Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนและคนจนเมือง กว่า 2,000 คน เคลื่อนขบวนวันที่อยู่อาศัยสากล ร้องยูเอ็น แก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนบึงกักเลก ในกัมพูชา ก่อนเข้าเจรจาสาทิตย์-อิสสระ เร่งกฎหมายผ่อนผันสร้างบ้าน ตามความคืบหน้าประกาศ 4 ชุมชน นำร่องโฉนดชุมชนในเขตเมือง 

 
 
วานนี้ (4 ต.ค.53) เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ตามที่องค์การสหประชาขาติได้ประกาศให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยสากล โดยได้มีการนัดรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อเวลา 08.00 น.และเริ่มตั้งขบวนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
 
จากนั้น ชาวชุมชนและคนจนเมือง กว่า 2,000 คน ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ อ่านรายงานข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อยื่นหนังสือถึง นายบัน คี มูน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ โดยมีนายมารินัส ดับบลิว ซิคเกิล (Marinus W. SIKKEL) ผู้แทน สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (UNESCAP) ออกมารับฟัง ท่ามกลางสายฝน
 
 
 
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุข้อเรียกร้องให้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ไปพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาชาวชุมชนบึงกักเลก เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จำนวน 3,000คน ซึ่งกำลังอยู่ในสถานการณ์ถูกบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานการพัฒนาที่ดินจากรัฐบาลกัมพูชา ไล่รื้อ 
 
ในเวลา 11.00 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลประตู 5 เพื่อเข้าเจรจากับผู้แทนรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยเครือขายสลัม 4 ภาค ส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล
 
ทั้งนี้ ผลการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีดังนี้ 1.กรณีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโครงการที่รัฐจัดให้มี หรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้รายได้น้อย พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ผู้แทนนายกรัฐมนตรีรับจะเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาและมีการประกาศใช้ได้ภายในปี 2553 นี้
 
2.การประกาศชุมชนนำร่องโฉนดชุมชนในเขตเมืองจำนวน 4 ชุมชน คือ ชุมชนเพชรคลองจั่น, ชุมชนหลวงวิจิตร, ชุมชนโรงหวาย และชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ที่ประชุมมีการรับที่จะประกาศให้เป็นชุมชนนำร่องโดยใช้นโยบายโฉนดชุมชน และจะเจรจาทำความเข้าใจกับผู้บริหาร กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ 3.การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ที่ประชุมจะเร่งให้เข้า ครม.ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีงบประมาณประเดิมกองทุนจำนวน 167 ล้านบาท
 
4.กรณีโครงการบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน ที่ประชุมสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านโดยจะนำเข้า ครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณและนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน และรับที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อมากำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกันระหว่างคนไร้บ้านและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะตั้งคณะกรรมการภายในเดือนตุลาคมนี้
 
5.กรณีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รัฐบาลรับจะนำข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไปปรับปรุงเนื้อหาร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน 6.กรณีข้อเรียกร้องเรื่องนำภาษีมรดกให้เป็นแหล่งรายได้รัฐบาลที่จะนำมาจัดสวัสดิการให้กับคนจน รัฐบาลรับปากจะนำเรื่องเข้าไปหารือในรายละเอียด
 
7.ในเรื่องการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.หลักประกันชราภาพแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนผลักดันเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุเดือนละ 1,500 บาทต่อเดือน รัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอแต่ติดที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการให้ได้
 
หลังจากนั้น นายสาทิตย์ และนายอิสสระ ได้เดินทางออกมาแจ้งผลการเจรจากับชาวบ้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณประตูด้านข้างทำเนียบรัฐบาล
 
 
 
ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสาทิตย์ กล่าวว่า ประเด็นที่เครือข่ายฯ เสนอมา เป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด บ้านมั่นคง โฉนดชุมชน คนไร้บ้าน และธนาคารที่ดิน อยู่แล้ว การเจรจาจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่จะขอยืดเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทำงานก่อน อาทิ การกำหนดให้รัฐเร่งและประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นผ่อนผันการควบคุมอาคารสำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกฎกระทรวงได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขอให้กฤษฎีกาได้ทำงานคาดว่าจะได้ประกาศใช้เร็วๆ นี้ 
 
ส่วนกรณีให้รัฐบาลคัดเลือกชุมชนเพชรคลองจั่น ชุมชนหลวงวิจิตร ชุมชนโรงหวาย และชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะของกรุงเทพฯ เป็นชุมชนนำร่องในการออกโฉนดชุมชนภายในเดือนตุลาคม 2553 นั้น จะมีการนัดประชุมกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน ที่ตนเองเป็นประธาน ในสัปดาห์หน้า จะได้ทราบความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร หากไม่ติดขัดใดๆ ทั้ง 4 ชุมชนที่ขอมา ก็จะกลายเป็นต้นแบบในการออกโฉนดชุมชนในเมืองได้ ส่วนกรณีธนาคารที่ดินที่เครือข่ายเสนอตั้งกองทุน 30,000 ล้านบาทมานั้น ปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบไว้ จึงแนะนำไปว่าอาจจะเลือกแบบที่ไม่ใช้งบมากก่อน คือ ประมาณ 100 ล้านบาท ซื้อที่ดินทางภาคเหนือ เป็นต้น 
 
 
สอช. จี้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมพื้นที่ เอื้อให้คนจนได้ปลูกบ้าน
 
ขณะที่เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน (4 ต.ค.53) นายสมชาย นาคเทียม ผู้ประสานงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) พร้อมด้วยเครือข่ายประมาณ 200 คน ในฐานะตัวแทนกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องการจัดสรรที่ดิน ในการปลูกบ้านทั่วประเทศกว่า 4,000 คน ได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันสวมเสื้อสีเขียว พร้อมถือป้ายรณรงค์และใช้เครื่องขยายเสียงในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม 
 
แกนนำกลุ่ม สอช. กล่าวว่า วันนี้ตนได้นำกลุ่มสอช.มาเรียกร้องรัฐบาล คือ 1.อยากให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมพื้นที่ในการปลูกสิ่งก่อสร้าง ให้เอื้อกับประชาชนที่มีฐานะยากจน โดยให้ประชาชนที่มีที่ดินขนาดเล็กสามารถปลูกบ้านได้ 2.ในโครงการพัฒนารถไฟ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีที่พักอยู่ริมทางรถไฟ จึงอยากให้ทางการรถไฟเข้ามาแก้ปัญหา โดยการให้อยู่ประชาชนในบางส่วน
 
นายสมชาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินจำนวน 9,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง และใช้เงินไปเพียง 6,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือเงินอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้ตนได้นำกลุ่มประชาชนมาเรียกร้องเงินในส่วนที่เหลือ โดยมีนายจิตติชัย แสงทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้กลุ่ม สอช.จะเดินขบวนไปเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย และสิ้นสุดที่กระทรวงคมนาคม
 
 
 
4 ตุลาคม 2553
 
ฯพณฯ ท่าน บัน คี-มูน
เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ
สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
สหรัฐอเมริกา
 
เรียนท่านเลขาธิการ
 
            เราคือเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นองค์กรของคนจนเมือง ชาวสลัม และคนไร้บ้านในประเทศไทย เรากำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนเมือง พวกเรามาที่นี่ อาคารยูเอ็นเอสแค็ปนี้ เพื่อร่วมระลึกถึงวันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2553 และเพื่อยื่นข้อเรียกร้องด่วนต่อท่าน ในฐานะเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ขอให้ท่านใช้อำนาจอันชอบธรรมของท่านในการหาทางออกที่เหมาะสมแก่ปัญหาการไล่รื้อที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ใกล้ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
 
            ในขณะที่ความพยายามอันดับแรกของเครือข่ายสลัมสี่ภาคนั้นมุ่งไปยังการบรรลุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียงและมั่นคงสำหรับประชาชนที่อยู่ชายขอบที่สุดในประเทศไทยนั้น เราตระหนักดีว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ที่นี่เหมือนกัน ยิ่งกับปัญหาที่คุกคามต่อความเป็นอยู่และกระทั่งการดำรงอยู่ของพี่น้องคนจนเมืองของเราในประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ เราเข้าใจดีถึงความสำคัญของความสมานฉันท์ทางสากลระหว่างคนจนเมืองทั่วโลก ที่จะต้องร่วมกันคัดค้านต่อการท้าทายเหล่านี้ ซึ่งกระทบต่อพวกเราเหมือนๆ กัน และเรียกร้องในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรา หนึ่งในนั้นคือสิทธิในที่อยู่อาศัย
 
            เนื่องจากการมีส่วนร่วมของเราในความสมานฉันท์ทางสากล เราได้ติดตามด้วยความห่วงใยอย่างสูงในความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในบริเวณริมและรอบทะเลสาบบึงกัก ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายใต้สภาพการณ์ที่น่าเคลือบแคลงอย่างสูง รัฐบาลพนมเปญได้ให้สัมปทานที่ดินในบริเวณนี้เป็นเวลา 99 ปีแก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อนุญาตให้บริษัทถมทะเลสาบและพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้า ขณะเดียวกันได้โยกย้ายชาวบ้าน 4,000 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมและรอบทะเลสาบออกไป ทั้งที่จำนวนไม่น้อยได้อาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 20-30 ปี ภายใต้การกดดันอย่างหนัก มีกว่า 1,000 ครอบครัวแล้วที่ได้ถูกบังคับให้ย้ายออกไป แต่ยังมีอีกกว่า 2,000 ครอบครัวที่ยังคงอยู่และปรารถนาจะหาทางออกที่จะอนุญาตให้พวกเขาได้คงอยู่ในพื้นที่ ที่ซึ่งแหล่งงาน โรงเรียน และเครือข่ายทางสังคมของพวกเขาตั้งอยู่
 
            น่าเสียดายที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลกัมพูชาได้สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทเอกชนในการใช้การข่มขู่คุกคาม บีบบังคับและใช้กำลังขับไล่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบบึงกักให้ไปพ้นจากบ้านเรือนของตน ปัญหายากขึ้นเพราะยังไม่มีการจัดหาที่อยู่ใหม่หรือจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม
 
            เราเข้าใจดีว่าท่านมีแผนการเดินทางเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 27-28 เดือนตุลาคม 2553 ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อท่านว่า ขอให้ท่านได้พบปะกับชาวบ้านรอบทะเลสาบบึงกัก และองค์กรทางสังคมต่างๆ ที่ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ เพื่อจะได้พูดคุยเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พวกเขากำลังประสบอยู่ และช่วยหาทางทำให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการสนใจแก้ไขโดยรัฐบาลกัมพูชา ด้วยจุดมุ่งหมายให้บรรลุถึงซึ่งความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
 
            ปีนี้ หัวข้อของสหประชาชาติสำหรับวันที่อยู่อาศัยสากลคือ “เมืองดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น” แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าทัศนะของรัฐบาลกัมพูชาต่อเมืองที่ดีขึ้นนั้นยังกีดกันความเป็นไปได้ของชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน 4,000 ครอบครัวรอบทะเลสาบบึงกัก เพื่อทำให้การพัฒนาเมืองมีความหมายเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมืองอย่างเป็นจริง ผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ นั้น อย่างน้อยที่สุดต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อสิ่งที่จะกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เราหวังว่าท่านจะเข้าใจความจริงของหลักการข้อนี้ และยินดีที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยให้เสียงของประชาชนชาวบึงกักดังไปถึงหูของรัฐบาลกัมพูชา เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่น่าพอใจในความขัดแย้งนี้
 
            สมาชิกเครือข่ายสลัมสี่ภาคจำนวน 500 คนจะกลับมาที่อาคารยูเอ็นเอสแค็ปนี้อีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2553 เพื่อรับฟังผลการตัดสินใจของท่านว่า ท่านจะสามารถพบปะกับตัวแทนชุมชนต่างๆ รอบบึงกักและองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือพวกเขาในระหว่างการเยือนกัมพูชาของท่านในวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ได้หรือไม่ เราหวังว่าจะได้รับคำตอบที่น่ายินดีจากท่านในเวลานั้น
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
( นายจิตติ เชิดชู )
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net