Skip to main content
sharethis

(17 ก.ย.2553) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท จัดการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยในช่วงเช้า มีการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อเดียวกัน มีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ดร. เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งหมดเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ และต่างเคยทำงานหรือร่วมงานกับเอ็นจีโอและภาคประชาชนมาก่อน

 


กับดักจินตนาการ ‘ไม่เลือกเพื่อสร้างทางเลือก’ ของเอ็นจีโอ

อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงงานเขียนชิ้นนี้ว่า ไม่ใช่งานวิจัยแต่เขียนมาจากความคับข้องใจต่อบทบาทของเอ็นจีโอที่มีต่อสังคมในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการรวบรวมข้อมูลมากมายจากหน้าเฟซบุ๊ค ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของ แต่ทุกคนที่อ้างถึงในงานเขียนมีตัวตนจริงและเป็นคนที่รู้จักกันในแวดวงของเอ็นจีโอ

อัจฉรา กล่าวต่อว่าถึงประเด็นหลักที่ทำให้ต้องวิพากษ์เอ็นจีโอ คือสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเห็นได้ว่าเอ็นจีโอได้อาสาช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาความขัดแย้งมากมาย แต่คำถามคือเอ็นจีโอจะมาช่วยแก้ปัญหาหรือมาสร้างปัญหาใหม่ เข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา หรือจริงๆ แล้วจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คิดว่าเรื่องนี้เอ็นจีโอหลายคนไม่ค่อยได้ทบทวนกันจึงมาช่วยทบทวนตรงนี้ให้

จากนั้น อัจฉราได้ยกตัวอย่างบทกวีที่เพื่อนเอ็นจีโอที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ไปร่วมกับพันธมิตรฯ แล้ว ทั้งนี้เธอได้เห็นบทกวีชิ้นนี้หลังเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 แต่บทความนี้เขียนขึ้น 3 วันก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 10 เม.ย.53

รบเถิด ! อภิสิทธิ์
กี่วัน กี่คืนแล้ว ! อภิสิทธิ์               แผ่นดินต้องมืดมิดทั้งแปดด้าน
ระเบิดป่วนผสมม็อบอันธพาล   กฎมารอยู่เหนือกฎหมายน่าอายนัก
กี่คำ กี่ครั้งแล้ว ที่ประกาศ           คนในชาติรอช่วยด้วยใจรัก
แอบแบ่งใจแอบเชียร์กลัวเสียหลัก แม้อกหักก็ยังเชียร์ไม่เสียใจ

แต่ตอนนี้ ไม่ไหวแล้ว พระเจ้า !!! ข้า คนชั่วช้าก่อการร้ายเพื่อนายใหญ่
ยึดกรุงเทพฯ ขึงพืด ประเทศไทย พร้อมใส่ร้ายหมายล้มองค์สยมภู
รบเถิด ! อภิสิทธิ์                                     ทุกชีวิตจักยืนเคียงเพียงหยัดสู้
ล้มอันธพาลป่วนเมืองที่เฟื่องฟู           นำบ้านเมืองคืนสู่เนื้อนาบุญ

รบเถิด ! อภิสิทธิ์                                ก่อนมวลมิตรอิดหนาไม่มาหนุน
ก่อนสังคมไม่ช่วยเหลือมาเกื้อคุณ  ก่อนต้นทุนจะไม่พอขอทำงาน
รบเถิด ! อภิสิทธิ์                                ไม่ต้องอิทธิฤทธิ์อภินิหาร
แค่ประสานรวมพลล้มหมู่มาร     โลกจะพร้อมอภิบาลช่วยท่านเอง

ภารดร-ภาพ
7 เมษายน 2553
http://www.oknation.net/blog/mataharee/2010/04/07/entry-1

อัจฉราขยายความว่า คำที่ถูกเน้นเหล่านี้เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกคนเสื้อแดงโดยเพื่อนเอ็นจีโอ ซึ่งขณะนี้ก็ยังเป็นเอ็นจีโออยู่ อีกทั้งยังได้ยกตัวอย่างเอ็นจีโอหลายคนที่พยายามออกมาบอกว่า “ไม่เลือกข้าง” ซึ่งส่วนตัวก็ได้พยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่เลือกข้าง แต่ว่าการที่คนเหล่านี้ไม่เลือกข้าง แต่กลับเลือกการปฏิรูปประเทศไทย ทำให้เกิดความสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

อัจฉรากล่าวต่อมาถึงเนื้อหาในรายงานซึ่งตั้งคำถามว่า เอ็นจีโอมองประชาชนอย่างไร โดยยกตัวอย่างการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คของเอ็นจีโอบางคนที่แสดงมุมมองต่อคนเสื้อแดง อาทิ “ความตายของประชาชนจึงเป็นเพียงเบี้ย ในเกมของผู้มีอำนาจที่จะใช้ต่อรองทางการเมือง” นี่คือมุมมองที่มีกับประชาชนว่าเขาเหล่านั้นเป็นเพียงเบี้ย หรือ “การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง VS การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม” ซึ่งเอ็นจีโอชื่อดังทางภาคเหนือ สื่อสารว่าประชาชนที่มาชุมนุมกับพวกเขาคือประชาชนที่มาเรียกร้องความเป็นธรรม แต่คนเสื้อแดงเป็นประชาชนที่เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้ต้องตั้งคำถามกับถึงชาวบ้าน-ประชาชนที่มีภูมิปัญญา กับเบี้ยทางการเมืองว่ามีความต่างกันอย่างไร

“ตกลงประชาชนเสื้อแดงที่มาจากชนบทเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้มีภูมิปัญญาเหมือนกับที่เอ็นจีโอคิด เป็นประชาชนนอกอุดมคติ เป็นประชาชนที่เป็นคนไม่จน เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านของเอ็นจีโอเป็นคนจน และเป็นคนไม่พอเพียง เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านของเอ็นจีโอทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรยั่งยืน เป็นประชาชนนอกสังกัด” อัจฉรากล่าว

อัจฉรากล่าวต่อมาว่า เอ็นจีโอมองว่าการเมืองภาคประชาชนจะต้องไม่แนบแน่นกับการเมืองในระบบ โดยบอกว่าการแนบแน่นคือหนทางนำไปสู่หายนะ ในขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็มองว่าตัวเองคือผู้เสียสละ มีน้ำใจ เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ไม่มีการเมืองแทรกแซง ต้องอยู่เหนือการเมือง ส่วนการเมืองคือเรื่องสกปรก กลุ่มผลประโยชน์ ฉ้อฉล การแก้ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยระบบนอกการเมือง ด้วยการล็อบบี้ การสถาปนาคนดีมาช่วยแก้ปัญหา แล้วก็ต้องสร้างตัวแบบทางเลือกซึ่งจะมีทางเลือกใหม่ๆ ออกมาในสถานการณ์ฉุกเฉินในวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติต่างๆ ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดที่เอ็นจีโอหล่อหลอมกันมา ว่าจะต้องเป็นผู้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่สังคม แล้วก็ลดทอนความเป็นการเมือง หมายความว่าอะไรก็ได้ แก้ปัญหาโดยกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมา

อัจฉรากล่าวสรุปแนวคิดของงานเขียนว่า บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเรียกร้องให้เอ็นจีโอเลือกสีเลือกข้างที่ชัดเจน แต่พยายามทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังวิธีคิดชุดหนึ่งของเอ็นจีโอ และสิ่งที่น่าพิจารณามากกว่าการไม่เลือกสีคือการเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ใช้กองกำลังเข้ากระชับพื้นที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่กลับพบว่าเอ็นจีโอเหล่านั้นเลือกเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งโดยการร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ และโดยการผลักดันข้อเสนอให้เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนปฏิรูปฯ ด้วยเชื่อว่าเป็นการดำเนินงานอันเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวแทนประชาชนภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การนำของบรรดาผู้อาวุโสที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “คนดี” และเป็น “ปัญญาชน” ของสังคมว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และแก้ปัญหาสังคมได้ดีกว่าการเข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองที่สับสนอลหม่าน

บทความฉบับนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงว่าเอ็นจีโอนั้นดีหรือไม่ แต่มุ่งพิจารณาถึงความอันตรายที่เอ็นจีโอกำลังใช้อำนาจผ่านการอ้างความเป็นคนดีของตนเองเพื่อผลิตซ้ำลำดับชนชั้นทางสังคม ที่กดให้ประชาชนบางกลุ่มจำต้องสยบยอมอยู่ภายใต้การเป็นตัวแทนของตนเอง และเบียดขับประชาชนอีกบางกลุ่มที่ไม่สยบยอมให้หลุดออกไปจากขอบเขตการเป็นพลเมืองดี หรือแม้แต่ถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานของการเป็นพลเมืองสามัญ

การผลิตซ้ำลำดับชนชั้นทางสังคม ทำให้เอ็นจีโอไม่แตกต่างไปจากกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่พยายามทำเช่นนั้นมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนเป็นพลเมืองเชื่องๆ ที่ไม่กระด้างกระเดื่องต่อผู้ปกครองและชนชั้นนำ การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่เท่ากับความเสมอภาคและเท่าเทียมของประชาชนได้อย่างแท้จริง

อัจฉรากล่าวด้วยว่า บทความชิ้นนี้เสนอว่า ทางเลือกของเอ็นจีโอผู้นิ่งเฉยต่อการบาดเจ็บล้มตายของคนเสื้อแดง ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่เพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งทางสังคมในปัจจุบันนั้น ทำให้เอ็นจีโอกลายเป็นจักรกลต่อต้านการเมือง ที่ทำหน้าที่ช่วยรัฐลดทอนความเป็นการเมืองของความขัดแย้งในสังคม ให้กลายเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีในการจัดการแก้ไขและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งก็สวมบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการความขัดแย้งนั้นเสียเอง โดยการอ้างความดีงาม และความตั้งใจดีของตนเอง แต่มองข้ามว่าการกระทำของตนเองแท้ที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วยเช่นกัน

บทความยังเสนออีกว่าจินตนาการว่าด้วยทางเลือกที่ 3 นี้ไม่ใช่ทางเลือกใหม่ แต่มันคือมรดกทางความคิดในการทำงานของเอ็นจีโอไทยซึ่งตกทอดมานานกว่า 3 ทศวรรษ ยิ่งไปกว่านั้นจินตนาการดังกล่าวนี้ไม่อาจช่วยให้เราไปพ้นจากปัญหาความขัดแย้ง หากมันเป็นเพียงการเดินคร่อมวิกฤติปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งในที่สุดมันก็กลายเป็นกับดักที่ทั้งตอกย้ำปัญหาเดิมๆ และสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

“เขาบอกว่าพวกเราจะกลายเป็นอิฐก้อนแรกที่ใช้ปาหัวอดีตเพื่อนๆ แล้วเราวิจารณ์ว่าการวิจารณ์เหล่านี้มีปัญหา ซึ่งการวิจารณ์นี้ดิฉันไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวแต่อย่างใด” อัจฉรากล่าว

อัจฉรากล่าวต่อว่า ผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโอจำนวนมากอธิบายว่าตนเองเป็นนักปฏิบัติซึ่งคลุกคลีอยู่กับปัญหาและสถานการณ์จริง และบ่อยครั้งที่แสดงความไม่พอใจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้วิจารณ์เป็นหรือเคยเป็น ผู้ร่วมขบวนการเดียวกัน ด้วยเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือที่สังคมมีต่อสถานภาพและขบวนการเอ็นจีโอ ขณะที่มีผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโออีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ปรามาสข้อวิพากษ์วิจารณ์ และนักวิจารณ์ว่าเป็นพวกที่ดีแต่พูด แต่ไม่รู้จักทำอะไร ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดที่เปรียบเทียบและให้คุณค่าให้กับสิ่งที่ตนทำว่าดีกว่า สำคัญกว่า หรืออยู่เหนือกว่า เพื่อลดทอนคุณค่าของการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ว่าเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าด้วยเช่นกัน

“ผู้เขียนไม่มีข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหานั้น ทั้งยังไม่อาจกล่าวอ้างว่าบทความฉบับนี้เป็นสิ่งมีคุณค่า และยิ่งไม่อาจหวังว่าบทความนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในแวดวงเอ็นจีโอ นอกเสียจากว่ามันอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกเถียงในบรรดานักกิจกรรมทางสังคม” อัจฉรากล่าว

‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท
พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในหัวข้อ “‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท” ว่า ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างมหาศาล โดยภาคชนบทไทยกลายเป็นสังคมที่เปิดเชื่อมกับสังคมระดับประเทศและระดับโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย มีความคิดมีอุดมการณ์ มีความคาดหวังที่ตื่นตัวในประเด็นต่างๆ โดยสรุป เราจึงไม่ได้มีชนบทที่ราบเรียบ เรียบง่าย กลมกลืน สมานฉันท์ หรือเป็นลูกไล่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์หรือไร้จิตสำนึกทางการเมืองมานานแล้ว

ทั้งนี้ พฤกษ์นิยาม "ภาคประชาชน" ว่าคือ มวลชนที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมของเอ็นจีโอ หรือเป็นกลุ่มที่เอ็นจีโอได้เข้าไปทำงานส่งเสริมให้เกิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อถึงทศวรรษ 2540 ก็เกิดปรากฎการณ์ที่เข้าร่วมกับภาครัฐด้วยตัวเชื่อมคือองค์กรกึ่งรัฐอย่าง SIF และ พอช. ในปัจจุบัน ผลคือเราได้เห็นเครือข่ายของปัญญาชนและชนชั้นกลาง ที่เรียกว่าตัวเองว่า ภาคประชาชน โดยมีจุดยืนและความคิดการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันถ้าจะมองหาให้ชัด ก็คือผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูป

พฤกษ์ระบุว่า สาเหตุที่ภาคประชาชนก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทนั้น หนึ่ง เกิดจากวิธีคิดหรือการทำงานที่ลดทอนความเป็นการเมืองจากการพัฒนา หรือ depoliticsize การพัฒนา คือการที่มองชนบทอย่างหยุดนิ่ง เรียบง่าย สมานฉันท์ ตรงกับที่ คำ ผกา เคยพูดว่าเป็นการ Romanticize ชนบท อีกด้านหนึ่งก็เป็นการมองปัญหาที่ลดทอนความซับซ้อน และคิดแบบขั้วตรงข้าม โยนความผิดให้ทุนนิยมไปหมด ขณะที่ชุมชนที่อยู่อีกด้านก็ดีงามไปหมด หรือที่ คำ ผกา เรียกว่า Dramatize ทุนนิยม ขณะเดียวกันก็คือการที่นักพัฒนาติดกับดักการมองการเมืองแบบชั้นกลาง ชั้นสูง มองว่า นักการเมือง การเลือกตั้งเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ซึ่งการลดทอนการเมืองจากการพัฒนานี้คือหล่มที่ทำให้ภาคประชาชนติดแหงกและก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และสาเหตุที่สอง คือวาทกรรมการพัฒนาภาคประชาชน ซึ่งพบว่ามีขบวนการผลิตความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างคึกคัก โดยมีตัวจักรที่สำคัญคือมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลักสูตรในการพัฒนาต่างๆ จนเกือบเป็นอุตสาหกรรมของการผลิตความรู้ว่าด้วยการพัฒนาภาคประชาชน

พฤกษ์เล่าถึงประสบการณ์ร่วมในเวทีสัมมนาทางวิชาการที่ จ.ขอนแก่น โดยที่หน้างานจะพบหนังสือที่ตีพิมพ์จากงานวิจัย ดูหน้าปกจะพบเรื่องศักยภาพชุมชน การจัดการทรัพยากร เวทีเริ่มด้วยผู้ปาฐกถา นักพัฒนาอาวุโส ปัญญาชน อาจารย์ดอกเตอร์ที่มีชื่อเสียงที่สอนเรื่องการพัฒนา และมีการคุยประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นสิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาลกันทั้งวัน ขณะที่ถัดจากตรงนั้นไม่ถึง 4 กม. คือศาลากลางที่ถูกเผา จังหวัดนั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งในเรือนจำ ทั้งนี้ เขาอยากชี้ให้เห็นถึงสภาวะเกือบจะเป็นอุตสาหกรรมของแวดวงนี้ และความ absurd ของวงวิชาการที่พูดเรื่องการพัฒนาในขณะนั้น ซึ่งตัวเองก็เป็นหนึ่งในวิทยากรเหล่านั้นด้วย

ด้านเนื้อหาความรู้ พบว่างานเหล่านี้พูดถึงศักยภาพของชุมชนซึ่งเคยมีมาก่อนหรืออาจจะสร้างขึ้นใหม่ อาจกล่าวถึงความขัดแย้งที่มาจากรัฐและทุนอยู่บ้าง แต่จะจบลงที่สิทธิชุมชน ธรรมาภิบาล ฯลฯ เขาย้ำว่า ไม่ได้กำลังพูดแบบเหมารวมและลดทอนความซับซ้อน ทั้งตระหนักว่ามีงานแบบนี้ไม่น้อยที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ ริเริ่ม สร้างสรรค์และมีคุณภาพสูง แต่เขาต้องการพูดถึงงานสำเร็จรูปที่ว่าตามๆ กันในลักษณะสัจธรรมที่ไม่ต้องการพิสูจน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำจำนวนมากในเวที สิ่งพิมพ์และวงการพัฒนา

ในส่วนของผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ มีลักษณะเป็นแวดวงของชนชั้นนำในวงการพัฒนา โดยรวมศูนย์ที่นายแพทย์ท่านหนึ่ง ล้อมรอบด้วยลูกศิษย์มิตรสหาย มีอันดับลงมา ชนชั้นนำเหล่านี้มีหน้าที่ออกมาชี้นำทางสว่างเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตหรือมีการปฏิรูปสังคม โดยหากพิจารณาเนื้อสารหรือคำแนะนำของพวกเขาจะพบว่า ถ้าตั้งใจฟังดีๆ จะงง เพราะเต็มไปด้วยโวหารที่เอามาต่อๆ กันเข้าแล้วเสริมความขรึมขลังด้วยธรรมะ ผสมด้วยอุดมการณ์หลักของประเทศ ซึ่งนี่ไม่เป็นปัญหาเพราะมีคนคอยเชื่อและพร้อมนำไปเผยแพร่ต่อเป็นลำดับ

พฤกษ์ เน้นถึงนัยสำคัญของชนชั้นนำกลุ่มนี้ว่า มีลักษณะระบบพวกพ้องอย่างมาก ด้านหนึ่งอุ้มชูพวกเดียวกัน และมีธรรมเนียมไม่วิพากษ์วิจารณ์กันเอง โดยในระยะหลัง มีจัดการพวกที่วิจารณ์รุ่นใหญ่ บอยคอตพวกที่เป็นกบฎ และล่าแม่มดในวงการ ซึ่งผลคือ วงการพัฒนาเป็นวงการที่ไม่ค่อยเติบโตทางปัญญา และนับวันยิ่งทำงานตามประเพณีหนักเข้าอีก ไม่ต่างจากราชการ หากแต่ราชการไม่เคยประกาศว่าตัวเองเป็นกลุ่มก้าวหน้า ขณะที่เอ็นจีโอคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มก้าวหน้าและเสียสละมากกว่าคนอื่นเสมอ

ทั้งนี้ องค์กรเหล่านี้แสดงตัวผ่านสถาบันให้เงินทุนหรือทุนวิจัย แหล่งที่สำคัญได้แก่ พอช. แหล่งทุนตระกูล ส. และ สกว. บางฝ่าย ในแต่ละปี องค์กรเหล่านี้มีงบประมาณมหาศาล และมีผลต่อการทำกิจกรรมขององค์กรหรือบุคคลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม พฤกษ์ระบุว่า เขาไม่ได้จะเสนอถึงขั้นว่าชนชั้นนำเหล่านี้มีอำนาจชี้นำเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มองว่ามีลักษณะอิทธิพลกำกับทิศทางการให้ทุนอยู่ ซึ่งอาจกระทำผ่านระบบที่ไม่เป็นทางการ นอกจากนั้นการใช้อำนาจยังอาจมีศิลปะแบบอื่นๆ เช่น การใช้ภาษาในแวดวง การคัดกรองโครงการ การกำกับการตั้งโจทย์วิจัย การตั้งเป้าหมายองค์กร และประเมินโครงการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าบางอย่างกำกับเสมอ

สุดท้าย ในภาคปฎิบัติของวาทกรรม คือ การเกิดสภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชน โดยสำหรับสภาองค์กรชุมชนมีการตั้ง 1900 แห่งจากตำบล 7400 แห่ง สภานี้จะเป็นที่รวมของแกนนำชาวบ้าน ภาคราชการ และข้าราชการการเมืองท้องถิ่น โดยมีแนวตรวจสอบและกำกับการมีส่วนร่วม นี่คือภาคปฏิบัติที่ยืนยันถึงความมีอำนาจของวาทกรรมการพัฒนาดังกล่าว

ข้อสรุป ที่กล่าวมาทั้งหมดขอย้ำว่าไม่ได้ต้องการสรุปอะไรอย่างสุดโต่ง หรือโจมตีการพัฒนาภาคประชาชนว่าไม่มีคุณูปการใดๆ ทั้งนี้ ยอมรับว่าสร้างพื้นที่ทางสังคมและสร้างอำนาจให้ภาคประชาชนอย่างสำคัญ แต่ที่จะวิจารณ์คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาจะคุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ เพราะทำให้เกิดปัญหาจำนวนหนึ่งขึ้นด้วย โดยการลดทอนความเป็นการเมืองจากการพัฒนาทำให้มองไม่เห็นความขัดแย้งที่กำกับความเป็นไปของสังคมและการเมืองไทย มองไม่เห็นคู่ขัดแย้ง การหายไปของการเมืองทำให้การพัฒนากลายเป็นการดึงทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจและผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกันแต่อย่างใด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น เรื่องการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งกฎหมาย สิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน ซึ่งเคยมีความแหลมคม ท้าทาย กล้าปะทะอำนาจรัฐได้กลายเป็นกระบวนการรอมชอม หรือกระบวนการล็อบบี้ของนักพัฒนารุ่นใหญ่ที่ได้หลุดเข้าไปอยู่ในแวดวงอำนาจรัฐ

"วาทกรรมพัฒนาภาคประชาชน ซึ่งควรจะต่อรองต่อสู้กับวาทกรรมภาครัฐ กลับถูกฝ่ายหลังปรับเปลี่ยนดัดแปลงสอดไส้ให้รับใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง เราจึงได้ฟังเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาลแบบสำเร็จรูป ซึ่งไปกันได้ดีกับความคิดจารีตแบบไทยๆ เช่น รู้รักสามัคคี ร่มเย็นเป็นสุข เศรษฐกิจพอเพียง เราจึงได้เห็นแนวคิดสิทธิชุมชนแบบพอเพียง ธรรมภิบาลแบบสนับสนุนรัฐประหาร ร่มเย็นเป็นสุขแบบเชียร์ให้อีกฝ่ายยิงหัวอีกฝ่าย และสิ่งที่ฝังอีกอย่างคือ ทำให้ผู้คนในภาคประชาชนรังเกียจการเมืองในระบบ แต่ก็ละเว้นการวิจารณ์การเล่นการเมืองและความน่ารังเกียจของชนชั้นสูงที่ไม่เคยลงเลือกตั้ง"

สุดท้าย การปฏิรูปประเทศไทยในเวลานี้คือพัฒนาการขั้นสูงสุดของวาทกรรมภาคประชาชนที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การปฏิรูปการเมืองอย่างนี้จะเกิดขึ้น โดยไม่ตะขิดตะขวงกับการตายของ 91 ศพ เพราะพวกเขาคิดมานานแล้วว่าคนเหล่านี้ฝักใฝ่การเมืองแบบสกปรก

เขาเล่าว่าอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวติดตลกว่า นี่คือยุคทอง เป็นสถานการณ์ในฝันของนักปฏิรูป ที่ดึงคนกลุ่มต่างๆ มานั่งคุยกันได้ เป็นสิ่งที่รอคอยมานานแล้ว สำหรับเขา พฤกษ์มองว่า ทั้งหมดนี้คงต้องเรียกว่าเป็นภาคประชาชนเอียงขวา หรือภาคประชาชนอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้น ตอนนี้ภาคประชาชนไม่ใช่ก้าวไม่ทันภาคชนบท แต่เป็นปฎิกิริยาที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของภาคชนบทเสียเอง

เขาจบด้วยเรื่องเล่าที่อาจฟังดูเลือดเย็น โดยเล่าว่า ในการสนทนากับนักพัฒนาอาวุโสท่านหนึ่งในการประชุมที่ขอนแก่น ได้ถามว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับการตายของคน 91 คน ยังคิดว่าจะร่วมปฏิรูปอีกหรือ และได้คำตอบว่า "ไม่เป็นไรไอ้น้อง รัฐบาลไหนก็เลวพอกัน แต่รัฐบาลนี้ให้อะไรกับชาวบ้านมากพอสมควร ตอนนี้เป็นโอกาสของเรา" ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังอย่างนี้แล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าใครเลวกว่ากัน

‘ภาคประชาชน’ กับท่าทีต่อการเมืองในระบบรัฐสภา 
ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอที่สำคัญว่า ข้อเสนอแรกซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนคือทุกวันนี้ขบวนการภาคประชาชน (Social movement) นั้นเป็นคนละเรื่องกับประชาธิปไตย และการพัฒนาประชาธิปไตยไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการที่มีภาคประชาชน ไม่ได้เป็นตัวแปรที่แปรผันตามกันโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เห็นคือสามารถมีภาคประชาชนที่อนุรักษ์นิยมและสนับสนุนการฆ่าประชาชนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การเมืองไทยในยุค 20 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอคือการเมืองภาคประชาชนทุกวันนี้ไม่มีทฤษฎีรัฐ ไม่มีทฤษฎีในการเข้าใจลักษณะของสังคมไทยซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

เก่งกิจ กล่าวต่อมาว่าหากมองจากงานเขียนหรือการโต้เถียงในแวดวงฝ่ายซ้าย (เรียกว่าภาคประชาชนหลังปี 2530) ในยุค 2520 สิ่งที่ฝ่ายซ้ายถกเถียงกัน คือ สังคมไทยมีลักษณะอย่างไร วิถีการผลิต (mode of production) ของสังคมไทยเป็นอย่างไร อยู่ในยุคทุนนิยม หรือศักดินา หรือกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา หรือทุนนิยมด้อยพัฒนา มีการถกเถียงกันว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์ทางการผลิตชุดนี้ ตกลงกองทัพขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ขบวนการแรงงานอยู่ตรงไหน ทุนมีกี่กลุ่ม เหล่านี้คือข้อถกเถียงในยุคทศวรรษ 20 (2520) ซึ่งอยู่ภายใต้ความคิดแบบมาร์กซิสม์อันเป็นแนวคิดที่ต้องการการปฏิวัติ

“การวิเคราะห์สังคมในยุคนั้นมีเป้าหมายเพื่อหาจุดเปราะบางของโครงสร้างทางการเมืองและธุรกิจ เพื่อที่จะปฏิบัติการทางการเมืองไปที่จุดนั้น เพื่อการปฏิวัติทางสังคมไปสู่สังคมนิยมหรือความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ นี้คือลักษณะสำคัญที่สุดของฝ่ายซ้ายในยุคทศวรรษ 2520” เก่งกิจกล่าว

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนความเข้าใจเรื่องรัฐในช่วงทศวรรษ 2520 มาจากงานของ 2 กลุ่ม คือมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และมาจากแวดวงปัญญาชนซึ่งมีทั้งส่วนที่เคยอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและไม่เคยอยู่ แต่โตมาภายใต้แนวคิดแบบมาร์กซิสม์ และได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสม์ตะวันตก

ในปี 2528 มีข้อถกเถียงระหว่างเกษียร เตชะพีระ กับพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ว่ารัฐมีหน้าตาอย่างไร สถาบันกษัตริย์ สถาบันอนุรักษ์นิยมอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจรัฐ อุดมการณ์หลักของสังคมไทยคืออะไร ตอนนี้เราเป็นทุนนิยมที่มีความขัดแย้งเรื่องอะไร ชนชั้นปกครองเป็นอย่างไร กองทัพเป็นอย่างไร ขบวนการปฏิวัติมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หลังจากนั้นแทบไม่เห็นงานที่มีการถกเถียงกันในลักษณะนี้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่างานชิ้นท้ายๆ ที่ถกเถียงกันเรื่องลักษณะของสังคมไทยเรื่องรัฐเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติน่าจะจบลงที่งานถกเถียงชิ้นนี้

เก่งกิจกล่าวด้วยว่าหากดูข้อเสนอของพิชิต ในปี 2534 หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พิชิตมีงานเขียนชื่อว่า “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” ชิ้นที่ 3 แต่งานชิ้นนั้นไม่ได้รับความสนใจ หรือนำมาถกเถียงเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติของขบวนการ คือไม่มีที่ทางของการโต้แย้งหรือนำมาวิเคราะห์สังคมไทย

สำหรับการถกเถียงเรื่องวิถีการผลิตนั้นสิ้นสุดในปี 2520 โดยมีงานของคน 3 กลุ่มที่พยายามจะโต้แย้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่วิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา งานชิ้นแรก คือของทรงชัย ณ ยะลา ปี 2524 ซึ่งเสนอว่าประเทศไทยไม่ใช่กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา แต่เป็นทุนนิยมล้าหลัง ด้อยพัฒนา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มขบวนการนักศึกษา หรือกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเริ่มทยอยออกจากพรรคฯ ในช่วงที่พรรคฯ กำลังจะล่มสลาย ในงานของธิกานต์ ศรีนารา

กลุ่มที่ 3 คือภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง คือบทบาทของระดับนำในพรรคฯ คือวิรัช อังคถาวร ซึ่งเขียนงานชิ้นนี้ในปี 2525 โดยเสนอว่าสังคมไทยไม่น่าจะใช่กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าสังคมไทยเป็นวิถีการผลิตแบบไหน หากดูบรรยากาศของการคุยกันว่าลักษณะของสังคมไทยเป็นอย่างไร เจ้าอยู่ตรงไหน กองทัพอยู่ตรงไหน ทุนอยู่ตรงไหน ทุนมีกี่กลุ่ม สังคมชนบทเป็นอย่างไร สังคมในเมืองเป็นออย่างไร ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นอย่างไร พลังทางการผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าการถกเถียงเรื่องนี้สิ้นสุดลงไปในปี 2525

“ผมคิดว่านี่คือหัวใจของยุคสมัย เพราะว่าการศึกษาทั้งหมดเป็นไปเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติ และหลังจากปี 2525-2528 เป็นต้นมา เราไม่เคยพูดถึงเรื่องการปฏิวัติ จนกระทั้งมีขบวนการเสื้อแดงในปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ คนก็กำลังจะบอกว่าเรากำลังจะปฏิวัติสังคม โค่นล้มศักดินา ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องรอการศึกษา” เก่งกิจกล่าว

เก่งกิจกล่าวต่อมาว่า ยุคหลังจากนั้นในช่วง 2530-2540 การศึกษาเรื่องรัฐแทบจะไม่มีที่ทางในการเมืองภาคประชาชนและวงการของปัญญาชนภาคประชาชน แนวคิดในเรื่องนี้การศึกษาเรื่องรัฐอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง คือนักวิชาการ เช่น ชัยอนันต์ สมุทรวานิช เขียนตำราเรื่องรัฐ (2530) และหนังสือ 100 ปีปฏิรูประบบราชการ (2538) ไชยรัตน์ เจริญศิลป์โอฬาร เขียนวิจารณ์ชัยอนันต์ สมุทรวานิช (2531) ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในแวดวงของนักเคลื่อนไหว ภาคประชาชน

ทั้งนี้ งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ การวิเคราะห์รัฐ ของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการเมืองภาคประชาชนในยุคที่ผ่านมา โดยอเนก เหล่าธรรมทัศน์ มีอิทธิพลทางความคิดหลังปี 2535 ได้เสนอ “ทฤษฏีประชาสังคม” ว่า ประชาสังคมเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกภาครัฐ แต่ไม่เคยบอกว่ารัฐคืออะไร และไม่บอกว่าสถาบันกษัตริย์ กองทัพอยู่ตรงไหนในรัฐ บอกเพียงแต่ว่าประชาสังคมคือองค์กรนอกภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลตนเอง ไม่พึ่งพารัฐ อยู่ภายใต้การเมืองแบบปกติ ซึ่งการพัฒนาประชาธิปไตยภายใต้แนวความคิดเช่นนี้คือการเพิ่มอำนาจหรือเพิ่มพื้นที่ ที่เรียกว่าประชาสังคม ชุมชน ชาวบ้าน การเมืองบนท้องถนน ซึ่งคิดว่ามีรากเหง้าทางความคิดอันเดียวกันคือไม่รู้ว่ารัฐคืออะไร ไม่มีทฤษฏีรัฐ และพูดเสมือนว่าประชาสังคม ชุมชน หรือการเมืองบนท้องถนนเป็นสิ่งดีงาม สวยงาม เท่ากับประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้ก็รู้แล้วว่ามันไม่เท่ากับประชาธิปไตย

ที่สำคัญ มีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเสนอว่า ประชาสังคม ผู้นำของประชาสังคมควรจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น นพ.ประเวศ วะสี, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่เสนอว่าพระมหากษัตริย์คือศูนย์กลาง สุดยอดของพลังประชาสังคมไทยที่จะต่อกรกับพลังอำนาจรัฐ ตรรกะนี้ทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐและมาอยู่ฝ่ายเดียวกับภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะเห็นอิทธิพลความคิดอย่างนี้เรื่อยมา อยู่จนมาถึงการรัฐประหาร 19 กันยา 2549

“เมื่อดูการปฏิรูปการเมืองในปี 2535 ถึงรัฐธรรมนูญ 2540 วาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเมืองแบบรากหญ้า กลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของการเมืองภาคประชาชนซึ่งล้วนแล้วแต่รังเกียจการเมืองในระบบ การเมืองแบบรัฐสภา และไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ” เก่งกิจกล่าว

เขายกตัวอย่าง ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งกล่าวในช่วงเช้า โดยระบุว่าไม่มีช่วงไหนเลยที่พูดถึงบทบาทของกองทัพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่พูดถึงประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นี่คือจิตสำนึกของยุคสมัยที่ไม่มีทฤษฏีเรื่องรัฐ และไม่เข้าใจว่ามีความขัดแย้งอะไรจริงๆ ในสังคมไทยเพิ่งจะมีการพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์เมื่อหลังปี 2549 และทุกคนก็ตื่นตัวที่จะพูดเรื่องนี้ แต่ในเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2524 (กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย), 2534 (รัฐประหาร รสช.), 2535 (พฤษภาทมิฬ) ไม่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเลยโดยนักวิชาการฝ่ายภาคประชาชนและฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทย

เก่งกิจกล่าววิจารณ์ต่อมาถึง ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกทฤษฏี Social Movement คนสำคัญในประเทศไทย โดยระบุว่างานศึกษาของประภาส รวมถึงงานของผาสุก และลูกศิษย์ที่ทำเรื่องทฤษฏี Social Movement ในประเทศไทย ไม่มีส่วนไหนเลยที่วิเคราะห์ว่ารัฐคืออะไร ไม่มีระบุว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน สิ่งที่งานแนวนี้โจมตีมากที่สุดคือ 1.ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือการเมืองแบบตัวแทน 2.แนวทางการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม และต้องการจะกลับไปสู่การปกป้องวิถีชุมชน ซึ่งคิดว่าอยู่ในรากเหง้าอันเดียวกับวิธีคิดแบบชุมชนนิยม

ย้อนกลับไปดูยุคสมัย 2520 ฝ่ายซ้ายกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ลักษณะสังคม ดุลอำนาจทางชนชั้น รัฐ วิถีการผลิต แล้วค่อยกำหนดว่าจะสู้อย่างไร ฝ่ายภาคประชาชนในทศวรรษ 2530-2540 ไม่เริ่มต้นที่การวิเคราะห์สังคมไทยเพราะไม่มีทฤษฏีที่จะวิเคราะห์สังคมไทย หันมาวิเคราะห์ที่ตัวขบวนการหรือ Social Movement ด้วยตัวของมันเอง กำหนดว่าขบวนการแต่ละขบวนการต้องการอะไร แล้วจึงกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการต่อสู้

“เอาเข้าจริงแนวคิด Social Movement ทั้งหลายของอาจารย์ประภาสไม่มีที่ทางแก่การนำเสนอในทางยุทธศาสตร์ แต่เน้นในเชิงยุทธวิธี การล็อบบี้ การทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางซึ่งความจริงแล้วไม่รู้ว่าควรต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางหรือเปล่าเมื่อชนชั้นล่างมีกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้เราทำแนวร่วมกับสังคมอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม และกองทัพ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภาคประชาชนเอาทฤษฏีอะไรมาวิเคราะห์ว่าต้องทำแนวร่วมกับกลุ่มเหล่านี้” เก่งกิจกล่าว

เก่งกิจกล่าวในตอนท้ายว่า โดยสรุป ปัญหาใหญ่ของขบวนการภาคประชาชนคือไม่มีทฤษฎีรัฐและการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทย แต่เป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ภายใต้ลักษณะแบบปฏิบัตินิยมคือทำรายวัน สู้รายวัน พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้เราไม่มีองค์ความรู้อะไรเลยว่าสังคมไทยตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีความรู้เหล่านี้ก็เคลื่อนไหวตามพวกอำมาตย์ไม่ทัน ดังนั้นจึงอยากชักชวนสังคมไทย โดยเฉพาะแวดวงของเรากลับมาสู่การถกเถียงกันว่าสังคมไทยหน้าตาเป็นอย่างไร สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน กองทัพอยู่ตรงไหน ทุนอยู่ตรงไหน มีกี่กลุ่ม วิถีการผลิตเป็นอย่างไร

 

 บทวิจารณ์

 
ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่เปเปอร์ทั้งสามพยายามจะทำคือทบทวนว่า ขบวนการทางสังคมที่เคยก้าวหน้า ในยุค 2530 เหตุใดจู่ๆ จึงถดถอย โดยเฉพาะขบวนการสังคมในนามภาคประชาชน โดยเปเปอร์สองชิ้นแรกใช้ตัวบ่งบอกคือ ท่าทีที่ไม่คัดค้านรัฐประหาร ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนชาวเสื้อแดง ตลอดจนไม่มีความเห็นต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา รวมไปถึงการกลบเกลื่อนปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยการเข้าร่วมกับกระบวนการปฏิรูปสังคมที่รัฐจัดขึ้น โดยเปเปอร์ของ อ.อัจฉรา และอ.พฤกษ์ให้เหตุผลคล้ายกันโดยพยายามดูอุดมคติและวิธีคิด รวมทั้งวัฒนธรรมของเอ็นจีโอ ซึ่งทั้งสองมองว่าเป็นอุดมคติที่ดึงเอาการเมืองออกจากการมองสังคม ขณะที่ อ.เก่งกิจเสนอฟันธงว่าเป็นเพราะภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอไม่สนใจรัฐ 
 
สิ่งที่ทั้งสามไม่ได้ทำ คือ 1.ไม่บอกว่าจู่ๆ ทำไมจึงเกิดการลดทอนการเป็นการเมือง อ.เก่งกิจก็ไม่ได้บอกว่า ทำไมหลังปี 2525 รัฐจึงหายไป ใครมาดึงเอาออกไป ทั้งสามทำแค่บอกว่ามันไม่มี มันจึงถดถอย และ 2.ไม่ได้ตอบโจทย์สัมมนา โดยจากกำหนดการสัมมนาครั้งนี้ มีลักษณะต้องการเดินไปข้างหน้า คือรู้กันอยู่แล้วว่าภาคประชาชนถดถอย แต่จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร หรือจะจัดวางความสัมพันธ์กับการเมืองที่มันเกิดตอนนี้อย่างไร เปเปอร์ทั้งสามไม่ได้ตอบชัด ซึ่งถ้าสนทนากันในทั้งสองเรื่องที่ไม่มีในเปเปอร์มากขึ้น อาจทำให้มองเอ็นจีโอได้สนุกกว่านี้ 
 
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับการเขียนเปเปอร์ทั้งสามชิ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเห็นด้วยในหลายเรื่องว่าทิศทางปัจจุบันของเอ็นจีโอไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม จะขอถอยมาก้าวหนึ่ง เพื่อดูว่าการวิเคราะห์หรือการวิพากษ์แบบที่ทำนี้พอหรือไม่
 
ภาวะอกหักจากการเมืองรัฐสภาและสวิงกลับสู่อนุรักษนิยม
ปิ่นแก้ว กล่าวถึงข้อสังเกตแรกว่า คือ บริบท เปเปอร์ทั้งสามใช้ฐานคิดเดียวกันในการวิพากษ์เอ็นจีโอคือมโนทัศน์ว่าด้วยสารัตถนิยม คือมองว่า เอ็นจีโอในนามของภาคประชาชนมีลักษณะหยุดนิ่ง Romanticize ชาวบ้าน เกลียดทุนนิยม และไม่เอารัฐ แต่เมื่อไม่บอกที่มาว่าจู่ๆ ทำไมจึงกลายเป็นแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่า วิธีการวิเคราะห์แบบนี้ในทางตรงข้ามมันกลับไปตอกย้ำสารัตถนิยมหรือมโนทัศน์สารัตถนิยมเสียเอง ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับ อ.เก่งกิจ เพราะคิดว่าเอ็นจีโอเคยเป็นกลุ่มที่ highly politicize มีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูงในยุคสมัชชาคนจน แต่คำถามคือเหตุใดโพสต์-สมัชชาคนจน (ยุคหลังสมัชชาคนจน) เอ็นจีโอจึงถดถอย ถ้าใส่บริบทเข้าไป เชื่อว่าจะช่วยทำให้หลีกเลี่ยงการมองว่าเอ็นจีโอเป็นแบบนี้มาตลอดเวลาไปได้ เพราะมันไม่ช่วยให้เข้าใจขบวนการทางสังคมในรายละเอียด 
 
ปิ่นแก้วกล่าวว่า ในยุครุ่งเรืองของสมัชชาคนจน เป็นยุคการเมืองบนท้องถนนก่อนเสื้อเหลืองเสื้อแดง ที่สามารถพูดได้ว่าสมัชชาคนจนเป็นปรากฏการณ์ที่เปิดพื้นที่ของการเมืองบนท้องถนนที่ค่อนข้างใหญ่และมีนัยยะที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ในเปเปอร์ไม่ได้พิจารณาหรือวิเคราะห์ระบอบทักษิณซึ่งเป็นการเมืองในระบบรัฐสภา ที่การเมืองบนท้องถนนของสมัชชาคนจนมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดในยุคนั้น และปฏิสัมพันธ์นี้ก่อให้เกิดภาวะสวิงกลับ
 
"ดิฉันเชื่อว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่เอ็นจีโอ Engage (ข้องเกี่ยว) กับการเมืองแบบนี้มากที่สุด และความผิดหวังกับการที่ระบบการเมืองในรัฐสภาเป็นระบบผูกขาด และการไม่สามารถนำพาการเมืองบนท้องถนนไปสู่การต่อรองได้ ก่อให้เกิดภาวะอกหักหรือ backlash คือไปไม่ถูก คิดไม่เป็น รับมือไม่ได้ จึงกลับไปสู่แบบจารีต ซึ่งนี่จะพูดต่อไปว่ามันก่อให้เกิดต้นทุนหรือความเสียหายต่อระบบประชาธิปไตยไทยอย่างไร"
 
ประเด็นที่สอง คือ ชาวบ้านและเอ็นจีโอที่เปเปอร์ทั้งสองพูดถึงเป็นเอ็นจีโอบางกลุ่ม ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายทุกกลุ่มได้ ดังนั้น เปเปอร์ควรเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงใคร เพราะเปเปอร์ของ อ.อัจฉรา และอ.พฤกษ์ กลุ่มเอ็นจีโอที่พูดถึงคล้ายพวก Narodnik ซึ่งเป็นกลุ่มซ้ายในรัสเซียก่อนปฏิวัติที่เชื่อว่า village commune หรือชุมชนหมู่บ้านเป็นคำตอบ เป็นทางออกของความอยู่รอดของสังคม เชื่อว่าจะบายพาสทุนนิยมไปได้ แต่ Thai Narodnik ต่างจาก Russian Narodnik ตรงที่อย่างน้อยพวก Narodnik ในรัสเซียยังเชื่อเรื่องการปฏิวัติ เชื่อว่าการทำอย่างนั้นจะนำไปสู่การล้มระบบ Monarchy (การปกครองระบอบราชาธิปไตย) ได้ แต่ Narodnik เมืองไทยไม่ใช่ 
 
อย่างไรก็ตาม ปิ่นแก้วมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเป็น Narodnik แต่อยู่ที่กระบวนการที่อยากจะเรียกว่า Narodnikization of movement คือการที่กระแสคิดนี้ถูกทำให้กลายเป็นตัวแทนของกระแสคิดของเอ็นจีโอหรือภาคประชาชน ด้วยการนิยามชาวบ้านกลุ่มนี้ว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้านทั้งหมด หรืออ้างว่ากระแสคิดนี้เป็นกระแสคิดที่ชอบธรรมและอธิบายภาพชนบทได้ คือ อำนาจในการเคลมตรงนี้ต่างหากซึ่งเป็นปัญหาเพราะเป็นอำนาจซึ่งมีแนวโน้มในการดึงเอามิติความขัดแย้งออกจากคู่ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐ-ประชาชน ประชาชน-ทุน โดยไม่ต่อรองและไม่วิพากษ์ 
 
"เอ็นจีโอ" ในฐานะองคาพยพของรัฐภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ไม่ช่วยเสริมอำนาจของชาวบ้าน 
ประเด็นที่สาม คือรัฐ ในประเด็นของ อ.เก่งกิจ เห็นต่างว่าการไม่สมาทานการวิเคราะห์รัฐผ่าน mode of production ไม่ได้แปลว่าไม่มีการถกเถียงเรื่องรัฐ คุณไพโรจน์ พลเพชร (ประธาน กป.อพช.) เคยบอกว่า รัฐสำหรับเอ็นจีโอแล้วจะรัฐไหนก็แย่เหมือนกัน คือเอ็นจีโอมองรัฐผ่านกรอบคิดที่เรียกว่า Developmental state เป็นรัฐว่าด้วยการพัฒนา คือมองว่าไม่ว่ารัฐจะสมาทานอุดมการณ์การเมืองแบบไหน ก็เป็นรัฐสังคมนิยมหรือรัฐทุนนิยมก็พร่าผลาญทรัพยากรทั้งสิ้น เช่น จีน ที่เป็นรัฐสังคมนิยมก็สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ต่างจากรัฐทุนนิยมสักเท่าใด ด้วยกรอบคิดนี้ทำให้เอ็นจีโอในภาวะสวิงกลับ 360 องศาในปัจจุบันได้ข้อสรุปว่าไม่ว่ารัฐเผด็จการหรือรัฐประชาธิปไตยก็ดึงทรัพยากรไปจากประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งนั้น ดังนั้น สิ่งที่เอ็นจีโอทำก็คือทำอะไรก็ได้เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าไป "ยึดพื้นที่" อาณาบริเวณหรือปริมณฑลของทรัพยากรของตัวเองให้ได้มากที่สุด
 
ดังนั้นแล้ว จึงคิดว่า ไม่จริงที่เอ็นจีโอไม่มองรัฐ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยถูกถามก็คือว่า จริงหรือเปล่าที่ ไม่ว่ารัฐประเภทใดก็ตามนำมาซึ่ง license หรือใบอนุญาตให้มีการพร่าผลาญทรัพยากรของคนจนเหมือนๆ กัน หรือเอาเข้าจริงๆ รัฐเผด็จการดีกว่ารัฐทุนนิยมของทักษิณหรือเป็นภัยน้อยกว่ากับภาคประชาชน คำถามนี้ไม่ค่อยถูกคุย หรือหยิบมาถกเถียงกัน 
 
ปิ่นแก้ว ระบุว่า ด้วยการมองรัฐแบบนี้ ทำให้เอ็นจีโอสาย Narodnik ละทิ้งแนวทางการถ่วงดุลอำนาจรัฐ แนวทางการตรวจสอบรัฐ ด้วยการเข้าพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของรัฐ กลายเป็นแขนขาช่วยทำรัฐทำงาน ช่วยสร้างพลเมืองของชาติ มีคนชอบถามว่า ผิดหรือที่ไปช่วยรัฐทำงาน เมื่อช่วยแล้ว ชาวบ้านก็ได้โฉนดชุมชน คนที่เป็นโรคเอดส์ก็จะได้ยาที่ดี ผิดหรือที่ไปสนับสนุนรัฐเผด็จการ จริงๆ เป็นคำถามเชิงศีลธรรมที่ถามทีไรก็อีหลักอีเหลื่อ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าก็ไม่ผิด เพียงแต่ประเด็นคือ โปรดอย่าลืมว่า เอ็นจีโอพูดมาโดยตลอดว่าทำงานเพื่อเสริมสร้างอำนาจประชาชนให้เข้มแข็งไม่ใช่เสริมสร้างอำนาจรัฐ การพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแขนขารัฐ เพื่อให้ได้มาเพื่อสิ่งที่ประชาชนอยากได้ เท่ากับการเสริมอำนาจรัฐ และที่สำคัญก็คืออำนาจที่ได้มาเป็นอำนาจภายใต้ระบบอุปถัมภ์ โฉนดชุมชนได้มาจากประชาธิปัตย์ประทานให้ได้มาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช่ได้มาด้วยการต่อรอง ดังนั้นจึงไม่ได้เสริมอำนาจของชาวบ้านให้มากขึ้น 
 
และสิ่งที่ได้มาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ไม่เพียงแต่ไปเสริมอำนาจของผู้อุปถัมภ์นั้นๆ ระบบอุปถัมภ์นั้นสร้างขึ้นมาด้วยระบบบุญคุณ เป็นหนี้อันใหญ่ที่เอ็นจีโอสร้างขึ้นมา ไม่ทราบว่าเอ็นจีโอคิดไหมว่าบุญคุณอันนี้นำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตหรือไม่ อย่างไร นี่เป็นโจทย์ใหญ่
 
สุดท้าย สิ่งที่เอ็นจีโอสาย Narodnik หรือสายอุปถัมภ์ คิดหรือเลือกเป็นการคิดและเลือกที่สั้นและสวิงเกินไป คิดทางลัดเกินไป กลุ่มที่จัดงานในวันนี้คงเป็นเอ็นจีโอที่คิดต่าง หน้าที่ที่ควรจะทำคือ หนึ่ง ถ้าคิดว่าการอ้างหรือการ claim authority ต่อสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชนนั้นไม่ชอบธรรมก็ควรแสดงตัวตนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนที่คิดต่างอย่างไร หรือจะเรียกตัวเองว่าอย่างไร และแสดงให้เห็นว่าแนวทางหรือวิสัยทัศน์ในการมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ radical กว่าสาย Narodnik คืออะไร ก็ต้องแสดงจุดยืน สนนท. ยังแสดงจุดยืนเลย นักศึกษาก้าวหน้ากว่าเรา คิดว่าช่วงเวลาตัดพ้อต่อว่าพอสมควรแล้ว 
 
"ณ ปัจจุบันน่าจะเป็นจุดซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกทางลัดของสาย Narodnik ไม่เพียงแต่ทำลายระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างไร แต่มันยังทำลายอำนาจต่อรองของประชาชนในการเมืองแบบทางตรงโดยไม่รู้ตัว ถ้าสามารถเสนอทิศทางที่ชัดเจนได้น่า ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่น่าจะถกเถียงและพูดคุยกันต่อไป"
 
ความเป็นอิสระต่อรัฐและทุน?
ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มีสามประเด็นที่งานทั้งสามชิ้นขาด ประเด็นแรก หากเราจะทบทวนหรือถกเถียงกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มีสองระดับ ระดับแรกคือกรอบวิธีคิดและการให้นิยามความหมาย ระดับที่สอง คือการปฏิบัติการที่เราจะวิจารณ์ท่าทีของขบวนการต่างๆ ที่บอกว่าตัวเองอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
 
แบบแรก ในแง่กรอบคิดและนิยาม เห็นด้วยกับเก่งกิจบางระดับ คือหนึ่ง การเกิดขึ้นของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่อาจเป็นกระแสทั่วโลกของการอกหักจากแนวคิดแบบสังคมนิยม คือในขณะที่สังคมไทยมีนโยบาย 66/23 กลับมาคืนดีกัน ในสังคมโลกก็มีการล่มสลายของแนวคิดสังคมนิยมในทศวรรษ 80 โดยเริ่มมีการเปลี่ยนในยุโรปตะวันออก พยายามที่จะตอบว่าตัวเองจะทำให้ประชาชนดีขึ้น สังคมดีขึ้นอย่างไร ดังนั้น ถ้าเราดูในแง่นี้ เราก็อาจจะทำความเข้าใจได้ หรืออย่างน้อยที่สุด มองเอ็นจีโอหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคปัจจุบันได้ว่าทำไมเขาจึงคิดแบบนี้ นั่นเพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่เห็นความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงระบบ แต่เขาคิดว่า เขาจะหันไปทำอย่างไรกับระบบ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีการพูดว่า Politic of recognition แทน Politic of power 
 
การศึกษาไม่เฉพาะการเคลื่อนไหวทางสังคม การศึกษารัฐศาสตร์ทั่วโลก ไม่มีใครศึกษาประชาธิปไตยเชิงสถาบัน วิชาการเมือง เรื่องพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง แทบจะไม่มีใครลงทะเบียนเรียน หลายคนไม่คิดว่าพรรคการเมืองเป็นคำตอบของการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หันไปดูพวก Social movement แทน ก็เพราะมันสะท้อนความรู้สึกที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับระบบที่ดำรงอยู่ ในเมื่อไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเปลี่ยนระบบได้ นี่อาจตอบประเด็นว่าทำไมเขาจึงไปพูดเรื่องการขอมีพื้นที่ในรัฐ นั่นเพราะไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนรัฐอย่างไร ในทางกลับกัน รู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่ในรัฐประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอาจจะเป็นคำตอบที่ยังไม่รู้ว่ามีอะไรมาแทนไหม 
 
ประกอบกับถ้าเราดูในบริบทประเทศอื่นๆ ด้วย ภาพสะท้อนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในละตินอเมริกา หรือแอฟริกาใต้ก็ชัดเจนว่า ขณะนั้นทำไมแทนที่จะเกิดการเถียงเรื่องการเมืองเรื่องชนชั้น การเปลี่ยนรัฐ กลับมาสู่การเมืองเชิงประเด็น ซึ่งในแง่หนึ่งหากถามว่ามัน depoliticize ไหม ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มัน redefine นิยามความหมายของคำว่าการเมืองไป ไม่ใช่เชิงโครงสร้างหรือ classical movement ที่พูดเรื่องชาตินิยม ชาวนา การเปลี่ยนรัฐ แต่เป็นการเมืองเชิงรายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ผู้หญิง สันติภาพ ซึ่งถ้าเราเป็นมาร์กซิสม์เราก็จะถามว่านี่กลายเป็นการเมืองเชิงแนวตั้งไปแล้วใช่ไหม ตั้งแต่คนรวย คนจน คนไม่มีบ้าน ถ้าคุณเป็นผู้หญิงเหมือนกัน คุณจะโยงกันอย่างไร 
 
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เถียงกันมากในเชิงวิธีคิด และในทางกลับกันก็มีผลกับเอ็นจีโอหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งคนที่คุณวิจารณ์เป็นรุ่นที่อกหักจากสังคมนิยม คนเหล่านั้นเป็นพวกที่จบมหาวิทยาลัย ปี 23-25 คือช่วงที่ Narodnik กับเศรษฐศาสตร์การเมืองกำลังสู้กันอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ แล้วสุดท้าย เศรษฐศาสตร์การเมืองก็พ่ายแพ้ไป เพราะไม่มีประเด็นที่จะไปสู้ ยังหาจินตภาพของสังคมในอุดมคติใหม่ไม่เจอ ก็เลยต้องกลับไปทำอะไรเล็กๆ ในชุมชนเล็กๆ หมู่บ้านเล็กๆ และคิดว่าไอ้เล็กๆ นี้จะเอามาแทนสิ่งที่สู้ไม่ได้ในเรื่องใหญ่ๆ ได้หรือเปล่า 
 
นฤมลกล่าวว่า เรื่องนี้คือปัญหากรอบคิดและการให้นิยาม ถ้าหากว่าเราจะกลับมาทบทวนกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม  เราอาจจะต้องกลับมาเถียงกันในแง่กรอบคิดว่า หนึ่ง เราอธิบายกรอบคิดนี้อย่างไร มีข้อจำกัดแบบไหน ปัญญาชนในกลุ่มคนที่เข้าไปทำงาน จะไปพ้นจากกรอบคิดแบบนี้ได้หรือเปล่า บวกกับกระแสแบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งจำนวนหนึ่งหันมาคิดว่ารัฐเล็กลงไปแล้ว มีสิ่งที่ใหญ่กว่ารัฐที่บายพาสรัฐไปแล้ว โดยในหลายประเทศก็แทบจะพูดเรื่องรัฐน้อยลงมาก หันไปพูดเรื่อง WTO เรื่องอื่นๆ ยิ่งทำให้กระแสกรอบเรื่องรัฐเกิดปัญหาว่าจะดีเบตกันอย่างไร 
 
ส่วนที่สอง เรื่องของระดับปฏิบัติการ ปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยมีมาโดยตลอด เช่น ขบวนการที่อาจจะเรียกว่ามีความยาวนานมากที่สุดอย่างขบวนการแรงงาน นับตั้งแต่อดีตที่มีกระแสมาร์กซิสม์ แม้กระทั่งเหมาอิสม์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนปัจจุบัน แทบจะเรียกได้ว่าลักษณะของการคิดเชิงขบวนการได้ถูกทำลายไปอย่างมาก เราแทบจะไม่มีปัญญาชนที่อยู่ในขบวนการแรงงานที่คิดในประเด็นเรื่องนี้ อาจจะเพราะวิธีคิดเรื่อง “สหภาพแรงงานนิยม” เข้ามาแทน ขบวนการชาวนาก็แทบจะไม่มี สภาพที่เกิดขึ้นก็จะเป็นรายประเด็น เช่น สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดว่าถึงที่สุดแล้ว การคิดในเชิงรายประเด็นจะมีปัญหา บวกกับแนวคิดเชิงภาคปฏิบัติขององค์กรพัฒนาเอกชน 
 
ถ้าจะให้วิเคราะห์ บทความที่หนึ่งที่สอง พูดถึงเอ็นจีโอที่ทำงานในชนบท ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในปี 2523 ดังนั้น วิธีคิดของเอ็นจีโอในชนบทตั้งแต่ 2523  จนถึงปัจจุบัน สะท้อนวิธีคิดว่า หนึ่ง เจ้าตัวเองอาจจะอกหักจากแนวคิด สอง วิธีคิดหรือลักษณะของสังคมไทย จากพ.ศ. 2523-2553 สามสิบปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงในชนบทมีอย่างมากมาย ถ้าจะวิจารณ์เอ็นจีโอปัจจุบันก็คือเขาอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมที่เข้ามาในชนบทและไม่ได้ยอมรับว่าชนบทได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่คาดหวังคือยังอยากได้ชนบทที่ตัวเองอยากจะให้เป็น ซึ่งจะเป็นชนบทในฝันที่อาจจะไม่เป็นจริง 
 
สอง เราอาจจะต้องยอมรับกันว่า บริบทสังคมไทย แนวคิดการเมืองแบบระบบรัฐสภาแทบจะไม่มีที่ทางในแวดวงปัญญาชน นักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่เคยมีที่ทางหรือทำให้สังคมไทยเชื่อว่าจะเป็นคำตอบของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ที่เอ็นจีโอจำนวนมากรู้สึกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนไม่ต่างกัน เมื่อคิดแบบนี้จะเรียกว่า depoliticization หรือไม่ก็แล้วแต่ แน่นอนมันทำให้วิธีคิดของเขาแยกระหว่างการทำงานที่เขาทำกับการเมืองในเชิงสถาบันที่ดำรงอยู่ 
 
ในที่นี้ คุณูปการของคุณทักษิณคือทำให้การเมืองเชิงสถาบันกับการเมืองเชิงประเด็นต้องมาทบทวนว่าจะสัมพันธ์กันอย่างไร ในอดีตต่างฝ่ายต่างไม่สนใจซึ่งกันและกัน และคิดว่าต่างฝ่ายต่างอยู่กันได้ ซึ่งไม่จริง คิดว่าในแง่นี้อาจจะต้องมาถกเถียง
 
ประเด็นสุดท้าย ถ้าอยากจะทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจริงๆ สิ่งที่ควรจะทำคือ 1.เลิกฟูมฟาย เพราะการฟูมฟายหรือการตัดพ้อไม่ได้ทำให้ผู้ที่เราตัดพ้อเข้าใจว่าเราต้องการอะไร ข้อเสนอที่จะสร้างสรรค์คือ หนึ่ง ถ้าเราบอกว่า บทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมปัจจุบันอยู่ภายใต้วิธีคิดที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเลือกที่จะยอมรับรัฐและปฏิรูปรัฐมากกว่าจะเปลี่ยนระบบรัฐ ข้อจำกัดของวิธีคิดแบบนี้คืออะไร ถ้าจะเถียงกันเชิงวิธีคิดก็เถียงกันไปเลยว่าควรเป็นอย่างไร 
 
2.ในเชิงหลักการ ถ้าหากจะเถียงกับเอ็นจีโอ สิ่งที่น่าจะวิจารณ์มากกว่าเรื่องการไปร่วมหรือไม่ร่วมกับกรรมการปฏิรูป ก็คือความเป็นอิสระ ถ้าคุณบอกว่าภาคประชาสังคมจะต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน มันสะท้อนตรงไหน สิ่งที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยก็อยู่ภายใต้การจำกัดของทุน เราจะต้องเขียนหลักสูตร สอนหนังสือ ทำวิจัยภายใต้กระแสตลาด ส่วนเอ็นจีโอก็อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ มีเอ็นจีโอสักกี่แห่งซึ่งไม่ได้รับทุนจากองค์กรของรัฐ ประเด็นคือเอ็นจีโอต้องมีความอิสระในการทำงานและเชิงความคิด เพราะต้องอย่าลืมว่า 5 ปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอก็มีปัญหามากว่าจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สภาพของแหล่งทุนที่หายไป และภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มีรัฐมากำกับมากขึ้น และการกำกับต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างต่างๆ ที่ลงมา ดังนั้น ถ้าจะวิจารณ์เขาหรือเสนอเขาว่าเขาควรจะทบทวนอย่างไรในเชิงปฏิบัติการ ความเป็นอิสระในการรับทุน และการกำหนดโครงการ 
 
และประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ ถ้าบอกว่างานของเอ็นจีโอที่บอกว่าคาดหวังว่าจะเพิ่มอำนาจประชาชน สิ่งที่ทำในขณะนี้แม้แต่คนที่พูดว่าทำเพื่อจะเพิ่มอำนาจประชาชนก็ถูกลดทอนอำนาจอยู่ภายใต้การกำกับของผู้อุปถัมภ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐและบริษัท ฯลฯ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีทางออกอย่างไร อาจจะต้องไปคุยกันว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไรในอนาคต
 

ดาวโหลดบทความเสนอในงานเสวนาทางวิชาการ

“ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย”

“‘ภาคประชาสังคม’ ‘ภาคประชาชน’ กับกับดักจินตนาการ ‘ไม่เลือกเพื่อสร้างทางเลือก’”
โดย อ.ดร. อัจฉรา รักยุติธรรม (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
http://www.mediafire.com/?943i4m7c8hvzs9m

“‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท”
โดย อ.พฤกษ์ เถาถวิล (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
http://www.mediafire.com/?5ip3nvv362682e6

“‘ภาคประชาชน’ กับท่าทีต่อการเมืองในระบบรัฐสภา”
โดย อ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
http://www.mediafire.com/?f2nw5o354890prc
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net