Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันอังคารที่ผ่านมา (28 ก.ย.2553) มีพี่ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าว่ามีหนังสือเล่มใหม่ออกมา บิดเบือนประวัติศาสตร์อีกแล้วโดยเฉพาะกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่8 ผู้เขียนชื่อ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เหตุที่คุณพี่ท่านนั้นโทรศัพท์มาเล่าเพราะทราบดีว่าคุณพ่อ (สุพจน์ ด่านตระกูล) ของข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ติดตามและนำเสนอข้อมูลในเรื่องกรณีสวรรคตมาอย่างที่ สื่อมวลชนบางท่านนินทาว่า กัดไม่ปล่อย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานจนได้รับรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในฐานะนักเขียนดีเด่น จึงแสดงความคิดเห็นว่าข้าพเจ้าน่าที่จะนำข้อเท็จจริงมาตอบโต้ เพื่อที่ผู้อ่านจำนวนมากจะได้ไม่เข้าใจผิดตามถ้อยความที่ไม่ตรงกับความจริง ของ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยโดยเฉพาะข้อมูลบางตอนที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนและ www.matichon.co.th อยู่ในเวลานี้

อันนามผู้เขียน วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยนี้ เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยในแง่ที่งานเขียนของเธอหลายชิ้นได้ถูกคุณพ่อของ ข้าพเจ้านำมาวิพากษ์วิจารณ์ และโต้แย้งในหลายๆกรณีที่เธออาจเข้าใจคลาดเคลื่อน (หรือจงใจก็ไม่ทราบ)เช่นหนังสือเรื่อง ข้าวของพ่อ ในหน้า 42 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่2) เธอได้เขียนบรรยายไว้ว่า
 
หลังสงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นนั้นก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน
ข้าวไม่เพียงแต่เลี้ยงคนไทยให้ อยู่รอด ไม่อดตาย และผ่านสงครามอันร้ายกาจมาได้เท่านั้น ข้าวยังได้ช่วยชาติให้พ้นภัยในฐานะผู้พ่ายแพ้อีกด้วย
 
แต่จากเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ได้กลับตรงกันข้าม
 
1.    ประเทศไทยไม่เคยตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ทำให้เราสามารถประกาศสันติภาพได้ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1945 และท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้ประกาศในนามของประชาชนชาวไทยว่าการประกาศสงคราม ของไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ รัฐบาลไทยต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย และได้มีงานเฉลิมฉลอง แต่ต่อมาในยุคเผด็จการครองเมือง และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ วันชาติ 24 มิถุนายน และ วันสันติภาพ 16 สิงหาคม ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน จนกระทั่งในวันที่ 10  มิถุนายน 2545 จึงได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ที่ตั้งอยู่ ณ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม (อ่านเพิ่มเติมได้จาก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 171/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์) และต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันสันติภาพไทย ทุกวันที่ 16 สิงหาคม เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน (2553)
 
2.    ที่วิมลพรรณ เขียนว่าไทยถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน นั้น ความจริงไม่ใช่ปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน แต่เป็นจำนวนทั้งหมด 1.5 ล้านตัน ไม่ใช่ต่อปี (ให้ครบ 1.5 ล้านตันเมื่อไรก็จบกัน)
แต่สุดท้ายแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 1946 อังกฤษยอมปรับปรุงสนธิสัญญาข้อนี้เป็นให้ไทยขายข้าวในราคาถูกให้อังกฤษ 1.2 ล้านตันแทนการให้เปล่า โดยความสามารถของรัฐบาลไทยในขณะนั้น (ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี) ที่ได้ทำการเจรจาเป็นผลสำเร็จสรุปว่าไทยต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเปล่าๆทั้งหมด เพียง 150,000 ตัน เท่านั้น (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก-หนังสือไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของดิเรก ชัยนาม
-วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจข้าวในภาคกลางกับผลกระทบต่อสังคมไทย ช่วงพ.ศ.2460-2498 ของ ธรรมรักษ์ จำปา
-หนังสือการวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495 (2527) ของดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล
-เว็บไซด์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้าฯ)
เอกสารหลักฐานสำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ หนังสือแจกในงานศพของนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งท่านได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ไว้ด้วยตัวเอง ว่าดังนี้
 
“.........ก็พอดีวันหนึ่ง จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้โทรศัพท์เชิญข้าพเจ้า (นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ให้ไปพบที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็ได้ส่งโทรเลขของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้ข้าพเจ้าอ่าน ซึ่งมีความเป็นทำนองหารือมาว่า หากประเทศไทยจะเสนอให้ข้าวแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสัก 1,200,000 ตัน หรือ 1,500,000 ตัน (จะเป็นจำนวนไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนหนึ่งใน 2 จำนวนนี้) โดยไม่คิดมูลค่าจะได้หรือไม่ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความในโทรเลขดูตลอดแล้ว ก็วิตกกังวลมาก เพราะว่าการให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวนมากเท่ากับการขายข้าวส่งออกนอก ประเทศของเราในยามปกติตลอดปี มันเท่ากับเป็นค่าปรับสงครามนั่นเอง เพราะจะเป็นเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทย คือจะเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท และนอกจากนั้นแล้วข้าวจำนวนนี้จะมีพอให้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เพราะในระหว่างสงครามนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศดังเช่นยามปกติก็ตาม แต่ทหารญี่ปุ่นก็ได้มากว้านซื้อเอาไปหมด ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องไปหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก่อน นายปรีดี พนมยงค์จึงกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องรีบตอบ กว่าจะสอบสวนอาจจะเสียเวลานาน ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าตกลงว่า ไหนๆอังกฤษและอเมริกาก็ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และไหนๆม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้เสนอให้เขาไปแล้วก็ควรตอบไปว่า เห็นควรรับได้ในหลักการ ส่วนเรื่องจำนวนที่จะให้นั้น จะได้ตกลงพิจารณาในภายหลังจะได้หรือไม่? ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงยอมตกลงที่จะให้มีโทรเลขตอบไปเช่นนั้น”
 
ข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน หรือ 1.5 ล้านตัน ที่จะให้แก่สัมพันธมิตรฟรีๆนั้น เป็นข้อเสนอของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้ปรากฏอยู่ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ 14(ความตกลงสมบูรณ์แบบ เป็นข้อตกลงที่ไทยลงนามกับอังกฤษเมื่อ 1 มกราคม 2489 โดยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เพื่อชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษภายใน 1 กันยายน 2490) แต่ต่อมาเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้แก้ปัญหานี้จากการให้ฟรีเป็นการซื้อขาย ดังปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม 2489
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลให้รอบด้าน หรือจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้มีอคติต่อวิมลพรรณ เป็นการส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเขียนยืนยันสัจจะ ตามหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน เพราะหนึ่งเป็นหน้าที่ของลูกที่จะสานต่องานเผยแพร่สัจจะของผู้เป็นพ่อ และสองเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้รักสัจจะทุกคนที่ต้องช่วยกันเผยแพร่ความจริง นี้ออกไป เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาค้นคว้าของเยาวชนในอนาคต
 
ในกรณีหนังสือออกใหม่ของเธอ เรื่องเอกกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าได้ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของรัชกาลที่8 ตอนหนึ่งของหนังสือเล่ม 2 หน้า 29 บอกว่า
 
“.....การสอบสวนชันสูตรพระบรมศพของ ตำรวจในครั้งแรกก็ทำอย่างหยาบๆไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่แรก เมื่อจะมีการแถลงการณ์ให้เป็นที่รับทราบของประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ ถามหลวงนิตย์ว่า แถลงว่าสวรรคตเพราะพระนาภี (ท้อง) เสียได้หรือไม่ หลวงนิตย์ฯตอบว่า ไม่ได้
หลวงเชวงศักดิ์สงครามถามว่า เพราะโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ปฏิเสธอีก จะออกแถลงการณ์ว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงคัดค้าน รับสั่งให้แถลงการณ์ตามที่เป็นจริง นายกรัฐมนตรี (นายปรีดี พนมยงค์) จึงแถลงการณ์ว่า “เป็นอุบัติเหตุ” ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการสืบสวนตาม กฏหมาย โดยอ้างว่าขัดกับประเพณีแต่อย่างใด”
 
ส่วนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงตามคำให้การของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชบิดามาช้านาน เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่ามีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุ้นเคยกับในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองพระองค์
นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชวิศิษฏ์ได้ให้การไว้ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492 ดังนี้
 
“ขณะที่ขึ้นไปถวายบังคมนั้น พลโทพระศิลปศัสตราคม เป็นผู้ที่ร้องไห้ดังๆ ซึ่งใครๆในที่นั้นเหลียวไปดู แล้วพระรามอินทราจะพูดกับนายกรัฐมนตรีหรือใครจำไม่ได้ว่าใคร่จะขอชันสูตรพระ บรมศพ แต่กรมขุนชัยนาทฯห้ามมิให้กระทำ
 
เกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังนั้น นายทวี บุณยเกตุได้จดบันทึกไว้โดยละเอียดว่าใครมีความเห็นอย่างไร
กรมขุนชัยนาทฯในฐานะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ปรารภกับท่านหญิง แก้ว (มจ.อัปภัสราภา เทวกุล) เป็นการส่วนพระองค์ว่า “เรื่องนี้ (หมายถึงกรณีสวรรคต)ต้องให้ท่านนายก (ท่านปรีดี) ช่วย”
ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีและคนอื่นๆเข้าไปที่พระที่นั่งพระบรมพิมานแล้ว และปรึกษากันว่าจะแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงเหตุแห่งกรณีสวรรคตว่าอย่างไร
 
ขณะนั้นกรมขุนชัยนาทฯกำลังประทับยืนอยู่ที่อัฒจันทร์บันไดใหญ่ได้ออกความ เห็นว่า “สวรรคตเพราะประชวรพระนาภี”พร้อมกับเอานิ้วชี้ที่ท้องของพระองค์เองเป็นการ ออกท่าทาง
 
ต่อความเห็นของกรมขุนชัยนาทฯดังกล่าวนี้ ท่านปรีดีฯไม่เห็นด้วยและมีความเห็นแย้งว่า พระองค์สวรรคตโดยมีบาดแผลและเสียงปืนที่ดังขึ้นก็มีคนได้ยินกันมาก ฉะนั้นจะแถลงการณ์ว่า สวรรคตเพราะประชวรพระนาภีไม่ได้
 
ในที่สุดจึงได้มีแถลงการณ์ออกมาว่าเป็นอุปัทวเหตุ โดยได้รับความเห็นชอบจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดังปรากฏในบันทึกของกรมตำรวจลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และได้นำมาเปิดเผยต่อมหาชนในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในสมัยรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ดังหลักฐานในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2490 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
 
“วันนี้เวลา 15 น.มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ พระวรวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ พระองค์เจ้าวรรณ พระองค์เจ้าธานี กับท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายท่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปชุมนุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างชุมนุมดังกล่าว อธิบดีกรมตำรวจได้ทูลขอประทานความเห็นของสมเด็จกรมขุนชัยนาท ได้รับสั่งว่า สำหรับพระองค์ท่านเองทรงเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุจริงดังแถลงการณ์ของทาง ราชการ เหตุผลที่ชี้เช่นนั้นก็เพราะพระองค์ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระแสงปืนมาก และเคยเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระชากพระแสงปืนและทรงหันลำกล้องเอา ปากกระบอกมาทางพระพักตร์ เพื่อส่องดูลำกล้องและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่าปืนประบอกนี้ไกอ่อน ลั่นง่าย จึงบันทึกไว้ พ.ต.ท. (ลิมอักษร)” 
 
ซึ่งหลักฐานนี้ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของนายสุพจน์ ด่านตระกูลผู้เป็นบิดา ถ้าคำให้การของหลวงนิตย์ฯตามที่คุณพ่อนำมาเขียนไว้นั้นไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หลวงนิตย์ฯน่าจะทำการฟ้องร้องว่าคุณพ่อหมิ่นประมาท เขียนความเท็จเสียนานแล้ว เพราะขณะที่หนังสือของคุณพ่อออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 หลวงนิตย์ฯยังมีชีวิตพำนักอยู่บ้านเลขที่ 813 ซอยธนาคารศรีนคร ถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ  และคุณพ่อของข้าพเจ้าก็ไม่ใช่บุคคลร่อนเร่พเนจร แต่มีหลักแหล่งอยู่อาศัยที่แน่นอน และหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใต้ดินหากพิมพ์จำหน่ายวางแผงตามท้องตลาดโดย ทั่วไป ถ้าหลวงนิตย์คิดจะติดตามหาตัวคุณพ่อข้าพเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ตรงกันข้ามหลวงนิตย์ฯกลับให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์พิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ว่า
 
“ผมขอชมเชยหนังสือปกขาว (ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต) ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่เขียนไว้ในหน้า 103-108 เกี่ยวกับลักษณะของพระบรมศพ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ทั้งๆที่ส่วนตัวของผมเองก็ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาคุณสุพจน์มาก่อนเลย”
 
คำชมเชยของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าข้อมูลในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่เขียนโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้นเป็นความจริง 
 
และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเล่ม 2 หน้า 40 เขียนว่า
 
หลังการชันสูตรพระบรมศพแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฏว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด คือ
ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด 16 เสียง
ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 14 เสียง
อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงอดุลย์เดชจรัส และ นายดอล ที่ปรึกษาการคลัง ไปพบ นายปรีดีบอกนายดิเรกว่า ได้ทราบว่ามีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้ง 4 คน คือ นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลย์เดชจรัส และนายดอล เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียวไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรก และนายดอลไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงได้ขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดร์เบิร์ก(ซึ่งได้รับเชิญร่วมชันสูตรพระบรมศพ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) แจ้งแก่พระยาดำรงแพทยาคุณว่าจำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตาม วินัย
 
และรศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 28 กันยายนว่า ผู้เขียน (วิมลพรรณ)ได้ค้นข้อมูลจากลอนดอน ได้ข้อสรุปว่า ได้มีการโทรเลขจากสถานทูตอังกฤษในไทยไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเรื่องการเจรจาขอให้แพทย์อังกฤษงดออกความเห็นการชันสูตรพระบรม ศพ ตรงนี้คือหลักฐานใหม่ที่คนไทยจะได้รู้
ผู้อ่านหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มาถึงตอนนี้อาจจะตื่นเต้นตามรศ.ดร.สุเนตร ไปด้วยถ้าไม่เคยอ่าน คำให้การของหลวงนิตย์ฯในหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของนายสุพจน์ ด่านตระกูล ถ้าอ่านแล้วจะทราบดีว่า เป็นหลักฐานใหม่หรือไม่ อย่างไร เพราะคำให้การของหลวงนิตย์ฯต่อศาลสถิตยุติธรรมในฐานะพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 ว่าดังนี้
 
“ในคืนวันที่ 25 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบท่าช้างว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไปที่ทำเนียบทันที ไปถึงทำเนียบเข้าใจว่าเป็นเวลาไม่เกิน 21 นาฬิกา พบท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้ต่อว่าข้าพเจ้าว่าทำไมแพทย์ชันสูตรพระบรมศพแล้วจึงต้องออกความเห็น ด้วยว่า กรณีเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น ตามธรรมดาที่ปฏิบัติกันกันในเมืองไทยนี้ แพทย์จะแสดงความความเห็นได้แต่เพียงว่า การตายเกิดจากอะไร แผลเข้าทางไหนออกทางไหน ถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่อย่างไร จึงทำให้ตายเท่านั้น การที่แพทย์ออกความเห็นเลยไปเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าจึง เรียนตอบว่า ไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น ท่าน พูดต่อไปว่า แพทย์ฝรั่งที่เชิญมาร่วมชันสูตรพระบรมศพนั้นก็ทำเกินหน้าที่ของแพทย์ไปด้วย และเป็นการนอกเหนือจากข้อความในหนังสือที่เชิญมาชันสูตรพระบรมศพและท่านได้ ปรารภต่อไปว่า ก็ควรจะให้แพทย์ฝรั่งทราบว่าที่ออกความเห็นเช่นนั้นไม่ถูก ควรจะถอนความเห็นไปเสีย และได้สั่งให้นายดิเรก ชัยนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งถูกเรียกไปด้วย ให้ไปจัดการเรื่องนี้กับฝรั่งต่อไป ข้าพเจ้ากลับจากทำเนียบเวลาประมาณ 22-23 นาฬิกา เมื่อข้าพเจ้ากลับมาแล้ว นายดิเรกจะยังอยู่หรือไปก่อนแล้วข้าพเจ้าจำไม่ได้
รุ่งขึ้นวันที่26 เดือนเดียวกันนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เริ่มประชุมเวลา 9.30 นาฬิกา เท่าที่จำได้มีกรรมการแพทย์มาประชุมครบเหมือนวันก่อน พอเปิดประชุมพันเอกไดรเบอร์กก็แถลงต่อที่ประชุมว่า เขามีความเสียใจในฐานะเป็นนายแพทย์อยู่ในกองทัพอังกฤษ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจะเกี่ยวข้องในทางการเมือง และได้ทราบจากเอกอัครราชทูตอังกฤษว่าที่กระทำไปนั้นไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะ ฉะนั้นเขาขอถอนความเห็นของเขา ที่เป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีให้นายดิเรก ชัยนามไปจัดการ และนายดิเรก ชัยนามคงพูดกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่พันเอกไดรเบอร์กขอถอนความเห็นนี้ ขอถอนความเห็นของนายแพทย์กองทัพอังกฤษทั้งคณะ คือรวมทั้งพันโทรีสและร้อยเอกคุปต์ด้วย ในหน้ากระดาษความเห็นที่มีขีดฆ่านั้น ใครขีดฆ่าไม่ทราบ
ในคราวประชุมวันที่ 25 พันเอกไดรเบอร์กได้รับว่า จะเรียบเรียงรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์แจก ในวันที่ 26 ก็ไม่ได้ขอถอนหรือของดแต่อย่างใด คงขอถอนเฉพาะความเห็นเท่านั้น รุ่งขึ้นวันที่ 27 ก็ส่งบันทึกมาให้ (โจทก์ขอให้พยานดูบันทึกรายงานการประชุมภาษาอังกฤษที่ดร.ไดรเบอร์กเรียบ เรียง พยานดูแล้วรับรองว่าถูกต้อง).....”
 
จากคำให้การของหลวงนิตย์ฯ ต่อศาลสถิตยุติธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า หลวงนิตย์ฯ ผู้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และดำรงตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมการแพทย์ยังมีความคิดเห็นตรงกับท่านปรีดีฯ ว่าไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น
 
 
และการที่ท่านปรีดีฯได้แสดงความเห็นว่าขอให้นายแพทย์กองทัพอังกฤษถอนความ คิดเห็นไปเสียนั้น ไม่ใช่ให้ถอนเฉพาะแพทย์อังกฤษ แต่รวมถึงนายแพทย์คนไทยทุกคนด้วย และเป็นการกระทำที่เปิดเผยตามขั้นตอนทั่วไป คือให้นายดิเรก ชัยนาม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ไปชี้แจง มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนเป็นหลักฐานใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด
 
 
การที่ข้าพเจ้าหยิบยกคำให้การของหลวงนิตย์ฯ มาแสดงเพราะหลวงนิตย์ฯเป็นแพทย์คนแรกที่ได้เห็นพระบรมศพ และที่สำคัญเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการรักษาพยาบาลแก่ราชตระกูล มหิดลอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นคำให้การของหลวงนิตย์ฯย่อมเป็นคำให้การที่เป็นความสัตย์ และต้องยึดประโยชน์ในการสืบสวน สอบคดีเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลใดที่หลวงนิตย์ฯผู้จงรักภักดีจะให้การเป็นเท็จ
 
 
คุณพ่อของข้าพเจ้าได้เขียนตอบโต้ผู้ฝ่าฝืนสัจจะ บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 ไม่น่าเชื่อว่าจนปี พ.ศ.2553 คุณพ่อของข้าพเจ้าได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรยังต้องมาเขียนชี้แจงความจริงในเรื่องเดียวกันอยู่อีก อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเชื่อเหมือนที่คุณพ่อของข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดชีวิตว่า
 

สัจจะยังคงเป็นสัจจะ และไม่มีผู้ใดสามารถทำลายล้างสัจจะแห่งคดีประวัติศาสตร์นี้ไปได้.

 

 

 

ที่มา:เว็บไซต์นิติราษฎร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net