Skip to main content
sharethis

นักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน เผยแพร่รายงานด่วน ระบุโครงการสร้างทางรถไฟ “เมืองนาย-เชียงตุง” ของรัฐบาลพม่าจะเป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัย เชื่อมฐานทัพใหญ่พม่าจากตองยีและเชียงตุงเข้าด้วยกัน และจะเร่งให้เกิดสงครามปราบชนกลุ่มน้อยมากกว่าประโยชน์ด้านการขนส่ง เผยมีการเวนคืนที่หลายพันเอเคอร์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและห้ามชาวบ้านทดน้ำเพื่อเพาะปลูกสองข้างทางรถไฟ

 

ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 53 เป็นภาพโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเมืองนาย-เชียงตุง ช่วงสถานีเชียงตุง (Kengtung) ถึงสถานียางลือ (Yanglu) ใต้ภาพมีคำบรรยายว่า "รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งทางรถไฟก่อสร้างเส้นทางรถไฟช่วงเชียงตุง-ยางลือ โดยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อการเดินทางที่ดีขึ้นของประชาชนท้องถิ่น" อย่างไรก็ตามจากรายงานล่าสุดของนักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ระบุว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านสองข้างทาง และเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่าในการกดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพ้นที่
 
 
 
ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 53 ในภาพ พล.ท.มิน ออง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 เยี่ยมห้องสมุดของกรมข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ที่เมืองโต๋น เมื่อ 16 ก.พ. โดยในวันเดียวกันนี้หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ยังรายงานด้วยว่า พล.ท.มิน ออง หล่าย ยังเดินทางไปตรวจการโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเมืองนาย-เชียงตุง ที่สถานีเมืองกก และสถานีเมืองโต๋นด้วย
 
 
 
ภาพกราฟฟิคแสดงแผนที่การก่อสร้างทางรถไฟเฉพาะช่วงเมืองนายจากรายงาน "เส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมภาคตะวันออกของรัฐฉานจะยิ่งเร่งให้เกิดสงคราม" ของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ในภาพจะเห็นว่าเส้นทางรถไฟ (เส้นสีแดง) ตัดผ่านที่ลุ่มเกษตรกรรมของเมือง และพื้นที่สองข้างทางรถไฟเป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารพม่า
 
 
วันนี้ (17 ส.ค.) กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน สหภาพพม่า ได้แก่ เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) เผยแพร่รายงานด่วนเรื่อง "เส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมภาคตะวันออกของรัฐฉานจะยิ่งเร่งให้เกิดสงคราม" (Burma Army tracks across Shan State) โดยเผยแพร่ทั้งภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาคัดค้านโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเมืองนาย-เชียงตุง ของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งมีระยะทางกว่า 361 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกจากรัฐฉานภาคตะวันตกที่จะตัดข้ามแม่น้ำสาละวินเข้าสู่รัฐฉานภาคตะวันออก
 
 
ชี้สร้างทางรถไฟหวังใช้ขนอาวุธหนัก-กดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อย
โครงการดังกล่าวเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มก่อสร้างจากเมืองนาย ซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางรถไฟที่มาจากเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน โดยเส้นทางรถไฟที่จะมีการก่อสร้างมีเส้นทางขนานชายแดนไทย-พม่า มีสถานีย่อยจากเมืองนาย ลางเคอ เมืองปั่น เมืองโต๋น เมืองสาด และเชียงตุง ทั้งหมด 18 แห่ง มีการสร้างสะพาน 461 แห่ง โดยกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเห็นว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าว เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ในการกดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่
 
ทั้งนี้ในการก่อสร้างทางรถไฟ รัฐบาลได้ยืดที่เวนคืนที่ทำกินของชาวบ้านจำนวนหลายพันเอเคอร์ มีการแจ้งให้ชาวนาในพื้นที่ทราบว่าเป็น “โครงการของทหาร” และขู่จะขังคุกถ้าไม่ให้ความร่วมมือ
 
จายปืนคำ นักวิจัยของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) ระบุว่าการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว เป็นไปเพื่อการขนส่งอาวุธของกองทัพพม่า จะทำให้ทหารพม่าสามารถเคลื่อนปืนใหญ่จากที่ตั้งทางทหารในเขตรัฐฉานตอนใต้ เข้าสู่พื้นที่รัฐฉานทางตะวันออกได้
 
ทั้งนี้ในรายงานของนักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ยังระบุด้วยว่า เส้นทางรถไฟตัดผ่านอาณาเขตทั้งตอนเหนือและใต้ของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงใหญ่สุดที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมในกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force - BGF) ซึ่งจะอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า ทางรถไฟสายใหม่เส้นนี้จะช่วยให้สามารถลำเลียงอาวุธหนัก ทั้งรถถัง ปืนใหญ่ จรวด เข้าสู่พื้นที่ภูเขาอันห่างไกลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้กับกองทัพสหรัฐว้า หรือกองกำลังชนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
 
ทางรถไฟเส้นนี้ยังตัดผ่านเหมืองถ่านหินที่เมืองกก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายของไทยในพื้นที่ดังกล่าวรัฐบาล โดยทหารพม่าและนักลงทุนจากไทยวางแผนขุดแร่ลิกไนต์หลายล้านตัน ที่ต้นแม่น้ำกก แม่น้ำที่ไหลเข้าสู่ จ.เชียงราย และยังมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งขายให้ไทย ขณะเดียวกันทางรถไฟยังผ่านที่ตั้งของโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง เขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
 
 
ชี้มีการเวนคืนไม่จ่ายค่าชดเชย แถมห้ามชาวบ้านใกล้ทางรถไฟเพาะปลูก
ในรายงานระบุด้วยว่า เมืองนาย เคยไปเขตอู่ข้าวอู่น้ำซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐฉาน แต่ผลจากการบังคับย้ายถิ่นที่อยู่ขนานใหญ่ระหว่างปี 2539-2541 การยึดที่ดินของกองทัพและนโยบายด้านการเกษตรที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวและพืชผลอื่นๆ ลดลงมาก การตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายใหม่ผ่านไร่นาที่เหลือน้อยเหล่านี้ ย่อมทำให้ชาวนาไม่พอใจ
 
โดยตอนแรก ทหารบอกชาวนาในพื้นที่และผู้ใหญ่บ้านว่าจะยึดที่ดินเพียงเล็กน้อย โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ที่จะนำมาใช้สร้างเส้นทางรถไฟ ทางการอ้างว่าจะไม่มีผลกระทบต่อที่ดินส่วนอื่นอีกและจะมีการขนดินจากที่อื่นเพื่อมาทำไหล่ทางรถไฟเท่านั้น ชาวบ้านจึงยอมรับข้อต่อรอง อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าไม่ได้ทำตามที่ระบุไว้
 
โดยหญิงหาญฟ้า จากเครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) ระบุว่า โครงการดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนรอบพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟ โดยมีการบังคับเวนคืนโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย มีการยึดที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่นาในเมืองนาย ราว 1,000 เอเคอร์ และที่นาในเชียงตุง 2.000 เอเคอร์ เพื่อสร้างสถานีรถไฟโดย นอกจากนี้การเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ยังมีการเวนคืนที่ดินมากเกินกว่าที่โครงการจำเป็นต้องใช้ และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการห้ามชาวบ้านทดน้ำเข้านา ตลอดพื้นที่สองข้างทางรถไฟ ถ้าพบว่ามีผู้ปล่อยน้ำเข้านา จะถูกจับกุม และมีการนำคนงาน 150 คน พร้อมรถแทรกเตอร์และรถสิบล้อเข้าไปขุดที่นาและนำดินมาสร้างไหล่ทางรถไฟ
 
นอกจากนี้ในฤดูแล้งที่ผ่านมา การที่ชาวบ้านไม่สามารถทดน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกได้ ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งเช่น ถั่วเหลือง มะเขือเทศ แตงโม และแตงกวา และรถแทรกเตอร์ที่นำมาใช้ขุดดินจากที่นาข้างเคียงเพื่อก่อสร้างไหล่ทางรถไฟได้ทำให้เกิดร่องลึกจำนวนมาก ทั้งนี้จากการยึดที่ดินในเมืองนายเพื่อสร้างทางรถไฟ คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของพื้นที่ลุ่มเพื่อการเพาะปลูกรอบๆ เขตเมืองนาย และชาวบ้านสูญเสียรายได้จากการไม่สามารถปลูกถั่วเหลืองในช่วงฤดูแล้งราว 25 ล้านจั๊ต หรือ750,000 บาท
 
โดยในรายงานของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ระบุว่า “ทางรถไฟสายใหม่เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่านายพลทหารในพม่า วางแผนที่จะควบคุมประชากรและทรัพยากรของรัฐฉานในระยะยาว ไม่ว่าภายหลังการเลือกตั้งปี 2553 จะมีรัฐบาลเป็นพลเรือนขึ้นมาปกครองประเทศก็ตาม แต่โครงสร้างการกดขี่ของทหารจะยังคงเหมือนเดิม และประชาชนจะทนทุกข์ยากต่อไป”
 
โดยข้อเรียกร้องของรายงานระบุว่า หนึ่ง กองทัพรัฐบาลทหารพม่าจะต้องยุติการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเชียงตุง-เมืองนายทันที และสอง  เส้นทางรถไฟสายใหม่ควรก่อสร้างก็ต่อเมื่อตอบสนองประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ
 
"รัฐบาลทหารพม่าบอกกับนานาชาติว่า การเลือกตั้งในปี 2553 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในพม่าแต่ในความเป็นจริงพวกเขายังคงมุ่งทำสงครามต่อไป ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าควรคิดให้รอบคอบก่อนลงทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นสมรภูมิเหล่านี้” จายปืนคำ นักวิจัยของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ กล่าว
 
 
เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่าจากเมืองหลวงรัฐฉานถึงสามเหลี่ยมทองคำ
นอกจากนี้ เว็บไซต์นิตยสารอิรวะดี ยังระบุว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟในรัฐฉานที่เพิ่งแล้วเสร็จช่วงแรก คือเส้นทางระหว่างเมืองตองยี-เมืองนาย ขณะที่โครงการปัจจุบันนี้หากแล้วเสร็จก็จะเป็นครั้งแรกที่กองบัญชาการทหารพม่า สังกัดกรมทหารภาคตะวันออกรัฐฉาน (the Eastern Regional Military Command in Taungyi) ที่ตองยี เมืองหลวงรัฐฉาน จะสามารถติดต่อโดยเส้นทางรถไฟกับกองบัญชาการของกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน (the Triangle Regional Military Command) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เชียงตุง
 
และหลายเดือนก่อนหน้านี้ ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียมาร์ของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 19 ก.พ. 53 ยังมีการรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. พล.ท.มิน ออง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 (the chief of the Bureau of Special Operations-2) ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉาน พร้อม พล.ต.ยา ปแย (Ya Pyae) ผู้บัญชาการกรมทหารภาคตะวันออกรัฐฉาน และ พล.ต.จ่อ เพียว ผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยม ได้เดินทางมาตรวจโครงการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าว โดยมาตรวจสถานีรถไฟเมืองกก เมืองโต๋น และนากองมู ซึ่งอยู่ในเส้นทางก่อสร้างทางรถไฟสายเมืองนาย-เชียงตุงด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net