงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านกินเวลายาวนาน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2531 สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับทั้งสองประเทศ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างไม่คาดคิดในเวลาต่อมา
 
จุดเริ่มต้นของสงคราม
จุดเริ่มของสงครามมาจากการโค่นล้มพระเจ้าชาห์ ปาฮ์เลวี โดยกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มเสรีนิยม และกลุ่มศาสนานำโดย อยาโตเลาะ โคไมนิ ทำให้สหรัฐต้องสูญเสียพันธมิตรทางทหารและดุลทางทหารในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ชาติอาหรับซุนหนี่มีความหวาดกลัวต่อการขยายของการปฏิวัติอิสลาม โดยเฉพาะอิรัก เพื่อนบ้านที่มีชาวชีอะเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 60 แต่มีรัฐบาลเป็นชาวซุนนี่ ภายใต้การปกครองของพรรคบาธ (Ba'ath) ที่มี ซัดดัม ฮุสเซนเป็นประธานาธิบดี ประกอบกับอิรักมีความขัดแย้งด้านพรมแดนมาก่อนหน้านี้จึงนำไปสู่การทำสงครามระหว่างสองประเทศ
 
ในครั้งนั้น เป้าหมายของการทำสงครามของอิรัก คือ
1.     การควบคุมแม่น้ำชัต อัล อาหรับ (Shatt al-Arab)
2.     เกาะอบู มูซา (Abu Musa) เกาะเกรทเตอร์ และเลเซอร์ ตับส์ (Greater and Lesser Tunbs) ของสหรัฐ อาหรับ อิมิเรต
3.     การผนวกคูเซสถาน (Khuzestan)
4.     การต่อต้านการปฏิวัติอิหร่าน
 
โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์มุ่งเน้นไปที่การต่อต้านปฏิวัติอิหร่าน โดยการสนับสนุนชาติอาหรับซุนหนี่และสหรัฐ โดยให้อิรักเป็นแนวหน้าก็ตาม แต่ผลประโยชน์ของอิรักเป็นจุดสำคัญต่อการตัดสินใจของอิรัก โดยเฉพาะปัญหาบูรณภาพเหนือดินแดน
 
แม่น้ำชัท อัล อาหรับ ที่เป็นจุดสำคัญของความขัดแย้ง เกิดจากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสรวมกันก่อนไหลออกสู่อ่าวเปอร์เซีย ความขัดแย้งของการอ้างสิทธิเหนือแม่น้ำสายนี้สืบกลับไปถึงสัญญาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2193 ระหว่างอาณาจักร อ๊อตโตมันกับเปอร์เซีย ในยุคอาณาอาณานิคม มีความพยายามแก้ไขพิพาทนี้โดยอังกฤษเสนอให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแดน แต่ฝ่ายอิรักไม่ยอม โดยมีต้องการให้เส้นพรมแดนอยู่ที่ฝั่งของอิหร่าน แต่ในที่สุดอิรักยอมลงนามในสัญญาอัลเจียร์ (Algiers Accord) ยอมใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแดน ภายใต้ความกดดันของสหรัฐที่หนุนหลังพระเจ้าชาร์ ปาฮ์เลวี และอิหร่าน
 
คูเซสถาน เป็นจังหวัดของอิหร่านติดกับจังหวัดบาสรา ของอิรัก และอ่าวเปอร์เซีย จังหวัดนี้อุดมไปด้วยน้ำมัน เมืองอบาดานมีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ อังกฤษผนวกดินแดนให้กับอิหร่านในยุคอาณานิคม ทำให้อิรักใช้เป็นข้ออ้างถึงอธิปไตย
 
เกาะอบู มูซา เกาะเกรทเตอร์ และเลเซอร์ ตับส์ อยู่ในอ่าวเปอร์เซียใกล้แหลมฮอร์มูซ มีการอ้างสิทธิระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอาหรับอิมิเรต พระเจ้าชาร์ ปาฮ์เลวี แห่งอิหร่านได้อ้างสิทธิครอบครองในปี พ.ศ.2514 แต่ส่งผลให้อิรักตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านเพื่อประท้วงการครอบครองของอิหร่าน
 
จนถึงปี 2522 เกิดปฏิวัติอิหร่านที่นำโดยแนวร่วมต่อต้านพระเจ้าชาร์ ในที่สุด อยาโตลา โคไมนิ ได้เข้าเป็นผู้นำของประเทศ จุดนี้อาจจะทำให้ซัดดัม ฮุสเซน เห็นโอกาสในการโจมตีอิหร่าน จึงส่งกำลังรุกรานอิหร่านที่นำไปสู่สงครามอันยาวนาน
 
22 กันยายน 2523 อิรักส่งทหาร 21 กองพลรุกรานโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนอิหร่าน เปิดแนวรบยาว 644 กิโลเมตร เมืองสำคัญของอิหร่านใกล้กับปากแม่น้ำชัท อัล อาหรับ ได้ความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม เมืองอบาดาน เมืองสำคัญด้านอุตสาหกรรมน้ำมันถูกอิรักยึดครอง แต่กองกำลังทหารอิหร่านต้านทานอย่างเข้มแข็ง จนอิรักไม่สามารถรุกคืบเข้าไป
 
ระหว่างสงคราม สหรัฐสนับสนุนด้านยุทธปัจจัยและการส่งกำลังบำรุงให้กับอิรัก เมื่ออิหร่านโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของอิรัก ชาติอาหรับอื่นปิดทางเให้อิรักส่งออกน้ำมันที่เกาะคาร์ก (Khark)
 
ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนกับฝ่ายอิรัก เกาหลีเหนือและอิสราเอลให้การสนับสนุนอิหร่าน สหรัฐนอกจากจะให้การสนับสนุนอิรักอย่างเปิดเผยแล้ว ยังให้การสนับสนุนฝ่ายอิหร่านอย่างลับๆด้วย รัสเซียให้ความสนับสนุนทั้งสองฝ่าย
 
ด้านอิหร่าน ฝ่ายศาสนาใช้โอกาสนี้ สร้างด้วยกระแสคลั่งชาติ กวาดล้างหุ้นส่วนการปฏิวัติ คือ ผู้นำเสรีนิยมหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พลพรรคจำนวนมากของพรรคมาร์กซิส ทูเดย์ ถูกสังหาร กองกำลังฝ่ายซ้ายอะบอฮาสซาน บานิซาดี  (Abolhassan Banisadr) ถูกกวาดล้าง พรรคแนวหน้าประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Front) นำโดยอยาโตเลาะคาเซม ชาเรียมาดาริ (Kazem Shariatmadari) ถูกยุบ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติที่ขึ้นต่อผู้นำศาสนาได้รับเสริมและขยายความเข้มแข็ง
 
จนถึงปี 2530 จึงเริ่มเปิดการเจรจา จนกระทั่งลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อ 26 สิงหาคม 2531 ฝ่ายอิรักต้องกลับไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากความเสียหาย
 
ต้นทุนของสงคราม
สงครามอิรัก-อิหร่านสร้างความสูญหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล อิหร่านมีความสูญเสีย 1 ล้านคน จากการถูกฆ่า หรือบาดเจ็บ รวมถึงชาวอิหร่านที่เจ็บป่วยและตายจากผลของอาวุธเคมี อิรักมีความสูญเสีย 250,000 – 500,000 คน พลเรือนหลายหมื่นคนทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธ
 
การสูญเสียทางการเงินมีมูลค่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (18.6 ล้านล้านบาท) สำหรับแต่ละฝ่าย ในระยะสั้น หลังจากสงครามเกิดขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจมีผลมาก การพัฒนาเศรษฐกิจชะงักงันเนื่องจากการส่งออกน้ำมันถูกขัดขวาง ภาวะทางเศรษฐกิจสร้างความเสียหายให้อิรักมากที่หนี้สินมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับอิหร่าน โดยอิหร่านใช้ชีวิตที่ปลุกเร้าด้วยความรักชาติ แต่เป็นยุทธวิธีที่มีต้นทุนทางการเงินถูกกว่าระหว่างสงคราม จึงใช้ชีวิตของทหารแทนที่สำหรับการขาดแคลนแหล่งเงินทุน เรื่องนี้ทำให้ซัดดัมเข้าสู่ตำแหน่งยากลำบากด้วยหนี้สินระหว่างประเทศ 130,000 ล้านเหรียญ (4 ล้านล้านบาท) จำนวนมากเป็นของชาติพันธมิตรอาหรับ 67,000 ล้านเหรียญ (268,000 ล้านบาท) ปารีสคลับ 21,000 ล้านเหรียญ (380,000 ล้านบาท) ทำให้อัตราหนี้ต่อจีดีพี (ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ) ของอิรักสูงถึง 1,000 % หรือ 10 เท่าของจีดีพี จากจุดนี้นำไปสู่สงครามรุกรานคูเวตของซัดดัม
 
ต้องไม่มีสงคราม
สงครามครั้งนี้มีข้อสังเกตประการแรกคือ อิรักสามารถยึดครองดินแดนที่ต้องการไว้ได้ แต่ฝ่ายอิหร่านมิได้พ่ายแพ้ การยึดครองจึงไม่มีความหมาย และกลับไปมือเปล่า ถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นศัตรูกับสหรัฐและอิรักเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แต่การเปลี่ยนแปลงพรมแดนมิได้เกิดขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพรมแดนจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ อาจจะมีเพียงกรณีเดียว คือ การแยกประเทศในค่ายโซเวียตหลังยุคล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเรื่องมีความซับซ้อนด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติตะวันตก แต่ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับส่วนอื่นของโลก อย่างไรก็ตามอาจจะเกิดกับดาร์ฟูที่อุดมไปด้วยน้ำมันภายใต้ความเห็นชอบของชาติตะวันตก การใช้กำลังเข้ายึดครองเขาพระวิหารจะสำเร็จจริงหรือ นี่เป็นคำถาม
 
สงครามสร้างต้นทุนด้านชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งอิหร่านและอิรักเคยเป็นประเทศร่ำรวย แต่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเสื่อมโทรมลงหลังสงคราม ในขณะที่ผู้บาดเจ็บนับล้านคนสร้างความทุกขเวทนาให้กับญาติพี่น้อง สังคมมีต้นทุนในการเยียวยาสูงมาก แน่นอนพวกเขาถูกทอดทิ้ง
 
ในขณะที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคาม ในกรณีของอิหร่านเห็นได้อย่างชัดเจนจากฝ่ายศาสนาใช้โอกาสกวาดล้างฝ่ายอื่น ทั้งที่ไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง เพียงแต่ความเห็นทางการเมืองต่างกันเท่านั้น
 
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยพร้อมกับสงครามหรือไม่ ถ้าดูจากการปราบปรามกองกำลังอาร์เคเค ที่มีไม่มากนัก กองทัพไทยต้องใช้กำลังถึง 50,000 คน ถ้าต้องเผชิญกับทหารหนึ่ง 100,000 คนของกัมพูชา ฝ่ายไทยต้องใช้ทหารเท่าไร
 
ดังนั้น ข้อเสนอสงครามจึงไม่ใช่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาพรมแดนอย่างเด็ดขาด เพราะมีต้นทุนมากเกินไปจากบทเรียนของสงครามอิรัก-อิหร่าน
 
ดังนั้น คำพูดของนายอภิสิทธิ์ “...การใช้กำลังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย” จึงไม่ถูกต้องแม้แต่น้อย
 
เพราะต้องไม่มีสงคราม
 
เพราะสงครามคืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เพราะสงครามทำร้ายพี่น้องร่วมชาติ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net