Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.มนตรี อุมารี เจ้าของฉายา“บาบอ”ในค่ายทหาร กับบทบาททหารในงานเยียวยาและศาสนาในชายแดนใต้ เผยพลทหารนอกพื้นที่เข้าไม่ถึงการเยียวยา ชี้อนาคตการเยียวยาต้องเยี่ยมให้บ่อย ได้ใจมวลชน

 

พล.ต.มนตรี อุมารี

พล.ต.มนตรี อุมารี ตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก คือนายพลมุสลิมที่ชาวบ้านในชายแดนใต้เรียกกันติดปากว่า “บาบอ” หมายถึงคำเรียกแทนโต๊ะครูผู้สอนวิชาศาสนาอิสลามใน “ปอเนาะ” อย่างให้เกียรติในฐานะผู้ทรงความรู้หรือเป็นเจ้าของสถาบันสอนศาสนาชื่อดังกล่าว

ด้วยบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทำให้มีโอกาสไปพบปะกับประชาชนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมาที่รับงานด้านนี้ พบประเด็นปัญหามากมาย

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ พล.ต.มนตรี อุมารี ในบทบาททหารกับการเยียวยาและศาสนาในชายแดนใต้ พร้อมข้อเสนอแนะถึงอนาคตการเยียวยาอย่างยั่งยืน

..............................

 

บทบาทของคณะทำงานเยียวยาและศาสนา

คณะทำงานเยียวยาและศาสนา ตั้งขึ้นมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยไม่ใช่หน่วยหลักในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่มองว่างานไหน ใครมาเป็นมือไม้ที่ช่วยเหลือได้ ก็ทำโดยไม่มีกำหนดเวลา ถ้าภายใน 1 - 2 ปีนี้ งานเยียวยามีความสมบูรณ์เรียบร้อยก็อาจจะยุบคณะทำงานนี้ไป แล้วตั้งคณะทำงานอื่นขึ้นมา

คณะทำงานชุดนี้ เป็น 1 ใน 6 คณะทำงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าตั้งขึ้นมา คณะทำงานชุดอื่นๆ เช่น คณะทำงานเกี่ยวครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะทำงานเกี่ยวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะทำงานทั้งหมดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน บางคณะที่หมดความจำเป็นก็จะยุบ ปีหน้าอาจเหลือ 4 คณะ แต่ปีนี้ก็มีคณะใหม่ขึ้นมา คือคณะทำงานวิทยุชุมชน

บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานเยียวยาและศาสนา มี 2 เรื่อง คือ เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป และเรื่องศาสนา

บทบาทหน้าที่ในเรื่องการเยียวยา คือ เป็นหน่วยประสานความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบตามสิทธิที่ควรจะได้ การเยี่ยมเยือนและรับทราบข้อมูลของผู้ได้รับผลกรทบ หรือให้คำแนะนำทั้งแก่ผู้ได้รับผลกระทบหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เช่น จากอำเภอ จังหวัด จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ต้องทำงานช่วยเหลือเยียวยา เช่นในเรื่องเอกสารหลักฐาน เป็นต้น

ส่วนบทบาทเรื่องศาสนา เช่น พยายามผลักดันให้องค์กรศาสนาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริตส์ อิสลาม โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม เพราะประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก มีความยึดมั่นสูง ซึ่งต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาต้องเอาศาสนามาเกี่ยวข้องด้วย

ยกตัวอย่าง งานทางด้านศาสนาที่เกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ คือ เรื่องการประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งคณะทำงานตั้งเป้าว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ที่จะเดินทางไปร่วมพิธี ได้รับการบริการที่เต็มรูปแบบหรือเหมาะสมในราคาที่ถูกกว่าราคาของผู้ประกอบการทั่วไป

เรื่องนี้ได้พยายามอยู่ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากเรายังขอโควตาผู้ประกอบพิธีฮัจย์จากกรมศาสนาเพื่อมาดำเนินโครงการนี้ไม่ได้ วิธีการคือ ถ้าเราได้โควตามา 1,000 คน เราก็จะแบ่งให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดจัดการ โดยให้หาบริษัทไหนก็ได้เก็บค่าบริการได้ถูกกว่า เช่นราคาปกติ 150,000 บาท ลดเหลือ 130,000 บาท โดยที่เราจะช่วยในเรื่องของราคาและเรื่องการอำนวยความสะดวก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่เข้าโครงการก็ต้องยอมรับว่า กำไรจะลดลงบ้าง แต่ทางกรมการศาสนาก็ไม่ให้โควตานั้นมา เพราะกลัวว่าไม่มีความเป็นธรรมทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกัน ส่วนทางบริษัทเองก็ไม่อยากให้เกิดโครงการนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนต้องการไปประกอบพิธีฮัจย์ด้วยวิธีนี้หมด

ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการไปประกอบพิธีฮัจย์ตามโครงการนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ

ประเด็นปัญหาที่พบในงานเยียวยา

ในการลงไปเยี่ยมเยือนผู้ได้รับผลกระทบแต่ละครั้ง คณะทำงานจะใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ที่ผ่านมา จากการลงไปเยี่ยม ก็มีการเก็บข้อมูลด้วย ตัวอย่างเช่น ได้ข้อมูลมาว่า ผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่เมื่อลงพื้นที่จริง พบว่ากลายเป็นคนพิการไปแล้ว ซึ่งต้องได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 200,000 บาท ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ เราก็จะดำเนินการประสานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เหมือนกับเราเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่เขาควรจะได้รับ

ในปีหน้าคณะทำงานจะเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดที่มีพลทหารที่ปลดประจำการแล้วกลับไปอยู่บ้าน โดยได้รับบาดเจ็บจากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพลทหาร คือทหารเกณฑ์ ไม่เหมือนข้าราชการทหารที่ได้รับบาดเจ็บก็ยังอยู่ในกองทัพต่อและได้รับเงินเดือน แต่พลทหารเมื่อปลดประจำการแล้ว ก็ไม่ได้รับเงินเดือน พลทหารบางคนมีลูก เราก็จะช่วยเรื่องการศึกษาของลูก

พลทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนมากมาจากนอกพื้นที่ เช่น มาจากกองทัพภาคที่ 1 เมื่อได้รับบาดเจ็บแล้วกลับไปอยู่ที่บ้าน ระบบการช่วยเหลือเยียวยาก็ไปไม่ถึง เนื่องจากการจัดระบบการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลายังไม่เรียบร้อย

เนื่องจากขณะนี้ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำอำเภอและจังหวัด มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาเท่านั้น ในขณะภาพรวมของการช่วยเหลือเยียวยาทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนขึ้นอยู่กับศูนย์นี้เท่านั้น

ส่วนหน่วยงานส่วนกลาง ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มาตั้งสำนักงานช่วยเหลือเยียวยาในพื้นที่ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังส่งต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับหน่วยงานส่วนกลางหรือในท้องถิ่นที่มีผู้ได้รับผลกระทบอาศัยอยู่ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่ยังต้องประสานหรือเดินทางกลับมายังศูนย์เยียวยาฯหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอรับการช่วยเหลือ เพราะหน่วยงานในพื้นที่ภูมิลำเนาไม่สามารถดำเนินการให้ได้ตรงนี้ยังเป็นจุดบอดอยู่

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ซึ่งผมเป็นตัวแทนของแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นกรรมการชุดนี้ด้วย พยายามแก้ปัญหาตรงนี้อยู่

รวมทั้งศอ.บต.และกระทวงที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขอยู่ แต่หน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ นอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางทีก็ไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้เรื่อง รับลูกกันไม่ได้ เมื่อไม่เข้าใจก็เลยไม่รับเรื่องจากผู้ได้รับผลกระทบ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ทหารเกณฑ์คนหนึ่ง ประสบเหตุที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ได้รับบาด จากนั้นก็ยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาที่ศูนย์เยียวยาฯ อำเภอยะหา แล้วตัวเองก็กลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดขอนแก่น ทางศูนย์เยียวยาฯอำเภอยะหาก็ไม่สามารถจัดการให้ได้ เป็นต้น

 

กรณีที่มีปัญหาอย่างนี้มีกี่ราย

เรายังไม่มีข้อมูล แต่ในปีที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นอนุกรรมการ มีการเก็บข้อมูลไว้ โดยเน้นทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งพบปัญหาในกรณีนี้ด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร

ดังนั้น คณะทำงานชุดนี้จึงต้องการที่จะออกไปเยี่ยมพลทหารกลุ่มนี้ คาดว่าภายในปีนี้จะไปที่จังหวัดกาญจนบุรี ไปดูว่าจะประสานการช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

 

ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมที่ไหนบ้างแล้ว

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปทุกจังหวัดนะ ส่วนมากเน้นไปที่อำเภอบังนังสตา กรงปินัง ธารโต จังหวัดยะลา เป็นการสุ่มลงไปเยี่ยม โดยเน้นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนคนที่บาดเจ็บเล็กน้อยรักษาตัวก็เรียบร้อย หรือเสียชีวิตให้เงินชดเชยไปก็จบ ถ้ามีบุตรหลานก็ช่วยเหลือเรื่องการศึกษา ถ้าไม่มีบุตรหลานก็หมดปัญหา การเข้านั้นก็ไปแบบเงียบๆ ไม่อึกทึก ซึ่งเป็นแบบที่ชาวบ้านชอบ

ในส่วนนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็ไปที่จังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช ไปบ้านทหารที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดแถวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา โดยไปเยี่ยมครอบครัว สอบถามว่าได้รับความช่วยเหลือบ้างแล้วและยังขาดอะไรอีก ส่วนมากได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์แล้ว นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือเฉพาะของทหาร เช่น เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินสวัสดิการ

รายที่น่าสนใจ ส่วนมากเป็นความเดือดร้อนที่ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ เช่น ครอบครัวทหารที่กระบี่ พ่อมีลูก 7 คน ลูกชายที่เสียชีวิตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวที่ต้องส่งเสียน้องเรียนหนังสือ ตามหลักเกณฑ์คือช่วยเหลือบุตร แต่ไม่ได้ช่วยน้อง แต่พ่ออยากให้น้องได้รับราชการแทนลูกชาย เราก็รับเรื่องมาพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร เพราะมันนอกเหนือหลักเกณฑ์

 

การทำงานเยียวยาในพื้นที่ของทหาร โดยการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาทำให้ได้มวลชนหรือไม่

ในพื้นที่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครทำอย่างนี้มา 2 - 3 ปีแล้ว ชาวบ้านบางคนเราไม่ได้เยี่ยมแค่ครั้งเดียว ซึ่งการไปครั้งที่ 2 นั้น เขาไม่รู้ว่าเราไปทำไมอีก แต่เมื่อรู้แล้ว่าเราไปเยี่ยม ก็มีพ่อแม่พี่น้องเข้ามานั่งพูดคุยกันเต็มเลย

บางรายที่เราไปเจอ พ่อแม่เขาก็ร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ยังไม่รับรองว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ จึงทำให้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา บางรายได้เงินช่วยเหลือก่อน 25% แต่พอผลสรุปออกมาว่า ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ เงินช่วยเหลือที่เหลืออีกก็จะไม่ได้ เขาก็มาขอให้เราช่วย

บางรายเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรื่องขัดแย้งกันเอง แต่อาศัยสถานการณ์ อ้างว่าเกิดจากความไม่สงบ แต่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รู้ ก็เลยมีการพูดกันว่า เป็นโจรก็ได้เงิน ตำรวจมีข้อมูลรู้พฤติกรรมว่าเป็นเช่นไร ก็เลยไม่รับรอง

 

กรณีฝ่ายตรงข้ามที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่คณะทำงานได้ลงไปเยี่ยมด้วยหรือไม่

มีเจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยม แต่ไม่ใช่คณะของผม แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปเราก็ไป เพราะเราเป็นผู้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเป็นฝ่ายโจรหรือไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในฐานะเพื่อนมนุษย์บางทีเราก็ไปเยี่ยมไปดูแล

 

คิดงานคณะทำงานชุดนี้มีความสำคัญ มีส่วนในการช่วยต่อสถานการณ์อย่างไร

อันนี้แน่นอนเพราะแม่ทัพภาคที่ 4 เห็นว่า เรื่องเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญ เรียกว่า ระบบเมตตาธรรม คือเราจะไม่มองว่าเป็นโจรหรือไม่ แต่ถ้าช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันก่อน ซึ่งตามแนวการเมืองนำการทหาร ถ้าเป็นไปได้เราไม่อยากออกไปยิงต่อสู้ อยากให้มาคุยกันมากกว่า

การต่อสู้ลักษณะนี้ นอกจากทหารเสียชีวิตแล้ว ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย เราจะทำอย่างไรเพื่อจะให้มีการพูดคุยกัน เพราะการต่อสู้อย่างนี้ นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน

คณะทำงานชุดนี้ทำงานหลายเรื่องในพื้นที่ อย่างตอนนี้กรณีการตายของนายสุไลมาน แนซา ที่เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เราก็เข้าไปดูแล ก็ได้มีตั้งคณะกรรมการพิจารณาการตายในหลายส่วน ผลจะออกมาในช่วงปลายเดือนนี้ โดยทางคณะกรรมการให้กรรมการแต่ละเขียนความเห็นเป็นรายคน แล้วเอาไปประมวลอีกที

ส่วนผมซึ่งเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย ก็คงต้องเขียนความเห็นที่สอดคล้องกับแพทย์ที่ชันสูตรขั้นต้น เนื่องจากเราไม่มีความชำนาญในเรื่องการชันสูตรศพ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ก็คงสรุปความเห็นไปในทำนองเดียวกับการชันสูตรของแพทย

 

แล้วอนาคตการเยียวยาควรจะเป็นอย่างไร

การให้ค่าชดเชยด้วยเงินก็เป็นการเยียวยาก็จริง แต่การเยียวยาต้องมีความต่อเนื่อง หมายความว่า ต้องดูแลด้านจิตใจตลอด ที่สำคัญต้องมีความเห็นอกเห็นใจ บางครั้งเราลงไปเยี่ยม เขาก็จะรู้สึกดี อย่างพลทหารที่ปลดไปแล้ว2 ปี จู่ๆ ก็มีคณะไปเยี่ยม ถามว่า เขาจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือไม่

ส่วนคนที่ตายแล้ว เราไปเยี่ยมที่บ้าน พ่อแม่เขาจะรู้สึกอย่างไร ที่รัฐยังนึกถึงเขา รัฐยังนึกถึงว่าเขาได้ช่วยรัฐ ประชาชนก็เหมือนกัน เขาจะนึกว่ารัฐมีความห่วงใยต่อเขา

จุดนี้เราให้ความสำคัญมากในเรื่องการเยียวยา รวมทั้งในที่ประชุม กยต. ที่มีนายสาทิต วงห์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ให้เน้นเรื่องการเยี่ยมเยือน การเยียวยาไม่ใช่ให้แต่เงิน ต้องให้ความเห็นอกเห็นใจ ก็คิดว่าเป็นแนวทางที่น่าทำ

ในปีหน้าก็จะมีงบประมาณในส่วนนี้ โดยทางแพทย์หญิงเพชรดาว จะลงไปเยี่ยมไปดูแลเรื่องสุขภาพจิต เพราะครอบครัวที่ยังเครียดอยู่ สามีตายเหลือเมียกับลูก ก็เอานักจิตวิทยาหรือหมอไปพูดคุย

 

สรุปก็คืองานเยียวยาต้องต่อเนื่อง ต้องลงไปเยี่ยมให้บ่อย ยิ่งบ่อยยิ่งดี

ถูกต้อง เพราะคนที่สูญเสียบางคนเป็นตัวหลักของครอบครัว เมื่อขาดเขาไปแล้วครอบครัวก็ลำบาก บางคนพิการ ทำให้ภรรยาแทนที่จะไปทำมาหากินได้ก็ต้องออกจากงานมานั่งเฝ้าสามี มีอยู่รายหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาส คือสามีพิการ เขาต้องเลิกค้าขายเพื่อมาคอยดูแล รายก็ได้ก็ขาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net