Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"The important thing is not to stop questioning. Curiosity has its own reason for existing. One cannot help but be in awe when he contemplates the mysteries of eternity, of life, of the marvelous structure of reality. It is enough if one tries merely to comprehend a little of this mystery every day. Never lose a holy curiosity." (My Emphasis)

                                                                                                   -  Albert Einstein
 

เมื่อวานนี้ (23 กันยายน 2553) ผมได้พบบทความของคุณอภิเชต ผัดวงศ์ ที่เขียนถึงคำ ผกา เกี่ยวกับกรณีที่เธอวิพากษ์ศาสนา ผมชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนถึงกรณีนี้ไหม สุดท้ายเลยคิดว่าเขียนถึงสักหน่อยแล้วกัน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องย่ำต๊อกอยู่ในภาวะเดียวกับยุโรปในยุคกลางมากไปกว่านี้ แต่เขียนไปเขียนมากลับบานปลาย เพราะมีเรื่องต้องให้วิพากษ์ และด่าแทบทุกย่อหน้ากันเลยทีเดียว เนื่องจากเรื่องจะต้องว่ากันมีค่อนข้างเยอะ ผมเลยจัดให้ข้อความของคุณอภิเชตเป็นตัวเอน ในขณะที่ส่วนของผมเป็นตัวปกติ (อ้างอิงมาจาก http://prachatai3.info/journal/2010/09/31210 )

ท่านผู้อ่านคงพอทราบมาบ้าง เรื่องต้องห้ามในบทสนทนาคือเรื่องศาสนาและเรื่องการเมือง เพราะหากยกขึ้นมาเมื่อไหร่มักนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดได้ทุกที ในอีกด้านหนึ่งความขัดแย้งหากไม่ร่วมกันถกเถียงหาข้อสรุปที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับกันได้ ให้ความรู้สึกนั้นทุเลาเบาบางลง ความขัดแย้งนั้นย่อมไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญ และกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันก็จะไม่มีที่ให้ยืน (เน้นคำโดยผมเอง)

ผมไม่แน่ใจนักว่าในชีวิตของคุณอภิเชตนั้นเคยทราบ หรือรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” หรือไม่ (ซึ่งไม่แปลกที่จะไม่รู้จัก เพราะประเทศนี้ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยให้ได้ทดลองสัมผัสแต่แรก) แต่ผมอยากจะอธิบายมให้ทราบว่าหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยนั้นก็คือการสร้างพื้นที่ทางความคิด ที่อนุญาตให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างยังคงมีที่ยืนอย่างสมบูรณ์ในสังคม

และก็ไม่แปลกอีกเช่นกันที่คุณอภิเชตจะคิดว่า “กลุ่มก้อนทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์กันจะไม่มีที่ให้ยืน” นั่นเป็นเพราะประเทศที่เราอยู่นี้มีลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด อันเป็นลักษณะเฉพาะของระบบคิดแบบเผด็จการ ที่ต้องการให้ความคิดเห็นทุกอย่างในสังคมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่บิดพริ้วต่อมายาคติที่อำนาจนำในสังคมกำหนดขึ้น สภาพดังกล่าวนี้เองทวีปยุโรปก็เคยประสพพบเจอ ในช่วงยุคกลางที่ศาสนจักรเรืองอำนาจ และเกิดการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง บิดเบือนไป จากมายาคติที่ศาสนจักรสร้างขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ซึ่งเป็นผู้นำโลกไปสู่ความเจริญ อย่างโคเปอร์นิคัส, กาลิเลโอ, โคลัมบัส, ฯลฯ

คงไม่ต้องอธิบายให้มากความถึงความเป็นเท็จทางคำพูดที่ว่า “ความขัดแย้งย่อมไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญ” แต่ก็เช่นเคย ไม่แปลกที่คุณอภิเชตจะเข้าใจเช่นนั้น ในเมื่อประเทศเทวดาธิปไตยแห่งนี้พยายามผลิตซ้ำมายาคติแบบนี้มาโดยตลอด แม้แต่แผนปรองดองในขณะนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ผมขอกล่าวอย่างชัดเจนเลยว่า หากไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความคิดที่แตกต่าง ย่อมไม่มีทางเกิดการพัฒนา อันนำไปสู่ความเจริญได้ ทั้งทางวิทยาศาสตร์, ปรัชญา, การเมือง, ศิลปะ, นวัตกรรม, ฯลฯ ทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชานั้นที่มันสามารถก้าวหน้าไปได้ล้วนเกิดจากการเริ่มคิดต่าง การท้าทายของเก่า การถามท้า (Questioning) ความเชื่อ และศรัทธาดั้งเดิม ประชาธิปไตย ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่เกิดความสงสัยใคร่รู้ กล้าที่จะตั้งคำถาม และคิดต่างต่อระบอบการปกครองก่อนหน้า สำนักคิดทางปรัชญาใหม่ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้เกิดจากการพยายามคิดออกนอกกรอบเดิม แม้แต่ศาสนาพุทธเอง ก็เพราะเกิดจากการพยายามตั้งคำถามต่อคำสอนเดิมที่เป็นมายาคติอันยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมชมพูทวีป อย่างศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อยู่มิใช่หรือไร? ศาสนาพุทธเองก็เคยเป็นเพียงเสียงเล็กๆ เป็นแนวคิดกระแสรอง เป็นความปริปักษ์มิใช่หรือ จนกระทั่งขยายตัวออกมา กลายเป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญในปัจจุบัน

หากไม่ใช่เพราะความคิดอันแตกต่าง ปรปักษ์กับของเดิม ทุกวันนี้เราคงยังเชื่ออยู่ว่าโลกแบน, โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล, หนูเกิดจากกองผ้าขี้ริ้ว ทุกวันนี้เราคงยังได้ใช้คบไฟ หรือตะเกียงกันอยู่ ไม่ใช่หลอดไฟ เราคงยังต้องเดิน หรือใช้รถม้า แทนรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน หากยังมัวดักดานอยู่ในกรอบ “คิดอย่างเดิม ไม่แตกแยกทางความคิด ปลอดปฏิปักษ์” อย่างคุณว่ามา คนที่กลัวการมีศัตรูทางความคิดที่สุด ก็คือคนที่เป็นเผด็จการทางความคิดอย่างที่สุดนั่นแหละครับ

โดยส่วนตัว ผมมองว่าการดักดาน ย่ำต๊อกอยู่กับที่ การดูถูกการใช้ปัญญาญาณเพื่อความคิดใหม่ต่างหากล่ะที่ไม่น่าให้อภัย

000

หากย้อนดูเชิงลึกจะเห็นว่าการต่อสู้บนความขัดแย้งของความเชื่อทางศาสนามักมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง อยู่ที่ว่าบทบาทของความเชื่อที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ในความสัมพันธ์ของบริบทต่อเหตุการณ์นั้น เช่นความขัดแย้งของผู้นับถือศาสนาอิสลามต่างนิกายในอิรัก-อิหร่านและอัฟกานิสถาน

ผมไม่ได้จะเถียงว่าอิหร่าน และอัฟกานิสถานนั้นไม่ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นเพราะไร้ซึ่งอิทธิพลทางศาสนา แต่การกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่ทำความเข้าใจต่อบริบททั้งสิ้นทั้งมวลนั้นย่อมง่อยเปลี้ย (Lame) เพราะหากกล่าวเช่นนั้น ทุกวันนี้เราคงจะพบการรบพุ่งจะฆ่ากันตายในยุโรป ที่มีความแตกต่างทางนิกายศาสนา และผสมปนเปกันอาจจะมากมายกว่าแถบตะวันออกกลางเสียด้วยซ้ำ แต่นี่แหละครับคือประเด็นว่าทำไมยุโรปจึงไม่เป็นเช่นตะวันออกกลาง (หรือหากพูดให้ถูกขึ้นก็คือ ลักษณะของตะวันออกกลางในปัจจุบัน ใกล้เคียงกับยุโรปสมัยยุคกลางโน่น) จริงอยู่ว่ามีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่โดยมากก็ในระดับความคิด หรือสังคม ไม่ใช่สงครามฆ่าฟันระหว่างรัฐที่รุนแรง นั่นเป็นเพราะมันเกิด การแยกตัวรัฐ ออกจากศาสนา ครับ ซึ่งโดยมากจะเริ่มนับจาก วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1648 จากการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย (Treaty of Westphalia)

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะบอกคุณว่าการกล่าวอ้างโดยเสมือนเอาเหตุการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มาเทียบกับตัวสังคมไทยนั้นเป็นการตอกย้ำรูปแบบความคิดของคุณที่ฝังแน่นอยู่กับ “โลกตะวันตกยุคกลาง” ที่ยังไม่เกิดระบบคิดในการแยกเรื่องรัฐ ออกจากศาสนาครับ นี่คือรูปแบบของพวกที่ยังอยู่ใต้มายาคติของสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ศาสนาจักรครอบงำรัฐ, เผด็จการความคิดนิยม ซึ่งหากคุณอยากจะเป็น ก็เรื่องของคุณครับ แต่อย่าได้มาห้ามคนอื่นวิพากษ์ด้วยการยัดตัวตนดึกดำบรรพ์ของคุณใส่คนอื่นเลย หากคุณคิดจะให้ประเทศไทยนี้ “ก้าวหน้า” ได้อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้นบทความของคุณจริงๆ แล้ว อย่ามาเที่ยวบ้าหลอกคนด้วยมายาคติแบบเมี่อ 600 – 700 ปีก่อนครับ แค่นี้ประเทศนี้ยังย่ำต๊อกอยู่ในยุคโลกแบนไม่พอ?

000

ดูอย่างกำแพงเบอร์ลินเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่อ้างว่าเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาจนเกิดโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวร่วมหกล้านคน ผู้คนจำนวนอีกไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงที่บริเวณกำแพงนี้ ที่ถูกขนานนามว่า Death Strip หรือเส้นทางแห่งความตาย

ส่วนนี้ผมเข้าใจว่าอาจารย์สมศักดิ์ได้ด่าไปแล้วในส่วนคอมเม้นต์ ผมคงไม่ด่าซ้ำมากให้ได้อายสองรอบ ถือเป็นการให้ข้อมูลคนที่ยังไม่ได้อ่านคอมเม้นต์อาจารย์สมศักดิ์แล้วกันว่า “กำแพงเบอร์ลินสร้างขึ้นหลังโฮโลคอส (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี) ครับ มันเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งด้านการปกครองระหว่างฝ่ายโลกเสรี (คำเรียกตัวเอง) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และฝ่ายสังคมนิยม นำโดยสหภาพโซเวียต แบ่งเบอร์ลินเป็นตะวันตก และตะวันออก ตะวันตกปกครองโดยโลกเสรี และตะวันออกโดยฝ่ายสังคมนิยม”

ไม่ได้เกี่ยว(ห่า)อะไรกับศาสนาเลยครับ

000

กรณี “The Troubles” เมื่อปี 1968 ในไอส์แลนด์เหนือมีประชากรโปรเตสแตนต์ประมาณร้อยละ 60 อีก 40 เป็นคาทอลิก กลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Unionist เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งให้ยุติการกดขี่กีดกันชาวคาทอลิก เกิดการประทะกันสูญเสียชีวิตกว่า 3,600 คน ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี

แม้ผมเองจะไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องความรุนแรงในไอร์แลนด์มากมายนัก แต่ที่จะพูดนี้โดยมากเป็นข้อถกเถียงเชิงตรรกะมากกว่าข้อเท็จจริง ฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหา

เหตุการณ์ The Troubles ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960s และจบลงในปี 1998 นั้น รากฐานสำคัญนั้นมาจากการพยายามเรียกร้อง “สถานะทางรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ขึ้น ระหว่างสองกลุ่มดังที่คุณอภิเชตได้กล่าวไป ซึ่งก็น่าสงสัยว่าหัวคุณอภิเชตโดนกระแทกอะไรเข้าหรือเปล่า จึงได้ยกประเด็นนี้มาพูด เพราะมันแสนจะไม่สนับสนุนงานเขียนคุณ นอกเสียจากว่าคุณจะมองว่าการเรียกร้องความเป็นธรรม และความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่ผิด ก็จะพอเข้าใจได้

หากเราเชื่อว่าการเรียกร้องความเป็นธรรม การถามหาความเท่าเทียมกันด้วยสถานภาพทางรัฐธรรมนูญว่าเป็น “ความก้าวหน้าของประเทศ และสังคม” อย่างหนึ่งแล้ว เหตุการณ์ The Troubles นี้ ไม่มีทางเลี่ยงได้เลยที่จะบอกว่ามันคือการปะทุขึ้นของความแตกต่าง อันนำไปสู่ความก้าวหน้า

ผมไม่ปฏิเสธว่ามันมีความรุนแรง ผมไม่ปฏิเสธถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของผู้ซึ่งเดิมพันชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้อง แต่ในทำนองเดียวกัน เราไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่า นี่คือความก้าวหน้า การปฏิวัติฝรั่งเศส, การเรียกร้องอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา, ฯลฯ ล้วนเกิดจากความคิดที่แตกต่าง การตั้งคำถามต่อระบบ ต่อผู้ปกครอง แล้วเรียกร้องให้ได้มาซึ่งความก้าวหน้าที่พวกเค้าวาดหวังไว้ มิใช่หรือไร? เหตุการณ์เหล่านี้มีผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่จำนวนมาก แต่เราไม่อาจจะไม่ยอมรับถึงความสำเร็จ และความก้าวหน้าของมัน

หากคุณจะมองแต่คำว่า “ปรองดอง สันติวิธี” ในตอนท้าย ผมก็มองว่าสิ้นคิด และเหยียดหยามความตายเหล่านั้นมากเกินไปหน่อยแล้ว หากไม่มีความรุนแรง การเรียกร้อง ความแตกต่าง และกล้าจะลุกขึ้นสู้แต่แรก มันจะมีอะไรให้ต้องมาปรองดอง แล้วก้าวหน้าไหม สนธิสัญญา Belfast Good Friday ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ และความคิดต่างครับ

หากเค้าไม่ลุกขึ้นมาสู้แต่แรก ก็คงไม่ต้องมาสันติภาพบ้าบออะไรหรอกครับ เพราะมันก็จะโดนกดเป็นพลเมืองชั้นสองต่อไป โดยสงบเงียบงัน

อ่อ แล้วผมคงต้องบอกอีกอย่างสินะครับว่าเค้ามีกันแต่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ครับ เท่าที่ผมจำความได้ประเทศไอส์แลนด์เหนือ (Northern Iceland) นี่ไม่มีนะครับ ประเทศไอส์แลนด์เค้าอยู่เป็นประเทศเดียวของเค้า มีเมืองหลวงชื่อเรกยะวิกครับ เอ๊ะ หรือคุณอภิเชตเกิดอยากไปสร้างความขัดแย้งให้แยกประเทศกันหนอ

000

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในหลายประเทศ ความเข้าใจเหล่านี้นำไปสู่ความระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เข้าใจว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีศาสนาใดในโลกสอนให้ศาสนิกของตนใช้ความรุนแรงในการยุติความขัดแย้ง

นี่มันผิดหัวผิดหาง (Oxymoron) เลยนะเนี่ยตอนแรกคุณยกมาให้เห็นเรื่อง “ความขัดแย้งทางศาสนา” (อิหร่าน – อัฟกานิสถาน, The Troubles) แต่มาตอนนี้คุณเสนอว่า คุณไม่คิดว่ามีศาสนาใดสอนให้ศาสนิกของตนใช้ความรุนแรงยุติในความขัดแย้ง (ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้จริงอ่ะนะ) แล้วมันจะหมายความว่าอย่างไร

นี่แทบจะเป็นการบอกจากตัวคุณเองเลยแท้ๆ ว่าที่คุณเขียนมาข้างบนทั้งหมดคือขยะ ก็ในเมื่อ (คุณเชื่อว่า) ศาสนาไม่สอนเช่นนั้น ฉะนั้นที่คนมันตีกันก็ไม่ใช่เรื่องศาสนาแล้วครับ! ในเมื่อคุณเสนอเองว่าศาสนาไม่ใช่ต้นตอ แล้วไอ้ที่พ่นเรื่อง “ความขัดแย้งทางศาสนา” ทั้งหมดก่อนหน้านั้นมันจะเป็นอะไรครับหากไม่ใช่ขยะ

และหากคุณเชื่อจริงๆ ว่าศาสนาไม่สอนให้คนใช้ความรุนแรงยุติความขัดแย้งกันจริงๆ แล้ว จะมานั่งห่วงเอี้ยอะไรแต่แรกครับเรื่องสันติ ปรองดอง กลัวกลุ่มก้อนปรปักษ์อะไรนั่น ก็ในเมื่อคุณเชื่อเองนี่ว่ามันจะไม่รุนแรง เพราะศาสนาคุณไม่ได้สอนอย่างงั้น ถ้าเป็นอย่างงั้นก็ยิ่งต้องปล่อยให้เค้าสามารถวิพากษ์ และปรปักษ์กันได้สิครับ ในเมื่อมันจะไม่นำมาซึ่งความรุนแรงอยู่แล้ว คือ หากศาสนาไม่ได้สอนให้รุนแรงการวิพากษ์ศาสนา หรือความแตกต่างในการตีความด้านศาสนาก็ย่อมเกิดขึ้นได้ โดยไม่นำไปสู่เรื่องที่มันรุนแรงสิครับ นอกเสียจากคุณเกิดคิดจะแหกหลักศาสนาที่คุณพร่ำอ้างว่าเชื่อนักหนาเสียเอง

คุณเห็นความผิดหัวผิดหางนี้หรือเปล่า? คือ ไม่ต้องให้คนมาเขียนแย้งคุณเลยก็ได้ (ซึ่งผมก็กำลังเริ่มชั่งใจแล้วว่าจะเปลืองเวลาต่อไปดีไหม) ในเมื่อคุณเขียนแย้งตัวคุณเองอยู่แล้ว!!!

000

ในขณะนี้สหรัฐเองก็กำลังมีประเด็นร้อนๆ ที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งที่อ้างว่ามีที่มาทางศาสนา กรณีการประท้วงต่อต้านโครงการ Park51 ที่จะก่อสร้างมัสยิด ศูนย์วัฒนธรรมมุสลิมใจกลางเมือง Manhattan New York City ใกล้กับ Ground Zero ที่เคยเป็นที่ตั้งของตึก World Trade Center ที่โดนเครื่องบินชน เมื่อ 11 กันยายน 2001 ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตร่วม 3,000 คน กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นก็ด้วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอ้างว่าความสูญเสียเหล่านี้เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายทหารมุสลิม หรือAI Qaeda

เหล่านี้คือบางเหตุการณ์ของความขัดแย้งที่โยงเข้าหาด้านลัทธิความเชื่อในต่างประเทศ ที่ต้องยกขึ้นมานี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการแสดงทัศนะทางการเมืองและทางศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่ทำความเข้าใจให้ครบถ้วนกระบวนความจะก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรืออาจถึงขั้นหลงประเด็นไป

เออ ตลกดี คนที่ป่าวประกาศบอกให้คนอื่นทำความเข้าใจให้ครบถ้วนกระบวนความกลับไม่เคยทำความเข้าใจให้ครบถ้วนเสียเอง แม้แต่ข้อเท็จจริงระดับการศึกษาภาคบังคับ ม.ปลาย อย่างเรื่องกำแพงเบอร์ลินยังมั่วหลุดโลก ดันมีหน้ามาบอกให้คนอื่นศึกษาให้ครบถ้วน ไม่เรียกหน้าด้านก็คงยากมากอ่ะนะครับ

นอกจากนี้เรื่องหลงประเด็น ก็อย่างที่ผมว่ามา คุณเองนั่นแหละ หลงแต่แรกแล้ว ผสมปนเป มั่วกันไปหมด เรียกได้ว่าหลงโคตรหลงเลย แต่อย่างน้อยย่อหน้านี้ของคุณก็มีความถูกต้องอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ “หากไม่ศึกษาให้ครบถ้วนกระบวนความ จะหลงประเด็นได้” จริงมากๆ ทีเดียว ตัวบทความคุณเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งต่อความหลงประเด็นอันมาจากการไม่ศึกษาให้ถี่ถ้วนที่ว่านี้

ผมอ่านย่อหน้านี้แล้วรู้สึกเหมือนโดนโนบิตะชี้หน้าบอกให้ขยันอ่านหนังสือพิกล คนที่หลงประเด็นได้ในระดับนี้ หันมาชี้บอกคนอื่นว่าอย่าหลงประเด็นนะ ฮ่าๆๆๆ

                                                                                              ด้วยความเคารพ

 

ปล. เนื่องจากระยะนี้ผมเหมือนจะไม่ค่อยสบาย เกรงจะส่งแบบอัพเดตหน่อยไม่ทัน เลยส่งตอนที่ 1 มาก่อน ตอนที่ 2 หากอาการดีขึ้นหน่อย และรู้สึกอยากจะเขียนต่อ เดี๋ยวจะตามมาครับ (ย้ำว่าหากรู้สึกอยากเปลืองเวลาต่อนะครับ)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:
http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31022
http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31022
http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30688
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1282225912&  grpid=no&catid=02

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net