Skip to main content
sharethis

วันที่ 6 ตุลาคม ปี2553 นอกจากเป็นวันครบรอบ 34 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเกิดจากอาชญากรรมรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2519 แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาด้วย  ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง น้ำใจ และการระดมทุนจากบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ และมีประสบการณ์ร่วมกัน ภายใต้คำขวัญของการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ว่า “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม” โดยมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2539 สร้างเสร็จและเปิดก่อนหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาถึง  2 ปี นั่นหมายความว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในรูปของอนุสรณ์สถานนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้ง่ายๆในสังคมไทย หากเป็นเพียงอนุสาวรีย์ของสามัญชน

ประติมากรรมกลางแจ้ง 6 ตุลา มีลักษณะเหมือนเขื่อนกั้นสายธารที่น้ำเคยใสให้กลับกลายเป็นสีแดงของเลือด  มีโลหะฝังลงบนหินสีแดง ขนาดยาว 6 เมตร กว้าง 3  เมตร หมายถึงสายธารประชาธิปไตยถูกสะกัดกั้น ด้านหลังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์  และบันทึกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้น หากเดินจากมุมด้านซ้ายประติมากรรม แล้วค้อมหัวลงอ่านที่พื้นหินอ่อนสีดำ เวียนไปทางซ้ายทวนเข็มนาฬิกาจนมาบรรจบที่เดิม  ก็จะคารวะต่อวิญญาณวีรชน ณ ที่นั้นในเวลาเดียวกัน  อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์   สรุปเรื่องราวไว้อย่างไร ด้วย“ข้อความสั้นๆ” แต่มีความหมายลึกล้ำว่า “ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป”ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ฉบับเต็มนั้นชื่อว่าความรุนแรงและรัฐประหาร ตุลาคม 2519” มีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษซึ่งถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ มีการแจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐดังนี้

 

“......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม  2516  เมื่อ มีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์และกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาปถึงแม้ในกันยายนตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ เป็นเครื่องมือซึ่งจะได้กล่าวถึงในข้อ  20  และข้อต่อๆ  ไป

 

วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์  แม้ แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ .” ( จากเว็บไซต์ www.2519.net )

 

ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง   ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ  ในวันที่ 6 ตุลา 2519   เพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมโดยสงบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันเรียกร้องให้ขับไล่อดีตจอมพลถนอม กิตติขจรผู้หวนกลับเข้ามาในประเทศไทยออกไป   จนเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา  การสังหมู่ก็เริ่มต้น  จากกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยลามไปจนทั่วบริเวณ จากริมฝั่งเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ การเข่นฆ่าแผ่เป็นวงกว้าง   ผ่ารั้วมหาวิทยาลัยไปถึงต้นมะขามสนามหลวง  ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมสร้างสถานการณ์ก่อนหน้าการรัฐประหาร เพื่อสลายกลุ่มองค์กรพลังก้าวหน้าและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ผลักดันให้นักศึกษากว่า 3000 คน เดินทางสู่ป่าเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

........ตัวอักษรคำว่า ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นตัวเลขไทย และอักษรไทยแกะสลักบนหินแกรนิตสีแดง แสดงความหมายในตัวอย่างชัดเจน  สีแดงหมายถึงเลือดที่ตกสะเก็ด ตัวอักษรหยาบๆ ความนูนไม่เท่ากันบ่งบอก ถึงความหยาบกระด้างของการถูกกระทำ ถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุม  ภาพวีรชนที่จำลองจากภาพถ่ายจริง จากเหตุการณ์จริงๆในวันนั้น มีวีรชนวิชิตชัย อมรกุล ถูกแขวนคอ เขาเป็นนักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาทีมรักบี้ที่เอาการเอางานและมาทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม วีรชนจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกลากคอไปตามสนามฟุตบอลโดยผ้าขาวม้าของตัวเองที่พาดบ่าอยู่เป็นประจำ ภาพนักศึกษาหญิง ชาย และอีกหลายภาพอันทารุณดูน่าสลด มีภาพปั้นนูนต่ำของอาจารย์ป๋วย  อึ๊งภากรณ์   สะท้อนภาพความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกดกระแสการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีผลพวงมาจากยุคประชาธิปไตยเบ่งบานลงไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ องค์ปาฐกในงานรำลึก 34 ปี 6 ตุลาปีนี้  เสนอไว้ในปาฐกถาพิเศษพฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทยในงานสัมมนาเรื่องจาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท (ไม่) เรียนของเราเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

ถ้าถือว่า 6 ตุลา เป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยไม่มีวันลืม 6 ตุลา เพราะสังคมไทยไม่ได้จดจำ 6 ตุลา มาตั้งแต่ต้นหรืออย่างดีก็คือทำได้แค่จำเหตุการณ์นั้นแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แกมตะขิดตะขวงใจในความเจ็บปวดและโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวันนั้น

........6 ตุลามีความรุนแรงกว่าพฤษภา (2535) มีการเผาทั้งเป็น ทำร้ายศพ แขวนคอ ทรมานก่อนเสียชีวิต ฯลฯ    ปัญหาทางอภิปรัชญาที่โหดเหี้ยมขึ้นไปอีกก็คือเราจะเปรียบเทียบได้อย่างไรว่า ความตายและ คนตายในกรณีไหนโหดร้ายกว่ากัน.....หกตุลาถูกขุดคุ้ยและรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเพื่อพิสูจน์ความจริง ซ้ำการรื้อฟื้นหกตุลาก็ยังวนเวียนกับการชี้แจงซ้ำๆ ซากๆ ว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้รักความเป็นธรรมในความหมายทั่วไป เป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่อง เป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ไม่ใช่นักสังคมนิยม ฯลฯ  พูดในเชิงเปรียบเปรยก็คือในจินตนาการของสังคมทุกวันนี้ ภาพของคนที่ตายในเหตุการณ์หกตุลาและผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นอาจไม่ แตกต่างจากนักศึกษาที่ไปค่ายพัฒนาชนบทในปัจจุบัน  การตอบแบบนี้ดีทางการเมืองกับผู้ตอบ ดีต่อการต่อสู้เพื่อให้หกตุลามีที่ทางในประวัติศาสตร์ไทยแต่แฟร์กับคนที่ตายในวันที่หกตุลาจริงหรือ?   ถ้าแม้แต่นักศึกษาประชาชนที่ตายไปในวันนั้นเพียงคนเดียวที่เชื่อเรื่องสังคมนิยม เขาจะรู้สึกอย่างไรที่ในนามของการต่อสู้ทางการเมืองทุกวันนี้ เราบอกว่าเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น  พูดอีกอย่างคือคำตอบแบบนี้แสดงความผูกพันกับคนตาย หรือแสดงความพยายามสร้างความผูกพันระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้วกันแน่?

อันที่จริงอาจตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่า อะไรคือความหมายทางการเมืองของปริศนาทางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2519 ที่การฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งชีวิต จนถึงปี 2551 ที่การฆ่านักศึกษากลายเป็นความรู้สึกน่าอับอายในระดับสังคม   คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับหกตุลาแต่เกี่ยวกับการประเมินอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจนปัจจุบันและไปสู่อนาคต……”

ความทรงจำที่พร่ามัว บวกกับความหมายของการตายที่ถูกบิดเบือนไปทำให้บันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และเจตนารมณ์ 6 ตุลา ต้องผิดเพี้ยนไปจากความจริง ในช่วง 10 ปี ที่ชิ้นงานประติมากรรมที่ได้สร้างไว้ให้สังคมไทยจดจำจึงไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น  อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เคยกล่าวไว้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “ ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ”  อาจจะเป็นบทพิสูจน์ส่วนหนึ่งว่าอย่างน้อยก็ยังมีที่มีทางสำหรับอนุสรณ์ของสามัญชน วีรชนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ ด้วยการถ่ายทอดด้านที่อัปลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ….แต่นั่นยังไม่พอ  การเตือนสติดูจะไม่มีผลมากนัก  วันนี้สังคมไทยยังคงซึมซับกับประสบการณ์เดิมๆ เรื่องราวเดิมๆ การคุกคาม ปราบปราม เข่นฆ่า และอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งดูรุนแรงยิ่งกว่า แต่ขณะเดียวกันมวลชนกลับเข้มแข็งยิ่งขึ้น มีการกระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัด ไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะในกรุงเทพฯ  การสื่อสารต่างๆก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะมีความพยายามปิดสื่อทุกทาง ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ เหลือไว้แต่เครือข่ายเอเอสทีวีที่ทำงานเช่นเดียวกับวิทยุยานเกราะ

ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และประธานจัดงานรำลึก 23 ปี 6 ตุลา ที่ผลักดันให้การสร้างประติมานุสรณ์ 6 ตุลาสำเร็จเสร็จลงในปีถัดมา ได้สรุปถึงจุดเด่นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึง 10 พฤษภาคมปีนี้คือ

 

“……..1. คนเสื้อแดงได้พิสูจน์ว่าเป็นขบวนการของประชาชนชั้นล่างในการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเรื่องปากท้องและเพื่อประชาธิปไตยพร้อมกัน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 2535

           2. การต่อสู้ที่ยาวนาน ท่ามกลางกระสุนปืน หมอกควัน และข่าวที่ถูกบิดเบือนปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประชาชนจำนวนมาก มวลชนเสื้อแดงได้เรียนรู้วิธีจัดตั้งตนเอง วิธีเข้าถึงข้อมูล และวิธีกระจายข่าว ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ทำให้เขากลายเป็นผู้นำเอง มีความมั่นใจในการท้าทายอำนาจอำมาตย์ที่กดทับชีวิตของพวกเขามานาน เราอาจพูดได้ว่าเกือบจะไม่มีใครในขบวนการเสื้อแดงที่ยังคิดแบบเดิม ไม่มีใครเป็นทาสทางความคิดของลัทธิอำมาตย์

            3. การต่อสู้ที่เข้มแข็งของคนเสื้อแดงนี้ บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง เช่น ตำรวจและทหารเกณฑ์ เริ่มคิดหนัก หลายคนไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และอาจมีหลายคนที่คิดกบฏ นี่คืออาการของวิกฤตในการปกครองของรัฐอำมาตย์ เราอาจพูดได้ว่ารัฐอำมาตย์อยู่ได้ก็ด้วยการปราบปราม ขู่เข็ญ และการปิดกั้นข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความชอบธรรมเลยในสายตาประชาชนนับล้าน และในสายตาสื่อต่างประเทศและชาวโลกที่สนใจประเทศไทย......”

 

ขณะที่เสรีภาพของประชาชนถูกกระชับพื้นทีจนแทบไม่มีที่จะยืน อดีตเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกันหลายต่อหลายคนเมื่อ 6 ตุลา  ก็กลับเป็นปฏิปักษ์กัน ไม่เพียงแต่อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าเป็นสหาย หลายคนแปรตัวไปเป็นนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยม หลายคนไปรับใช้นายทุนสื่อ หรือแม้แต่อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลาบางคนก็ถึงกับทำหน้าที่ปลุกระดมผ่านสื่อเสื้อเหลืองให้ใช้กำลังความรุนแรงจัดการกับมวลชนคนเสื้อแดงเมื่อเมษา-พฤษภา อย่างเด็ดขาด ร่วมกันประกาศว่าต้องช่วยกันปกป้องสถาบัน พร้อมกับกล่าวหามวลชนเสื้อแดงว่าเป็น “พวกทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์”  คนที่เคยร่วมขบวนการรณรงค์ “เปิดประตูคุกให้เพื่อน” ทั้งในป่า ทั้งในเมือง และในหมู่คนไทยในต่างประเทศ เพื่อปลดปล่อยเพื่อนๆที่ถูกจับไป คงนึกในใจว่าไม่น่าปล่อยพวกทรยศต่อประชาชน พวกคลั่งชาติ พวกกระหายเลือดเหล่านี้ออกมาเลย

ความหมายของการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519  ปีนี้เราคงจะไม่ต้องถามหาว่า “...ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย ” อีกแล้ว  ความจริงคำถามเหล่านี้เราตอบได้เพราะฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กับ เมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ก็ไม่ได้ต่างกันเลย  มวลมหาประชาชนต้องสรุปบทเรียน เช็ดรอยเลือด เช็ดคราบน้ำตา ลุกขึ้นมาสู้กับพวกอมาตยาธิปไตยต่อไป สู้ทุกรูปแบบ สู้ทุกแนวรบ หากเราท้อแท้หรือยอมสยบพ่ายแพ้กับพวกมัน การตายของวีรชนก็จะเป็นการตายที่สูญเปล่า! ประติมากรรม ประติมานุสรณ์ หรือถาวรวัตถุใดๆ ก็คงไร้ประโยชน์  และไม่รู้จะต้องสร้างกันอีกกี่อนุสาวรีย์  กี่อนุสรณ์สถาน????  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net