Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกโรงเตือนบริษัทก่อสร้างเพิ่มความระมัดระวัง-ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ชี้หากสถิติการประสบอันตรายเพิ่ม นายจ้างก็ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่ม  ด้านรมช.ศึกษาธิการ ส่งหนังสือแจ้งสถานศึกษาคุมเข้มการก่อสร้างอาคาร

 
วันนี้ (16 ส.ค.53) นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุอาคารก่อสร้างคณะศึกษาศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ถล่มลงมาทับคนงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 8 คน ว่า จากรายงานของผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานและทีมวิชาการ ที่ไปตรวจที่เกิดเหตุตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา พบว่านั่งร้านของอาคารดังกล่าวไม่สามารถรับน้ำหนักคอนกรีตได้ ประกอบกับคอนกรีตยังไม่แห้งสนิทแล้วเทคอนกรีตซ้ำ จึงพังถล่มลงมาทับคนงาน ซึ่งมีทั้งหมด 35 คน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งหลังเกิดเหตุได้หลบหนีไป 
 
สำหรับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีบริษัทบิลเลี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 53/9 ม.2 แขวงบางพรหม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง นายกฤษฎา ปฏิยัตต์โยธิน เป็นวิศวกร และนายสำเรียง โพศรีทัศ เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน เบื้องต้นนอกจากมีความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 41 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการจัดการด้านความปลอดภัยฯเกี่ยวกับการใช้ค้ำยัน ที่ต้องมีวิศวกรรับรอง และห้ามเข้าไปพักอาศัยอยู่ใต้คอนกรีตที่ก่อสร้าง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
นางอัมพร กล่าวอีกว่า ฝากเตือนบริษัทก่อสร้างต่างๆ ให้เพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันหากสถิติการประสบอันตรายเพิ่มขึ้น นายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงกรณีอาคารหอประชุมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ถล่มในระหว่างการก่อสร้างว่า หลังจากตรวจสอบที่เกิดเหตุและประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้รื้อถอนซากต่างๆ ภายใน 7 วัน จากนั้นให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และกรมโยธาธิการ เข้าตรวจสอบการก่อสร้าง ทั้งแบบโครงสร้าง วัสดุ ต่างๆ ว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ คาดว่าใช้เวลาตรวจสอบ 2-3 สัปดาห์ 
 
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า จากเหตุตึกถล่มในสถานศึกษานี้ ได้ส่งหนังสือเวียนถึงสถานศึกษาทุกแห่งและทุกระดับของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณก่อสร้างค่อนข้างมาก ให้ระมัดระวังการก่อสร้าง โดยประสานคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเข้าไปดูแล ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยมีการก่อสร้างเกือบทุกแห่ง ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ให้ประสานมหาวิทยาลัยใกล้เคียงที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าไปตรวจสอบและดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
 
ขณะที่ พล.ต.ต.ธเนศ พิณเมืองงาม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี กล่าวในการแถลงข่าวในช่วงเช้าวานนี้ (16 ส.ค.53) ว่า เบื้องต้นได้กั้นที่เกิดเหตุไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป พร้อมกับ จะมีการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นว่า มีผู้เสียชีวิต ที่แท้จริงกี่ราย สำหรับ ผู้บาดเจ็บ 4 คน รอดตายมา 3 คน ซึ่งก่อนเกิดเหตุในการก่อสร้างนั้นมีการเทปูน 2 ชั้น เป็นเหตุให้พื้นถล่มลงมา ตอนเกิดเหตุมีคนงานประมาณ 7 คน ขณะนี้ ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานในซากอาคาร เก็บรวบรวมสถานที่เกิดเหตุ และสอบสวนผู้กระทำความผิด ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 7 วันในการจัดการทุกอย่าง 
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ยังคงยืนยันผู้เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อว่านายรุ่ง แพสา อายุ 49 ปี คนงานก่อสร้างชาว จ.เพชรบูรณ์ และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย คือ นางเรือน อายุ 39 และ นายนะ อายุ 26 ปี ยังนอนรักษาตัวที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา 
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก เนชั่นทันข่าวและเว็บไซต์สยามรัฐ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net