ชาวบ้านมาบตาพุดร้อง กสม. ตรวจผลกระทบสิทธิ์ชุมชนตาม ม.67

ชาวบ้านมาบตาพุดร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง

 
 
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 53 ที่ผ่านมา ชาวบ้านมาบตาพุด ในนามเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกนำโดย นายน้อย ใจตั้งและนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.และนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน เพื่อร้องเรียนเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลได้ออกประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ โดยกำหนดให้มีโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายก่อผลกระทบรุนแรงจำนวน ๑๑ รายการ จากเดิมที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญมีมติที่ผ่านกระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้วหลายครั้ง เป็นรายการประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ทั้งหมด ๑๘ โครงการ แต่รัฐบาลกลับพิจารณาเพียง ๑๑ โครงการอย่างรีบเร่ง โดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง แต่อย่างใด เพียงแค่หวังให้เกิดการกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และส่งศาลปกครองกลาง เพื่อหวังให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกจำกัดการดำเนินการตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางได้หลุดพ้นจากคำสั่งดังกล่าว จึงถือได้ว่ารัฐบาลมีเจตนาที่มิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักธรรมภิบาลในการปกครองประเทศ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
 
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายฯได้กล่าวว่า หลังการประกาศให้เหลือ ๑๑ โครงการ และมีการเพิ่มขนาดของโครงการ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้กลับมาเลือกใช้กลไกราชการปกติจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แบบเดิม ทำให้ประชาชนไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าได้นำข้อมูลผลการศึกษาที่มีมาตรฐานถูกต้องหรือไม่ การที่ไม่มีข้อมูลที่เป็นจริงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทำให้บริษัทที่ปรึกษาไปหยิบเอาผลการศึกษาที่ใดที่หนึ่งมาใช้อ้างอิง เช่น การเอาพื้นที่มาบตาพุดไปเปรียบเทียบกับทุ่งหญ้าสะวันนา หรือกรณีของโรงงานที่ปล่อยสารพิษบางตัว ที่อาจก่อปฏิกิริยากับสารตัวอื่นในเกิดเป็นสารพิษที่ก่อมะเร็งได้ จึงมีนัยยะสำคัญที่แอบแฝง อาจกระทบต่อสิทธิชุมชน ทั้งในประเด็นที่ไม่มีการกำหนดเชิงพื้นที่ที่ชัดเจน ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ทั้งหมดจะเป็นผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งตัดความเห็นของประชาชนออกไป ถือได้ว่า เป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
 
นายสุทธิฯยังกล่าวอีกว่า โครงการที่หลุดออกไปเกือบทั้งหมดนั้น ในแง่ความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้มีการพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเลย
 
นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ซึ่งได้เคยมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๒ โดยสาระสำคัญไม่เห็นด้วยต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความให้รัฐบาลออกใบอนุญาต ประกอบกิจการให้กับนักลงทุนอุตสาหกรรม ๗๖ โครงการ โดยที่ไม่มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ และมีส่วนทำลายมาตรการในการป้องกันสิทธิชุมชนต่อโครงการต่างๆ บริเวณมาบตาพุด
 
ทั้งได้มีความเห็นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ในการจัดตั้งองค์การอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อมชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการให้ความเห็นต่อการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านชีวิตและสุขภาพของประชาชน อีกทั้ง รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการนำร่าง พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐได้ถือปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ จนส่งผลกระทบให้เกิดความแตกแยก และทำลายชีวิตชุมชน
 
นายนิรันดร์ฯได้กล่าวแก่กลุ่มผู้ร้องเรียนว่า ปัญหาเร่งด่วนที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนต้องดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐในการทำงานป้องกันและลดมลพิษมลภาวะโครงการมาบตาพุด เพราะชาวบ้านทุกวันนี้ ยังประสบปัญหาในการทำมาหากินภาคเกษตร ประมง การท่องเที่ยวและเกี่ยวข้องต่อความปลอดภัยในชีวิต คณะอนุกรรมการจึงต้องตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ฟื้นฟูสภาวะสิ่งแวดล้อม มิให้เกิดมลพิษที่ทำลายความมั่นคงในชีวิตและชุมชน
 
ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เห็นด้วยกับ ๑๘ โครงการที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างรุนแรง แต่ทำไมจึงลดลงเหลือเพียง ๑๑ โครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการผันน้ำ เหตุผลที่แท้จริงในการลดชนิด/ประเภท คืออะไรกันแน่? รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจนต่อสังคม ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯจะทำหนังสือขอข้อมูลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวการประชุมที่ลดจำนวนโครงการจาก ๑๘ เหลือ ๑๑ โครงการ และจะประสานการทำงานกับองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการ ๔ ฝ่าย และคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยเพื่อการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ต่อไป
 
ส่วนศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม.ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะผู้จัดทำรายงานEIA มาก่อน ได้กล่าวสั้นๆว่า การตรวจสอบโครงการเหล่านนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเอาโครงการทั้งหมดมาดูในรายละเอียดเป็นโครงการๆไป เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ได้
 
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคย มีข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายในกรณีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
 
๑ . รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลของ ๗๖ โครงการต่อสาธารณะ รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รายงานการประชุมผลวิเคราะห์ของผู้ชำนาญการ และรายงานการประเมินความเสี่ยง
 
๒. รัฐบาลต้องเปิดเผยความคืบหน้าในการจัดกลุ่มของ ๗๖ โครงการ ตามพื้นที่ที่ตั้งโครงการ เพื่อดำเนินการตามที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินการตามเงื่อนไของค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง
 
๓. รัฐบาลต้องดำเนินการตามแนวทางการประเมินผลกระทบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนทั้งสามกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำการประเมิน และกลุ่มโครงการอื่นๆ ที่ต้องจัดให้มีกระบวนการทบทวนรายงานประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยสาธารณะ
 
๔. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับกรณีนี้รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะกรรมการอิสระจากสถาบันการศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในลักษณะชั่วคราว เพื่อให้ความเห็นในการวิเคราะห์รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน
 
๕. การรองรับมลพิษของพื้นที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องดำเนินการให้มีการประเมินศักยภาพในการรองรับมลพิษของพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติใน ๗๖ โครงการ
 
๖. พื้นที่กันชนเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องกำหนดให้มีเขตปลอดมลพิษที่ชัดเจนและถูกต้องสอดคล้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งต้องกำหนดให้มีพื้นที่กันชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชนสำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมทุกส่วนและมีมาตรการในการกำจัดกากพิษอุตสาหกรรมและขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
 
๗. กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ โดยรัฐบาลต้องมีการจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย และเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีต่างๆ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหภาพแรงงาน องค์การของพนักงาน องค์การสาธารณกุศล และประชาชนกลุ่มต่างๆในชุมชนให้ครบถ้วน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท