Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หมายเหตุชื่อบทความเดิม: ข้อเท็จจริงและมายาคติในบทความ “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 
 
 
ดิฉันได้อ่านบทความเรื่อง “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอในประชาไทออนไลน์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 [1] อ่านแล้วพบว่าบทความนี้สับสนระหว่างข้อเท็จจริงและมายาคติทางเศรษฐศาสตร์อย่างมาก ดิฉันจึงเขียนบทวิพากษ์นี้เพื่ออธิบายความคลาดเคลื่อนในบทความดังกล่าว และเพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจได้วิเคราะห์ด้วยตนเอง 
 
ข้อเท็จจริง 1. สถิติช่องว่างรายได้ในบทความนี้คลาดเคลื่อนมากและไม่ได้มาตรฐาน 
 
ดัชนีจินีของไทยคือร้อยละ 53.5 ไม่ใช่ร้อยละ 43 ตามที่บทความดังกล่าวนำเสนอ ดูข้อมูลจริงได้จากตาราง A1.4 หน้า 151 ในรายงานจากสหประชาชาติชื่อ Thailand Human Development Report 2009 [2] ข้อมูลปฐมภูมิมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย [3]
 
ดิฉันเดาว่าบทความดังกล่าวเอาดัชนีจินีร้อยละ 43 มาจากฐานข้อมูลเก่า [4] ซึ่งไม่ได้เป็นฐานข้อมูลที่สหประชาชาติใช้ในการทำรายงาน ข้อมูลเก่านี้มาจากธนาคารโลก [5] เมื่อดูข้อมูลจากธนาคารโลกแล้วจะเห็นได้ว่าฐานข้อมูลจีนีที่ธนาคารโลกนั้นไม่สมบูรณ์มากๆดังที่ดิฉันได้แสดงไว้ในตาราง 1 แม้แต่ค่าเฉลี่ยจากตารางนี้ก็ไม่มีคุณค่าทางสถิติเพราะข้อมูลขาดๆ หายๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่สหประชาชาติไม่อ้างอิงฐานข้อมูลนี้ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับประเทศไทย
 
ตาราง 1. ข้อมูลดัชนีจินีที่สหประชาชาติเลิกใช้แล้ว
Country
1992
1993
1994
1995
1996
1997
1998
1999
2000
2001
2002
2003
2004
2005
2006
2007
Indonesia
..
..
..
..
..
..
42
..
..
..
..
..
..
39
..
38
Philippines
..
..
43
..
..
46
..
..
46
..
..
44
..
..
44
..
Singapore
..
..
..
..
..
..
42
..
..
..
..
..
..
..
..
..
Thailand
46
..
..
..
43
..
41
44
43
..
42
..
42
..
..
..
ที่มา: ธนาคารโลก ดัชนีการพัฒนาโลก (World Development Indicators, 2010)
 
ฐานข้อมูลที่ว่าดัชนีจินีของไทยคือร้อยละ 53.5 นั้นน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย [3] และเป็นข้อมูลที่อาจารย์เศรษฐศาสตร์ใช้กัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าฐานข้อมูลที่ธนาคารโลกมีคุณภาพแย่ไปเสียหมดทุกอย่าง ธนาคารโลกเข้าใจข้อจำกัดด้านข้อมูลของตนและไม่สนับสนุนให้ใช้ข้อมูลคุณภาพต่ำ ข้อมูลดัชนีจินีไม่ใช่ข้อมูลที่ธนาคารโลกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของตนอย่างแพร่หลาย [5]
 
โปรดสังเกตว่ารายงานจากสหประชาชาติที่บทความดังกล่าวอ้างอิงก็ให้ข้อมูลว่าดัชนีจินีของไทยคือร้อยล่ะ 53.5 ดูได้ที่รูป 3.7 หน้า 79 (ซึ่งดิฉันได้ตัดมามาประกอบข้างล่างนี้) แต่สื่อมวลชนไทย [6] ยังให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนเหมือนบทความดังกล่าวว่าจีนีของไทยคือร้อยละ 43 ทั้งๆ ที่ตัวเลขนี้ขัดกับมาตรฐานสากลและขัดกับสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย ความคลาดเคลื่อนนี้มาจากสหประชาชาติที่ไม่ได้ลบข้อมูลที่ไม่ใช้แล้วจากฐานข้อมูลออนไลน์ ทั้งๆที่ตัวรายงานของสหประชาชาติได้หันไปใช้ฐานข้อมูลอื่นแล้ว ทำให้บุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังนำสถิติตัวนี้ไปเผยแพร่อย่างไม่ถูกต้อง 
 
 
ในรูป 3.7 ในรายงานของสหประชาชาติที่ดิฉันนำมาแสดงข้างบนนี้ ดัชนีจินีบ่งบอกว่าปัญหาการกระจายรายได้ของไทยนั้นแย่กว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ถ้าสมมุติว่าข้อมูลในบทความดังกล่าวเกี่ยวกับดัชนีจินีของประเทศละตินอเมริกาเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ก็แปลว่าการกระจายรายได้ของไทยแย่พอๆกับประเทศละตินอเมริกา
 
 
ข้อเท็จจริง 2. เวลา 50 ปียาวนานพอที่จะแก้ปัญหาช่องว่างรายได้ 
 
บทความดังกล่าวอธิบายช่องว่างรายได้ด้วยหลักการเรื่องการพัฒนาขั้นแรกของระบบเศรษฐกิจแบบเปิด กล่าวคือ กลุ่มทุนและผู้มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินได้ส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และกระบวนการ trickle-down หรือ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’ ของผลประโยชน์จากบนลงล่างต้องใช้เวลานาน 
 
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าการไหลรินจากบนลงล่างใช้เวลานานหรือไม่นาน ใครๆก็รู้ว่าการพัฒนาประเทศต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์บอกเขาก็รู้ ฉะนั้นประเด็นคือนานเท่าไร? ประเทศอื่นใช้เวลานานเท่าไรที่จะก้าวพ้นภาวะการพัฒนาขั้นแรก?
 
ระยะเวลา 50 ปียาวนานพอที่จะก้าวพ้นการพัฒนาขั้นแรกและลดช่องว่างรายได้ หลายประเทศได้ทำสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นประเทศกำลังพัฒนาในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ดิฉันขออธิบายโดยยกตัวอย่าง 3 ประเทศนี้เพราะประเทศเหล่านี้คล้ายคลึงกับไทยตรงที่ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และใช้การส่งออกเป็นฐานการพัฒนาประเทศมาก่อนเช่นเดียวกัน
 
นโยบายหลักที่ทำให้การ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’กลายเป็น ‘การไหลรินอย่างเร็วๆ’ มี 3 นโยบาย คือการปฏิรูปที่ดิน การจัดเก็บภาษีก้าวหน้า และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด
 
2.1. การปฏิรูปที่ดินเป็นหัวใจสำคัญในลดช่องว่างรายได้ 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ผ่านการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดอำนาจของเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่และเพื่อให้ทรัพยากรที่ดินได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่เสียกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนและที่ดินเหล่านั้นโดนแจกจ่ายให้ประชากรที่ไม่มีที่ดิน ส่วนสหรัฐฯ มีนโยบายปฏิรูปหรือพัฒนาที่ดินก่อนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถึง 80 ปี 
 
สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่และมีที่ดินมหาศาล เพื่อให้ที่ดินได้ใช้ประโยชน์สูงสุดรัฐบาลกลางของสหรัฐฯเมื่อ 150 ปีที่แล้วใช้นโยบายแจกที่ดิน (Land grant) เพื่อการพัฒนา กล่าวคือ รัฐบาลกลางแจกที่ดินให้แก่มลรัฐเพื่อให้สร้างมหาวิทยาลัยโดยมีเงื่อนไขว่าต้องพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน การสร้างมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีทั้งที่ใช้งบประมาณของมลรัฐและเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีที่มีวิสัยทัศน์ มีมหาวิทยาลัยเกิดจากนโยบายแจกที่ดิน (Land-grant universities) มากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเอ็มไอที มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่คนไทยมักรู้จักในนามของเบิร์กเลย์หรือยูซีแอลเอ) มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ฯลฯ 
 
นโยบายแจกที่ดินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ ทำให้บริษัทรถไฟสร้างทางรถไฟไปตามเมืองมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และเชื่อมผู้ผลิตกับตลาดเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นฐานในการพัฒนาชุมชนและเทคโนโลยี และนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพียง 50 ปีหลังจากการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย และเครือข่ายรถไฟสหรัฐฯ ได้ผันตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจนกลายเป็นมหาอำนาจ
 
ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 30 ปีหลังการปฏิรูปที่ดินในการแก้ปัญหาช่องว่างรายได้ เกาหลีใต้นั้นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลัง 30 ปีหลังญี่ปุ่น เนื่องจากเกาหลีปฏิรูปบางนโยบายช้ากว่าญี่ปุ่น
 
2.2. การจัดเก็บภาษีก้าวหน้าเป็นนโยบายปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว 
แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯและอังกฤษก็ใช้ระบบจัดเก็บภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดกและภาษีของขวัญ ภาษีทรัพย์สินที่ครอบคลุมทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สหรัฐฯและอังกฤษมีภาษีเหล่านี้มาเกือบ 100 ปีแล้ว [7][8] ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นนำภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินเข้ามาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 [9][10] 
 
เมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีรายงานในสื่อมวลชนไทยว่าสหรัฐฯได้ยกเลิกภาษีมรดกแล้วและประเทศทุนนิยมไม่เก็บภาษีจากกำไรในตลาดหลักทรัพย์ [11] รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง การยกเลิกภาษีมรดกที่สหรัฐฯโดยรัฐบาลบุชเป็นเพียงการยกเลิกชั่วคราวเพียงปีนี้และปีหน้าภาษีมรดกจะกลับมาบังคับใช้เหมือนเดิม [12] กลุ่มคนอเมริกันที่ต้องการยกเลิกภาษีมรดกยังไม่สามารถจุดกระแสสังคมให้ยกเลิกภาษีมรดกได้ แม้แต่มหาเศรษฐีที่มีมรดกมากที่สุดในสหรัฐฯอย่างนายวอเรน บัฟเฟต์ และนายบิล เกตต์ยังสนับสนุนการใช้ภาษีมรดก นอกจากนี้ประเทศทุนนิยมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นมีการจัดเก็บภาษีจากกำไรในการค้าขายหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆที่ไทยไม่จัดเก็บ ผู้อ่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังหรือสรรพากรในประเทศเหล่านี้ได้
 
2.3. การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust laws) มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
สหรัฐฯเริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเมื่อ 120 ปีที่แล้วเพื่อสลายการผูกขาดของบริษัทการรถไฟแห่งหนึ่ง [13] ภายหลังได้จัดตั้งคณะกรรมการการค้า (Federal Trade Commission) เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดร่วมกับแผนกต่อต้านการผูกขาดในกระทรวงยุติธรรม (Antitrust Division, Department of Justice) ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นได้บังคับใช้กฎหมายนี้เพื่อสลายบรรษัทผูกขาด (Corporate monopoly) ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยาสูบ น้ำมัน เงินทุนหลักทรัพย์ ฯลฯ 
 
ส่วนการลดอำนาจการผูกขาดของกลุ่มทุนผูกขาดของญี่ปุ่น (Zaibatsu) เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนผูกขาดของเกาหลีใต้ (Chaebol) โดนลดอำนาจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาตรการสำคัญของการลดอำนาจผูกขาดในเกาหลีใต้คือการห้ามกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของธนาคาร ส่วนการลดอำนาจผูกขาดในญี่ปุ่นนั้นยังไม่แยกอำนาจธนาคารออกจากอุตสาหกรรมอื่น 
 
 
ข้อเท็จจริง 3. กลุ่มทุนไทยแตกต่างจากกลุ่มทุนในประเทศที่ก้าวข้ามการพัฒนาในขั้นแรก
 
บทความดังกล่าวนำเสนอว่าการที่กลุ่มทุนไทยได้ส่วนแบ่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าแรงงานนั้นเป็นภาวะปกติของการพัฒนาขั้นแรก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นภาวะการพัฒนาขั้นแรกของไทยนั้นยาวนานกว่าหลายประเทศมากๆ น่าจะตั้งคำถามว่ากลุ่มทุนของไทยต่างจากกลุ่มทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างไร?
 
กลุ่มทุนของไทยแตกต่างจากกลุ่มทุนในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในหลายด้าน ด้านที่ชัดเจนที่สุดคือบทบาทของกลุ่มทุนทหาร 
 
3.1. กองทัพไทยคือกลุ่มทุน แต่กองทัพในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯไม่ใช่กลุ่มทุน
ในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศยกเว้นญี่ปุ่นมีกลุ่มทุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองทัพผ่านการจัดซื้อและสัมปทาน ส่วนญี่ปุ่นเคยมีอุตสาหกรรมอาวุธจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลุ่มทุนในประเทศเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มทุนของกองทัพ กล่าวคือ กองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เคยถือหุ้นในบริษัทอาวุธ ไม่ถือหุ้นธนาคาร หุ้นสื่อมวลชน หุ้นโรงแรม ฯลฯ ดังนั้นกลุ่มทุนต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมอาวุธและนักวิชาการต่างประเทศจึงไม่สร้างสายสัมพันธ์กับกองทัพ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์กองทัพได้อย่างเป็นกลาง 
 
ในทางกลับกันกองทัพไทยเป็นกลุ่มทุนที่มีธุรกิจครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม และมีเครือข่ายทั้งด้านธุรกิจและด้านวิชาการในสถาบันต่างๆ เครือข่ายเหล่านี้พร้อมจะสนับสนุนผลประโยชน์ของกองทัพในอุตสาหกรรมต่างๆไม่ว่าในยุคก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดวงจรรัฐประหารไม่จบไม่สิ้น นี่คือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดในโลก
 
3.2. กลุ่มทุนกองทัพไทยไม่สร้างเทคโนโลยี แตกต่างจากกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้ว่ากองทัพในประเทศพัฒนาแล้วไม่ถือหุ้นธนาคารและหุ้นในบริษัทเอกชน ผู้บริหารกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธจำนวนหนึ่งเคยทำงานในกระทรวงกลาโหม ดังนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมอาวุธและพลเรือนในกระทรวงกลาโหมสามารถนำไปสู่การใช้อำนาจของกองทัพเพื่อเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมอาวุธ (Military-industrial complex) [14] ถ้ามองในแง่นี้เราสามารถเรียกกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธได้ว่าเป็น ‘กลุ่มทุนทหาร’ ประเภทหนึ่ง 
 
เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วกับกลุ่มทุนทหารไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วคือผู้ส่งออกอาวุธ แต่กลุ่มทุนกองทัพไทยคือผู้นำเข้าอาวุธ ความสัมพันธ์นี้ได้ฝังลึกมาตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 
 
นอกจากการพัฒนาอาวุธ กลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วมีบทบาทในการพัฒนาอุตสากรรมด้วยการสร้างเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาทางพาณิชย์ด้วย กล่าวคือ อุตสาหกรรมสื่อสาร (บริษัทสื่อสารในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และยุโรปจำนวนมากมีกระทรวงกลาโหมเป็นลูกค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์) อุตสาหกรรมเครื่องบิน (เช่น บริษัทโบว์อิ้งของสหรัฐฯ บริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส และบริษัทอะไหล่เครื่องบินอีกมาก) อุตสาหกรรมรถยนต์ (เช่น บริษัทผลิตรถเกราะในสหรัฐฯและยุโรป บริษัทบีเอ็มดับบลิว) อุตสาหกรรมน้ำมัน (ทั้งในสหรัฐและยุโรป) 
 
นอกจากนี้ กลุ่มทุนทหารในต่างประเทศบางกลุ่มยังมีส่วนร่วมในการสร้างเทคโนโลยีด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยและให้ทุนเพื่อการวิจัย เช่น นายจอห์น รอคกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีน้ำมันได้สร้างมหาวิทยาลัยชิคาโก นายแอนดรู คาร์เนกี้มหาเศรษฐีเหล็กกล้าก่อตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลอน ฯลฯ การสร้างมหาวิทยาลัยและให้ทุนวิจัยเพื่อเทคโนโลยีโดยกลุ่มทุนทหาร (และกลุ่มทุนอื่นๆ เช่น กลุ่มทุนการรถไฟได้สร้างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์) เป็นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและแรงงาน เนื่องจากการเติบโตทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาองค์กร 
 
การสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยในญี่ปุ่นก็มาจากการผลักดันจากกลุ่มทุนด้วยจุดประสงค์เดียวกัน พ่อค้าญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลตั้งมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน
 
 
ข้อเท็จจริง 4. ช่องว่างรายได้เป็นปัญหาสำคัญที่แก้ได้ด้วยกระบวนการการเมืองและกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์
 
บทความดังกล่าวพยายามชี้ว่าปริมาณคนจนในไทยได้ลดลงในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติที่สร้างจากนิยามเส้นความจน (Poverty line) ซึ่งตกวันละ 1-2 เหรียญสหรัฐต่อคน [15] ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าชีวิตที่เพิ่งก้าวพ้นเส้นความจนนั้นไม่น่าพิสมัยนัก จะให้คนไทยยินดีว่าจำนวนคนจนในไทยน้อยกว่าคนจนในอัฟริกาแล้วไม่ต้องสนใจการกระจายรายได้นั้นก็ไปไม่ได้ ที่สำคัญคนไทยไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลอัฟริกา และการกระจายรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดระบบภาษีทั่วโลก 
 
แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯและอังกฤษยังใช้การกระจายรายได้มากำหนดอัตราภาษีต่างๆว่าจะเก็บจากคนกลุ่มไหนเท่าไร นอกจากนี้การกระจายรายได้เป็นประเด็นสำคัญหลังวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่มโดยเฉพาะธนาคารมักได้งบประมาณภาษีมาอุ้มตอนวิกฤต ดังนั้นนักวิชาการในประเทศที่พัฒนาแล้วมักชี้ประเด็นเรื่องการการจายรายได้หลังวิกฤตทุกครั้งเพื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ด้านภาษีอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ นอกเหนือไปจากการตรวจสอบผู้บริหารของกลุ่มทุนที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาษี
 
นอกจากนี้รายงานการวิจัยทั้งในสาขาเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาพบว่าการสนใจรายได้ของคนรอบข้างเป็นธรรมชาติมนุษย์ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบรายได้กับคนในองค์กรเดียวกันหรือชุมชนเดียวกัน แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯยังมีการเปรียบเทียบว่าผู้ว่าฯธนาคารกลางสหรัฐฯได้รายได้มากน้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีโอบามาหรือผู้ว่าฯธนาคารกลางยุโรป [16] ความจนหรือความรวยก็นิยามจากการเปรียบเทียบ การจัดอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกหรือการจัดอันดับประเทศก็มาจากการเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน 
 
ถ้าบทความดังกล่าวจะเอาการเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดของไทยมาอธิบายปัญหาช่องว่างรายได้ ก็น่าจะถือว่าปัญหาช่องว่างรายได้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังเหมือนที่ระบบเศรษฐกิจเปิดอื่นๆได้แก้กันมาแล้ว 
 
 
บทสรุป
 
ปัญหาช่องว่างรายได้นั้นนิยามกันด้วยดัชนีจินีและดัชนีอื่นๆที่จะนำมาเปรียบเทียบกับสถิติต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อการจัดทำสถิติได้มาตรฐานสากล ปัญหาช่องว่างรายได้เป็นปัญหาที่หลายประเทศตระหนักว่าสำคัญและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทรัพยากรในระยะยาว หลายประเทศได้พยายามแก้ไขปัญหานี้สำเร็จภายในเวลา 50 ปี 
 
ถ้ารัฐไทยต้องการแก้ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายที่ได้ผลในประเทศอื่นมาแล้ว กล่าวคือ การปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีก้าวหน้า และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด มาตรการเหล่านี้จะทำให้ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’ กลายเป็น ‘การไหลรินอย่างเร็วๆ’ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายเพื่อการพัฒนา โดยนิยามการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางการเมืองที่มีกฎหมายใหม่มารองรับก่อนที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นการแก้ปัญหาช่องว่างรายได้จึงต้องอาศัยทั้งกระบวนการการเมืองและกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์
 
..........................................................................................
 
 
อ้างอิง 
[1] “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประชาไทออนไลน์ 15 กันยายน 2553: http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31111
[2] Human Development Report Thailand 2009: http://hdr.undp.org/en/reports/nationalreports/asiathepacific/thailand/NHDR_2009_Thailand.pdf
[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/poverty50/kingdom_total_inc.htm
มีข้อสังเกตว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าเป็นรายได้บุคคลแต่สหประชาชาตินำไปรายงานว่าเป็นรายได้ของครัวเรือน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องสอบถามสำนักงานสถิติแห่งชาติและสหประชาชาติให้ชัดเจน 
[4] Human Development Report 2009, Economy and inequality: http://hdrstats.undp.org/en/indicators/161.html
[5] World Bank, World Development Indicators (2009): Poverty indicators: http://data.worldbank.org/topic/poverty
[6] Gini Coefficient, by Stephen Young, The Nation, April 21, 2010: http://www.nationmultimedia.com/home/2010/04/21/opinion/Gini-Coefficient-30127515.html
[7] U.S. Treasury, FAQs: The history of U.S. tax system: http://www.ustreas.gov/education/faq/taxes/history.shtml
[8] Her Majesty Revenue and Custom, Inheritance Tax Thresholds: http://www.hmrc.gov.uk/rates/iht-thresholds.htm
[9] Japan’s Ministry of Finance, Introduction to the Japanese Tax System: http://www.mof.go.jp/english/tax/taxes2006e_b.pdf
[10] Korea’s National Tax Service, Korean Taxation 2008 (Direct Taxes): http://www.nts.go.kr/eng/data/korean_taxation2008(Part_2).pdf
[11] “การปรับโครงสร้างภาษีอากร” โดย วีรพงษ์ รามางกูร ประชาชาติธุรกิจ 31 กรกฎาคม 2553: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1280469727&grpid=05&catid=02
[12] Prudential Financial, Estate Taxes and Gift Taxes: http://www.prudential.com/view/page/public/12019
[13] “Labor and the Sherman Act,” The Yale Law Journal 49(3), pp. 518-537, 1940.
[14] “Patriots and Profits,” Paul Krugman, The New York Times, December 16, 2003: http://www.nytimes.com/2003/12/16/opinion/16KRUG.html?th
[15] “Thailand’s Official Poverty Lines,” National Economic and Social Development Board:http://www.nscb.gov.ph/poverty/conference/papers/7_Thai%20official%20poverty.pdf
[16] “ความโปร่งใสของธนาคารกลาง” กานดา นาคน้อย มติชนออนไลน์ 2 สิงหาคม 2553: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280721467&grpid=04&catid=02
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net