Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้เป้ากฎหมายไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ พูดไปยิ่งสร้างความเข้าใจผิด แนะประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากอยากอยู่ยาว ด้านตัวแทนเศรษฐกิจการคลังยันรายได้ อปท.จากภาษีที่ดินฯ ต้องไม่ต่ำว่ารายได้เดิม ส่วนเงินสมทบธนาคารที่ดินให้เก็บเพิ่มอีกต่างหาก ตัวแทน คปท.จวกเหมือนเอาเงินคนจนมาช่วยคนจน

 
หลังจากสร้างกระแสข่าวครึกโครมอีกครั้งเมื่อ นาย กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังคนปัจจุบันประกาศเดินหน้าผลักดันครั้งใหญ่ แล้วก็ต้องชะลอลงเมื่อนักการเมืองร่วมพรรคหลายคนออกมาส่งเสียงปราม วันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผลักดันกันมานานกว่า 10 ปี ได้เข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ก่อนที่จะส่งกลับไปให้ ครม.เพื่อนำเข้าสู่สภาต่อไป 
 
ทำเอาหลายคนลุ้นจนตัวโก่งไปกับร่างกฎหมายนี้เพราะคาดหวังว่าภาษีที่ดินฯ จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แต่ดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ยากเต็มที ไม่ว่าจะด้วยสถานะรัฐบาลในปัจจุบันว่าจะอยู่รอดปลอดภัยจนกระทั่งผ่านร่างกฎมายได้หรือไม่ และแม้ว่าร่างกฎหมายจะนำมาใช้บังคับได้ ก็ไม่แน่ว่าจุดมุ่งหมายนั้นจะเป็นจริง เพราะเหตุผลสำคัญคือท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนต่อแนวทางดังกล่าว
 
เพื่อผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เป็นเครื่องมือและมาตรการทางกฎหมายดังที่สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน วันนี้ (25 ส.ค.53) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนา "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน" เพื่อระดมความเห็นและมุมมองของนักวิชาการ ภาคประชาชน และสาธารณะชน ต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 
 
นักวิชาการชี้เป้ากฎหมายไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ พูดไปยิ่งสร้างความเข้าใจผิด 
 
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เป้าหมายหลักไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำหรือกระจายที่ดิน และการไปพูดแบบนี้มันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แม้มันอาจจะช่วยได้บ้าง แต่น้อย และใช้เวลานาน แต่มันไม่ใช่เหตุผลหลัก เป็นไปตามแนวคิดของอดัมส์ สมิทธ์ ที่บอกว่าที่ดินมันอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ การซื้อขายที่ดินจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ ดังนั้นการซื้อที่ดินแล้วย้ายไม่ได้ต้องเสียภาษีที่ดิน โดยหลักการเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตามผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของกฎหมายนี้คือ เป็นการบังคับให้เจ้าของที่ดินต้องทำประโยชน์ ในกรณีญี่ปุ่น เกษตรกรญี่ปุ่น ต้องเสียภาษี 30% ทำให้เกษตรกรต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร รัฐบาลก็เอามาช่วยพัฒนาสวัสดิภาพและสวัสดิการ 
 
ที่ฮ่องกงมีการจัดเก็บภาษีจนลดงบประมาณของประเทศร้อยละ 35 ทั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งบอกว่า ถ้าไม่เก็บภาษีอะไรเลย เก็บเฉพาะภาษีที่ดิน ประเทศก็จะอยู่ได้ เพราะการไปเก็บภาษีด้านอื่นจะเกิดผลกระทบให้การผลิตลดลง มีแรงจูงใจลดลง ในส่วนของอัตราการจัดเก็บจะต้องเป็นอัตราที่ยอมรับกันได้ ดังนั้น ทุกๆ ประเทศจะต้องมีภาษีที่ดินแบบนี้ ซึ่งมีประโยชน์ทำให้ไม่เกิดระบบเสือนอนกิน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 
นอกจากนั้น ศ.ดร.ผาสุก ยังยกตัวอย่างอัตราการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งในฝรั่งเศสว่า ในฝรั่งเศสทุกคนต้องส่งข้อมูลทรัพย์สินที่มีทั้งหมดให้กับภาครัฐและนำไปลบด้วยหนี้สิน เหลือเท่าไหร่ก็จะมีอัตราการจัดเก็บตั้งแต่ 0 -1.8% โดยมูลค่าที่รัฐบาลจัดเก็บได้คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดของภาษีทั้งประเทศ ในส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ในบางมลรัฐ มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในเมืองใหญ่ๆ เก็บภาษีสูงๆ ซึ่งมีผลให้คนที่ไม่ทำอะไรในที่ดินของตนเอง ต้องหารายได้ พัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ เพื่อเอาเงินมาเสียภาษี ดังนั้นกระบวนการนี้จึงผลักดันให้คนที่เอาที่ดินตรงนี้มาใช้ประโยชน์ กรณีที่เพนซิลวาเนีย มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ 8,000 กว่าแห่ง ลดเหลือ 100 กว่าแห่ง ทำให้เกิดกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ 
 
ส่วนการกระจายการถือครองที่ดิน ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า หัวใจ คือ การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งต้องทำเป็นนโยบาย ซึ่งคนจะกลัวกันมากกว่าจะมีการเวนคืน หรือยึดที่ดิน แต่การปฏิรูปที่ดินมีหลายรูปแบบ ประเทศที่มีการปฏิรูปที่ดินได้ผล คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ โดยรัฐบาลจะไม่ได้ยึดมาจากคนรวย แต่ตั้งเกณฑ์ว่ามีได้ 5 ไร่ ใครมีเกินรัฐบาลจะขอซื้อ จ่ายเป็นพันธบัตรและดอกเบี้ย และเอาที่ดินที่รัฐบาลมีอยู่ในมือในรูปแบบต่างๆ ไปกระจายการถือครองที่ดิน และมีธนาคารที่ดินเป็นมาตรการเสริมอักอันหนึ่ง ในส่วนของช่องโหว่เรื่องการเก็บภาษีจากราคาค่าเช่า มีการสมยอมกันเพื่อบอกราคาค่าเช่าต่ำ ทำให้เจ้าของไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากค่าเช่า ดังนั้นควรจะมีคณะกรรมการเพื่อดูแลตรงนี้ให้โปร่งใสมากขึ้น
 
“การกระจายที่ดินต้องผลักดันการปฏิรูปที่ดินที่เหมาะสมกับประเทศไทย” ศ.ดร.ผาสุก แสดงความเห็น
 
 
ชี้ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากอยากอยู่ยาว
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวสนับสนุนกฎหมายภาษีที่ดินฉบับนี้ แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงอยู่ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกำกับการใช้ที่ดิน นอกจากนั้นในร่างกฎหมายได้ระบุให้มีคณะกรรมการประเมินและกำกับอัตราภาษี ที่สามารถปรับแก้ไข ปรับเปลี่ยนอัตราภาษีได้ โดยภาคประชาชนสามารถเข้าไปร่วมพูดคุยเสนอแนะ และในอนาคตประเทศไทยควรมีการผลักดัน ภาษีความมั่งคั่ง ทั้งภาษีมรดก ภาษีของขวัญ ซึ่งเป็นตัวสืบทอดความมั่งคั่งได้ เพราะที่ดินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการการสะสมความมั่งคั่ง และคนสามารถไปสะสมทรัพย์สินอย่างอื่นที่ไม่มีการเก็บภาษีได้ อย่างไรก็ตามต้องเป็นการเก็บภาษีที่เป็นธรรม ไม่ควรมากเกินไปจนจ่ายไม่ได้ 
 
“ภาษีทรัพย์สิน ภาษีความมั่งคั่ง ต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประเทศ ไม่ใช่เรื่องคนจนไปเอาจากคนรวย” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว และว่าการที่คนรวยต้องเสียภาษีมากกว่า เพราะได้ประโยชน์มากกว่าจะระบบสาธารณูปโภคของรัฐ 
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวต่อมาว่า ผลประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีคือจะทำให้เกิดการทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เราพูดถึงว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเอาเงินมาจากไหน ในบางประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการเขาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กัน 17-20% ในขณะที่ประเทศไทยเก็บแค่ 7 % ส่วนภาษีรายได้มีคนเสียภาษีเพียง 1ล้านคน อีกทั้งมีปัญหาในการจัดเก็บอยู่มาก สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เหมือนเป็นเรื่องลึกลับ เป็นความลับสุดยอด ไม่มีใครรู้ว่าการกระจายการถือครองที่ดินในประเทศเป็นอย่างไรจริงๆ ทั้งที่ตรงนี้เป็นข้อมูลหลักเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินได้จริง 
 
ต่อคำถามที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถที่จะผ่านในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า รัฐบาลต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนมาก และหากสามารถผ่านร่างกฎหมายได้ก็จะได้ใจประชาชนมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกัดฟันหนุนกฎหมายนี้แม้ว่าจะมีคนในพรรคต่อต้าน ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน อย่าไปฟังเสียงของคนส่วนน้อยที่จะไม่มีผลอะไรต่อคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ หากต้องการจะอยู่ยืนยาว
 
“ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากต้องการเสียงคนที่จะเลือกประชาธิปัตย์กลับมา” ศ.ดร.ผาสุก
 
 
แจงภาษีที่ดินฯ ประโยชน์เข้าท้องถิ่น ใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่เดิม หวังผลลดตุนที่ดินเก็งกำไร 
 
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างเพราะปัญหาการถือครองที่ดินเป็นปัญหาที่ทับซ้อน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ โดยตัวเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำมาใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่เดิม 
 
ผศ.ดร.ดวงมณี วิเคราะห์ภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันว่า มีการจัดเก็บจาก 3 ฐานด้วยกัน คือ จากฐานรายได้ เก็บจากฐานการบริโภค และเก็บจากฐานทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ใกล้เคียงคือภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างแต่ก็ยังมีข้อบกพร่องในการจัดเก็บ โดยที่ผ่านมาเป็นการจัดเก็บจากฐานรายได้ คือ ค่าเช่า จึงไม่ใช่เก็บจากฐานทรัพย์สิน มีช่องโหว่คือ อาคารที่เป็นที่อยู่อาศัย ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่โตแต่ไม่ต้องเสียภาษี โรงเรือนที่ปล่อยทิ้งว่างก็ไม่ต้องเสีย และรัฐเองไม่มีมาตรการในการบังคับตรวจสอบหาคนที่เก็บภาษีอย่างแท้จริง การทุจริตทำได้ง่าย นอกจากนี้โครงสร้างภาษีเป็นแบบถดถอย ยังคงใช้ราคาปานกลางตั้งแต่ปี 2521-2524 ทำให้ราคาไม่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามหลักการต้องมีการประเมินทุกๆ 4 ปี 
 
สำหรับฐานภาษีของภาษีที่ดินใหม่นั้นจะเก็บจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดเก็บ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดการรับผิดรับชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ โดยอัตราภาษีจะจำแนกตามประโยชน์และการใช้งาน เกษตรไม่เกินร้อยละ 0.05 ที่อยู่อาศัยไมเกินร้อยละ 0.1 พาณิชย์ ไม่เกินร้อยละ 0.5 ส่วนที่ดินที่ไม่มีการทำประโยชน์จะเก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 0.5 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 3 ปี แต่ไมเกินร้อยละ 2 ตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัย 1 ล้าน จ่ายภาษีไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี แต่จะมีข้อยกเว้นให้กับผู้ที่พึ่งมีบ้านใหม่และผู้มีรายได้น้อยจะไม่ต้องเสียภาษี เช่น มูลค่าที่ดินไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ตามการยกเว้นลดหย่อนมากไม่ควรมี เพราะจะเป็นช่องโหว่กับกฎหมาย เพราะรายได้ภาษีที่จัดเก็บจะตกกับคนในท้องถิ่น โดยอัตราภาษีก็ไม่ได้สูงมากจนเกินไป
  
ทั้งนี้ ในแง่การเก็บภาษีจากฐานมูลค่าที่ดิน โดยหลักการคือถ้าเรามีที่ดินราคาสูง เราก็จะมีความสามารถในการจ่ายภาษีได้สูงกว่าคนที่มีมูลค่าที่ดินน้อย ขณะที่ถ้าดูจากขนาดการถือครองที่ดิน ต้องดูหลายปัจจัยว่า ขนาดที่ดินที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรจะมีขนาดกี่ไร่ แต่ถ้าจะเก็บจากขนาดการถือครองที่ดินจะต้องมีฐานการถือครองที่ดินของทั้งประเทศก่อนเพื่อเป็นฐาน ในส่วนของอัตราภาษีจากร่างนี้ยังไม่ก้าวหน้า เช่น ถ้ามี 100 ไร่ เสีย 1% ถ้ามี 200 ไร่ เสีย 2% ถ้ามี 300 ไร่ เสีย 3%
 
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อมาว่า เป้าหมายหลักของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ คือเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน แต่อาจจะไม่ได้ประโยชน์เรื่องการกระจายการถือครองที่ดินมากนัก แต่จะเป็นประโยชน์เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้น และต้องคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ กำกับดูแล เพื่ออุดช่องโหว่คนที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้จะมีผลต่อคนที่ถือครองที่ดินมาก คนที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร โดยจะทำให้มีต้นทุนขึ้นมาเพราะปัจจุบันไม่มีต้นทุน ซึ่งในอนาคตจะมีผลต่อการตัดสินใจของคนพวกนี้มากขึ้น 
 
 
ตัวแทนคลังยันรายได้ อปท.จากภาษีที่ดินต้องไม่ต่ำว่ารายได้เดิม ส่วนเงินสมทบ ธ.ที่ดิน ให้เก็บเพิ่มต่างหาก 
 
จรูญศรี ชายหาด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าปัจจุบันได้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษี จัดเก็บรายได้ แต่ถ้าจัดเก็บไม่เพียงพอรัฐจากอุดหนุนลงไป แต่ฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินเดิมอัตราถดถอย ราคาไม่เป็นปัจจุบัน ตัวอย่างปัญหาที่ผ่านมา เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในเทศบาลที่พื้นที่ 35 ตารางวา กฎหมายเก็บจากภาษีจากค่าเช่าใช้ประโยชน์ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เช่าซึ่งหลายหลายถูกผลักภาระให้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ตามหลักที่ว่าเงินภาษีจัดเก็บที่ไหนก็ใช้เลี้ยงคนตรงนั้น 
 
ในส่วนการหักภาษี 2% เข้ากองทุนธนาคารที่ดิน มีการปรับเปลี่ยนเป็นให้มีการเก็บเซอร์ชาร์จ (surcharge) หรือค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่ม 2 % จากรายได้ภาษี เพื่อส่งให้รัฐ แยกต่างหากจากรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำมาบริหารจัดการในพื้นที่ โดยหลักของภาษีที่ดินฯ คือ มีเกณฑ์ลดหย่อน กลุ่มที่เสียภาษีสูง เช่นผู้เช่าบ้าน ผู้รับภาระสินค้าและบริการ ทั้งนี้การที่จะได้เงินมาบริหารเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับอัตราลดหย่อนที่จะออกมา แต่อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่ารายได้ที่เคยจัดเก็บได้เดิม ทั้งนี้ ภาษีบำรุงท้องถิ่นปัจจุบันที่จัดเก็บได้คือราว 18,000 ล้านบาท ดังนั้นภาษีที่ดินฯ ควรต้องได้ไม่น้อยกว่านี้ 
 
จรูญศรี ต่อกล่าวต่อมาถึงขั้นตอนของร่างกฎหมายว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นกฤษฎีกา ชุด 12 โดยจะมีการพิจารณาประมาณต้นเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การประชาพิจารณ์เต็มรูปแบบ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการรับฟังความเห็นเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณากฎหมายจนออกได้ ในปี 2553 ต่อไปปี 2554-2555 จะเป็นการเตรียมการเพื่อทำฐานข้อมูลและสำรวจข้อเท็จจริง โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2556
 
 
คปท.เสนอปลดล็อคเพดานภาษีที่ดินรกร้าง พร้อมให้เกษตรรายใหญ่จ่ายภาษีแบบขั้นบันได 
 
ประทิน เวคะวากยานนท์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีที่ดิน 321 ล้านไร่ มีคน 95% มีที่ดินเฉลี่ยคนละไม่ถึง 1 ไร่ มีเกษตรกร 10 ล้านคนที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอในขณะที่นักการเมืองอย่างคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีที่ดินรวมกันถึง 5,000 ไร่ แต่ สส. สว. และนายทุนรวมกันยังไม่มีข้อมูลว่ามีที่ดินเท่าไหร่ เรื่องนี้ยังเป็นความลับที่เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ทั้งนี้ จากการผลักดันของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ให้มีการแก้ปัญหาที่ดิน 3 อย่างคือ 1.โฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนรักษาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีกฎกติการ่วมกัน 2.กองทุนธนาคารที่ดิน ที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน 3.การเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่รัฐพยายามเอามาใช้แก้ปัญหาที่ดิน
 
“ถ้าหากเฉพาะเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่ต้องมาแถลงว่าจะออกกฎหมายมาแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน” ประทินกล่าว และว่าในขณะนี้เรื่องกองทุนธนาคารที่ดินยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินงานกองทุนซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ตอบสนองเฉพาะคนกรุงเทพฯ ก็น่าจะมีการจัดสรรงบให้ได้สัก 3 หมื่นล้านเทียบเท่าการทำรถไฟฟ้าแค่สายหนึ่ง มาเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อนำมาจัดหาที่ดิน ช่วยเหลือคนในชนบทให้ได้ใช้ประโยชน์  
 
ในส่วนข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ประทินกล่าวว่า ในส่วนอัตราภาษีสำหรับที่ดินรกร้าง ที่เก็บภาษีเพียง 0.5 ซึ่งเท่ากับที่ดินประเภทอื่น คิดว่าจะไม่ส่งผลให้คนที่เก็งกำไรที่ดินเอาไว้ เพราะอัตราภาษีต่ำเกินไป ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ขอเสนอว่า ไม่ควรมีเพดานภาษี 2% ควรจะเก็บอัตรา 2 เท่าในทุก 3 ปี จนเขาคายที่ดินออกมา และควรมีอัตราภาษีที่แตกต่างกับการทำเกษตรรายใหญ่กับเกษตรกรรายย่อย ถ้าเก็บอัตราเดียวกันจะไม่เป็นธรรม โดยเกษตรกรรายใหญ่ควรเสียภาษีเป็นขั้นบันไดตามขนาดเนื้อที่การถือครอง เช่น 1,000 ไร่ 2,000 ไร่ นอกจากนี้ในส่วนของภาษีที่จัดเก็บได้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหักภาษี 2% เข้ากองทุนธนาคารที่ดินส่วนกลาง 
 
 
จวกเก็บเงินเพิ่มสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน เหมือนเอาเงินคนจนมาช่วยคนจน
 
สุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนข้อเสนอที่ว่าไม่ควรมีการกำหนดเพดานภาษี 2 % และให้ยกเลิก เพราะไม่ล้อกับอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในระดับภูมิภาค และรัฐควรใช้มาตรการทางภาษีที่มีอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่วนกรณีข้อเสนอให้มีการหักภาษีที่ดินฯ เข้ากองทุนธนาคารที่ดิน ที่อ้างว่าไม่สามารถทำได้เนื่องรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงท้องถิ่นได้นั้นไม่จริง เพราะมีกรณีที่รัฐบาลมีการสั่งการให้ตั้งงบเรื่องประเพณีวัฒนธรรมโดยใช้งบท้องถิ่นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และท้องถิ่นก็ยอมให้แทรกแซง อีกทั้งความจริงคือท้องถิ่นไม่ได้เป็นเขตปกครองตนเองที่มีความเป็นเอกเทศ แต่เป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการ
 
สุรพล กล่าวอีกว่า การเสนอให้เก็บเซอร์ชาร์จ (surcharge) หรือค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเพื่อนำเงินเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน แทนที่จะหักเปอร์เซ็นต์จากภาษีฯ จะกลายเป็นการเอาเงินมาจากเกษตรกรรายย่อย เอาเงินคนจนมาช่วยคนจน ในขณะที่คนรวยอยู่สบายเหมือนเดิม อีกทั้งกฎหมายภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ออกแบบการเก็บภาษีจากขนาดการถือครองที่ดินในอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามหากคำนวณเงินได้การจัดเก็บจากเซอร์ชาร์จจริงๆ แล้วจะได้เงินสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดินเพียง 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากอยู่ดี
 
สุรพลให้ข้อมูลกรณีปัญหาการเสียภาษีที่ดินของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ด้วยว่า มีนายทุนสวนปาล์มขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หลายราย เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหลายหมื่นไร่ มีทั้งที่เป็นที่ดิน สปก. ที่สวนป่า และป่าสงวนฯ โดยทำเสมือนว่าเป็นที่ดินของตนเอง ซึ่งที่ดินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบ นายทุนจึงไม่ต้องเสียภาษีที่ดินให้ท้องถิ่น เวลาจะเสียภาษีก็แจ้งแค่ที่ตัวเองมีเอกสารสิทธิ์แต่ไม่ครบถ้วนทั้งหมด กลายเป็นปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินไม่คบถ้วน และคนที่จะหลุดรอดได้ก็จะเป็นนายทุนขนาดใหญ่ที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ช่องโหว่นี้กฎหมายใหม่จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง 
 
อัพยุทธ์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่าขณะนี้ต้องตอบให้ชัดเจนว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจริง หรือเป็นเพียงนโยบายหาเสียง ส่วนตัวถ้าดูจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วมองว่าจะเป็นการหาเสียงมากกว่าจะมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะยังไม่เห็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้กับคนจนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 
 
“ภาษีที่ดินฯ ของรัฐบาล ยังไม่ได้เป็นการกระจายความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน” ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคให้ความเห็น
 
อัพยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนที่จะสนับสนุนเรื่องธนาคารที่ดิน ในเรื่องเงินประเดิมเพื่อการขับเคลื่อน ถ้ามีการพูดว่าเป็นแหล่งรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับเครือข่ายฯ ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้หวังอะไรจากรัฐบาลมากนัก และทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นภาระของการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net