Skip to main content
sharethis

 กรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีมาบตาพุด เพิกถอนเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบชุมชนอย่างรุนแรงเท่านั้น มีแค่ 2 ใน 76 โครงการ เข้าข่ายถอนใบอนุญาต นอกนั้นเดินเครื่องได้ต่อ

 

2 ก.ย. 2553 - ศาลปกครองเผยแพร่คำพิพากษาคดีมาบตาพุด ซึ่งเป็นคดีที่สมาคมต่อต้านโลกร้อนและชาวมาบตาพุดรวม 43 ราย ฟ้องคดีกับหน่วยงานรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

"เนื่องจากไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ไม่จัดให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสียก่อน และละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมาย ออกกฎหรือระเบียบเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการเสนอความเห็นขององค์กรอิสระ ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว"

โดยผู้ฟ้องร้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงกฎหมาย

ศาลได้วินิจฉัยว่ามีคำสั่งให้ยกคำร้อง 74 โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้ตามปกติ รวมถึงโครงการโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ของ บมจ.ปตท.(PTT)ด้วยโดยศาลให้เหตุผลว่า โครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้มาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จึงถือว่าภาครัฐดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอน โดยไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษแต่อย่างใด

 ส่วนอีก 2 โครงการที่ไม่ผ่านและศาลมีคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตเนื่องจากเข้าข่ายใน 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมคือ โครงการโรงงานผลิตเอทีลีออกไซด์และเอทีลีนไกลคอน(ส่วนขยาย)ของบริษัททีโอ ไกลคอน จำกัดในเครือ บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH) และโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของบมจ.ไทยพาสติกและเคมี ภัณฑ์ (TPC) ซึ่งจะต้องนำกลับไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สวล.) ไปพิจารณาว่าเข้าข่ายโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง หรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่พอใจคำตัดสินเนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพิ่งคลอดประกาศ 11 กิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพออกมาเมื่อ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้นคงต้องเดินหน้าสู้อุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุดต่อไปรวมทั้งจะยื่นฟ้อง เพื่อขอให้เพิกถอน 11 กิจการรุนแรงด้วยเพราะถือว่ากระทรวงทรัพยากรฯออกกฎเกณฑ์ประเภทโครงการรุนแรง ไม่ครอบคลุมเพื่อให้เจ้าของโครงการหลุดคดีถือว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

ขณะที่นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า พอใจเพียงกรณีที่ที่ศาลยอมรับสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 วรรคสองเท่านั้น แต่ยังไม่พอใจผลทางคดี เนื่องจากเป็นการตัดสินคดี ที่กำกวม และให้เหตุผลแบบแปลกๆ มีการใช้คำอธิบายที่เยิ่นเย้อเกินไป และสุดท้ายก็ทำให้โครงการจำนวนมากหลุดจากการต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 ดังนั้นจะเร่งประเมินรายละเอียดว่าโครงการไหนที่ยังติดล็อกอยู่และโครงการ ไหนที่หลุดไป

 

 

ที่มาบางส่วนจาก : แนวหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net