Skip to main content
sharethis

22 .. 53 – คณะทำงานอาเซียนภาคประชาชนไทยเสนอ ข้อเสนอของภาคประชาชนไทย ต่อรัฐบาลไทยและอาเซียนเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชน เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

ข้อเสนอของภาคประชาชนไทย  ต่อรัฐบาลไทยและอาเซียน

เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชน เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง

 

 

แม้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จะก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ ความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน  และได้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง (Bali Concord II) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2546 ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้มีความร่วมมือกันในสามด้านหลัก อันได้แก่ การเมืองและความมั่นคง  เศรษฐกิจ  และสังคมและวัฒนธรรม   เป็นความตกลงจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาเซียนได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาด  มีเป้าหมายที่จะผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว และการเปิดเสรีทางการค้า ภายในปี 2558 โดยได้มีการลงนามพิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint - AEC) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่   13 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2550  และได้เริ่มจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มาตั้งแต่ปี 2535    ซึ่งจะมีผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดประตู อำนวยความสะดวก ให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน  และผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษ หรือแรงงานที่มีฝีมือข้ามพรมแดนของกันและกันได้อย่างเสรีและเต็มที่

นอกจากนี้โครงการความร่วมมือขนาดใหญ่   โดยเฉพาะโครงการด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลกลุ่มอาเซียนสนับสนุนทั้งหลาย ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหาโลกร้อนในอันดับต้น ๆ ก่อมลพิษ ส่งผลในทางทำลายระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตร การพึ่งตนเองของชุมชน  สุขภาพของประชาชน  และเป็นเหตุแห่งความยากจนของเกษตรกรรายย่อย  ชาวประมงขนาดเล็ก ชนเผ่าพื้นเมือง แรงงาน สตรี และเด็ก  โดยไม่ได้ใส่ใจถึงทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้  และมิได้มีการเตรียมการใด ๆ สำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของประชาชนพื้นฐานของภูมิภาคนี้ที่ได้รับผลกระทบ

แนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาภูมิภาค ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ปี 2536  และระบุเป็นสาระสำคัญในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่ประกาศในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ในปี 2550 เมื่อประชาคมอาเซียนอายุครบรอบ 40 ปี  จึงยังคงมีฐานะเป็นเพียงวาทกรรมที่ท้าทายอาเซียนเองว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้หรือไม่ อย่างไร

ในขณะที่หลักการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือร่วมกัน คือ หลักการฉันทามติ (consensus) และ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันของรัฐสมาชิก (non intervention interference) จะเป็นข้อจำกัดอย่างสำคัญในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right – AICHR) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ที่อาเซียนได้จัดตั้งขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมาที่ประเทศไทย เมื่อตุลาคม 2552  รวมทั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children - ACWC) และ คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the  Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers  (ACMW) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดตั้ง

เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-oriented ASEAN) และมีความเอื้ออาทรและแบ่งปันกัน (Caring and Sharing) คณะทำงานอาเซียนภาคประชาชนไทย (Thai APF Working Group) จึงขอยืนยันถึงข้อเสนอที่มีต่อรัฐบาลไทยและอาเซียน ในวาระของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม 2553  ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ต่อเนื่องจากที่ได้เคยยื่นเสนอแล้วในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2551-2552 ดังนี้

1)    อาเซียนต้องมีความจริงใจและกระตือรือร้นที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการพัฒนาช่องทางกลไก และแผนงานที่จะนำไปสู่ อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ การเสริมสร้างพลังประชาชน  รวมทั้งการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของการเสวนา (Dialogue) ระหว่างเลขาธิการอาเซียน ภาครัฐ และภาคประชาชน และการกำหนดให้การประชุมร่วม (Interface Meeting) ระหว่างผู้นำอาเซียนและตัวแทนภาคประชาชนบรรจุเป็นวาระที่เป็นทางการของการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)  ตามที่ได้ริเริ่มขึ้นแล้วในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างปี 2551-2552

2)    ทบทวนแนวนโยบาย พิมพ์เขียว แผนงาน  และกลไกการปฏิบัติงานทั้งมวลของอาเซียน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะเป็นไปเพื่อเสริมสร้างคุณค่าของ สันติภาพในภูมิภาค  (ความมุ่งประสงค์ ข้อที่ 1ของกฎบัตรอาเซียน) ให้อาเซียนเป็นประชาคมที่เอื้ออาทร ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน (Sharing) และเป็นประชาคมแห่งการแบ่งปันกัน (Caring) เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดี และการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม (ความมุ่งประสงค์ ข้อที่ 11 ของกฎบัตรอาเซียน) และมีหลักประกันในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับความเคารพ ในอัตลักษณ์ และปลอดจากอุปสรรคของเกษตรกรรายย่อย ชาวประมงขนาดเล็ก ชนเผ่าพื้นเมือง คนจนเมือง แรงงาน สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่น ๆ ตลอดจนการเข้าถึง การมีงานทำ อาหาร น้ำสะอาด ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมที่ดี บริการสุขภาพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร การประกันสังคม บำนาญผู้สูงอายุ และความปลอดภัยในชีวิต โดยคำนึงถึงมิติหญิงชายในการให้บริการ

3)    อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ ลดช่องว่างการพัฒนา สร้างหลักประกันความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างทางเลือกการพัฒนา แทนการมุ่งเน้นแต่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และการผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียว

4)    อาเซียนควรที่จะยกระดับประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและเป็นปัญหาวิกฤตของภูมิภาค ขึ้นเป็น เสาหลักที่ 4” ของแผนการพัฒนาอาเซียน  โดยเคารพสิทธิของประชาชน และยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสร้างกระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและพื้นฟูสิ่งแวดล้อม  

5)    โครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ โครงการด้านพลังงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ที่ส่งผลในทางทำลายระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตรและการพึ่งตนเองของชุมชน  และเป็นเหตุแห่งความยากจนของเกษตรกร  กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องได้รับการทบทวน  อาเซียนต้องสนับสนุนรัฐสมาชิกให้มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม   สนับสนุนเทคโนโลยีที่เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

6)    อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาอธิปไตยทางอาหารของประชาชน คุ้มครองเกษตรกรรายย่อย สนับสนุนชุมชนในการรักษาฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ปฏิรูปที่ดิน และปฏิรูประบบเกษตรกรรม    เพื่อให้เกษตรกรเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และสนับสนุนการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประชาชนในกรณีอาหารและการเกษตร  

7)    อาเซียนจะต้องให้การคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในโรงงาน แรงงานนอกระบบ และแรงงานย้ายถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน  ให้มีงานทำ  ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  มีความปลอดภัยในการทำงาน  ได้รับการคุ้มครองทางสังคม  มีเสรีภาพในการรวมตัว  มีอำนาจในการต่อรอง  มีศักดิ์ศรี   และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตลอดจนขจัดการใช้แรงงานเด็ก ขจัดการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรมในทุกรูปแบบ และขจัดการค้ามนุษย์

8)    ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะต้องถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนของภูมิภาค กลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียนที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว อันได้แก่ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค (AICHR) และ คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก(ACWC) จะต้องให้ความสำคัญกับการทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเยียวยาผู้เสียหาย ดำเนินงานตามหลักการของอนุสัญญาและปฎิญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ผลักดันให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันรับรองและดำเนินการตามอนุสัญญาและปฎิญญาสากลทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ (ACMW)  และจัดตั้งกลไกเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนพิการ

9)    อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชน  เปิดโอกาสให้เยาวชนทุกฐานะเศรษฐกิจ ทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือกอย่างท่าเทียมกัน  ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม และการมีส่วนร่วมในภูมิภาคของเยาวชน

คณะทำงานอาเซียนภาคประชาชนไทย

14  กันยายน  2553

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net