เครือข่ายสึนามิ 5 จังหวัดร้องรัฐบาลรับผิดเหตุผิดพลาดศูนย์เตือนภัย

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ 5 จังหวัดออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบและแก้ปัญหาปรับปรุงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หลังจากเกิดปัญหาความผิดพลาดจากการฝึกซ้อมเตือนภัยเมื่อ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา

16 ก.ย. 2553  ณ มูลนิธิอันดามัน จ. ตรัง เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ  ประกอบด้วย จังหวัดพังงา  จังหวัดสตูล  จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่  จังหวัดภูเก็ตกว่า 30  คน  ได้ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หลังจากที่การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิในวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม ความไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยสึนามิ โดยมีบางที่สัญญาณเตือนภัยไม่ดัง ขณะที่บางที่สัญญาณเตือนภัยดังซ้ำต่อเนื่องหลังเสร็จสิ้นการซ้อมทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดนึกว่าเกิดภัยสึนามิจริง

โดยทางเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้ออกออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของศูนย์เตือนภัย ปรับปรุงระบบการเตือนภัย มีแผนงบประมาณปรับปรุงระบบเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอไม่เพียงแต่ช่วงซ้อมเตือนภัย และให้มีการตั้งคณะกรรมการเตือนภัยระดับจังหวัดโดยชุมชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

รายละเอียดแถลงการณ์ฉบับเต็มมีดังนี้

 


แถลงการณ์
“ยกเครื่องศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและระบบเตือนภัยสึนามิ”
 
         คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและเศรษฐกิจของชายฝั่งอันดามันอย่างรุนแรงและต้องใช้เวลาในการเยียวยาฟื้นฟูมากกว่า ๔ ปี ความสูญเสียครอบครัว ญาติมิตรและหนีเอาชีวิตรอดในครั้งนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้ประสบภัยจนถึงปัจจุบัน
                ชุมชนชายฝั่งอันดามัน จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับความเสี่ยงภัยสึนามิที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นระบบการเตือนภัยสึนามิ ที่ดีเชื่อถือได้จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของชายฝั่งอันดามันและประเทศไทย
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยืนยันกับชุมชนมาโดยตลอดว่า ระบบเตือนภัยสึนามิ มีประสิทธิภาพ ในระดับฝากชีวิตได้ โดยมีการตรวจสอบการใช้งานผ่านดาวเทียมทุกวัน  
แต่การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ ในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ ของ   รัฐบาลภายใต้การอำนวยการของรองนายกรัฐมนตรีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รับผิดขอบโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ปรากฏข้อผิดพลาดที่แสดงให้เห็นความไม่พร้อม ความไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยสึนามิโดยบางพื้นที่สัญญาณเตือนภัยไม่ดังเช่น บ้านมดตะนอย จ.ตรัง บางพื้นที่เช่น บ้านป่าตอง หอเตือนภัยเสีย ๒ หอไม่สามารถใช้ได้มากว่า ๓ ปี ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เช่น บ้านน้ำเค็ม บ้านเจ้าไหม บ้านเกาะมุกต์ เกาะหลีแป๊ะ ป่าตอง เขาหลัก สัญญาณเตือนภัยดังซ้ำต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการซ้อมแล้ว ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า เกิดสึนามิขึ้น จนอพยพหนีภัยโกลาหล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและเกิดการบาดเจ็บ นอกจากนี้ทุ่นลอยตรวจจับคลื่นใต้น้ำมักจะเสีย หรือหลุดจากจุดที่วางโดยตลอด
ความผิดพลาด ความไม่พร้อมที่เกิดขึ้น ประกอบกับการที่รองนายกรัฐมนตรีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดเล็กน้อย เป็นความผิดพลาดที่ระบบ” ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าเกิดจากการกดสัญญาณซ้ำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบการตัดสินใจในการส่งสัญญาณของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 
ความผิดพลาด และความเห็นของผู้รับผิดชอบระบบเตือนภัยแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในพื้นที่เสี่ยงภัย ความไม่รับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชีวิตของผู้คนชุมชนชายฝั่งตกอยู่ในความเสี่ยง ความหวาดระแวงภัยสึนามิ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่สามารถไว้วางใจต่อระบบเตือนภัยสึนามิได้อีกต่อไป
                 เครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิชายฝั่งอันดามัน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล
๑. นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อประชาชนว่า ระบบการเตือนภัยสึนามิ เป็นเรื่องเล็กน้อยดังที่
รองนายกรัฐมนตรีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าว หรือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
 
 
๒. ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยการ
ลาออก นายกรัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และดูแลความเสียหายทางร่างกายทรัพย์สิน และเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นกับชุมชนชายฝั่งและภาคการท่องเที่ยว
๓. ดำเนินการปรับปรุงระบบการเตือนภัย การอพยพหลบภัยสึนามิ การปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
มีเอกภาพในการปฏิบัติงาน โดยให้ชุมชนชายฝั่งเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
๔. ให้มีคณะกรรมการเตือนภัยและอพยพหลบภัยระดับจังหวัดที่ชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิมีส่วนร่วม
โดยให้มีอำนาจในการเปิดสัญญาณแจ้งเตือนภัย การติดตามประสิทธิภาพของระบบ และการซ้อมอพยพหนีภัย
๕. รัฐบาลต้องมีแผนงานและงบประมาณสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเผชิญภัยสึนามิ และภัย
พิบัติธรรมชาติในระดับชุมชน การจัดให้มีอุปกรณ์และอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และกู้ภัย 
๖. รัฐบาลต้องจัดให้มีแผนงานและงบประมาณการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เฝ้าระวังและเตือนภัยธรรมชาติ
อย่างสม่ำเสมอไม่ใช่ซ่อมบำรุงเฉพาะช่วงก่อนซ้อมอพยพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
                ระบบเตือนภัยและการอพยพหลบภัยสึนามิ มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง และความมั่นใจของนักท่องเที่ยวซึ่งการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจสำคัญของอันดามันและประเทศไทย รัฐบาลจึงต้องตระหนัก ให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอข้างต้นอย่างเร่งด่วน
 
เครือข่ายชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิ
๑๖ กันยายน ๒๕๕๓

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท