Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหามาบตาพุด จะกลายเป็นมหากาพย์แห่งความขัดแย้งไม่ที่สิ้นสุดตราบใดที่รัฐบาลเล่นละครแหกตาประชาชนจัดฉากสร้างภาพว่าพร้อมเข้าไปแก้ไขปัญหาแต่ลับหลังซูฮกกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

หลังจากที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุดจำนวนรวม 43 รายได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553  และถัดมาอีก 5 วันเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2553 สมาคมฯกับชาวบ้านทั่วประเทศจำนวน 92 คนก็ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการประกาศกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงฯ ที่ถูกปรับลดลงเหลือ 11 ประเภทกิจการฯ อีกคดี   

การยื่นฟ้องคดีของสมาคมฯ และชาวบ้านมิใช่ต้องการจะค้าความตามการกล่าวอ้างของนักการเมืองบางคน แต่ทว่าต้องการแสวงหาความยุติธรรมจากกระบวนการตุลาการ ให้ปรากฏตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ว่าตามหลักกฎหมายมหาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นสุดท้ายแล้วศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาเป็นเช่นไร เพราะเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาปลดล็อคให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดที่ถูกฟ้องคดีเกือบ 76 โครงการ เดินหน้าต่อไปได้ ยกเว้นโครงการที่เข้าข่ายประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง โดยอ้าง 11 ประเภทกิจการฯ ที่คู่กรณีที่ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี มีความพยายามลุกลี้รุกรนรีบออกประกาศมาดักหน้าก่อนวันพิพากษาเพียง 2 วัน ทั้ง ๆ ที่ศาลปกครองกลางได้ยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2553 และเปิดศาลพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2553

ปมประเด็นปัญหาของโครงการที่เข้าข่ายประเภทกิจการที่อาจเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น มีปัญหาว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แสดงบทบาทหักดิบ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหามาบตาพุด 4 ฝ่าย ปรับลดกิจการที่อาจเข้าข่ายส่งผลกระทบรุนแรงเหลือเพียง 11 ประเภทกิจการ จากข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการชุดนายอานันท์ เสนอขึ้นไปนั้น นายอานันท์แสดงความเป็นทุกข์เป็นร้อนหรือเดือดร้อนแทนประชาชนทั้งประเทศเพียงใด    

กระทั่งกลายเป็นปมปริศนาว่า นายกรัฐมนตรีวัยละอ่อนกับอดีตนายกรัฐมนตรีอาวุโส ผู้มีรากเหง้ามาจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ร่วมมือกันเล่นละครแหกตาชาวบ้านมาตั้งแต่ต้นจนฉากสุดท้าย หรือว่านายทุนใหญ่อดีตนายกฯ ผู้กลับมาเห็นใจชาวบ้านถูกหลอกใช้กันแน่

ถ้านายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง เป็นตัวตั้งตัวตี ยืนกระต่ายขาเดียวให้นายกรัฐมนตรีทบทวน 11 ประเภทกิจการ แล้วกลับไปใช้ 18 ประเภทกิจการตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ จากผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว ก็น่าที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีเชื่อในเหตุผลที่เสนอขึ้นไปได้ สมาคมฯและชาวบ้านก็คงไม่ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลให้ยุ่งยากมากขึ้นต่อไป แต่ที่ผ่านมา นายอานันท์ ทำทีเป็นฮึดฮัดเล็กน้อยแล้วปล่อยให้นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีพร้อมคุย พร้อมให้เหตุผล ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า 11 ประเภทกิจการฯ นั้นดีแล้ว ครอบคลุมแล้ว

คำถามที่คาใจประชาชนทั้งประเทศก็คือ ทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ และนายอานันท์ เอาความเห็นของประชาชนที่สู้อุตส่าห์เอาภาษีของประชาชนอีกเหมือนกันเกือบ 10 ล้านบาทไปจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ไปไว้ที่ไหน

ใครๆ ก็รู้ว่า ปัญหามลพิษในเขตมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื้อรังมาพร้อมๆ กับการพัฒนาเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด นับจากรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบายผันเปลี่ยนพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวริมชายทะเลภาคตะวันออกอันสวยงามให้กลายเป็นเขตลงทุนอุตสาหกรรมหนักจวบจนบัดนี้  

ความรุนแรงของปัญหามลพิษปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีรัฐบาลไหนใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจังเพราะเกรงอกเกรงใจกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งกลุ่มทุนน้ำมัน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเหล็ก กลุ่มโรงงานไฟฟ้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มทุนที่ค้ำบัลลังก์รัฐบาลทางอ้อม เพราะการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่เหล่านั้นได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต รัฐบาลสามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยรวม ทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวกว่า 10 % เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อนจากปัญหามลพิษและถูกแย่งชิงทรัพยากรและทำลายทรัพยากรดั่งเดิมไปอย่างไม่เหลือสภาพเดิม เช่น ทรัพยากรน้ำ ที่ต้องไปไปขโมยมาจากภาคเกษตรกรรมมาป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อนเป็นอันดับแรก กระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดแกนนำการต่อสู้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรม แต่แกนนำและมวลชนที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่ว่าจะเป็นยุคคัดค้านโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมเจนโก้ ที่มวลชนฝ่ายคัดค้านถูกยิงดับปริศนา หรือช่วงต้านกลุ่มทุนทีพีไอ ยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลก่อนถูกเล่ห์เหลี่ยม “ทักษิณ” หักเขี้ยวเล็บ จนมาถึงการลุกขึ้นสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในวันนี้ ก็ล้วนต่างต้องเผชิญแรงกดดัน ถูกข่มขู่คุกคามหมายเอาชีวิตไม่มีเว้น

ที่สำคัญ คือการใส่ร้ายป้ายสี ดีสเครดิตจากสื่ออาวุโสและกลุ่มทุนที่ชอบทำลายทรัพยากรฯ ให้การออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้นั้นไม่ให้มีความชอบธรรมต่าง ๆ นานาสารพัดวิชามารในการดิสเครดิต จนทำให้ดูเหมือนเป็นพวกที่ “คุยยาก” หรือ “คุยไม่รู้เรื่อง” เหมือนดังที่นายอภิสิทธิ์ พยายามพูดจาให้ตนเองดูดีว่าพร้อมที่จะคุยกับกลุ่มเครือข่ายประชาชน และทำความเข้าใจกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านการประกาศประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง “แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ทำความเข้าใจยาก และเรื่องนี้คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ทั้งหมด แต่ก็จะพยายามเดินหน้าทำความเข้าใจ” ตามที่สื่อสารมวลชนรายงาน

หากมองย้อนกลับไปสักนิดเพียงชั่วระยะปีกว่าที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 หากปัญหามลพิษมาบตาพุดได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังภายหลังจากที่ศาลปกครองระยอง มีคำสั่งให้กำหนดเขตพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ และต้องมีแผนฟื้นฟูและการจัดการปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การดึงดันเอาแต่ได้ของฝ่ายกลุ่มทุนที่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้หนุนหลังอย่างสุดตัว เรื่องต่างๆ ก็คงไม่ลุกลามบานปลายไม่สิ้นสุด เพราะถ้าจะว่าไปแล้วเครือข่ายภาคประชาชนฯ ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวเหมือนกับการคัดค้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นที่แรงระดับ “มึงสร้าง กูเผา” พวกเขาเอาเพียงแค่ “ขอให้อยู่ด้วยกันได้” ไม่ใช่ตั้งหน้าฆ่ากันให้ตาย (ผ่อนส่ง) เท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาแล้ว ก็คือ การขนม็อบจัดตั้งออกมาสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมและรัฐบาล การเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการลงทุนต่อโดยที่แผนปฏิบัติการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหามลพิษยังไม่มีความชัดเจน และไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งจุดชนวนให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดจนมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2552 และวันที่ 2 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ก่อนที่บางส่วนจะถูกปลดล็อคโดยคำตัดสินคดีของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 53 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ชั่วระยะเวลาที่คดีหลักกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของตุลาการศาลปกครองกลาง นายกฯอภิสิทธิ์ เล่นละครแหกตาประชาชน ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นประธานฯ ทั้งการทุ่มงบประมาณออกไปตะเวนรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศในการที่จะดำเนินการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดประเภทกิจการรุนแรง การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ที่ผิดรัฐธรรมนูญ) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้โดยยึดหลักการ “ประชาชนต้องมาก่อน” ตามคำโฆษณาชวนเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ 

แต่ผลสุดท้าย พิสูจน์แล้วว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ และนายอานันท์ พร้อมด้วยกุนซือและข้าราชการประจำที่อยู่เบื้องหลังในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด  ต่างมีคำตอบล่วงหน้าอยู่ในใจแล้วว่า “การลงทุนอุตสาหกรรมต้องมาก่อน” โดยเร่งรีบประกาศ 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อโครงการในมาบตาพุดน้อยที่สุดออกมา โดยไม่แยแสข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯได้ข้อยุติจากการไปรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว แม้จะมีข้อร้องเรียนหรือข้อท้วงติงอย่างไรก็ไม่สนใจ เพียงเพื่อต้องการนำไปใช้เป็นข้ออ้างในชั้นศาลให้ได้ก่อนเป็นพอแล้ว ภาคประชาชนชาวบ้านจะเดือดร้อนเสียหายอย่างไร ทำไมต้องไปสนใจด้วย เพราะคล้อยหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดี กระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ต่างก็เร่งเซ็นอนุมัติการลงทุน เร่งเดินหน้าโครงการกันเกือบหมดทั้ง 76 โครงการที่ถูกระงับการดำเนินการชั่วคราว โดยไม่รอการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดและให้ผลของคดีเป็นที่สิ้นสุดเสียก่อนเลย แม้สมาคมฯและชาวบ้านจะได้มีหนังสือท้วงติงไปแล้วก็ตาม

เหตุดังกล่าว สมาคมฯ จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนและเสียหาย อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ในการเรียกร้องความยุติธรรมในกระบวนการทางศาลปกครองสูงสุด จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้กับชาวบ้านเหล่านั้นต่อศาลยุติธรรมต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เลิกเล่นละครแหกตาประชาชนอีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net