Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่เมฆทะมึนปรากฏอยู่บนท้องฟ้า
เราก็ชี้ให้เห็นว่า นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว
เท่านั้นเอง ความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไป
แสงอรุณส่องรำไรอยู่ข้างหน้าแล้ว”
 
                                                                   ประธานเหมาเจ๋อตุง
                                                                      สรรนิพนธ์เล่ม 4
         
 
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว รัฐประหารก็หวนกลับมาเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้นก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว เราไม่เคยเชื่อกันเลยว่าสังคมไทยจะต้องพานพบกับการรัฐประหารอีก จนเราเชื่ออย่างมั่นใจว่า สังคมไทยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของทหารกับการเมือง เพราะโอกาสหวนคืนของทหารในการเมืองไทยนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่สิ้นสุดลงแล้ว หรือหากกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ สังคมไทยในยุคหลังเหตุการณ์ปี 2535 แล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหารอีกต่อไป หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่จำเป็นต้องคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกลุ่มทหารในการเมืองไทย ซึ่งในกรณีนี้หากพิจารณาในบริบทเปรียบเทียบจะเห็นได้ถึงความแตกต่างในการจัดการกับระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Democratic Transition) ของไทยกับของประเทศในละตินอเมริกาอย่างมากที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องของทหารกับการเมือง และทั้งพยายามสร้างกรอบที่เป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการกองทัพและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคาดหวังว่าการจัดการเช่นว่านี้ จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) ในขณะที่หัวข้อเหล่านี้ไม่เป็นประเด็นในไทยเท่าใดนัก และกลายเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยผ่านเลยไปกับกาลเวลา
 
จะด้วยวิธีคิดเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยวิธีคิดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความประมาท” ที่สังคมการเมืองไทยหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 ไม่ได้เตรียมการใดๆ ที่จะทำให้ทหารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการเมืองไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือกองทัพถูกผลักออกจากการเมือง แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะบริหารจัดการในทางการเมืองอย่างไร หรือแม้กระทั่งคำถามว่า ถ้าจะสร้างกองทัพไทยให้เป็นทหารอาชีพหลังการเมืองปี 2535 แล้ว เราจะทำอย่างไร คำตอบจึงมีแค่ความเชื่ออย่างหยาบๆ ว่า อย่าไปกังวล กองทัพมีบทเรียนอย่าง “เจ็บปวด” แล้ว คงจะไม่กลับมาสู่การเมืองอีก คำตอบเช่นนี้ยังละเลยอีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ ปัญหาการปฏิรูปกองทัพ (Military Reform) ซึ่งต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นตั้งแต่ปี 2532/33 เป็นต้นมา ดังนั้นหากสรุปง่ายๆ ก็คือ หลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2535 แล้ว สังคมไทยละเลยการปฏิรูปกองทัพทั้งในทางการเมืองและการทหารไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ประเด็นนี้มิได้หมายความว่า การปฏิรูปกองทัพจะไม่ทำให้ทหารยึดอำนาจอีก หากอย่างน้อยการปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต่างหาก หรืออย่างน้อยการปฏิรูปกองทัพในทางการเมืองจะทำให้สถาบันทหารถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (ต่างจากแนวคิดที่ปฏิเสธการนำสถาบันทหารเข้าร่วมในกระบวนการนี้) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้พวกเขามีข้อพิจารณามากขึ้นเมื่อต้องตัดสินในยึดอำนาจ แม้จะไม่สามารถหยุดยั้งวิธีคิดเก่าได้ก็ตาม
 
ในอีกด้านหนึ่ง บทเรียนจากความขัดแย้งในปี 2535 ที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อทางความคิดอย่างจริงจังก็คือ กลไกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยควรจะเป็นเช่นไร เพราะถ้าสังคมสามารถสร้างกลไกดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นความคาดหวังว่า เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น กลไกเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงในการลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หรืออย่างน้อยกลไกเช่นนี้ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้แรงกดดันของการเผชิญหน้าทางการเมืองมีช่องทางระบายออกไปได้บ้าง มิใช่ปล่อยให้การเผชิญหน้าขยายตัวออกไปในวงกว้าง และระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองจนไม่อาจควบคุมได้ และจบลงด้วยการรัฐประหาร
 
หากกลไกเช่นนี้เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นความหวังอีกส่วนหนึ่งที่ปัญหาจะไม่กลายเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่เปิดให้ผู้นำทหารและชนชั้นนำบางส่วนฉวยเอาสถานการณ์เช่นนี้เป็นช่องทางให้แก่กลุ่มของตนเองในการก่อรัฐประหาร และขณะเดียวกันก็จะไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้เหตุการณ์ของการเผชิญหน้าทางการเมืองดังได้กล่าวแล้วนั้น เป็นหนทางของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นด้วย เพราะจนบัดนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 แล้ว จะเกิดการปะทะของฝูงชน ระหว่างผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลกับผู้ต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ สังคมไทยก็อาจจะต้องเรียนรู้การจัดการกับการเรียกร้องทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรง มิใช่ว่าการจัดการกับปัญหาเช่นนี้จะต้องใช้การยึดอำนาจของทหารเป็นการแก้ปัญหาเสมอไป เพราะหากเราไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาเช่นนี้แล้ว กองทัพก็จะถูกชนชั้นกลางในเมืองเรียกร้องให้ออกมาทำหน้าที่ “สลายฝูงชน” ในระดับย่อย หรือทำการ “ล้อมปราบ” ในระดับใหญ่อยู่เรื่อยไป และเมื่อออกมาแล้วก็ย่อมนำไปสู่การยึดอำนาจได้ หรือมิฉะนั้นก็กลายเป็นหนทางของการคงอำนาจทหารไว้ในระบบการเมืองต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขั้นทำให้รัฐบาลต้องพึ่งพากองทัพเพื่อความอยู่รอดของตน
 
ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรนักที่จะสรุปว่า สังคมไทยหลังพฤษภาคม 2535 ขาดทั้งกระบวนการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหาร และขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกองทัพ ขณะเดียวกันก็ขาดองค์กรในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าและ/ หรือความรุนแรงในสังคมไทย
 
ผลของความขาดแคลนเช่นนี้ทำให้ในที่สุดแล้วความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าฉงนแต่อย่างใด...ความน่าฉงนในอีกด้านหนึ่งอยู่ตรงที่ว่า กลุ่มคนที่เคยมีบทบาทในการคัดค้านรัฐประหารในปี 2534 และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความพยายามในการฟื้นอำนาจของกลุ่มทหารในปี 2535 กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2549 จนบางคนต่อสู้อย่างสุดจิตสุดใจในการเป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น ปัญหาการเปลี่ยน “จุดยืน” ทางการเมืองของพลังประชาธิปไตย 2535 บางส่วนนั้น ทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับกลุ่มพลังที่จะเป็นฐานและขับเคลื่อนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสื่อ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และชนชั้นกลาง และจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า กลุ่มพลังเหล่านี้ยังยืนยันที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือต้องการเพียงการเมืองที่มีลักษณะของ “ประชาธิปไตยชี้นำ” (ผู้เขียนใช้คำนี้โดยขอยืมมาจากการเมืองอินโดนีเซีย คำในภาษาอังกฤษคือ “Guided Democracy”) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของทหาร หรือของชนชั้นนำ
 
นอกจากนี้พวกเขามักจะอ้างว่า ต้องการ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งในบางคร้งดูจะใกล้เคียงกับแนวคิดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเรื่อง “การเมืองแบบไทยๆ” มากกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายแบบสากล หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ การเมืองที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้นำทหารและชนชั้นนำคือสิ่งยอดปรารถนาของคน/กลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามีความเชื่อว่า การเมืองในลักษณะเช่นนี้เป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพมากที่สุด และทั้งยังสอดรับกับแนวคิดเรื่อง “ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics) เช่นที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา โดยมองเห็นแต่ด้านลบของการเมืองแบบการเลือกตั้ง หรือมองเห็นประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) เป็น “ตัวแทน” ของความชั่วร้ายทั้งปวง
 
ลักษณะของปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะทำให้บางคนคิดง่ายๆ  ด้วยการกล่าวโทษทุกอย่างไปที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยโยนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมาจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ทั้งสิ้น เรื่องราวเช่นนี้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลังการรัฐประหารแล้ว “การไล่ล่า” กลุ่มทักษิณ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ ซึ่งก็คงเปรียบเทียบได้กับคำพูดที่อธิบายสิ่งที่ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจหลังกันยายน 2549 ดำเนินการว่าเสมือน “การเผาบ้านเพียงเพื่อจับหนูตัวเดียว” และปัญหาที่แย่ก็คือ บ้านก็ไหม้จนหมด หนูก็จับไม่ได้...แล้วเราก็ก้าวข้ามไม่พ้นทักษิณสักที ! จนแม้ในบางครั้ง ยอมที่จะมีปัญหาในระบบการเมือง ในระบบตุลาการ และในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ทั้งกับเพื่อนบ้านหรือกับประเทศอื่นๆ ก็ด้วยต้องการจับคนเพียงคนเดียวให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็จับไม่ได้ จนกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับประเทศในเวทีสากลมากกว่าจะเป็นการสร้างเกียรติภูมิให้ประเทศ
 
เรื่องราวเช่นนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่า อิทธิฤทธิ์ของรัฐประหารนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว อาจจะใช้อะไรไม่ได้ผลมากนักเหมือนอย่างเช่นในอดีต เพราะในยุคก่อน เมื่อเกิดการยึดอำนาจแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อาจจะยุติลงโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยอมยุติบทบาทของตนเอง แล้วรอให้ระบบการเมืองเปิดใหม่อีกครั้ง พวกเขาจึงหวนกลับสู่เวทีการต่อสู้ใหม่ รัฐประหารในวันเก่าจึงเป็นเสมือน “ยาแรง” ที่ใช้แก้ปัญหาอาการ “ไม่ลงตัว” ในทางการเมือง โดยการ “ล้างไพ่” หรือ “ล้มกระดาน” เพื่อหวังว่า การเริ่มต้นใหม่ภายใต้การควบคุมของทหารจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองอีกครั้ง
 
หากแต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลับไม่ถอยหนีกลับไปนั่งรอการเลือกตั้งที่จังหวัดของตนเอง และในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็ไม่ได้เก็บตัวอยู่เฉยๆ เพื่อรอให้การเมืองเปิดได้หวนคืน หากแต่เพียงระยะสั้นๆ หลังจากรัฐประหารสิ้นสุดลงนั้น กลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เปิดเวทีการเคลื่อนไหวทันที และที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน แนวร่วมของพวกเขาก็ยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายฐานแนวร่วมในชนบท จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ชนบทวันนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของการต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร และขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดมากขึ้น จนเกิดภาพลักษณ์เชิงเปรียบเทียบในปัจจุบันว่า คนในเมืองพร้อมที่จะยอมรับ “ระบอบอำนาจนิยม” แต่คนในชนบทกลับร้องหา “ระบอบเสรีนิยม” ที่ต้องการเห็นการเลือกตั้ง และการสร้างความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดรวมถึงการกระจายการใช้และการตอบแทนทรัพยากร ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทเช่นนี้เป็นโจทย์ใหญ่อีกชุดหนึ่ง ที่สังคมและรัฐบาลควรจะต้องคิด ซึ่งปัญหานี้ผูกโยงกับประเด็นเรื่องของ “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่ประชาธิปไตยจะมีส่วนในการลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบททั้งในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างน้อยถ้าประชาธิปไตยเลือกผู้ปกครองได้ ก็ต้องทำให้ “ประชาธิปไตยกินได้” ด้วยเช่นกัน
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ชนบทเป็นฐานที่มั่นของ พคท. หากแต่ผลของกระบวนการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ได้สร้าง “จิตสำนึกใหม่”  ให้แก่ผู้คนจำนวนมากในชนบท  ที่พวกเขาตระหนักมากขึ้นถึงพลังทางการเมืองของตนเอง การขยายบทบาททางการเมืองของคนชนบทจึงทำให้วันนี้เกิด “สงครามชนบท” ในลักษณะของการแย่งชิงมวลชนในชนบท ซึ่งกองทัพเองก็เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้นี้ เช่น การใช้เครือข่ายของทหารรุกเข้าไปในชนบท ทั้งเพื่อการควบคุม ติดตาม และปฏิบัติการจิตวิทยาแย่งชิงมวลชน คล้ายกับยุคสงคราม พคท. ในอดีต และปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามชุดนี้จะดำเนินคู่ขนานกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือดำเนินขนานกับการต่อสู้ในเมืองไปด้วยกัน บทบาททหารกับสงครามแย่งชิงมวลชนในชนบทของยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์เช่นในปัจจุบัน จึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการขยายบทบาทของกองทัพในยุคที่ไม่มี  พคท. เป็นภัยคุกคาม และทั้งยังเป็นปัจจัยโดยตรงต่อการขยายและดำรงบทบาทขององค์กรเก่าอย่าง กอ.รมน. ไว้ในการเมืองไทย แม้ว่าจะไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์ให้ต้องเผชิญก็ตาม
 
แน่นอนว่าสำหรับคนในเมืองแล้ว บทบาทของคนชนบทถูกตีความว่าเป็นการ “ถูกซื้อ” จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นเพียงการต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง”  ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากท่อดังกล่าวถูกตัดแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็น่าจะหยุดลงไปโดยปริยาย ในมุมมองของคนในเมืองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนชนบทจะเกิด  “จิตสำนึกทางการเมือง” ขึ้นได้เอง ถ้าไม่ใช่เพราะการได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ต่างกับยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่การต่อสู้ของคนชนบทถูกมองว่าเป็นเพียงผลของการปลุกระดมจาก พคท. โดยละเลยที่จะมองถึงปัญหาโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมในชนบท เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองอย่างมากระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะของคนชนบทที่มองว่า คนในเมืองและ/หรือกลุ่มพลังของคนในเมืองพยายามครอบงำการเมืองไทย และปฏิเสธหรือละเลยต่อการตัดสินใจทางการเมืองของผู้คนในชนบท จนบางครั้งเลยไปถึงมีอาการในลักษณะ “ดูถูก” ความคิดทางการเมืองของคนชนบท ภายใต้ทัศนะว่า คนชนบท “โง่และไร้การศึกษา” ดังที่เราเคยได้รับฟังกันบ่อยๆ เป็นต้น
 
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐประหารให้ผลตอบแทนอย่างมากกับบรรดาผู้นำทหาร เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยึดอำนาจมีผลโดยตรงต่อการขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทยทั้งในเชิงสถาบันและเชิงตัวบุคคล (เห็นได้ชัดเจนว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารลดลงอย่างมากในทางการเมือง) ซึ่งการขยายบทบาทเช่นนี้ ยังขยายไปถึงเรื่องการจัดทำงบประมาณทหารและการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะก่อนรัฐประหารจะเกิดขึ้นนั้น การจัดซื้ออาวุธของทหารมีความจำกัดอย่างมาก กระบวนการจัดซื้อจัดหาไม่มีความ “สะดวกและคล่องตัว” เช่นในปัจจุบัน และเช่นเดียวกันการขยายงบประมาณทหารก็มีความจำกัดด้วย การยึดอำนาจของทหารจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาความจำกัดในเรื่องนี้
 
แม้อาวุธที่จัดซื้อหลายอย่างจะมีปัญหาในระยะต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบจีที – 200 เรือเหาะ หรือรถเกราะล้อยาง ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 3 รายการล้วนแต่เป็นปัญหาในปัจจุบันทั้งสิ้น หรือแม้แต่กรณีการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบกริพเพนจากสวีเดน ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน แต่ข้อวิจารณ์ทั้งหลายก็ใช่ว่าจะสร้างความยับยั้งชั่งใจให้เกิดขึ้นได้ในกระบวนการนี้ และเรื่องเช่นนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของทหารที่มีมากขึ้นในการเมืองไทยนั่นเอง
 
แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้ ทำให้การตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบอบการเมืองปัจจุบัน หรือกล่าวในบริบทของการบริหารประเทศก็คือ ระบบตรวจสอบทั้งในระดับสังคมหรือในส่วนของรัฐสภากลายเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจซื้ออาวุธของกองทัพจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการค้ำประกันด้วยตัวเองโดยผู้นำทหารและไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งเครื่องจีที – 200 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) ประเด็นเช่นนี้ให้คำตอบอย่างสำคัญในอนาคตว่า การปฏิรูปกองทัพไทยจะต้องปฏิรูประบบจัดซื้อจัดหาของทหาร และจะต้องไม่ปล่อยให้การจัดซื้อจัดหากลายเป็นการแสวงหาประโยชน์ของผู้นำกองทัพและผู้นำการเมือง ในขณะเดียวกันอาวุธเหล่านี้ก็จะต้องไม่เป็น “มรดกบาป” ที่ก่อให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพ หรือกลายเป็นยุทโธปกรณ์ที่ไม่อาจใช้จริงได้ และไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางยุทธการใดๆ แต่กองทัพในอนาคตต้องเก็บรักษาไว้เพราะเป็น “ของหลวง” ในระบบพัสดุราชการไทย
 
การสูญเสียระบบตรวจสอบในบริบททางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้องค์กรอิสระต่างๆ กลายเป็น “องค์กรไร้อิสระ” ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกการเมืองอีกส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้ในการแทรกแซงและการไล่ล่าทางการเมือง แต่ผลประการสำคัญที่กลายเป็นความผิดหวังของนักออกแบบโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือ องค์กรเหล่านี้ถูกทำให้หมดสภาพและหมดความน่าเชื่อถือไปด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความกังวลว่า องค์กรเหล่านี้จะอยู่อย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เว้นเสียแต่พวกเขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าในระยะใกล้หรือระยะไกลก็ตาม ดังนั้นในอนาคตถ้าจะต้องสร้าง “องค์กรอิสระ” ให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย เราจะทำอย่างไร เพราะถ้าองค์กรเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น การตรวจสอบทางการเมืองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ถ้าองค์กรเหล่านี้ถูกครอบงำด้วยความคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง หรือมีผู้นำองค์กรที่พร้อมจะนำองค์กรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยขาดความยั้งคิดแล้ว สถานะของความเป็น “อิสระ” ย่อมจะหมดลง ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในภาระทางการเมืองในอนาคต เพราะการสร้างระบบ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” (Check and Balance) จะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อประสิทธิภาพของระบบประชาธิปไตย และทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการเมืองมีความโปร่งใสและความน่าเชื่อถืออีกด้วย
 
ผลของรัฐประหารที่ไม่สามารถควบคุมและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องพึ่งพากระบวนการตุลาการในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินต่างๆ อย่างมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกโดยทั่วไปว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็คือการทำให้เป็น “สองมาตรฐาน” สิ่งที่ผลสืบเนื่องก็คือ คำตัดสินในทางกฎหมายถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จนก่อให้เกิดความกังวลกับอนาคตของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏเป็นข้อเสนอในเรื่องของ “การปฏิรูปสถาบันตุลาการ” (Judicial Reform) เพื่อหวังให้เกิดระบบ “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” ในอรรถคดีต่างๆ พร้อมกับลบภาพความเป็น “สองมาตรฐาน” ออกไปจากความรู้สึกของผู้คนในสังคม
 
นอกจากนี้ ในระยะ 4 ปีหลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดเจนถึงท่าทีของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองและกลุ่มชนชั้นนำ ที่พวกเขาพร้อมที่จะยอมรับทุกอย่างเพื่อป้องกันการขยายบทบาทของชนชั้นล่าง ที่ในวันนี้ถูกทดแทนด้วยภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” ด้วยฐานคติที่มองว่าคนในชนบทหรือคนชั้นล่างเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นการ “จัดตั้ง” ของฝ่าย “ต่อต้านทหาร – ต่อต้านรัฐบาล – ต่อต้านชนชั้นนำ” จึงทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกว่าการปราบปรามชนชั้นล่างเป็นความชอบธรรมในตัวเอง และขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมที่จะอยู่ในระบอบการเมืองที่มีกองทัพเป็นเสาหลัก โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพใดๆ ทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยพวกเขาก็ยอมรับว่า กองทัพคือหลักประกันทางการเมืองที่ดีที่สุดในภาวการณ์เช่นนี้ โดยพวกเขาเชื่อว่า การดำรงอยู่ของทหารในการเมืองไทยเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่พวกเขาไม่ปรารถนา การวิพากษ์วิจารณ์บทบาททหารในการเมืองไทยจึงถูกละเลยไปโดยปริยาย กล่าวคือ พวกเขายอมสละเสรีภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งการค้ำประกันเสถียรภาพของระบบการเมืองโดยอำนาจของกองทัพ และไม่คำนึงว่าระบบการเมืองนี้จะมีรูปลักษณ์เป็นเช่นไร และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองในอนาคตอย่างใดหรือไม่
 
สภาพเช่นนี้ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นความแนบแน่นของความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และผู้นำทหาร อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางในเมืองของไทยได้ออก “ใบอนุญาตฆ่า” ให้แก่ทหารเพื่อสลายการชุมนุมของชนชั้นล่าง ภายใต้ทัศนคติว่า คนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวายในเมืองหลวง และกำลังทำลาย “ชีวิตอันน่ารื่นรมย์” ของคนเมืองหลวง ! ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนในเมืองจะไม่มีความรู้สึกอะไรกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการล้อมปราบ ไม่ว่าจะเป็นในปี 2552 หรือ 2553 ก็ตาม และที่น่ากลัวก็คือ พวกเขาเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ให้ความสนับสนุนต่อการล้อมปราบที่เกิดขึ้นด้วย จนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของการทำความสะอาดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ว่า พวกเขาไม่ได้แค่ทำความสะอาดกรุงเทพฯ แต่พวกเขากำลัง “ล้างคราบคนจน” ออกไปจากถนนและแหล่งช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ ต่างหาก !
 
ผลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็คือ ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการล้อมปราบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเมษายน 2552 เมษายน – พฤษภาคม 2553 ก็ตาม อันทำให้ปัญหาการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมในปี 2516 2519 และ 2535 กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำทางการเมืองของสังคมไทย จนการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวกลายเป็น “งานพิธีกรรม” ที่สาระสำคัญของการต่อสู้ที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้สร้างผลสะเทือนกับสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด บทเรียนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งสามครั้งในอดีตกลายเป็น “บทลืม” ที่ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดคำนึงในปัจจุบัน
 
แน่นอนว่าผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นได้ว่าการบริหารจัดการอนาคตสังคมการเมืองไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป ทฤษฎีของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่เชื่อว่ากองทัพคือกลไกหลักของการควบคุมการเมือง และหากควบคุมไม่ได้ก็ใช้การยึดอำนาจเป็นทางออกนั้น อาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องขบคิดด้วยความมีสติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐประหารกลายเป็น “ยาเก่า” ที่ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่แล้ว ผู้นำทหารและชนชั้นนำยังจะใช้ยาขนานนี้อีกหรือไม่ หรือผู้นำทหารและชนชั้นนำบางส่วนเชื่อว่าที่รัฐประหารกลายเป็นยาเก่าที่หมดฤทธิ์นั้น เป็นเพราะผลของการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก และอิทธิพลของโลกสมัยใหม่ที่เป็น “โลกาภิวัตน์” (Globalization) แนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่งจึงเชื่อว่า เพื่อแก้ปัญหาของผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ไทยอาจจะต้อง “ปิดประเทศ” พร้อมกับขับเคลื่อน “กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์” ดังเช่นรูปธรรมของการต่อต้านสื่อสากล และข้อเรียกร้องว่า คนเหล่านั้นไม่เข้าใจ “ความเป็นไทย” และสังคมไทย (ข้อเรียกร้องจากการต่อต้านสื่อสากลสามารถทำให้เราตีความได้หรือไม่ว่า พวกเขากำลังคิดถึงความสำเร็จของรัฐบาลพม่าในการปิดประเทศเพื่อลดแรงกดดันของปัจจัยภายนอก)
 
ผลกับกองทัพอย่างมีนัยสำคัญจาก 4 ปีที่ผ่านมาก็คือ โอกาสของการสร้างความเป็น “ทหารอาชีพ” (Professional Soldiers) ของกองทัพไทย ก็เป็นความยุ่งยากอีกประการหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่กองทัพขยายบทบาททางการเมืองอย่างมากเช่นนี้ กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพไทย (Professionalization) จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรืออย่างน้อยคำถามที่เป็นรูปธรรมจากกรณีนี้ก็คือ การลดบทบาททางการเมืองของทหารไทยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และถ้าทหารไม่ยอมลดบทบาททางการเมืองแล้ว กองทัพจะคงบทบาทเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด และจะกระทบต่อความเป็นทหารอาชีพอย่างไรในอนาคต หรือผู้มีอำนาจในกองทัพเชื่ออย่างมั่นใจว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องเป็น “ทหารอาชีพ” เพราะตราบเท่าที่กองทัพยังมีอำนาจในการเมือง เพราะกองทัพสามารถได้รับผลตอบแทนทุกอย่างที่กองทัพต้องการ ความเป็นทหารอาชีพจึงเป็นเพียงข้อคิดในตำราเรียนของวิชารัฐศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจในสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สาระของความเป็นทหารถูกสร้างจากการมีอำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ความเป็นทหารอาชีพเช่นกองทัพในระบบสากล
 
นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่คงจะต้องยอมรับก็คือ หลังจากการรัฐประหารแล้ว กองทัพมีความแตกแยกภายในอย่างมาก ความเชื่อของผู้นำทหารในยุคนี้มองว่า เอกภาพของทหารสร้างได้ด้วยการพึ่งพาคนในกลุ่มที่ตนเชื่อใจเท่านั้น ผลที่เห็นชัดเจนก็คือ การกำเนิดของ “บูรพาพยัคฆ์” ในการเมืองไทย ตลอดรวมถึงการฟื้นแนวคิดเรื่อง “รุ่น” ที่อาศัยรุ่นของผู้นำกองทัพเป็นฐาน เช่น กรณีเตรียมทหาร รุ่น 12 (จปร. 23) สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การขึ้นสู่ตำแหน่งหลักที่สำคัญภายในกองทัพถูกพิจารณาจากมิติทางการเมืองและความเป็นรุ่น มากกว่าจะขยายฐานในแนวกว้าง ความแตกแยกซึ่งโยงกับการผูกพันทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้โอกาสของการปฏิรูปกองทัพในระยะสั้นเป็นไปได้ด้วยความลำบาก เช่นเดียวกับปัญหาการสร้างทหารอาชีพในกองทัพไทยเช่นที่กล่าวแล้ว แต่ผู้นำทหารในยุคปัจจุบันจะตระหนักหรือไม่กับบทเรียนในอดีตว่า ฐานในกองทัพสร้างจากความเป็นรุ่นของตนไม่ได้ การพังทลายเชิงอำนาจของ จปร. รุ่น 5 และรุ่น 7 เป็นสติเตือนใจอย่างดีในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งเตรียมทหารรุ่น 10 ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็แตกออกเป็น “เตรียมทหาร 10/1” เป็นต้น สิ่งที่ต้องยอมรับในความเป็นจริงก็คือ เอกภาพของกองทัพไม่เคยถูกสร้างได้จากความเป็นรุ่น
 
แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากรัฐประหาร 2549 ก็คือ ความแตกแยกขนาดใหญ่ของสังคมไทย และเป็นความแตกแยกที่ช่องว่างถูกขยายมากขึ้น จนหลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลว่า ปัญหาเช่นนี้ในที่สุดอาจจะต้องลงเอยด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ในอนาคตหรือไม่ เพราะข้อคิดและบทเรียนทางการเมืองที่สำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ ความแตกแยกและการเผชิญหน้าทางการเมืองอย่างไม่มีทางออกนั้น ย่อมจะนำไปสู่การต่อสู้ที่แตกหักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การประนีประนอมที่อยู่บนรากฐานของการหลอกลวง การทำลาย และการกวาดล้างทางการเมืองย่อมไม่เป็นทางออกในการแก้ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด มีแต่จะนำพาไปสู่เงื่อนไขของ “สงครามกลางเมือง” ในท้ายที่สุด ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศไทย อีกทั้งสภาพเช่นนี้ส่งผลให้ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานเรื่อยไป และไม่สามารถทำให้ระยะเปลี่ยนดังกล่าวสิ้นสุดลง หรือในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะสิ้นสุดลงด้วยการยึดอำนาจครั้งใหม่
 
เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ สังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยาวนาน จนแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในอนาคต และใครจะเข้ามาทำหน้าที่เช่นนี้ ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาในอนาคตไม่ใช่ต้องทำให้การเมือง “นิ่ง” เพราะการเมืองไม่เคยนิ่ง (ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด) หากแต่ต้องทำให้กระบวนการทางการเมืองสามารถแก้ปัญหาได้ภายในระบอบรัฐสภา และสร้างเสถียรภาพของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้ และแก้ปัญหาทางการเมืองด้วย “ความอดทน” และ “อดกลั้น” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “อำนาจนอกระบบ” จนกลายเป็นความเคยชินว่า มีปัญหาเมื่อใด ก็ยึดอำนาจเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้การเมืองไทยต้องล้มคลุกคลานอย่างไม่จบสิ้น และกลายเป็นระบบการเมืองที่ไม่มีวุฒิภาวะในตัวเอง และไม่สามารถสร้างและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ยิ่งหากพิจารณาปัญหาด้วยความกังวล (หรือจะเรียกว่า “มองโลกในแง่ร้าย”) ก็อาจจะกล่าวได้ว่า สภาพการเมืองที่ไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนานอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ได้ไม่ยากนัก อันจะเป็นผลลบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้นโจทย์ในเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง” (Political Reform) จึงยังคงเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต และจะต้องไม่กลายเป็นการปฏิรูปภายใต้กรอบของชนชั้นนำ และการครอบงำของชนชั้นกลางเท่านั้น หรือจะต้องไม่ถูกชี้นำโดย “ปัญญาชนสาธารณะ” ที่ในอดีตชูธง “เขียวอ่อน” เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ต่อมาชูธง “เขียวขี้ม้า” ร้องหารัฐประหาร 2549 เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามในด้านบวกอาจจะต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2549 ได้ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวสู่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “ขอบคุณ” ผู้นำทหาร คมช. อย่างยิ่ง อย่างน้อยพวกเขาก็เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ช่วยส่งเสริมให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยสูงเด่นยิ่งขึ้นทั้งเวทีในประเทศและในเวทีสากล
 
เรื่องราวทั้งหมดในข้างต้นให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ ภารกิจของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจะยังคงท้าทายและหนักหน่วง และยังจะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยความเหนื่อยยาก แม้ผู้ที่เชื่อมั่นในภารกิจนี้จะเป็นเสมือน “ลุงโง่” แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่ง “ลุงโง่จะย้ายภูเขา” ได้สำเร็จเช่นในนวนิยายจีนที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินกันมาแล้ว !
 
 
หมายเหตุผู้เขียน:
บทความนี้ขยายจากบทความของผู้เขียนที่นำเสนอในการเสวนาเรื่อง “19 กันยา...4 ปีกับการปฏิรูปกองทัพไทย” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net