Skip to main content
sharethis

 

 

ใบรับแจ้งการเกิดเทศบาลตำบลท่าสายลวด

3 กรกฎาคม 2553 ....เรา1 มาถึงแม่ตาวคลินิกในบ่ายที่เมฆหมอกแห่งวสันตฤดูปกคลุมไปทั่วผืนฟ้าอำเภอแม่สอด อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก  น้ำจากฟ้าโปรยปรอยลงมาเกือบตลอดทั้งวัน  แต่ไม่ทำให้คนไข้ที่หนาแน่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของที่นี่ลดน้อยลงไปกว่าวันไหนๆเลย

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่แม่ตาวคลินิกได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินในอาณาเขตของตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  โดยแพทย์หญิงชาวพม่าผู้เปี่ยมอุดมการณ์นามว่า “ซินเธียร์ หม่อง”  เพื่อให้การรักษาพยาบาลชาวพม่าที่ได้รับบาดเจ็บสาเหตุจากภัยสงครามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ซึ่งมีคนเข้ามารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ละวันของแม่ตาวคลินิกยังเนืองแน่นด้วยคนยากไร้เสมอ ทั้งผู้ที่บาดเจ็บจากภัยสงคราม เนื่องจากสถานการณ์อีกฟากฝั่งหนึ่งของพรมแดนยังไม่สงบ  หรือผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนจากฝั่งประเทศพม่า และแรงงานพม่าใน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก อันเป็นผลพวงจากระบบสาธารณสุขในพม่าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ

โดยวันๆ หนึ่งได้มีแม่ชาวพม่ามาให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ ณ ที่แห่งนี้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

“คนที่มาคลอดที่นี่ส่วนใหญ่เป็นแม่ที่อุ้มท้องมาจากฝั่งโน้น ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งๆ คนที่มาคลอดเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 8 คน”

 

 

ทร. 1/1


คุณอรรจน์ มีชัย
เจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการเกิดของแม่ตาวคลินิกบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่แผนกห้องคลอดของคลินิกต้องแบกรับในแต่ละวัน  ซึ่งจำนวนตัวเลขนี้ก็สัมพันธ์กับหน้าที่ความรับผิดชอบของเขาด้วย นั่นก็คือจดบันทึกการเกิด และออกหนังสือรับรองการเกิดของเด็ก

โต๊ะทำงานของคุณอรรจน์ ตั้งอยู่หน้าแผนกห้องคลอด  หากมีหญิงสาวคนไหนมาคลอดลูกที่นี่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงเลยว่าจะลืมเอาหนังสือรับรองการเกิดกลับบ้าน  งานของคุณอรรจน์บนโต๊ะตัวนี้ก็คือบันทึกข้อมูลของพ่อแม่เด็ก ข้อมูลแรกเกิดของเด็ก ถ่ายรูป และออกหนังสือรับรองการเกิด ให้กับพ่อแม่เด็ก เพื่อจะได้นำไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันรับรู้ถึงการเกิดของเด็ก ก็จะออกใบรับแจ้งการเกิด (หรือท.ร. 1 ตอนหน้า) ให้ จากนั้นจึงนำไปแจ้งเกิดที่เทศบาลตำบลท่าสายลวด พ่อแม่ (หรือคนที่รับมอบอำนาจไปแจ้งแทน) ก็จะได้รับสูติบัตรกลับมา

กระบวนการรับรองการเกิดของเด็กคนหนึ่งๆ นี้ ทำให้เด็กมีตัวตนทั้งในข้อเท็จจริงและถูกมองเห็นด้วยสายตาของกฎหมายอีกด้วย ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยได้รับรู้ถึงการมีตัวตนเกิดขึ้นมามีชีวิตอยู่ของเด็กคนหนึ่งแล้ว
 
อรรจน์ เล่าว่า แม้กฎหมาย (พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) จะบอกว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย สามารถได้รับการจดทะเบียนการเกิดได้ แต่ข้อจำกัดของคลินิคแม่ตาวก็คือ แม้แม่จะมาคลอดเด็กที่นี่จริง แต่คลินิคแม่ตาวไม่สามารถออกใบรับแจ้งการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ได้เอง เพราะคลินิคแม่ตาว ไม่ได้มีฐานะเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมาย

เมื่อถามถึงปัญหาการออกเอกสารรับรองการเกิดให้กับเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันนี้  คุณอรรจน์ตอบว่า

“ปัจจุบันนี้ที่นี่เคลียร์หมดเลยทุกอย่าง ไม่มีปัญหาเรื่องการออกหนังสือรับรองการเกิด  ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้คือเด็กที่เกิดก่อนผมจะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ คือเด็กที่เกิดก่อนปี 2551” คุณอรรจน์ได้นำเอกสารบันทึกการเกิดของเด็กในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเข้ามาทำหน้าที่นี้  เอกสารทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและพม่า และมีการประทับฝ่าเท้าของเด็กตอนแรกเกิด  ซึ่งในภายหลังต้องนำมาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเด็กเข้าโรงเรียนในประเทศไทยไม่ได้
 

 

 สมุดบันทึกหน้าห้องคลอด

เมื่อได้ฟังคุณอรรจน์อธิบายถึงขั้นตอนต่างๆหลังจากเด็กเกิด และก่อนจะพ้นออกจากคลินิกไปแล้ว เรารู้สึกชื่นชมในความตั้งใจและความกระตือรือร้นของผู้ชายผิวคล้ำที่อยู่ตรงหน้านี้ อย่างมาก และด้วยงานที่สำเร็จราบรื่นหลายอย่างนั้น ก็มาจากการประสานงานของเขา 

ย้อนไปก่อนที่จะมาทำงานที่แม่ตาวคลินิก  คุณอรรจน์เคยเป็นครูที่ศูนย์เด็กบนดอย ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง  ชีวิตการเป็นครูบนดอยของเขาดำเนินมาถึงสี่ปี  ในปลายปี 2550 คุณอรรจน์มีโครงการทำเพลงอัลบั้มหนึ่ง เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กดอย  แต่แล้วชีวิตของเขาก็ถึงจุดพลิกผัน เมื่อในวันหนึ่งได้เกิดอาการผิดปกติขึ้นกับร่างกายที่เคยแข็งแรงมาตลอดของเขา

คุณอรรจน์มีอาการตุ่มขึ้นเต็มตัว กินอะไรก็ท้องเสีย  อาการที่เหมือนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสุขภาพของเขาจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป  เมื่อได้ยาจากหมอที่โรงพยาบาลแม่สอดไปรักษาอยู่สองครั้ง ครั้งที่สามหมอจึงขอตรวจเลือด

ผลปรากฏว่า คุณอรรจน์ติดเชื้อ HIV แม้ฉากหน้าจะดูทำใจยอมรับความจริงได้  แต่ความจริงแล้ว เขาแบกเอาความเครียดใส่บ่ากลับไปยังโรงเรียนที่เขาสอน อยากจะจบชีวิตตัวเองหนีโรคร้าย แต่วิญญาณความเป็นครูทำให้ล้มเลิกความคิดฆ่าตัวตาย  ตัดสินใจใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดเพื่อมีชีวิตและใช้ศักยภาพของตัวเองทำประโยชน์ต่อไป

“...ก็ยังมีแรงอยู่ ลองดูสักพัก  ถ้าเกิดมันไม่ดีขึ้นก็ขอจบชีวิตแล้วกัน อย่าได้เป็นภาระของคนอื่น  พออยู่ไปถึงงานวันเด็ก ก็สนุกมาก  เสร็จแล้วผมก็มีความคิดว่า ถึงเราจะไม่สบาย แต่เราก็ยังมีศักยภาพ เรายังทำอะไรได้อีกเยอะ คนปกติยังทำไม่ได้อย่างเราเลย” 

สังคมที่แคบและคำว่า “ครู” ทำให้คุณอรรจน์เก็บเรื่องความป่วยไข้ของตัวเองเป็นความลับ จนมาได้พบกับคุณหมอสลวยและคุณมาเรียที่ทำงานอยู่ในแผนกผู้ติดเชื้อ HIV ที่แม่ตาวคลินิก

เมื่อได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถอยู่ทำงานที่เดิมได้แล้ว  คุณหมอสลวยและคุณมาเรียจึงชักชวนให้คุณอรรจน์มาทำงานที่แผนกผู้ติดเชื้อของแม่ตาวคลินิก  เขาจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูและจากบ้านมาเช่าบ้านอยู่คนเดียว

ความเครียดที่ไม่สามารถบอกความจริงกับทางบ้านได้ทำให้ป่วยหนัก ไม่นานนักทางบ้านจึงได้รับรู้ หลังจากนั้นความเข้าใจและกำลังใจจากทางบ้านและญาติพี่น้องทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ดวงใจที่อ่อนล้าของเขา

“โรคนี้ครอบครัวจะต้องเข้าใจก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าใจ  แล้วผมมีกำลังใจที่จะฟื้นขึ้นมา  ใช้เวลารักษาตัวแค่อาทิตย์เดียว ตุ่มก็หายหมดเลย  มันอยู่ที่กำลังใจของเรา”

ครอบครัวที่เข้าใจทำให้คุณอรรจน์มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า  แรกเริ่มทำงานที่แม่ตาวคลินิก เขาทำงานอยู่แผนกผู้ติดเชื้อ ซึ่งปัญหาของผู้ติดเชื้อในตอนนั้นคือ เมื่อเดินทางข้ามพรมแดนมารักษาตัวหรือรับยาต้านไวรัสจะโดนตำรวจจับ เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่มีใบอนุญาตผ่านแดน (border pass)

“เราเลยทำหนังสือให้คนไข้ติดตัว มีชื่อ มีเลขประจำตัวของคลินิก และมีรูปถ่ายติด  แล้วเอาไปเสนอให้ทางผู้กำกับเขาดูว่า ถ้าผมจะทำหนังสือแบบนี้ให้ผู้ป่วยติดตัว โดยให้ทางผู้กำกับช่วยเซ็นต์ได้มั้ย  แล้วที่เขาข้ามมาเพื่อมารับยา เพราะถ้าคนเหล่านี้ขาดยา เสียชีวิตแน่นอน  เขาก็เข้าใจและให้ความร่วมมือ”

หลังจากนั้นเมื่อ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งกำหนดว่า เด็กที่เกิดในประเทศไทยทุกคนสามารถจดทะเบียนการเกิดได้ ด้วยความสามารถในการเจรจาและประสานกับทางราชการจนประสบความสำเร็จ ทำให้แม่ตาวคลินิกมอบหมายหน้าที่ในการดูแลเรื่องการออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับเขา  ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นเรื่อยมาจนทุกวันนี้  เมื่อถามถึงอุปสรรคจากทัศนคติของภาคราชการที่มีส่วนสำคัญต่อการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทย คุณอรรจน์ตอบว่า

“ทางราชการเขามองเรื่องความมั่นคง แต่เรามองเรื่องสิทธิมนุษยชน  เรามองกันคนละมุม และมันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เราต้องใช้ไม้อ่อน จะไปใช้ไม้แข็งไม่มีทางสำเร็จไปได้”

ความประทับใจก่อเกิดขึ้นในใจของฉัน ด้วยเห็นความตั้งใจจริง และความสามารถที่จะผ่านข้อจำกัดต่างๆ ไปได้  ก่อนจากกัน ฉันจึงอยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาทำได้อย่างนี้  ฉันหวังลึกๆว่าจะได้ยินอุดมการณ์สวยหรูจากปากของเขา แต่...

“ผมไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร เพียงแต่ผมมีหน้าที่ตรงนี้ ผมก็ต้องทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด”

แม้จะผิดจากที่คาดหวังไว้  แต่ความชื่นชมในผู้ชายคนนี้ไม่ได้ลดน้อยลงไป คนเราเมื่อมีหน้าที่อะไรสักอย่างแล้ว การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดโดยไม่เกี่ยงงอนย่อมเป็นเรื่องที่ดี   และผลจากการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของเขาก็ได้สร้างคุณูปการมากมายให้กับเด็กคนหนึ่งๆที่ลืมตาขึ้นมาบนแผ่นดินไทย  อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองคิดและทำได้อย่างคุณอรรจน์  ปัญหาทุกอย่างก็คงไม่มีมากมายเช่นทุกวันนี้

ผ่านไปนานนับหลายชั่วโมง  ฟ้ายังครึ้ม ฝนยังปรอย  ผู้ชายคนหนึ่งยังคงนั่งประจำที่ตรงโต๊ะตัวนี้  และไม่ว่าท้องฟ้าจะครึ้มจนมืดมิดกว่านี้ หรือฝนจะกระหน่ำตกมากกว่านี้ ผู้ชายคนนี้ก็ยังนั่งอยู่หลังโต๊ะตัวนี้เพื่อทำหน้าที่ของเขาต่อไปอย่างดีที่สุด...

ผู้ชายที่ชื่อ อรรจน์  มีชัย

 


 1 ดรุณี  ไพศาลพาณิชย์กุล, กรกนก  วัฒนภูมิ นักกฎหมายประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT), พรพิมพ์  แซ่ลิ้ม เจ้าหน้าสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2553, ในการสำรวจสถานการณ์การจดทะเบียนการเกิด กรณีการเกิดนอกสถานพยาบาล ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคล และสิทธิเพื่อผลักดันการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และ โรยทราย  วงศ์สุบรรณ  ผู้ประสานงานการรณรงค์ด้านนโยบาย  อินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี (IRC) ร่วมสังเกตการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net