Skip to main content
sharethis

มติประชุมกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีค้านประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนด 11 โครงการรุนแรง จากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ 18 เผยพร้อมออกมาเคลื่อนไหว ยืนยันความชอบธรรมปกป้องสิทธิชุมชน

 
 
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.53 ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 400 คน นัดประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหว หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ซึ่งได้มีมติให้ตัดประเภทโครงการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง เหลือเพียง 11 โครงการรุนแรง นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการ นักพัฒนาและเครือข่ายภาคประชาชนกันอย่างกว้างขวาง
 
บรรยากาศการประชุม ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้นัดหมายกันมาร่วมรับฟังข้อมูล และสถานการณ์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการให้ข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมมีมติจากการประชุมในเรื่องโครงการประเภทรุนแรงว่า การพิจารณาถึงโครงการที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงนั้น มองได้ 2 มิติ คือ รุนแรงโดยสภาพ และรุนแรงโดยข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการ ซึ่งการพิจารณาขอคณะกรรมาธิการนั้น มองในเชิงเทคนิคมากกว่าข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร
 
ชาวบ้านต่างได้สลับกันซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยชาวบ้านได้มีข้อสรุปร่วมกันในการที่คัดค้านประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพร้อมที่จะทำการออกมาเคลื่อนไหวปกป้องผืนแผ่นดินถิ่นกำเนิด หากว่ามีใครมารุกรานและใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านต่างยืนยันถึงความชอบธรรมในการปกป้องสิทธิชุมชน
 
ด้านนายบุญเลิศ เหล็กเขียว ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีเสาค้ำยันเป็นโครงการที่ไม่รุนแรง เพราะรู้อยู่แล้วว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเอาแร่ที่อยู่ใต้ดินขึ้นมานั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขนาดไหน และสถานการณ์ในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีนั้น ทราบมาว่าบริษัทฯ กำลังมีการขยับโดยเปลี่ยนชุดประชาสัมพันธ์โครงการ และเตรียมที่จะทำการรังวัดปักหมุดแผนที่ตามขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ตนจึงต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ว่าจะต้องออกมาสู้ให้ถึงที่สุดกับสถานการณ์ดังกล่าว
 
ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อมองจากมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาประเภทโครงการรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 67 นั้น ชาวบ้านมิสิทธิ์ที่จะคัดค้านมติดังกล่าว เพราะว่าการพิจารณาโครงการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนจนไม่สามารถหาหนทางเยียวยาแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่นที่ เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะเป็นชาวบ้านที่มิสิทธิที่จะพิจารณาและตัดสินใจว่าโครงการประเภทใดบ้างที่เป็นโครงการรุนแรง
 
สุวิทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ชาวบ้านจะออกมาใช้สิทธิ์ในการเคลื่อนไหวคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิทธิของชาวบ้านที่สามารถกระทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มชาวบ้านภาคประชาชนของมาบตาพุดได้ทำการยื่นหนังสือคัดค้านมติดังกล่าว และกำลังจะมีการเคลื่อนไหวฯเพื่อปิดล้อมมาบตาพุด ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวฯ ดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net