Skip to main content
sharethis

อีกเพียงไม่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะครบรอบวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แทบไม่น่าเชื่อว่าจากประเทศที่เคยมีประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ จากคนที่เคยรังเกียจทหาร รังเกียจความเป็นเผด็จการกลับสามารถอยู่ภายใต้บรรยากาศดังกล่าวมานานถึงเกือบ 5 ปี และยังไม่มีใครตอบได้ว่าการดำรงอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนี้จะดำเนินไปอีกยาวนานเท่าไหร่ การตอบคำถามง่ายๆ เพียงว่าถ้ามี "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย" แล้วอะไรๆ จะดีขึ้นเอง ทุกอย่างจะช่วยคลี่คลายในท้ายที่สุด ข้อเท็จจริงจะแฮปปี้เอนดิ้งเช่นนั้นหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ทำให้สังคมเงียบและยอมรับการใช้ไพ่ใบสุดท้ายโดยฝ่ายชนชั้นนำนี้อยู่เลย เพราะคนจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่าการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นเพียงแค่การซื้อเวลา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงประเด็น และเป็นการเบียดขับกลุ่มคนเสื้อแดงที่คิดเห็นแตกต่างออกจากเวทีการเมืองไป 

ประชาธรรมได้สัมภาษณ์ความเห็นของ "ภัควดี ไม่มีนามสกุล" นักแปลอิสระ ที่มีผลงานแปลอาทิ บรรษัท รายงานลูกาโน และมีผลงานในนิตยสารฟ้าเดียวกัน นอกจากนี้ภัควดียังติดตามประเด็นการเมือง -สังคมทั้งในระดับโลกและประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เธอมีความเห็นชวนท้าทายต่อการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่นี้รวมไปถึงท่าที และบทบาทของภาคประชาชนด้วย

ประชาธรรม: ภายหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ใต้กระแสที่รัฐบาลพยายามจะปรองดอง และตั้งคณะกรรมการมาปฏิรูปประเทศไทยนั้น มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลพยายามใช้อำนาจนิยมเต็มรูปแบบ มีกองทัพหนุนหลัง กลไกอะไรต่างๆ ในสังคมก็ขนเอามาใช้ การปฏิรูปฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามทำให้ทุกอย่างมันหยุด เพราะรัฐบาลเป็นคนริเริ่ม ทุกสรรพกำลังที่รัฐบาลมีในมือก็เอามาใช้หมด เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวในประเทศมันหยุด แต่ก็ปรากฏว่ามันไม่หยุด การปฏิรูปฯ ก็เหมือนการตบหัวแล้วลูบหลัง คือคุณฆ่าเขาไปแล้ว ยังมาบอกอีกว่าเขาควรต้องการอะไร จะปฏิรูปประเทศอย่างไร รัฐบาลบอกอยู่ฝ่ายเดียวว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่าฟังปัญหาของคนที่เขามาเรียกร้องรึเปล่า และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมองปัญหาอย่างเดียวกับคนที่มาเรียกร้องหรือไม่ ในเมื่อประชาชนออกมาประเภทที่ "ตายก็ไม่ว่า" แล้วได้ถามเขาหรือเปล่าว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ลงท้ายแล้ว ชนชั้นนำก็เป็นคนกำหนดวาระตลอด อย่างนี้ปัญหามันก็ไม่จบ อันนี้เป็นอันแรก

อันที่สองคือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันอะไรเลย ไม่มีเงื่อนไขอะไรในการบังคับใช้ เราก็เคยมีบทเรียนมาแล้วในภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์มาแล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันก็ลักษณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาต่างๆ นานา ทำอย่างนั้นอย่างนี้ทุกวิถีทาง แต่ไม่เคยฟังคนที่ภาคใต้ว่าเขามีปัญหาอะไร สิ่งที่เขาเรียกร้องมาก็ไม่ฟัง เช่น การที่ชาวบ้านภาคใต้พูดถึงเขตปกครองพิเศษ รัฐบาลก็ไม่ยอมรับ ใช้วิธีการของตัวเองลงไป ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ไม่แก้ปัญหา ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทำให้จำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ มันยังกลายเป็นความชาชินของสังคมไทยในเรื่องความรุนแรง สื่อเองก็ไม่เล่นข่าวแล้ว เพราะไม่มีประเด็นจะเล่น นี่ก็เหมือนกันคือ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ แล้ว แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ไม่มีข้อผูกพันอะไรเลย คือตั้งมาแล้วก็ไม่มีประโยชน์

สิ่งที่รัฐบาลพยายามเอามาอ้างคือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาของคนเสื้อแดง และยังดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นคิดอย่างไร
สังคมนี้มีปัญหาในการนิยามคำว่า "ภาคประชาชน" มีการนิยาม 2 แบบ ภาคประชาชนที่อยู่ในอุดมคติของชนชั้นนำของรัฐบาล ของเอ็นจีโอบางกลุ่มกับภาคประชาชนที่เป็นภาคประชาชนจริงๆ ความต่างคือ ภาคประชาชนที่อยู่ในอุดมคติของชนชั้นนำนั้น ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เช่น ภาคประชาชนต้องรักษาสิ่งแวดล้อม พออยู่พอกิน ไม่บริโภคนิยม มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย รักษาวัฒนธรรม เป็นภาคประชาชนอันดีงาม ซึ่งเป็นอุดมคติแบบเดียวกับของเอ็นจีโอ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอ็นจีโอจำนวนมากจึงเอียงไปเข้าข้างสายอนุรักษ์นิยมใหม่ แล้วยังกึ่งเผด็จการด้วย

ภาคประชาชนจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่เอ็นจีโออยากให้เป็น ประชาชนจริงๆ ดันต้องการทุนนิยม เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือชนบท ปัญหาของเขาคือเรื่องปากท้อง ระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยมันไปผูกพันกับทุนนิยมแล้ว ทุกอย่างที่ประชาชนอยากได้มา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 ปัจจัยที่ 5 เรื่องการศึกษา ปัจจัยที่ 6 เรื่องคมนาคมขนส่ง คือทุกปัจจัยที่ประชาชนต้องใช้ในการดำรงชีวิต มันต้องใช้เงินหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้องใช้เงิน เขาจึงต้องการระบบทุนนิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่จะไปใช้ในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ในขณะที่เอ็นจีโอ และชนชั้นนำไทยยังมองประชาชนเหมือน 50 ปีก่อนคือไม่ต้องใช้เงิน คือการแช่แข็งชนบท อันเป็นภาคประชาชนที่มีอยู่แต่ในอุดมคติที่ไม่มีจริง ในเมื่อเขาต้องการใช้เงิน แล้วประชานิยมที่ทักษิณทำอยู่มันตอบสนองเขาได้ เราไปด่าว่าเขาว่าเขาได้เงินกองทุนหมู่บ้านมา แล้วเขาไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ไปซื้อมือถือ ถามว่าคนในเมืองจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้มั้ย เพราะว่าเมืองไทยไม่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้เขาเลย เขาต้องหาด้วยตัวเอง เมื่อเขาต้องหาด้วยตัวเอง เขาก็ต้องใช้เงิน ระบอบประชานิยมของทักษิณมันไปตอบสนองจุดนั้น เขาจึงพอใจ

หมายความว่าความคิดของฝ่ายชนชั้นนำ หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศตอนนี้มีความคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม แล้วพยายามจะแช่แข็งประเทศ เลยทำให้เกิดปัญหาใช่ไหม
ความเป็นอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนำไทยนั้น อยากเรียกว่าอนุรักษ์นิยมใหม่ ไม่ใช่ว่าชนชั้นนำไม่ทุนนิยมนะ ก็ทุนนิยมสุดขั้วเหมือนกัน ชนชั้นนำที่ประกอบด้วยรัฐบาล คนในกองทัพ สถาบันเก่าแก่ กลุ่มทุนต่าง ๆ กลุ่มนี้มองประชาชนอีกแบบ อาจจะไม่ได้มองปัญหาเรื่องทุนนิยม แต่กลุ่มนี้มองในแง่การปกครอง ไม่ต้องการความกระด้างกระเดื่อง แต่มีชนชั้นนำทางอุดมการณ์อีกกลุ่ม ที่เข้าไปร่วมปฏิรูปฯ และรวมเอ็นจีโอด้วยนั้น กลุ่มนี้ไม่ต้องการให้ประชาชนเป็นทุนนิยม ส่วนถ้าตัวเองจะเป็นทุนนิยมนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะอะไรเอ็นจีโอถึงคิดแบบนั้น
เพราะไม่ใช่อุดมคติของเขา ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่จึงเข้าไปอยู่ข้างพันธมิตรฯ ทำไมเอ็นจีโอจึงไม่เข้าข้างคนเสื้อแดง ก็เพราะว่าประชาชนเสื้อแดงไม่ใช่ประชาชนที่เขาต้องการ เมื่อไม่ต้องการ เขาก็ผลักประชาชนพวกนี้ออกไป โดยไม่เรียกว่าเป็นประชาชน แต่เรียกว่าเป็นคนเสื้อแดง เป็นเหยื่อที่รับเงินทักษิณ ทั้งที่จริง กลุ่มคนพวกนี้ก็คือประชาชนเหมือนกัน แต่เอ็นจีโอจงใจมองข้าม เพราะประชาชนพวกนี้ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่เขากำหนดไว้ ก็เลยทำให้เอ็นจีโอเหล่านี้ ไม่ยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นประชาชนจริงๆ ทั้งที่จำนวนประชาชนเหล่านี้ อาจมีจำนวนมากกว่าประชาชนที่อยู่ข้างกลุ่มเอ็นจีโอด้วยซ้ำ

คิดอย่างไรกับเอ็นจีโอบางส่วนมักพูดว่าเขาไม่เข้าข้างเหลืองหรือแดง แต่เขาคือภาคประชาชนจริง ๆ และพยายามสร้างทิศทางการทำงานแบบภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการอยู่เหลืองหรือแดงมันเกี่ยวข้องกับการเมือง
เอ็นจีโอกลุ่มนี้ เขาพยายามสร้างชุมชนเข้มแข็งพึ่งตัวเองขึ้นมา โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งแนวคิดหรือวิธีคิดแบบนี้อาจจะดีแง่หนึ่ง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันเป็นวิธีคิดที่ไปรับใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่แบบสุดขั้ว เพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่ ต้องการลดบทบาทของรัฐในด้านหนึ่ง และขยายบทบาทของรัฐในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ ลดบทบาทของรัฐในด้านการบริการสังคม และขยายบทบาทของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงบังคับให้ทุกอย่างอยู่ในระบบตลาด อย่างเช่นสิ่งที่รัฐบาลทักษิณเคยดำเนินการ เช่น เรื่องการสัมปทานทะเล หรือแนวคิดที่พยายามจะแปรรูปทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบตลาด โดยให้รัฐเข้าไปบังคับให้เกิดการแปรรูป พยายามแปรรูปทรัพยากรทุกอย่างให้อยู่ในระบบตลาดทั้งหมด กระบวนการนี้ก็มีอยู่ในทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลทักษิณ มันเป็นกระแสของลัทธิเสรีนิยมใหม่

หากเอ็นจีโอบอกว่า เราไม่ต้องการพึ่งพิงรัฐ เราอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถสร้างชุมชนเข้มแข็งได้ นั่นเท่ากับเปิดทางให้รัฐลดบทบาทลงในเรื่องการบริการประชาชน ประชาชนจะจัดการช่วยเหลือตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องจากรัฐ ทั้งนี้แนวคิดแบบนี้ ทำให้มีคนวิจารณ์ว่า ถึงที่สุดแล้ว เอ็นจีโอก็คือการแปรรูปสวัสดิการสังคมนั่นเอง มันคือการปล่อยให้องค์กรเอกชนเข้ามาจัดการปัญหาสวัสดิการสังคมแทน รัฐไม่ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนอีกต่อไป เอ็นจีโอเข้ามาจัดการแทน แต่หากว่าเราไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐเลย รัฐก็สบาย อย่างเรื่องงบประมาณ รัฐก็สามารถนำไปใช้กับกองทัพหรืออื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณมาใช้แก้ปัญหาให้กับชุมชน แต่หากเรามองว่ารัฐบาลยังมีหน้าที่บริการประชาชน มีหน้าที่แก้ปัญหาให้ชุมชน เอ็นจีโอก็ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แนวทางการทำงานของเอ็นจีโอที่ผ่านมาพยายามสร้างตัวอย่างทางเลือกให้กับสังคมขึ้นมา และเห็นว่าการเมืองระดับชาติเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ
ทางเลือกของเอ็นจีโอมีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนล่ะ ทางเลือกนี้อาจประสบความสำเร็จในบางชุมชน แต่มันสามารถจัดการระบบที่ใหญ่กว่านี้ได้หรือไม่ เช่น เกษตรกรบางกลุ่มอาจประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกันภายใต้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ผูกพันกับระบบทุนนิยมอย่างแนบแน่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ การที่จะเอาตัวอย่างเล็ก ๆ ไปขยายในระดับใหญ่ ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหน หากไม่ไปปะทะกับรัฐ คนที่เสนอทางเลือกจะแก้ไขปัญหาอย่างไร อย่างเรื่องการจัดการตัวเอง หากมองอีกมุมหนึ่ง มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองอยู่ดี เช่น การจัดการเมืองเชียงใหม่ ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่คุณทำจะขยายไปในระบบที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร

ทั้งนี้ ระบบทุนนิยมมีลักษณะเด่นชัดที่สุด คือทุนนิยมจะแยกระบบการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน คือการเมืองจะไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจ ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ส่วนใหญ่ พอพูดเรื่องเศรษฐกิจ ก็ไม่ยอมแตะเรื่องการเมือง พอพูดเรื่องการเมือง ก็ไม่แตะเรื่องเศรษฐกิจ มันก็ลักลั่นกันอยู่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษี ค่าแรงคนงานขั้นต่ำ มันไม่เกี่ยวข้องกับกลไกตลาดเลย มันเป็นเรื่องของการเมือง ความสามารถในการต่อรองของขบวนการแรงงานมีมากน้อยแค่ไหน ความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนที่จะมาต่อรองผลประโยชน์มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ไม่มีพลังประชาชนหนุนหลัง ก็ไม่มีทางที่นโยบายไหน ๆ จะประสบความสำเร็จได้ แต่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง ไม่ต้องการให้มีขบวนการประชาชน ไม่ต้องการให้ประชาชนมีพลัง มันก็ลักลั่นขัดแย้งในตัวเอง

ตอนนี้เห็นมีข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่เสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปพยายามเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการมาแทนประชานิยมที่เขามองว่าล้มเหลวและมีปัญหา คิดอย่างไร
ทุกคนอยากได้รัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการในยุโรปประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากขบวนการแรงงานในยุโรปมีความเข้มแข็ง อีกอย่างยุโรปก็กอบโกยความมั่งคั่งจากอาณานิคมไปมาก จนมีพื้นฐานความมั่งคั่งในการจัดทำรัฐสวัสดิการ ฉะนั้น เราจึงต้องกลับไปมองการเมืองที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขบวนการแรงงานมีอำนาจต่อรองทางการเมือง การประนีประนอมระหว่างชนชั้นจึงทำให้สามารถสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ เพราะชนชั้นนำก็เกรงจะเกิดการปฏิวัติอย่างรัสเซีย จึงสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของชนชั้นแรงงาน ฉะนั้น ยุโรปจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ประสบความสำเร็จในเรื่องรัฐสวัสดิการ แม้ตอนนี้จะเริ่มประสบปัญหาบ้างแล้วก็ตาม

ในรัฐสวัสดิการนั้น รัฐจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งหลาย ๆ ประเทศพยายามลดสวัสดิการลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้ขยายตัวในภาคการผลิตที่แท้จริงอีกต่อไป แต่ความมั่งคั่งไปกองรวมอยู่ที่ภาคการเงิน การเก็งกำไรทางการเงิน อย่างตลาดหุ้นซึ่งมีการขยายตัวสูง ส่วนภาคการผลิตมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา

ดังนั้น การที่ทีดีอาร์ไอเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น เป็นการสวนทางกับระบบเสรีนิยมใหม่ คงต้องตั้งคำถามว่า ทีดีอาร์ไอจะสวนกระแสอย่างไร จะเอาภาษีจากไหน เมื่อเงินภาษีส่วนใหญ่ยังต้องเก็บจากภาคการผลิตจริง แต่ภาคการผลิตจริงในไทยมีภาวะหดตัวตามกระแสโลก ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ข้อเสนอเรื่องภาษีของทีดีอาร์ไอ ไม่กล่าวถึงการเก็บภาษีจากภาคการเงินและการเก็งกำไรทางการเงิน แต่ไปขยายฐานภาษีในกลุ่มคนทำมาหากินหรือกลุ่มคนทั่วไปมากกว่า
ประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยพูดเลยก็คือ ในขณะที่พวกเขาเอาแต่ด่าทักษิณเรื่องขายหุ้นไม่เสียภาษี ทำไมไม่คิดว่านั่นคือช่องโหว่ของกฎหมาย เราต้องแก้กฎหมายสิ เช่น กำหนดไปว่าถ้าคุณขายหุ้นเกิน 50 ล้านขึ้นไป คุณต้องเสียภาษี 0.05% อะไรก็ว่ากันไป กฎหมายเดิมที่ทักษิณฉวยใช้ประโยชน์นั้น ตราขึ้นมาในสมัยที่ตลาดหุ้นยังเล็กและเราต้องการส่งเสริมตลาดหุ้น แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นโตแล้ว เราก็ควรแก้ไขกฎหมายใหม่ให้เหมาะสม ไม่ใช่ทักษิณคนเดียวที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ เจ้าของบริษัทโทรคมนาคมอื่นก็ได้เช่นกัน ในเมื่อเขาได้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย ก็ต้องถือว่ายกประโยชน์ไป แต่เราสามารถแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นได้ รวมทั้งขยายรายได้ของรัฐและลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรไปในตัว แต่เรื่องนี้ทีดีอาร์ไอไม่เคยพูดถึงเลย

รัฐสวัสดิการแตกต่างจากประชานิยมอย่างไร
รัฐสวัสดิการกับประชานิยมต่างกันคือ รัฐสวัสดิการส่วนใหญ่เป็นการให้สวัสดิการอย่างเท่าเทียมกันถ้วนหน้า ไม่แบ่งชนชั้น ไม่แบ่งฐานะ ส่วนประชานิยมจะเน้นการให้คนที่มีความลำบากก่อนและจัดสรรให้ในรูปแบบให้ความช่วยเหลือ สังคมสงเคราะห์ และบางเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่นเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อย่างคนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็ต้องเข้าไปช่วยเชิงสังคมสงเคราะห์ ซึ่งตนเองเห็นว่าในประเทศไทยนั้น คณะกรรมการปฏิรูปฯ อาจจะต้องทบทวนในเรื่องนี้ให้มากๆ ก่อนที่จะเดินหน้า เพราะประเทศเรานั้นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยต่างกันมาก บางทีประชานิยมก็อาจมีความจำเป็นในขณะที่คนบางกลุ่มยังมีความต้องการการสนับสนุนในเรื่องพื้นฐาน และไม่ควรมองประชานิยมในด้านเลวร้ายไปทั้งหมด

หลังจากนี้มองทิศทางการเมืองในประเทศไทยอย่างไร เราจะอยู่กันอย่างไร?
ที่ผ่านมาเราคิดเสมอว่าเขาไม่กล้าฆ่าคนที่ราชประสงค์ แต่เขาก็ทำมาแล้ว ทำได้โดยมีใบอนุญาตฆ่าด้วย ฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่ากลไก เครื่องมือของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เราก็ไม่ควรประเมินรัฐบาลต่ำเกินไป
รัฐบาลหรือชนชั้นนำเองน่าจะถูกแรงกดดันจากต่างประเทศเยอะ เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นนำเรื่องนักข่าวเสียชีวิตเข้าไปคุยในรัฐสภา มีการพูดถึงเรื่องการตัดเงินช่วยเหลือต่อประเทศไทย มันก็น่าจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านศักดิ์ศรีหน้าตาของชนชั้นนำ ปัญหาก็คือ เราไม่สามารถประเมินได้ถึงแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทยว่าจะนำไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจในสถาบันสูงสุดด้วย ปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือประชาชน ซึ่งยังมีความเคลื่อนไหว ยังไม่กลัวเหมือนที่รัฐบาลคิดว่าประชาชนจะกลัว บอกตามตรงก็คือ เราก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ประชาชนที่อยู่ตรงกลางมีความคิดเห็นเอียงมาทางคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน และรัฐบาลก็พยายามปรับเปลี่ยนท่าทีหลายเรื่อง เช่น กรณีเอ็นบีทีพยายามปรับโครงสร้างผังรายการ โดยเปิดให้มีพื้นที่ของเสื้อแดงมากขึ้น

กระแสต่างประเทศต่อรัฐบาลไทย
รัฐบาลไทยขาดความชอบธรรม ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศไม่ได้ชอบรัฐบาลทักษิณ และขณะเดียวกันก็ไม่ชอบรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มีความชอบธรรมในสื่อต่างประเทศมากนัก

ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น เขาค่อนข้างพอใจโครงสร้างชนชั้นนำปัจจุบันของไทย เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้นำ หรือเป็นประมุขประเทศ เขาต้องการเพียงว่าขอให้ไทยยึดมั่นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ แต่หากไทยปิดประเทศอย่างประเทศพม่าจริง ๆ เขาคงไม่พอใจ สหรัฐฯ ต้องการเสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพราะหากรัฐไทยเป็นเผด็จการเต็มตัวแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเกิดแรงต้านและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ระบบทุนนิยมต้องการความมีเสถียรภาพ เพื่อมั่นใจว่าเขาสามารถนำผลตอบแทนจากการลงทุนกลับไปได้

เราควรเริ่มต้นอย่างไร หรือมีแนวทางที่ต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างไร
ลองย้อนกลับไปสมัยพันธมิตรฯ มีหลายคนมองว่า หากไม่รีบเอาทักษิณออกจากตำแหน่ง เขาจะสร้างความพินาศต่อประเทศเหมือนอาร์เจนตินา แต่เราลองมองดูประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจอร์จ บุช สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมหาศาล ทั้งนโยบายที่ลดข้อบังคับทางการเงินจนกระทั่งเกิดปัญหาการเงิน การเก็งกำไรทางการเงิน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมา ภาพพจน์ของสหรัฐฯ ก็ตกต่ำในการทำสงครามกับอิรัก เป็นต้น แต่ก็ไม่เห็นว่าประชาชนอเมริกันจะออกมาเรียกเพนตากอนให้ไล่บุชออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าอย่างไร เขารักษากติกาไว้ แม้ประชาชนครึ่งประเทศจะไม่ชอบตัวบุคคลที่เข้ามาบริหารประเทศก็ตาม การรักษากติกาเช่นนี้เป็นผลทำให้ประเทศเกิดเสถียรภาพในระดับหนึ่ง และสามารถค่อย ๆ แก้ไขปัญหาของประเทศไปได้อย่างไม่แตกแยก ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันหลายครั้ง ประมาณร้อยละ 50 ชอบบุช และอีกร้อยละ 50 ไม่ชอบบุช ครึ่งต่อครึ่ง แต่เขาไม่ได้แยกเหลืองกับแดง เพราะเขายึดถือกติกา ฉะนั้น หากเรายึดในกติกา ประเทศก็จะไปได้รอด ถ้าภายใต้กติกาที่ตกลงร่วมกัน มันได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราไม่ชอบ เราก็ต้องปกป้องผลลัพธ์นั้นเอาไว้ เพื่อรักษากติกาไว้ก่อน

วันนี้เราเห็นใจการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่หากในอนาคต คนเสื้อแดงเลือกในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราไม่เห็นด้วย ตัวเราจะเปลี่ยนไปและต้องการทำลายเขาหรือไม่ เหมือนอย่างที่พวกเอ็นจีโอที่เป็นฝ่ายพันธมิตรฯ ได้ทำไปแล้ว เมื่อประชาชนไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการ เขาก็ตัดสินว่ากลุ่มคนพวกนี้ไม่ใช่ประชาชน แล้วก็ออกใบอนุญาตฆ่า เรียกกองทัพออกมาฆ่าทิ้ง พอกองทัพออกมา มันก็เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน เพราะมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งระบบเผด็จการ ระบบอำนาจนิยมที่ปลุกกันขึ้นมา เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย ต่อไปข้างหน้า เราจะรักษากติกา เราจะปกป้องผลลัพธ์ที่เราไม่ชอบ เราจะรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกง่าย ๆ อีกต่อไป เราจะทำได้หรือเปล่า

เอ็นจีโอพยายามอธิบายว่าต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง เพราะการเมืองในระบบเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ล้วนแล้วแต่มีปัญหา
ปัญหาของประชาชนที่เอ็นจีโอทำงานอยู่นั้น อย่างไรเสียก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐและนักการเมือง หากไม่นำไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาระดับชาติได้ เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาสาธารณสุข ภาคประชาชนไม่สามารถจัดการปัญหาที่ใหญ่เกินตัวพวกนี้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดให้ สมมติเช่น คุณทำชุมชนเข้มแข็ง พอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่บริโภคนิยม แต่ลูกหลานของคนในชุมชนก็ต้องไปเรียนหนังสือในโรงเรียนอยู่ดี แล้วถ้าโรงเรียนมันสอนแต่การเตรียมคนให้ออกไปเป็นแรงงานในระบบทุนนิยมล่ะ? เรื่องบางเรื่องก็ต้องแก้กันด้วยการเมืองระดับชาติ แก้กันที่ชุมชนอย่างเดียวไม่ได้

นักการเมืองจะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่ว่าประชาชนเลือกมาแล้ว กดดันคนที่เลือกมาได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนสามารถกดดันนักการเมืองเหล่านี้ให้ทำตามเจตจำนงของประชาชนได้หรือไม่ การกระจายอำนาจที่แท้จริงนั้นต้องเปิดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับ อย่างในระดับจังหวัด อำเภอ ควรจะมีได้แล้วก็ยังไม่มี นักการเมืองดีหรือเลวไม่สำคัญ ที่สำคัญคือประชาชนต้องมีอำนาจในการกดดัน ในการตรวจสอบ การสร้างขบวนการประชาชน การสร้างองค์กรประชาชนในทุกระดับนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เพื่อให้สามารถมีอำนาจต่อรองและกดดันรัฐได้

ขณะนี้มีความเห็นของภาคประชาชนจำนวนมากพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยบอกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจรัฐที่ก่อปัญหาอยู่ในทุกวันนี้
ก็เห็นด้วย แต่ก็ยังเห็นว่าต้องพูดถึงการเลือกตั้งในทุกระดับอยู่ดี ไม่ใช่การแยกตัวออกทำเฉพาะท้องถิ่นไม่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ถ้าจะให้ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายท้องถิ่น เขาก็ต้องมีสิทธิการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดก่อน การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง การเลือกตั้งในทุกระดับสามารถช่วยการเลือกตั้งในระดับชาติได้อีกด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีในประเทศสหรัฐฯ มักจะมาจากนักการเมืองท้องถิ่น คือเป็นผู้ว่าการรัฐก่อน ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการบริหารนั่นเอง ไม่เหมือนอย่างอภิสิทธิ์ที่เกิดมาไม่เคยทำงานบริหารอะไรเลย อยู่ดี ๆ ก็มาเป็นนายกฯ การเลือกตั้งระดับจังหวัดจะเป็นสนามฝึกนักการเมืองในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี

 

....................................
หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่สำนักข่าวประชาธรรม http://www.prachatham.com/detail.htm?code=i1_25082010_01

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net