Skip to main content
sharethis

ร้อง รมว.แรงงาน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 421 บาท

ก.แรงงาน 20 ก.ย.-นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยหลังรับฟังความเห็นจากกลุ่มเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานยื่นข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานในหลายข้อ ซึ่งกรณีการขอให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สะท้อนค่าครองชีพตามสภาวะ ความเป็นจริง ให้เป็นวันละ 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ได้รับไปหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อปรับให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยระบุให้พิจารณาปรับเป็นวันละ 250 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการหาข้อสรุป

ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรองนั้น รัฐบาลและตนเห็นด้วยที่จะให้มีการรับรอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความคิดเห็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องก่อนนำเข้าพิจารณาใน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมนั้น เห็นด้วย และมีแผนงานจะปรับโครงสร้าง รวมถึงปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมากขึ้น โดยจะจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมในสถานประกอบการที่พร้อม เริ่มจากสถานประกอบการ  ที่มีผู้ประกันตนมากกว่า 1,000 คน จะจัดตั้งแล้วเสร็จก่อนภายในปีนี้ และขยายไปถึงสถานประกอบการที่มีขนาดต่ำกว่า 200 คน ภายในเดือนกันยายน 2554

(สำนักข่าวไทย, 20-9-2553)

รัฐบาลไทยประกาศจุดยืนต่อต้านการค้ามนุษย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีประกาศยืนยันภารกิจการป้องกันและการค้ามนุษย์ โดยมี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคีเครือข่ายทูตานุทูต ร่วมพิธี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 2 ที่ต้องจับตามอง จากรายการประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก 177 ประเทศ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบถูกกีดกันทางการค้า และการจ้างแรงงานระหว่างประเทศ จากประเทศต่าง ๆ

ซึ่งการประกาศภารกิจการป้องกันและการค้ามนุษย์ของ ไทย แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิ และความปลอดภัยผู้เสียหาย ซึ่งมีการสนับสนุนงบประมาณ 61 องค์กร 103 โครงการ โดยใช้งบประมาณ กว่า 55 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการตั้งหน่วยงานการค้ามนุษย์โดยตรง ซึ่งจะเอาผิดไปสู่การลงโทษโดยเร็ว

(ครอบครัวข่าว, 20-9-2553)

สรส.ประกาศจุดยืนต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องในวันรัฐวิสาหกิจไทย

กรุงเทพฯ 20 ก.ย.- รมว.แรงงาน นำตัวแทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตัวแทนแรงงานถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันรัฐวิสากิจไทย ด้านเลขาฯ สรส.ประกาศจุดยืนต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เน้นสร้างรัฐวิสาหกิจให้เข้มแข็งและก้าวหน้า

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานนำตัวแทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มตัวแทนแรงงาน ร่วมในพิธีบวงสรวง ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บริเวณลานพระราชวังดุสิต เนื่องในวันรัฐวิสาหกิจไทย ประจำปี 2553 ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงเช้าได้มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์จำนวน 9 รูป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดกิจการรัฐวิสาหกิจไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแก่ราษฎร คู่กับสังคมไทยมากว่า 120 ปี

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะประธานจัดงานฝ่ายแรงงานกล่าวว่าวันรัฐวิสาหกิจไทยประจำปีนี้ สมาพันธ์ฯ ได้ประกาศจุดยืนที่จะร่วมกันต่อสู้ เพื่อปกป้องรัฐวิสาหกิจจากการแปรรูปทุกรูปแบบ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของ ประชาชน และสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง หลังจากที่ผ่านมา สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำจากนโยบายในการบริหารประเทศที่ผิดพลาด ซึ่งเน้นการแข่งขันและผลกำไรเป็นหลัก ขณะที่รัฐละเลยไม่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน จนสังคมเกิดวิกฤติความขัดแย้ง ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้นโยบายรัฐสวัสดิการที่กำลังดำเนินการเกิดผลสำเร็จ ก็ต้องสร้างให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็งและก้าวหน้าต่อไป

 (สำนักข่าวไทย, 20-9-2553)

คนงาน บ.ธนทร อินเตอร์โปรดักส์ โวยนายจ้างค้างค่าแรง

20 ก.ย. 53 – คนงาน บ.ธนทร อินเตอร์โปรดักส์ ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากนายจ้างค้างค่าจ่ายมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน โดยนายจ้างอ้างประสบกับปัญหาขาดทุนคนงานทำยอดผลิตไม่ได้เป้า แต่จากข้อสังเกตของคนงานพบว่าการผลิตและออเดอร์ของบริษัทยังเป็นปกติดี

โดยในวันนี้ (20 ก.ย. 53) นายจ้างตัวแทนคนงาน ตัวแทนแรงงานจังหวัด ฝ่ายปกครองของอำเภอหนองแค ได้ร่วมไกล่เกลี่ยเจรจาตกลง ได้ข้อสรุปว่าในเบื้องต้นคนงานจะยังไม่เข้าทำงานจนกว่านายจ้างจะจ่ายเงิน เดือนที่ค้างไว้ให้ครบ และหากได้เงินครบแล้วคนงานก็สามารถตัดสินใจเป็นรายบุคคลว่าจะทำงานในบริษัท ต่อหรือไม่ ซึ่งนายจ้างรับปากว่าจะทยอยจ่ายเงินที่ค้างไว้ให้ครบ และจะทยอยจ่ายเงินงวดแรกให้คนงานภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยตัวแทนฝ่ายปกครองจากอำเภอได้เซ็นรับรองข้อตกลงนี้ไว้ ทั้งนี้วันที่ 24 ก.ย. 53 ที่จะถึงนี้คนงาน นายจ้างและผู้เกี่ยวข้องจะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องการจ่ายเงินกันอีก ครั้งที่แรงงาน จ.สระบุรี

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บจ.ธนทร อินเตอร์ โปรดักท์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 38/3 ถนนพหลโยธินสายเก่า ต.หนองแค อ.หนองแค จ.สระบุรี ขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เลขที่จดทะเบียน 0195552000934 มีกรรมการบริษัทมี 1 คน คือนายธนทร อรุณไพร ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระเป๋าผ้า กระเป๋าหนังเทียม หนังแท้ พีวีซี

ทั้งนี้คนงานระบุว่าบริษัทแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แต่เปลี่ยนชื่อมาถึง 3 ครั้งแล้ว โดยมีคนงานที่ทำงานมานานที่สุดในบริษัทนี้คือ 19 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนงานจะเป็นพนักงานประจำรายวัน ได้ค่าแรงวันละ 184 บาท โดยเงินเดือนออกเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งตัวแทนคนงานระบุว่าการที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าแรงตรงตามเวลาเช่นนี้ทำ ให้คนงานได้รับความเดือดร้อนมาก

(ประชาไท, 20-9-2553)

กฟน.ชงเพิ่มเบี้ยทดแทนบาดเจ็บเท่ากฟผ.-กฟภ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วันที่ 21 ก.ย. กระทรวงมหาดไทย ขอความเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน จากอัตราร้อยละหกสิบ ของเงินเดือน ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี มีมติ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) ชี้แจงว่า การจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้กำหนดไว้สอดคล้องตามที่ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักเกณฑ์ให้ได้รับค่าทดแทน ดังนี้ 1. ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน แต่ไม่เกิน 1 ปี 2. ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสีย แต่ไม่เกินสิบปี 3. ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานทุพพลภาพไม่เกินสิบห้าปี  4. ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานถึงแก่ความตายมีกำหนดแปดปี  ในกรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละสองพันบาท และไม่เกินเดือนละเก้าพันบาท 

อย่าง ไรก็ตามทาง กฟน.ได้ขอปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน หลักเกณฑ์ที่กำหนด จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง เช่นเดียวกันกับอัตราการจ่ายทดแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน ดังนั้น การจ่ายควรเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์อื่น ๆ ให้ได้รับค่าทดแทนเหมือนเดิม ซึ่งคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงให้ความเห็นชอบตามที่ กฟน.เสนอและได้เสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 โดยมีมติเห็นชอบแล้ว

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีข้อสังเกตว่า ค่าทดแทนดังกล่าวควรเป็นอัตราเดียวกันกับภาคเอกชน การไม่มีการกำหนดอัตราขั้นสูงของเงินทดแทนดังกล่าวไว้จะมีผลกระทบต่อรัฐ วิสาหกิจอื่น ๆ ที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในรัฐวิสาหกิจด้วยกัน และปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ สัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนดังกล่าว โดยปรับอัตราค่าทดแทนจากไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท จึงมีความเห็นว่าควรให้ กฟน. คงใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวตามประกาศฯ เดิมไปก่อน แต่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า กฟน.เป็นกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับ กฟผ.และ กฟภ. ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน ตามหลักการกิจการลักษณะเดียวกัน จึงควรกำหนดอัตราการจ่ายค่าทดแทนหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน ซึ่งการปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าว ทำให้ กฟน.มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.17 ล้านบาท ไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงิน

(ไทยรัฐ, 20-9-2553)

แคนนอนทุ่มเงินก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์แห่งใหม่ในไทย

โตเกียว 21 ก.ย. บริษัทแคนนอนของญี่ปุ่นเปิดเผยวันนี้ว่า แคนนอนจะทุ่มเงิน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,100 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในไทย ซึ่งจะจ้างแรงงานถึง 5,000 คน

บริษัทแคนนอน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นจะทุ่มเงิน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยโรงงานดังกล่าวจะเริ่มการผลิตในเดือน ต.ค. 2554 แคนนอนระบุในแถลงการณ์ ว่า ทางบริษัทขยายขีดความสามารถในการผลิตเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เพราะคาดว่า ความต้องการเครื่องพิมพ์ของตลาดโลกในอนาคตจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวนับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ของแคนนอนในไทย และมีขีดความสามารถในการผลิตเครื่องพิมพ์ถึงปีละราว 5.5 ล้านเครื่อง

(สำนักข่าวไทย, 21-9-2553)

ก.แรงงานตั้งเป้าขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 900,000 คน ในปีหน้า

โรงแรมมิราเคิลฯ 21 ก.ย.- นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบปี 2554 ว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ยังคงเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน และถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม งานที่ทำขาดความมั่นคงและเสี่ยงอันตราย อีกทั้งฐานข้อมูลของแรงงานนอกระบบยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การบริการจัดการแรงงานนอกระบบฯ ซึ่งกระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะช่วยขยายขอบเขตความคุ้มครองและสร้างหลักประกันให้แรงงานนอกระบบได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายในปี 2554 ฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบจะต้องมีความสมบูรณ์มากขึ้น เริ่มจาก 30 จังหวัดเป้าหมายก่อนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และคาดว่าจะทำให้แรงงานนอกระบบจำนวน 900,000 คน เข้าเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 40  หรือประกันตนโดยสมัครใจได้ในปี 2554 โดยแรงงานเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 280 บาท และได้รับการคุ้มครอง 5 กรณี ประกอบด้วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ชราภาพ ค่าทำศพ และเงินทดแทนการเจ็บป่วย

(สำนักข่าวไทย, 21-9-2553)

องค์กรแรงงานและเอ็นจีโอ จี้รัฐคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

21 ก.ย. 53 - เวลา 10.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน (เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน เรื่อง ความเห็นตามธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 23 ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตาม พันธกรณีที่มีอยู่ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 (อ.ที่ 19) ถึง คุณคลีโอพัตรา ดัมเบีย เฮนรี ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานแรงงานองค์การระหว่างประเทศ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกระเบียบที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

ครม.ปรับค่าตอบแทนพนง.กฟน.ประสบอุบัติเหตุพุ่งร้อยละ 60

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวงปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

นายศุภชัย กล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) รายงานว่า การจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้กำหนดไว้สอดคล้องตามที่ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักเกณฑ์ให้ได้รับค่าทดแทน  ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน แต่ไม่เกิน 1 ปี , ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสีย แต่ไม่เกินสิบปี , ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานทุพพลภาพไม่เกินสิบห้าปี , ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานถึงแก่ความตายมีกำหนดแปดปี  และในกรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละสองพันบาท และไม่เกินเดือนละเก้าพันบาท


นายศุภชัย กล่าวต่อว่า กฟน.ได้ขอปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน หลักเกณฑ์ที่กำหนด จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน  แต่ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง เช่นเดียวกันกับอัตราการจ่ายทดแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน ดังนั้น การจ่ายควรเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์อื่น ๆ ให้ได้รับค่าทดแทนเหมือนเดิม

คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงให้ความเห็นชอบตามที่ กฟน.เสนอและได้เสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 โดยมีมติเห็นชอบให้ กฟน. ปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือนแต่ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543” นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัยยังได้กล่าวด้วยว่า  ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีข้อสังเกตว่า ค่าทดแทนดังกล่าวควรเป็นอัตราเดียวกันกับภาคเอกชน การไม่มีการกำหนดอัตราขั้นสูงของเงินทดแทนดังกล่าวไว้จะมีผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในรัฐวิสาหกิจด้วยกัน และปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนดังกล่าว โดยปรับอัตราค่าทดแทนจากไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท จึงมีความเห็นว่าควรให้ กฟน. คงใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวตามประกาศฯ เดิมไปก่อน  กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า กฟน.เป็นกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับ กฟน.และ กฟภ. ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน  ตามหลักการกิจการลักษณะเดียวกัน จึงควรกำหนดอัตราการจ่ายค่าทดแทนหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน ซึ่งการปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าว ทำให้ กฟน.มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.17 ล้านบาท ไม่มีผลกระทบต่อสถานการเงิน

(สยามรัฐ, 21-9-2553)

'นริศรา'ดึงฝรั่งเศสต้นแบบคุณวุฒิวิชาชีพหวังแรงงานไทยใช้สมัครทำงานปท.ยุโรป

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับศธ.ของฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในด้านของแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องคุณวุฒิวิชาชีพที่มีมานานแล้ว ล่าสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จีนได้มาศึกษาดูงานเรื่องของคุณวุฒิวิชาชีพของฝรั่งเศส และนำกลับไปพัฒนาตนเห็นว่าไทยก็ประสบปัญหาเดียวกับจีนคือคนเรียนสายอาชีพมักเรียนต่อให้จบปริญญาตรี เพื่อให้ได้วุฒิปริญญามากกว่าที่จะเน้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต่างกับฝรั่งเศสที่คนที่จบสายอาชีพ และ ม.6 จะได้ใบคุณวุฒิวิชาชีพ สามารถเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่สถานประกอบการได้เหมือนกัน โดยจะมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาดูแลมาตรฐานว่าแต่ละวิชาชีพควรจะมีมาตรฐานวิชาชีพอย่างไร

น.ส.นริศรากล่าวว่า ตนได้ศึกษาโครงสร้างการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไร ทราบว่าจากเดิมฝรั่งเศสมีมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ 5 ระดับแต่เมื่อต้องเข้าสู่มาตรฐานของสหภาพยุโรป(อียู) จึงปรับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเป็น9 ระดับ ตนจึงได้ขอโครงสร้างการทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพดังกล่าว เพื่อนำมาจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในไทย เพื่อให้แรงงานของไทยเข้าสู่มาตรฐานของแรงงานยุโรปได้ โดยใช้ใบคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้รับใบเดียวไปทำงานในยุโรป ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ ศธ.กำลังหารือว่าจะปรับหลักสูตรการศึกษาสายอาชีพให้ตรงกับมาตรฐานวิชาชีพ แล้วถือใบประกอบวิชาชีพใบเดียวก็ไปทำงานได้โดยไม่ต้องมีใบคุณวุฒิการศึกษาแยกอีกใบ

"นอกจากนี้ ได้หารือกับฝรั่งเศสถึงการฝึกครูสายวิชาชีพ เวลานี้ทุกประเทศที่มาดูงานฝรั่งเศสมักจะถามเป็นคำเดียวกันคือ ฝึกครูอย่างไร และให้โอกาสครูสายวิชาชีพอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ฝรั่งเศสจะใช้ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ มาเป็นครูผู้สอน โดยต้องมาเรียนวิชาชีพครู และฝึกสอนเป็นเวลา 2-3 ปี จึงจะออกไปเป็นครูวิชาชีพได้ โดยรายได้ไม่ได้ลดลงแต่จะได้รับสวัสดิการและการดูแลที่ดีกว่าเพราะเป็นข้าราชการ ตนพยายามจะศึกษาเรียนรู้ โดยนัดที่จะมาสัมมนาร่วมกันในเดือนพฤศจิกายนเกี่ยวกับงานด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านยานยนต์และ

เกษตรกรรม เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่เก่งเรื่องการเกษตร" น.ส.นริศรากล่าว

(มติชน, 21-9-2553)

เหยื่อแรงงานไทยไปลิเบียวอนรัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำปลดหนี้นอกระบบจายหัวคิวนายหน้า

เรื่องราวความเดือดร้อนของแรงงานไทยที่ไปตกทุกข์ได้ยากในประเทศลิเบีย กลับมายังแบกภาระหนี้สินมหาศาลได้รับการถ่ายทอดไปตามลำดับ ล่าสุด วันที่ 20 ก.ย.53 นายบรรจง กันทา ชาวอ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในคนงานที่เดินทางไปทำงานที่ลิเบียได้ส่งเอกสารหลักฐานและหนังสือร้องทุกข์มายัง นสพ.สยามรัฐอีก โดยระบุว่ากำลังประสบกับปัญหาเช่นกันกับเพื่อนพี่น้องผู้ขายแรงงานอื่น คือเงินเดือนไม่ได้รับมาเป็นเวลา 2-3 เดือน ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น ได้เดินทางกลับมาเมื่อเดือนก.ค.53 และได้เดินทางเข้าร้องทุกข์ผ่านนสพ.สยามรัฐอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเข้าร้องทุกข์ต่อจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์หากแต่เป็นคนหางานที่ไม่ได้เดินทางไปทำงานที่ลิเบียไปกับบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัดเหมือนคนงานที่ไปร้องกับนสพ.สยามรัฐ 18 ราย แต่ไปกับบริษัทจัดหางานไทยพัฒนา เวิลด์ไวด์ จำกัด จึงได้รับการปล่อยปละละเลยไม่ได้รับเงินค่าชดเชยใดๆ

"ยังไม่เคยได้รับแจ้งติดต่อจากกรมการจัดหางาน และบริษัท จัดหางาน ไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ จำกัด เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์กรมการจัดหางาน ไม่เคยมีหนังสือแจ้งผลความคืบหน้าให้ทราบเรื่องเลย"นายบรรจงระบุอีกว่าขอวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ ซึ่งได้รับผลกระทบที่ไม่แตกต่างกัน คือมีหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาเป็นค่าหัวคิว เป็นเงิน140,000 บาท ให้กับบริษัทจัดหางาน เป็นหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหดภาระทางครอบครัวเดือดร้อนหนัก วอนหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนช่วยเหลือเรียกบริษัทจัดหางานให้ความช่วยเหลือเยียวยา ขอคืนค่าหัวบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วย

หนังสือร้องทุกข์ของนายบรรจง ได้ฝากถึง นายสุวิศร์ เมฆเสรีกุล ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา พล.ต.ต.สุเทพ สุขสงวน ประธานอนุกรรมาธิการเรื่องหลอกลวงคนหางานไปต่างประเทศ พล.ต.สหัส ศิริสายัณห์ เลขานุการกรรมาธิการประจำกรรมาธิการแรงงานวุฒิสภาและนายสุธรรมนทีทองโฆษกกระทรวงแรงงานดำเนินการติดตามเรียกร้องเรื่องเงินเดือนค้างจ่ายให้แก่แรงงานเหล่านี้ด้วย

(สยามรัฐ, 21-9-2553)

รมว.แรงงาน พร้อมหนุนร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ

รัฐสภา 22 ก.ย.- เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ กำหนดให้ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างครบวงจร ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้พูดคุยกับหลายฝ่าย และพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้

(สำนักข่าวไทย, 22-9-2553)

สภาฯ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ให้เป็นหน่วยงานอิสระใน ก.แรงงาน

รัฐสภา 22 ก.ย.-ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. วาระ 3 ด้วยคะแนน 279 ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 14 เสียง หลังจากที่การพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ แก้ไขประเด็นสำคัญในมาตรา 51/1 ที่กำหนดให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันอยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรีภายใน 1 ปี นับจากประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จากเดิมที่กำหนดให้สถาบันดังกล่าวเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน หลังจากที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรตั้งเป็นองค์การมหาชน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

สำหรับวัตถุประสงค์ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย ฯ มีสาระสำคัญ คือ ส่งเสริมความปลอดภัยฯ และมีอำนาจ หน้าที่ส่งเสริม และแก้ไขปัญหา พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยฯ และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดให้มีการศึกษา วิจัย ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานได้เรียกร้องมากว่า 17 ปี หลังจากเกิดกรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ อ.สามพราน จ.นครปฐม

(สำนักข่าวไทย, 22-9-2553)

หวั่นความสัมพันธ์ซาอุแย่ เปิดโควต้าแรงงานใหม่สะดุด

จากกรณีที่ทางการซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณไม่พอใจการแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 ขึ้นเป็นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. นั้น นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านแรงงานในการจัดส่งแรงงานชุดใหม่กลับไปทำงานในซาอุฯให้ต้องยืดออกไปอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างไทยกับซาอุฯเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น อยากเสนอให้รัฐบาลไทยและซาอุดิอาระเบียเปิดโต๊ะพูดคุยถึงประเด็นปัญหา ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ เอาเหตุผลข้อจำกัดขึ้นมาพูดกันอย่างชัดเจน คิดว่าก็เป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ด้านแรงงานจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองเหมือน 20 ปีก่อนอีกครั้ง นายสุภัทกล่าว

แม้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะปิดรับโควตาแรงงานที่จะเข้าไปทำงานใหม่ แต่สถานการณ์แรงงานไทยในซาอุฯยังคงปดติ โดยเฉพาะคนไทยที่ทำงานอยู่เดิมประมาณ 1,000 คนยังคงสามารถทำงานต่อไปได้รวมทั้งยังนำญาติในครอบครัวตามไปทำงานได้ด้วย ตลอดจนยังคงมีการติดต่อในระดับหน่วยงานราชการที่ต้องการแรงงานเฉพาะทางซึ่งนายจ้างชาวซาอุร้องขอมาและมีการส่งแรงงานไปเฉพาะกรณีๆไป แต่จะให้เปิดโควตาเหมือนยุครุ่งเรืองในอดีตคงเป็นไปไม่ได้

นายสุภัทกล่าวว่าประเทศซาอุฯและประเทศในแถบตะวันออกกลางมีจุดเด่น 2 เรื่องคือทรัพยากรและเงินทุน เมื่อมี 2 สิ่งนี้จะเกิดการลงทุนขนาดใหญ่ตามมา ถ้าแรงงานไทยมีโอกาสเข้าไปทำงานในซาอุฯ นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว ยังได้องค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานโครงการขนาดใหญ่และเทคโนโลยีสมัยใหม่กลับมาใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งโครงการลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยทั่วไป สำหรับลักษณะของตลาดแรงงานในซาอุดิอาระเบียปัจจุบัน ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ซึ่งแรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการของนายจ้าง ส่วนตลาดแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเคยเป็นตลาดของคนไทยนั้น ได้ถูกแรงงานจากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย บังคลาเทศ เข้ามาตีตลาดหมดแล้ว

(เนชั่นทันข่าว, 22-9-2553)

สปส.ประชุมหน่วยงาน รองรับแรงงานนอกระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดประชุมโครงการพัฒนาเครือข่ายประกันสังคม มาตรา40 ภายหลังจากสปส.ได้กำหนดแนวทางการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบและได้เร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้ประกันตน สามารถจ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนละ 280 บาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ (เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพ)

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการให้ความคุ้มครอง สปส.จึงได้จัดการประชุมโดยเชิญชวนผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และข้าราชการเจ้าหน้าที่ เข้ามาร่วมประชุม เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับระบบการคุ้มครองประกันสังคม ตามมาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการสมัครเป็นผู้ประกันตน รวมทั้งได้นำข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง และขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปบอกกล่าว ต่อประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th 

(แนวหน้า, 23-9-2553)

คนท้องร้องสภาหนุนกฎหมายลาหยุด

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่รัฐสภา นางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร ส.ส.ราชบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเตรียมเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในมาตรา 41/1 มาตรา 59 โดยระบุว่า ลูกจ้างที่เป็นหญิงมีอาการแพ้ท้อง หรือเจ็บป่วยเนื่องจากมีครรภ์ สามารถลาหยุดงานได้ 60 วัน นับจากวันที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าตั้งครรภ์ โดยสามารถเลือกวันลาได้ และหลังครบ 60 วัน หากมีความจำเป็นต้องลาต่อให้มีสิทธิลาได้เท่าที่แพทย์กำหนด และให้ได้ค่าจ้างเท่ากับวันที่ทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงที่ใช้สิทธิลา เพื่อคลอดบุตร เท่ากับได้ค่าจ้างในวันทำงานเป็นจำนวนวันที่ลาคลอด

นางปารีณา กล่าวต่อว่า เดิมในกฎหมายดังกล่าว ได้ให้สิทธิหญิงตั้งครรภ์ไม่ต้องทำงานในเวลา 22.00-06.00 น.เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงแล้ว หญิงที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการแพ้ท้องได้ตลอดเวลา โดยไม่สามารถระบุเป็นช่วงเวลาได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการจึงน่าจะให้หยุดได้ทันที เพราะตนเห็นว่าอยากให้นายจ้างได้เห็นใจ เนื่องจากช่วงที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ถือว่าลำบากกว่าตอนคลอดลูก และเสี่ยงต่อภาวะแท้งได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ส.ส.หญิงในสภา จะเห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ รวมถึง ส.ส.ชาย ก็เซ็นชื่อสนับสนุนเช่นกัน เพราะเข้าใจหัวอกของภริยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว ได้มีหญิงตั้งครรภ์ ประมาณ 20 คน มาร่วมสนับสนุน พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วย

(เดลินิวส์, 23-9-2553)

เฉลิมชัยเร่งช่วยแรงงานไทยถูกนายหน้าหลอกไปลิเบีย

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดเรื่องนายสถาพร  มณีรัตน์  ส.ส.ลำพูน  พรรคเพื่อไทย  ได้ตั้งกระทู้สดเรื่องพฤติกรรมผู้นำประเทศที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทยในสาธารณรัฐ สังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบียและราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย 

โดยนายสถาพร  กล่าวว่า  เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ใช้แรงงานไทยที่ต้องไปตกระกำลำบากในประเทศลิเบียจึงมีแรงงานบางส่วนเข้ามาร้องเรียนยังพรรคเพื่อไทยเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทนายหน้าจัดหางาน โดยมี 4 บริษัทที่ได้จัดหาแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศคือ 1.บริษัทเงินและทองพัฒนา จำกัด  2.บริษัทยิ้ม ยิ้ม จำกัด  3.บริษัทไทยพัฒนา จำกัด และ 4.บริษัทเอชเคเอ็มจำกัด  ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่กว่า 70 % เป็นคนภาคอีสานเกือบทั้งหมด 

แต่ปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้ได้เรียกค่านายหน้าจำนวน 1.4แสนบาทต่อคนและรับปากกับแรงงานว่าจะได้รับค่าแรงจำนวน  1.4หมื่นบาทต่อคนแต่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น และเมื่อแรงงานอยากกลับประเทศก็ไม่มีใครสนใจจนมีเรื่องเล่าลือว่ามีคนงานไทยในลิเบียเสียชีวิต 2 คนจากการหนีออกจากสถานที่ทำงาน  จึงอยากถามว่ารมว.แรงงานจะแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่ และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบหรือดำเนินการสอบสวนผู้บริหารที่เกี่ยวข้องอย่างไรนายสถาพร กล่าว

นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รมว.แรงงาน  กล่าวว่า  ขอยืนยันว่า แรงงานไทยในประเทศลิเบียมีประมาณ 3,000 คน  ส่วนเรื่องที่มีแรงงานเสียชีวิต 2 คนทางกระทรวงแรงงานได้สอบถามไปยังสถานกงศุลและเอกอัครราชทูตประเทศลิเบีย แล้ว  ซึ่ง ทางประเทศลิเบียได้แจ้งเป็นโทรเลขมาชี้แจงว่าไม่เคยปรากฏว่ามีแรงงานไทยถูก เจ้าหน้าที่ประเทศลิเบียทำร้ายหรือทำให้เสียชีวิตแต่อย่างใด  ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ทำหนังสือไปยังสื่อมวลชนบางสำนักที่ได้มีการเปิดประเด็นนี้แล้วเลขที่ รง .0308 / 17336 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าไม่มีแรงานไทยเสียชีวิต  และกระทรวงแรงานได้ติดต่อไปยังบริษัทจัดหางานทั้ง  19 บริษัทให้แจ้งเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่เดินทางไปประเทศลิเบีย                            

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ส่วนแรงงานที่ไม่สามารถกลับประเทศได้นั้น ได้เรียกบริษัทไทยพัฒนา จำกัดและบริษัทเงินและทองพัฒนา จำกัด และแรงงานที่เดินทางกลับมาบางส่วนเข้ามาชี้แจ้งข้อเท็จจริงกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้บริษัททั้งสองรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น  ดังนั้น  กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการเพื่อระงับการส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศลิเบียจนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้  

ทั้งนี้ ประเทศลิเบียมีกฎระเบียบเคร่งครัดในการเดินทางเข้าและออกจากประเทศ  เนื่องจากต้องกรอกใบสมัครและใช้เวลา 60 วัน ในการพิจารณา แต่ถ้าต้องการเดินทางกลับต้องมีการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบเงินรายได้และนำไปหักภาษีเพื่อขอใบอนุญาตให้เดินทางกลับมาได้ โดยจะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน  อย่างไรก็ตาม  กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการอย่างเด็ดขาด  ซึ่งกฎหมายแรงงานของประเทศลิเบียได้กำหนดเกณฑ์รายได้อยู่ที่  1.1 หมื่น -1.8หมื่นบาทเท่านั้นแต่ถ้าบริษัทใดเรียกเก็บค่านายหน้าถึง 1.4แสน บาทถือว่าเข้าข่ายค้ามนุษย์ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้นายเฉลิมชัย กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 23-9-2553)

รมว.แรงงาน แถลงผลงาน 3 เดือน ลดค่าหัวคิวแรงงานได้ผล

ก.แรงงาน 23 ก.ย.-รมว.แรงงาน แถลงผลงานรอบ 3 เดือน ย้ำลดค่าหัวคิวแรงงานได้ผล เผยสั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางานฝ่าฝืน 5 แห่ง พร้อมเตรียมหาธนาคารรัฐปล่อยกู้ เชื่อประหยัดเงินให้แรงงานปีละ 2,000 ล้านบาท เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนต่างด้าวรอบใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่าง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลงานการทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 17 ปี คล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงานว่า เรื่องที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การลดการเก็บค่าหัวคิวในการไปทำงานต่างประเทศ หลังจากร่วมกับบริษัทจัดหางาน 87 แห่ง ให้สัตยาบัน ปฏิญญา 3 สิงหา เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรีจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกวดขันจับกุมบริษัทที่ฝ่าฝืน ล่าสุดสั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางานไปแล้ว 5 แห่ง และเรียกเก็บเงินคืนให้ผู้ใช้แรงงานได้แล้วกว่า 700 คน มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงฯ อยู่ในระหว่างจัดหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารของรัฐ เพื่อให้ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ลดการถูกเอาเปรียบจากเงินนอกระบบ หรือการเรียกเก็บเงินปากถุง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้แรงงานได้ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ขณะนี้กระทรวงฯ เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบกว่า 2 ล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย โดยอยู่ในระหว่างเตรียมแผนดำเนินการเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) เพื่อพิจารณา

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว โดยเจรจากับรัฐบาลพม่า ในการส่งเจ้าหน้าที่มาประจำด่านพิสูจน์สัญชาติในไทยทั้ง 3 จุด จากปัจจุบันมีเพียงจุดเดียว ที่ จ.ระนอง ซึ่งสามารถพิสูจน์สัญชาติได้วันละกว่า 1,000 คน ขณะที่ด่านอื่นได้เพียงวันละ 300 คน รวมถึงยังได้กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริษัทที่รับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติต่อแรงงานต่างด้าว 1 ราย ให้เหลือเพียง 4,500 บาท หลังจากที่มีการเรียกเก็บเงินสูงเกินจนได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก หลังจากนี้ หากบริษัทใดเรียกเก็บค่าบริการเกินกำหนด สามารถแจ้งที่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดได้ทันที หรือที่สายด่วน 1506 โดยตนจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังสามารถผลักดันพระราชบัญญัติการทำงานของผู้พิการในสถานประกอบการ เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศให้คนพิการจะมีอัตราส่วนในสถานประกอบการทั้งรัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น จากพนักงาน 200 คนต่อคนพิการ 1 คน เป็นพนักงาน 100 คนต่อคนพิการ 1 คน รวมถึงการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ผู้ประกันตนให้มากที่สุด อาทิ การเพิ่มค่าคลอดบุตร สิทธิด้านทันตกรรม และจัดให้มี สปส.ในสถานประกอบการ

(สำนักข่าวไทย, 23-9-2553)

กลุ่มประมงฮือปิดถนน ฉุนแรงงานต่างด้าวถูกจับ

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 23 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มชาวประมงตำบลท่าฉลอม ประมาณ 200 คน เดินทางมาปิดถนนบริเวณหน้าสภ.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทำให้การจราจรติดขัด โดยสาเหตุที่ปิดถนนในครั้งนี้เนื่องจากว่า พ.ต.อ.บรรจง อมฤทธิ์ ผกก.สส.2 บก.สส.ภ.7 นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการประมงในเขตต.ท่า ฉลอม บริเวณริมถนน หมู่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จำนวน 22 คน

จาก การตรวจสอบพบว่าบุคคลต่างด้าวไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ชุดจับ กุม จึงตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุ ญาติ จากนั้นจึงนำตัวส่งร.ต.อ.อิทธิพัทธ์ เจนกิตติวัฒนา พนักงานสอบสวน สภ.ท่าฉลอม

ต่อมาทางแกนนำของกลุ่มผู้ประท้วง ได้เข้าเจราจากับตำรวจ ประกอบด้วยนายสุทิน ชาวปากน้ำ อายุ 62 ปี ที่ปรึกษาสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร และนายประชา กระแจะจันทร์ อายุ 61 ปี ประธานสมาคมผู้ค้าน้ำมันประมงในเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร

โดยนายสุ ทิน กล่าวว่า แรงงานพวกเรือประมงส่วนมากจะทำบัตรทุกลำ แต่ปัญหาเกิดจากแรงงานบางรายเมื่อมีบัตรแล้วก็หนี เจ้าของเรือต้องหาแรงงานมาทดแทน และในการทำบัตรนั้น บางรายทำมาเป็นปีแล้วก็ยังไม่ได้บัตร แต่เจ้าหน้าที่ก็มาจับได้จับดี โดย 2 วันก่อน ตำรวจจากปคม.ก็มาจับไป 43 ราย วันนี้ก็มาโดนจับอีก ซึ่งพวกเราทนไม่ไหว จึงต้องมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมบ้าง

ด้าน พ.ต.อ.พรชัย เบญจาทิกุล รองผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค ผกก. สภ.เมืองสมุทรสาคร ได้เดินทางมาเจรจา โดยพ.ต.อ.พรชัย กล่าวว่า จะแก้ปัญหาโดยเป็นตัวกลางให้จะปล่อยตัวแรงงานที่ถูกจับแน่ แต่ต้องขอตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดก่อน ซึ่งรายละเอียดยังไม่ขอเปิดเผย และจะได้ประสานไปยังภาค 7 ให้ว่า มีนโยบายที่ชัดเจนผ่อนปรนอย่างไรเพื่อเศรษฐกิจของชาติจะได้อยู่ได้ ส่วนตำรวจชุดของปคม.ก็ให้ทางผู้แทนสมาคมประมงไปดำเนินการเจรจากันเอาเองว่า จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร เพราะปัจจุบันอำนาจของตำรวจมันซับซ้อน

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงพอใจแยกย้ายกันกลับไปโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

(ไทยรัฐ, 24-9-2553)

ก.แรงงาน เตรียมเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เรียกร้องให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหา ว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงานเตรียมเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบกว่า 2 ล้านคนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมแผนดำเนินการเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) พิจารณา พร้อมเร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า ตนเองมีกำหนดจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่าในเดือนหน้า เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำด่านพิสูจน์สัญชาติในไทยทั้ง 3 จุด พร้อมกันนี้ได้กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริษัทที่รับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติต่อแรงงานต่างด้าว 1 ราย ให้เหลือเพียง 4,500 บาท หลังจากมีการเรียกเก็บเงินสูงจนได้รับการร้องเรียนมาก โดยหลังจากนี้ หากบริษัทใดเรียกเก็บค่าบริการเกินกำหนดสามารถแจ้งที่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทันที หรือที่สายด่วน 1506 ซึ่งจะมีมาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาดกับผู้ฝ่าฝืนทุกราย

(สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 24-9-2553)

เผยแรงงานภาคอุตสาหกรรมขาดแคลน ทำอาชีพอิสระรายได้ดีกว่า

ก.แรงงาน 24 ก.ย.-นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ล่าสุดหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องว่าขาดแคลนแรงงานจำนวนกว่า 200,000 คน ว่า จากข้อมูล พบว่าปัจจุบันแรงงานไทยไม่สนใจงานในโรงงาน แต่หันไปประกอบอาชีพอิสระแทน สาเหตุเพราะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการปลดคนงานจำนวนมาก ขณะเดียวกันกรมการจัดหางานได้จัดส่งเสริมอาชีพอิสระ เช่น ทำปลาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ การประดิษฐ์ และการจักสานไม้ไผ่ จนมีผู้สนใจเข้ารับการฝึกมากกว่า 1.3 ล้านคน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยหลักสูตรอาชีพอิสระ ใช้เวลาฝึกเพียง 2-3 วัน

ผู้รับการฝึกสามารถนำความรู้และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกไปประกอบอาชีพได้ บางอาชีพสร้างรายได้มากถึง 10,000 บาท/เดือน ซึ่งรายได้ดีกว่าทำงานในโรงงาน ทำให้แรงงานที่ถูกปลดจากโรงงานบางส่วนไม่กลับไปทำงานในโรงงานอีก

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้พบว่า มีมากกว่า 190,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต เช่น ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมกว่า 56,000 ตำแหน่ง ซึ่งตนได้สั่งให้จัดหางานจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่าง และจัดหางานเคลื่อนที่ไปยังชุมชน และจัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน รวมถึงประสานกับสถาบันการศึกษา ให้ร่วมมือกับภาคเอกชน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน.

(สำนักข่าวไทย, 24-9-2553)

คนงานยันโขกหัวคิวเข้าข่ายค้ามนุษย์

เหยื่อแรงงานลิเบียเชียร์ "เฉลิมชัย" แก้ปัญหาตามที่พูดกลางสภา ยันบริษัทนายหน้าโขกค่าหัวคิว 1.3-1.7 แสนบาทเกิน4 เท่าเงินเดือน เข้าข่ายค้ามนุษย์ ด้าน"วรวุฒิ" หมอวินิจฉัยเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทำงานแบกปูน วอนกรมการจัดหางานช่วยเหลือเรื่องกองทุนสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน-เงินประกันภัยด่วน

หลังจาก นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องแรงงานไทยไปตกระกำลำบากในประเทศลิเบียแล้วนายเฉลิมชัยศรีอ่อน รมว.แรงงาน ได้ชี้แจงโดยสรุปว่าได้สั่งให้เรียกบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด และ บริษัทไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ จำกัด เคลียร์เงินค้างจ่ายให้กับคนงานและรับตัวผู้ที่ต้องการเดินทางกลับไทย พร้อมขู่หากยังมีปัญหาจะสั่งห้ามส่งคนงานไทยไปต่างประเทศ รวมทั้งระบุถ้ามีการเก็บค่าหัวคิว 140,000 บาท เกินกว่า 4 เท่าของเงินเดือน ถือว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.53 นายบรรจง กันทา อายุ 42 ปี ชาว อ.ลำปลายมาศจ.บุรีรัมย์ หนึ่งในคนงานที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบีย โดยเดินทางไปทำงานกับบริษัท ไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ จำกัด แล้วประสบปัญหาไม่ได้รับเงินเดือน ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น ได้เดินทางกลับมาเมื่อเดือนก.ค.53 และเดินทางเข้าร้องทุกข์กับ นสพ.สยามรัฐ อย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้ติดต่อมาให้ไปเจรจาเพื่อตกลงค่าชดเชยแล้วที่จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์หลังจากข้อร้องทุกข์ของตนได้รับการตีแผ่ผ่านสื่อไปสู่สาธารณชน

อย่างไรก็ตาม การเจรจาวันที่ 24 ก.ย.ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทเสนอให้ค่าชดเชยค่าหัวคิวแค่ 15,000 บาท ซึ่งตนเห็นว่าน้อยเกินไป ทั้งที่ต้องเสียค่าหัวคิวไปถึง 140,000 บาท ดังนั้น ทางจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้รับเรื่องราวไว้ เพื่อส่งต่อไปให้จัดหางานจังหวัดปทุมธานีที่รับผิดชอบที่ตั้งบริษัทไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ พิจารณาดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นปัญหาคนงานกับบริษัทนี้จะถูกส่งมาที่ปทุมธานีหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า รมว.แรงงาน ระบุในสภาว่า หากบริษัทเรียกค่าหัวคิว 140,000 บาท เกินกว่า 4 เท่าของเงินเดือน ถือว่าเข้าข่ายค้ามนุษย์และจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดนั้น นายบรรจง กล่าวว่า ตนเดินทางไปทำงานเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเสียค่าหัวคิวเป็นเงิน 140,000 บาท ซึ่งเป็นความจริงอย่างแน่นอน โดยมีหลักฐานใบโอนเงินค่าหัวคิวส่วนหนึ่ง จำนวน 105,000 บาท จากภรรยาของตนคือ นางปาน กันทา เข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาปากเกร็ด ชื่อ นายวิชิต ธรรมพิดา เลขที่บัญชี 207-0-765173

ด้าน นายวรวุฒิ วิชัย อายุ 49 ปี ชาวอ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเดินทางไปลิเบียผ่านบริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนาไปยังบริษัทนายจ้าง ARSEL BENA WA TASHEED JOINT VENTURE เปิดเผย"สยามรัฐ" ว่า การที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรมว.แรงงาน กล่าวในที่ประชุมสภานั้น ตนได้อ่านข่าวแล้วและรู้สึกว่าดีมากเลย หากมีการดำเนินการได้จริงตามที่พูดเอาไว้ ทั้งนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาให้กับคนงานไทย

"เรื่องค่าหัวคิวนั้นของผมจ่ายไป130,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 4 เท่าของอัตราเงินเดือน ผมพร้อมไปยืนยันกับ รมว.แรงงานได้ และมีเอกสารหลักฐานประกอบด้วยขณะที่เพื่อนๆ แรงงานไทยที่อยู่ไซต์งานเดียวกันเกือบ 200 คน ก็เสียค่าหัวคิวเช่นกันตกรายละ 130,000-170,000 บาท"นายวรวุฒิ กล่าวและว่า หลังจากตนและพวกได้เข้าร้องทุกข์กับ นายชัชวาลย์ คงอุดมอดีต ส.ว.กทม. คอลัมนิสต์อาวุโสสยามรัฐและนายชื่นชอบ คงอุดม ในรายการ "คนไทขอถาม" และ นสพ.สยามรัฐ ตามที่ข่าวเสนอมาตั้งแต่ต้น ทางบริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา ได้ช่วยเหลือเยียวยาในส่วนค่าหัวคิวคืนมาบางส่วนคือ 40,000 บาทซึ่งตนก็มีความพอใจพอสมควร

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือด่วนในส่วนของเงินกองทุนสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และให้ติดตามเงินประกันภัยแรงงานที่นายจ้างหักไปเป็นค่าประกันไว้ทุกเดือน เพราะตนได้ประสบเคราะห์กรรมประสบอุบัติเหตุจากการทำงานที่ลิเบีย โดยทำงานแผนกช่างปูน แบกปูนจากชั้น 1 ขึ้นไปชั้นที่ 4 ส่งผลให้บริเวณสันหลังทรุดกระดูกทับเส้นประสาท ทางนายจ้างไม่เหลียวแลเพียงแต่พาไปเอกซเรย์ แต่ไม่ได้ช่วยเหลือค่ารักษาแต่อย่างใด ยาก็ต้องซื้อกินเอง เมื่อกลับมาก็ได้เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดบุรีรัมย์เรื่อยมา หมอวินิจฉัยว่ากระดูกสันหลังทับเส้นประสาทต้องผ่าตัด ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงาน เพื่อรับการรักษาจากโรงพยาบาลศิริราช

"เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ผมได้ไปพบหมอเพื่อตรวจอาการป่วยตามนัดอีกครั้งคุณหมอบอกว่าจะกลับเป็นปกติไม่ได้ หมอจึงออกใบรับรองเป็นผู้พิการให้ โดยวินิจฉัยว่าเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและทางร่างกาย ขาซ้ายอ่อนแรง สิ่งที่ต้องการขณะนี้คือ อยากฝากไปยังอธิบดีกรมการจัดหางานประสานสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือเป็นการด่วน เช่น เรื่องกองทุนสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เงินประกันแรงงาน ขอให้ท่านได้ประสานไปยังกองประสานงานต่างประเทศกระทรวงการต่างประเทศช่วยเหลือด้วย"นายวรวุฒิ กล่าว

(สยามรัฐ, 25-9-2553)

ขนแรงงานพม่าชน 18 ล้อดับ 16 ศพ

อุบัติเหตุรถปิกอัพลักลอบขนแรงงานเถื่อนชาวพม่าเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ตายเจ็บระนาวรายนี้เปิดเผยเมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 25 ก.ย. พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ บุรารักษ์ สารวัตรเวร สภ.วังเจ้า จ.ตาก รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถชนบนถนนพหลโยธิน บริเวณ่ กม.508 บ้านท่าตะคร้อ ต.ปะดาง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน หน่วยกู้ภัยมูลนิธิตากร่วมใจสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ที่เกิดเหตุบริเวณด้านหน้าบริษัทเกียรติธนาขนส่ง จำกัด พบรถปิกอัพยี่ห้อนิสสัน สีดำ ทะเบียน กท 6649 นครสวรรค์ สภาพพังยับเยินทั้งคัน พื้นถนนพบร่างผู้เสียชีวิต 5 ราย ทราบชื่อ 1 ราย คือนายอิทธิพร ชุนใช้ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 327/1 หมู่ 3 ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ คนขับรถปิกอัพ ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานชาวพม่า ทั้งหมดสภาพศพคกหัก แขน ขาหัก นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บนอนกลาดเกลื่อนเต็มถนนร้องครวญครางขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ลำเลียงผู้บาดเจ็บทั้งหมดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 1 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย บาดเจ็บ 15 ราย ทั้งหมดเป็นชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองห่างกันเล็กน้อยพบรถคู่กรณีเป็นรถพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 70-4757 กรุงเทพมหานคร บรรทุกดิน ตัวพ่งมีสภาพพลิกคว่ำอยู่ริมถนน

จากการสอบสวนได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุนายอิทธิพรหนึ่งในผู้เสียชีวิตได้ขับรถคันดังกล่าว พาแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากแนวตะเข็บชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก 20 คน ไปส่งที่กรุงเทพฯ ถึงที่เกิดเหตุนายอิทธิพรพยายามเร่งความเร็วรถเพื่อแซงรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่มีนายสุรพล อยู่สุข อายุ 37 ปี เป็นคนขับ แต่ปรากฎว่าแซงไม่พ้นชนเข้ากับบริเวณล้อหน้าด้านขวาของรถบรรทุก ทำให้รถเสียหลักพุ่งเข้าชนกำแพงรั่วของบริษัทเกียรติธนาขนส่ง จำกัด อย่างจัง จนรถพลิกคว่ำหลายตลบ ส่งผลให้นายอิทธิพรและแรงงานชาวพม่าเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวส่วนนายสุรพลคนขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ยืนรอมอบตัวตำรวจในที่เกิดเหตุ

(ไทยรัฐ, 26-9-2553)

คนงานไทยโทรข้ามประเทศ วอนรัฐช่วย 600 ชีวิตในลิเบีย

เรื่องราวความเดือดร้อนของแรงงานไทยในประเทศลิเบียกลายเป็นหนังชีวิตเรื่องยาวจริงๆ ที่ยิ่งกว่าละคร เพราะนายจ้างผิดสัญญา ไม่จ่ายเงินเดือนเต็มและไม่ครบ ค่าล่วงเวลาที่บอกว่าจะได้ก็กลายเป็นศูนย์ สวัสดิการความเป็นอยู่แร้นแค้น  และที่ภาระหนักสุดเป็นค่าบริการหัวคิวรายละกว่า 100,000 บาท ทำให้ชีวิตนี้เป็นหนี้สิน โดยเฉพาะบริษั

จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ที่ส่งไปทำงานก่อสร้างกับบริษัท  ARSEL BENA WA TASHEED JOINT VENTURE ตามที่นำเสนอต่อเนื่องมาแล้วนั้น

ล่าสุด นายพงศธร อุตบัววงศ์ ชาวสุโขทัย ได้โทรศัพท์ข้ามประเทศจากลิเบียมาร้องเรียนกับ"นสพ.สยามรัฐ"อีก โดยระบุว่า การตีแผ่ความตกระกำลำบากของแรงงานไทยในประเทศลิเบียที่ผ่านมาเป็นไปอย่างถูกต้อง ชีวิตพวกเราลำบากจริงๆ โดยล่าสุดโดนเข้าอีกกับบริษัทที่ตัวเองทำงานชื่อ"ไมวาน"โดยไปทำงานก่อสร้างเป็นช่างไฟฟ้า เงินเดือนไม่ออก ไม่ได้รับมา 1 เดือน ทางตัวแทนบริษัทเป็นคนไทยอ้างว่าเงินได้โอนเข้าบัญชีแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. แต่ทว่าทำไมเช็คแล้วไม่มีเงินเข้าบัญชีครอบครัวที่อยู่ประเทศไทย ต่อมาบริษัทก็บอกว่าเงินมีแล้วแต่โอนไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน จึงจะโอนให้คนงานต่อไป

"ทางบริษัทบอกกลับไปกลับมาตลอด ไม่รู้ว่าโอนไปทำไมถึงสหรัฐฯ ช่วงก่อนหน้านี้เงินเดือนออกล่าช้าเขาก็บอกว่าเงินโอนไปที่มาเลเซียก่อน แต่ตอนนี้โอนไปสหรัฐฯ โกหกหลอกลวงคนงานมาตลอด ทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกันเองน่าจะพูดความเป็นจริง บอกกันมาตรงๆ ไปเลยว่าบริษัทเขาเงินช็อต เราจะอะลุ้มอะล้วยกันได้ ไม่ใช่กลับไปกลับมา" อีกหนึ่งแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากระบายความรู้สึก และว่า จำนวนคนงานไทยที่ไซต์งานตนที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้มีประมาณ 500-600 คน

นายพงศธร กล่าวต่อว่า ถามว่าอยากกลับประเทศไทยไหม ตอบว่าอยากกลับ แต่เสียดายค่าหัวคิวที่จะไม่ได้คืน แม้ว่าตนเองจะเสียค่าหัวคิวไม่สูงแค่ 6 0,000 บาท เกรงว่าจะไม่ได้ทำงานอีก อีกอย่างเพิ่งมาทำงานได้แค่ 6 เดือน เท่านั้น

(สยามรัฐ, 26-9-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net