Skip to main content
sharethis
'อภิสิทธิ์' เซ็นเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลฯ แล้ว ปัดตั้งธงลากยาวกฎหมายนานข้ามปี เผยพื้นที่กรุงเทพฯ ยังยกเลิกยาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของหลายๆ อย่าง ชี้ 'อำพน' เหมาะนั่งเลขาครม. 
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่าวันนี้ (16 ส.ค.53) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย และอุบลราชธานี ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เสนอมา และได้แจ้งให้ ครม.รับทราบแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการลอบวางระเบิดที่ จ.เชียงใหม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้กฎหมายปกติ เพราะจะบอกให้ทุกพื้นที่หมดความเคลื่อนไหวเลยแล้วค่อยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างไรก็ตามบ้านเมืองต้องกลับเข้าสู่ภาวะที่สามารถใช้กลไกและกฎหมายปกติได้ หากตรงไหนเจ้าหน้าที่มีความพร้อม สถานการณ์มีความสงบมากขึ้น แม้จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้าง แต่ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงก็จะยกเลิก กอปรกับใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงรายก็มีการร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบทางลบต่อเรื่องการท่องเที่ยวด้วย ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมนัดชุมนุมที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ในวันที่ 21 ส.ค.นี้นั้น ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ
 
“พื้นที่ที่ยังยากที่สุดคือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทยอยยกเลิกต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าเหตุที่รัฐบาลทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้เป็นข้ออ้างคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกทม.และปริมณฑลไว้ข้ามปี นายอภิสิทธิ์ย้อนถามว่า “ทำไมล่ะครับ ผมยังไม่เข้าใจตรรกะ เราดูตามความเป็นจริง”
 
เมื่อถามย้ำว่า ในส่วนของ กทม.มีโอกาสจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเรื่อยๆ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เพิ่งต่อไปครั้งเดียว และหลายจังหวัดก็ได้ทยอยยกเลิกก่อนครบกำหนด รัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องต่ออายุกี่รอบ เราต้องการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตรงไหนมีความพร้อมก็ยกเลิก ตรงไหนยังมีปัญหา และเจ้าหน้าที่ต้องการเครื่องมือ ก็ต้องคง พ.ร.ก. เอาไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ยอมรับว่าในส่วนของกรุงเทพฯ มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของหลายๆ อย่าง
 
เมื่อถามว่า ขณะนี้ตำรวจมีความพร้อมต่อการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ใน 17 จังหวัดที่ยกเลิกไป ก็เห็นว่าการทำงานเรียบร้อยดี
 
ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมออกหมายในคดีก่อการร้ายล็อต 2 นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราอยากเห็นความก้าวหน้าของคดี และเป็นกระบวนการที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะสุดท้ายมันต้องกลับมาที่กระบวนการการเมือง และกระบวนการกฎหมายในการคลี่คลายทุกอย่าง หากทำได้รวดเร็วน่าจะเป็นผลดี
 
 
ครม.ตั้ง "อำพน กิตติอำพน" นั่งเลขาฯ ครม. 
มติชนออนไลน์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ (16ส.ค.) มีมติแต่งตั้ง นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ (สศช.) เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดแรงงาน เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการ ส.ป.ก.เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
 
ด้าน เนชั่นทันข่าว รายงานว่านายอภิสิทธิ์ แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงเหตุผลในการตั้งนายอำพน กิตติอำพน เป็นเลขาธิการครม.ว่า ท่านเป็นเลขาธิการ สศช.ครบ 6 ปี เพราะฉะนั้นเห็นว่าน่าจะไปทำงานในตำแหน่งระดับเดียวกันและยังเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สูงในหลายเรื่องเพราะนั่งร่วมประชุมครม.และเสนอความเห็นต่าง ๆ ในครม.จึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
 
 
หนุนรัฐสภาตั้ง กมธ.ร่วมศึกษาผลประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา
เนชั่นทันข่าว  รายงานด้วยว่าวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ซึ่ง ส.ว.เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาก่อนว่า ครม.ไม่ขัดข้อง และตนเองได้ขอว่าเรื่องที่เกี่ยวกับเจบีซีนั้น น่าจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนให้ความเห็นชอบ 
 
กรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย จะนำปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เข้าใจว่าที่ผ่านมาเราประชุมลับ และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นการประชุมลับ ส่วนที่กัมพูชาส่งหนังสือถึงอาเซียนและประเทศเวียดนามที่เป็นประธานอาเซียนเพื่อให้เข้ามาสะสางข้อพิพาทไทย-กัมพูชานั้น กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้กำหนดแนวทางเรื่องนี้ อะไรที่เห็นว่าควรชี้แจงตอบโต้ก็ให้ดำเนินการ แต่อาจไม่ใช่ทุกกรณี ซึ่งจะดูถึงผลประโยชน์ของประเทศในเชิงการทำความเข้าใจ หรือจะใช้หรือไม่ใช้เวทีใด
 
ดูเหมือนไทยตามหลังการเคลื่อนไหวของกัมพูชา แทนที่จะเดินหน้าการต่างประเทศในเชิงรุก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ ปัญหาตอนนี้ต้องยอมรับว่ากัมพูชาเห็นว่ากระบวนการของเขาได้รับผลกระทบเรื่องมรดกโลก จากการเลื่อนการพิจารณาไปปีหน้า เขาจึงกังวลว่าไทยจะใช้กำลังหรือไม่ อย่างไร และอาจเป็นแนวทางที่เขาอาจต้องการทำให้เกิดภาพลักษณะเช่นนั้นอยู่แล้ว เขาก็ต้องเดินอย่างนั้น แต่เรามีหน้าที่บอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และเราได้ปูทางมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ตนเอง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม ได้ปูทางแล้วว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่มีปัญหานั้นเป็นอย่างไร การชี้แจงเรื่องนี้ถือว่าง่ายกว่าปีที่แล้วมาก 
 
ส่วนที่กัมพูชาดึงต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขามองว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นฝ่ายที่ทำความเข้าใจกับประชาคมโลกมากกว่าในเกือบทุกเวที จึงมองว่าเขาได้เปรียบตรงนั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องรอบคอบในการดำเนินการทุกเรื่องทุกขั้นตอน ว่าเราได้รับความเข้าใจจากประชาคมโลกด้วย ส่วนที่ไทยยังไม่ชี้แจงกับอาเซียน เพราะเห็นว่าอาเซียนเข้าใจไทยดี
 
 
เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ และเนชั่นทันข่าว 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net